เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#DuckOfAllEarsDuck of Words
#4: The Lonely American Man

  • 4: The Lonely American Man

    โดยรายการ Hidden Brain ของ NPR

    อัปโหลดเมื่อวันที่: 14 ตุลาคม 2019

    ภาษา: อังกฤษ

    ความยาว: 48 นาที


    ต้อนรับยามค่ำของวันเริ่มสัปดาห์ใหม่ด้วยพอดแคสต์อุดมสาระอีกอันที่เป็ดชอบมากๆ ค่ะ

    รายการ Hidden Brain ดำเนินโดยพิธีกรหนุ่ม ชานคาร์ วีดันทัม นำเสนอเรื่องราวของพฤติกรรมมนุษย์ทุกวันอังคารตามเวลาประเทศไทย ผ่านทั้งการเล่าเรื่องและตีแผ่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ค่ะ แต่ละตอนมีความยาวเกือบชั่วโมง และพฤติกรรมที่น่าสนใจของผู้คนที่รายการนี้พูดถึงก็ครอบคลุมไปตั้งแต่เบื้องหลังการส่งเสียงอ้อแอ้ของทารก ไปจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อเราประสบสภาวะอกหัก ใจสลายกันเลยที่เดียว


    ตอนนี้ที่เป็ดหยิบมารีวิวอัปโหลดขึ้นรายการไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาค่ะ คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะทำให้เป็ดเองตั้งได้เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยมองว่าปกติมาตลอด และได้เข้าใจความเป็นมาและเป็นไป คุณชานคาร์เล่าเรื่องอุบัติการณ์ ‘ชายวัยกลางคนขี้เหงา’ ที่กำลังเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ พลเมืองชายชาวอเมริกันจำนวนมาก (โดยเฉพาะชายที่มีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิง) ที่โสด หรือมีเหตุอันใดที่ทำให้ต้องแยกทางจากคู่ครอง เช่นการหย่าร้าง หรือคู่ครองเสียชีวิต มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมบ่งบอกถึงความรู้สึกเหงา ต้องการเพื่อน ตลอดจนถึงขั้นมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง (หรือประชากรในกลุ่ม LGBT) มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นผลพวงจากค่านิยมเกี่ยวกับเพศชายที่พวกเขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก หากคุณสังเกต อาจพบว่า ผู้ชายช่วงเด็กเล็ก วัยประมาณอนุบาลถึงประถมจะมีความผูกพันกับเพื่อนแน่นแฟ้นกว่าผู้ชายวัยสูงกว่า แม้ในกรณีที่ผู้ชายยังมีเพื่อนฝูงในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไปอยู่ มิตรภาพก็ไม่ได้แน่บแน่นเหมือนอย่างในวัยเด็ก มีพฤติกรรมที่เราอาจคุ้นหูคุ้นตา แต่อาจไม่เคยตั้งคำถาม ว่าทำไม ชายหนุ่มที่สนิทกันมากจึงมักจะบอกกับเพื่อนของตนว่า ‘เพื่อน ฉันรักนายนะ ในแบบของเพื่อน’ วัฒนธรรมมิตรภาพลูกผู้ชายแบบ Bromance มีความจำเป็นต้องยืนยันในบ่อยครั้ง ว่าตนคิดกับเพื่อนเพศเดียวกันในระดับเพื่อน ไม่เกินเลยไปจากนี้ ในหลายกรณี เพื่อนผู้ชายก็มักจะไม่บอกรักกันเลย หากเทียบกับเพื่อนผู้หญิงที่สามารถบอกรักกันได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่า โดยไม่ต้องสนใจว่านั่นจะเป็นการแสดงความเปราะบางของตนออกมา (หรือกระทั่งถูกเข้าใจผิดว่าสื่อความไปในเชิงรักร่วมเพศ) ผู้ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เชื่อว่า มนุษย์เพศชายถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าตนควรแสดงด้านที่อ่อนไหว หรือเปราะบางของตนกับคนรักเท่านั้น จึงมีพฤติกรรมดังกล่าว ในหลายครอบครัว ภรรยาของชายชาวอเมริกันจึงเป็นเหมือนที่พึ่งทางอารมณ์เพียงหนึ่งเดียวของสามี เธอเป็นเสมือนทั้งคนรักและเพื่อนสนิทของเขา เมื่อขาดเธอไปเพียงคนหนึ่ง ชายชาวอเมริกันเหล่านั้นจึงเหมือนขาดสายสัมพันธ์ทางสังคมไปโดยสิ้นเชิง ครั้นจะพยายามเสาะแสวงหาเพื่อนใหม่ในวัยที่ล่วงเลยแล้ว ก็ยังมีกรอบกั้นด้านมุมมองเรื่องความเข้มแข็งของลูกผู้ชาย (รวมถึงความระแวงกลัวผู้ชายเสาะแสวงหาสายสัมพันธ์ทางเพศจากผู้หญิง) กีดกันตัวเองอีก จึงมีชายขี้เหงาเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันมากขึ้นทุกวัน


    เป็ดเห็นว่าข้อสังเกตทางพฤติกรรมนี้น่าสนใจมาก และทำให้รู้สึกได้ว่าความเป็นชายอย่างแข็งกร้าวของผู้ชายหลายคนเอง นอกจากจะทำร้ายเพศอื่นแล้ว มันก็อาจจะทำร้ายตัวของเขาเองด้วย และการส่งเสริม ปลูกฝังให้ผู้ชายรุ่นใหม่มีสิทธิแสดงอารมณ์ที่อ่อนไหวออกมาบ้างเป็นเรื่องที่ดี อยากเห็นสังคมที่ทุกคนมีสิทธิเป็นตัวของตัวเองอย่างไร้ข้อจำกัดจากค่านิยมทางเพศแบบเดิมๆ มากีดกันค่ะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in