เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
วัตถุต้องสงสัยSALMONBOOKS
EP.1 IRON
  • “Whenever there is a hard job to be done I assign it to a lazy man; he is sure to find an easy way of doing it.”
    — Walter Chrysler

    “ถ้ามีงานยากๆ ผมจะมอบหมายให้คนขี้เกียจ เพราะเขาจะหาทางที่ง่ายที่สุดในการทำมัน”
    — วอลเตอร์ ไคร์สเลอร์


    ในเพลงที่มีเนื้อหาคุ้นหูอย่าง “เด็กเอ๋ย เด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน” เป็นเพลงที่เปิดสอนใจเด็กน้อยกันเป็นประจำแถวๆ โรงเรียนระดับอนุบาลและประถม รวมถึงในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กอย่างวันเด็ก 

    ในแถวๆ ข้อ 6-7 แนะนำให้น้องๆ หนูๆ ต้อง “เป็นผู้รู้รักการงาน” และ “ต้องมานะบากบั่นไม่เกียจไม่คร้าน”

    เป็นท่อนที่ถูกใจใช่เลย ช่างตรงกับชีวิตของเด็ก เพราะจากที่เป็นเด็กเล็กซึ่งวันๆ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากกิน นอน เล่นขี้มูก อยู่มาวันหนึ่งก็ต้องถูกลากออกจากบ้านทุกเจ็ดแปดโมงเช้าติดกันห้าวันต่อสัปดาห์เพื่อไปในที่ที่เรียกว่าโรงเรียน

    ไปยืนเข้าแถวทุกเช้า ไปทำอะไรต่อมิอะไรที่อยู่ภายใต้สายตาของคุณครู เราเรียนรู้ที่จะทำตัวให้เหมาะสม ทำตัวให้มีระเบียบวินัย ตื่น กิน นอน ทำการบ้านให้เสร็จตรงเวลา เพื่อที่จะได้รับคำชมเชย ไม่ต้องถูกลงโทษจากคุณครู และไม่ถูกเขียนลงในใบรายงานผู้ปกครองว่าเราเป็นเด็กไม่ดีอย่างไรบ้าง
  • ตอนเด็กๆ ดูเราจะกลัวมากกับการไม่ได้รับคำชมหรือสติ๊ก-เกอร์ดาวจากคุณครู ไม่ต้องพูดถึงการถูกตำหนิที่สำหรับเด็กๆ แล้วนับว่าเป็นเรื่องใหญ่สุดๆ เด็กน้อยคนหนึ่งถึงขั้นร้องห่มร้องไห้เสียใจเพราะว่าถูกตำหนิติเตียน

    การถูกตำหนิว่า ‘เป็นเด็กขี้เกียจ’ หรือ ‘เป็นเด็กไม่มีระเบียบ’ ฟังดูจะเป็นข้อหาที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งสำหรับเด็กประถมเลยนะครับ

    ถ้าเรื่องความขี้เกียจและไม่มีระเบียบแล้ว ตัวผมเองอาจเป็นหนึ่งในลำดับต้นๆ ของห้องเรียนเลยก็ว่าได้...

    ตอนเด็กๆ ผมมีความไม่ชอบอย่างหนึ่งที่ฝังใจมาจนทุกวันนี้คือ ไม่ชอบวันพฤหัสบดี

    ทำไมน่ะเหรอครับ? เพราะวันพฤหัสบดีเป็นวันที่ดูจะยาวกว่าวันอื่นๆ มันมีคำว่า -สบดี ห้อยท้ายอยู่ดูแล้วน่ารำคาญใจ มันทำให้การคัดลายมือประจำวันหรือการเขียนวันที่เวลาทำแบบฝึกหัดยาวขึ้นกว่าวันอื่นๆ

    และผมก็สุดแสนจะไม่ชอบวิชาการคัดลายมือ—กิจกรรมที่ถูกบังคับตั้งแต่ท่านั่ง การจับดินสอ และการบังคับดินสอ เราต้องลากวนเวียนไปตามเส้นประซ้ำไปซ้ำมาอย่างน่าหงุดหงิดใจ

    -สบดี ของวันพฤหัสฯ ทำให้กิจกรรมประจำวันที่น่าเบื่อยาวนานกว่าวันอื่นๆ เป็นพิเศษ ผมเลยพาลไม่ชอบวันวันนี้ไปโดยปริยาย

    เท่านี้คงพอจะเดากันได้ว่าในใบรายงานผลการเรียนของผมทั้งในช่องความคิดเห็นของครูหรือของผู้ปกครองเองจะเต็มไปด้วยคำว่าขี้เกียจ เช่น ขี้เกียจคัดลายมือ ขี้เกียจทำการบ้าน (โดยเฉพาะการบ้านคัดลายมือ) รวมไปถึงลายมือไม่สวย ไม่เป็นระเบียบ และเป็นเด็กไม่ค่อยมีระเบียบไม่มีวินัย 
  • ทีนี้ พอเราโตขึ้น ดูเหมือนว่า ระเบียบวินัยบางอันมันก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องการคัดลายมือ ที่ยิ่งโตขึ้นเราก็ดูจะมีสิทธิ์ลายมือไม่สวยหรือไม่ค่อยเป็นระเบียบได้มากขึ้น (อย่างลายมือหมอที่ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ) หรือการยืนเข้าแถวตอนเช้าที่ดูจะหายวับไปเลยเมื่อเราพ้นสภาพนักเรียน

    แม้เราจะโตขึ้นแล้วระเบียบบางอย่างหดหายไป แต่ก็มีระเบียบบางอย่างที่ยังตามมาหลอกหลอนเรา แถมยิ่งเราโตก็ยิ่งอุกอาจรุกล้ำเข้ามาสู่อาณาเขตส่วนตัว จากที่พ่อแม่เคยจัดการให้ ก็กลายเป็นต้องจัดการเอาเอง

    นั่นคือเสื้อผ้าหรือเครื่องแบบของเรา

    ในรั้วโรงเรียน มันเป็นเรื่องปกติที่ว่า ความเรียบร้อยของเครื่องแบบ คือการที่เราทำตามสิ่งที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้ให้อย่างถูกต้อง เช่น การแต่งชุดนักเรียนอย่างถูกต้อง การแต่งชุดลูกเสืออย่างถูกต้อง ฯลฯ

    ในความถูกต้องเหมาะสม ชุดของเราและของเพื่อนๆ เราต่างถูก ‘รีด’ จนเรียบจนกลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’

    นั่นคือความเป็นระเบียบเรียบร้อย

    เมื่อโตพอที่จะรับผิดชอบตัวเอง การรีดเสื้อผ้าที่จะต้องใส่ ก็กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำสัปดาห์ (หรือประจำวัน) ของเรา ตั้งแต่เสื้อนักเรียน เสื้อนิสิตนักศึกษา เสื้อทำงาน เสื้อออกงาน ฯลฯ

    ในนามของความมีระเบียบเรียบร้อย เราทุกคนต้อง-รีด-ผ้า

    ห้ามขี้เกียจ!
  • ทำไมต้องรีดผ้า?

    ‘เตารีด’ เป็นสิ่งที่แทบทุกบ้านต้องมีติดเอาไว้ แต่น้อยคนนักที่อยากใช้มันอย่างเต็มใจ...

    การรีดผ้าเป็นหนึ่งกิจกรรมที่แสนจะน่าเบื่อและไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไหร่ นอกจากจะหนักและร้อนแล้ว เตารีดยังเป็นหนึ่งในสิ่งของที่น่าสงสัย ชวนให้ครุ่นคิดว่านอกจากเราจะต้องเสียเงินซื้อมันมาใช้แล้ว ทำไมเราจะต้องเสียเวลา เสียแรง เสียอารมณ์ และเสียค่านู่นค่านี่ เช่น โต๊ะรีดผ้า ผ้ารองรีด น้ำยารีดผ้า รวมไปถึงค่าไฟจำนวนไม่น้อยเพื่อมาบริการเจ้าเตารีดนี่ด้วย?

    เตารีดน่าจะถูกเรียกว่าเครื่องอำนวยความลำบากมากกว่าจะอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิต เพราะเราต้องเจียดเวลาอันแสนมีค่ามานั่งรีดผ้าให้เรียบ ถ้าไม่มีประดิษฐกรรมอย่างเตารีดเราก็คงไม่ต้องมานั่งลำบากอย่างนี้นะเนี่ย

    ว่ากันว่างานบ้านเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ  (ภาษาอังกฤษเรียกงานประเภทนี้ว่า Chore มีนัยของงานที่น่าเบื่อ ยาวนาน ซ้ำซากไม่รู้จักจบสิ้น) แถมยังเป็นงานที่น่าเบื่อที่สุด ซึ่งเดิมทีก็มีเพียบอยู่แล้ว (กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน เช็ดกระจก เช็ดหน้าต่าง ปัดฝุ่น ตัดหญ้าทำสวน โกยขยะ ล้างห้องน้ำ ฯลฯ) แต่เจ้าเตารีดกลับเพิ่มงานให้เราขึ้นมาอีกอย่างซะงั้น

    ยิ่งในดินแดนเขตร้อนอย่างบ้านเรา อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30-40 องศาฯ ตลอดปี การรีดผ้าเลยเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าคบหา แม้การถูไถโลหะหนาหนักที่แผดความร้อนออกมาตลอดเวลาดูจะช่วยเรียกเหงื่อได้ดี แต่ถ้าเลือกได้...ไม่ต้องรีดน่าจะสบายกว่า

    ซึ่งการที่คนเราพยายามหาทางเลี่ยงการรีดผ้าอยู่เสมอเป็นเรื่องน่าขำเหมือนกันนะครับ เช่น ในฤดูหนาว (อืม เมืองไทยมีไหมนะ?) คนที่ขี้เกียจรีดผ้าก็สบโอกาสสวมเสื้อหนาวคลุมทับไปเลย เพื่อนผมคนหนึ่งเคยไปโรงเรียนด้วยการใส่แต่เสื้อหนาว ไม่ใส่เสื้อนักเรียนข้างใน (ผลคือเหงื่อแตกพลั่กทั้งวัน ถอดก็ไม่ได้) ขณะเดียวกันพวกที่เดินทางไปเมืองหนาวก็บอกว่าสบายจัง ไม่ต้องรีดเสื้อ ใส่เสื้อหนาวทับไปเลย
  • น่าคิดนะครับว่า ทั้งที่มนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการเลือกจะทำหรือจะไม่ทำอะไรได้อย่างอิสระ แต่กับการรีดผ้า ดูเหมือนเราจะเลือกไม่ได้

    ซึ่งเราต่างมีคำตอบส่วนตัวกันอยู่แล้วว่าทำไมต้องรีดผ้า

    ไม่ว่าคนในครอบครัวเรา ครูสอนวิชาที่เกี่ยวกับคหกรรมหรือสุขศึกษา ผู้รู้ในสื่อมวลชนสักแห่ง หรืออาจมีคำตอบหลายเสียงที่ดังพร้อมกันจนฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงของใครเลย แต่สุดท้ายเสียงทั้งหลาย มันก็มีคำตอบในตัวมันเอง เล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่เรามองไปที่เตารีด


    เตารีดมาจากไหน?

    บนกล่องเตารีดไม่เคยบอกรายละเอียดอะไรมากไปกว่า ‘ทำให้ผ้าเรียบ’ 

    อาจมีบอกข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับตัวมันบ้าง ที่เป็นศัพท์แสงสัญลักษณ์และตัวเลขต่างๆ ที่อ่านไม่ค่อยเข้าใจ หรือไม่ก็บอกวิธีการบำรุงรักษา รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงข้อความอธิบายความเป็นเตารีด ใช้ทำอะไร ใช้อย่างไร ประกอบขึ้นมาจากเทคโนโลยีอะไร จะดูแลเตารีดอย่างไร

    แต่ข้อบ่งใช้ไม่เคยบอกว่า ทำไมเราต้องใช้เตารีด? 

    เมื่อบอกว่าทำให้ผ้าเรียบ แล้วทำไมเราถึงต้องการผ้าที่เรียบ?
  • อะไรคือการรีดผ้า?

    ในทางเทคนิค การรีดผ้าคือการทำให้ใยของสิ่งทอเรียงตัวกันเป็นระเบียบด้วยแรงกดและความร้อน มนุษย์รู้จักการทำให้ผ้าเรียบด้วยโลหะและความร้อนมานานแสนนานแล้ว ดูได้จากหลักฐานที่พบในประเทศจีนที่ระบุว่าเมื่อประมาณหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาลมีการใช้กระทะใส่น้ำร้อนมาทับเพื่อทำให้ผ้าเรียบ จากนั้นมนุษย์ก็มีความพยายามในการทำให้ผ้าเรียบกริบต่อมาเรื่อยๆ

    อย่างเตารีดแบบโบราณที่เราคุ้นจากในหนังก็ถูกประดิษฐ์และใช้อย่างแพร่หลายในทวีปยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 17 ลักษณะเป็นเตารีดเหล็กที่มีช่องบรรจุถ่าน (หรือวัสดุที่เผาไหม้ได้) เพื่อให้ความร้อนกับแผ่นเหล็กหนาด้านล่าง เรียกกันว่า Sad Iron โดยคำว่า Sad ไม่ได้หมายความว่าใช้แล้วจะดูเศร้านะครับ (ถึงจะดูน่าเศร้าจริงๆ ที่ต้องใช้มันก็เถอะ) แต่ Sad เป็นคำโบราณ หมายถึง หนัก หรือหนักแน่น (Solid) 

    มนุษย์ต้องใช้ถ่านหรือแก๊สในการให้ความร้อนเตารีดเรื่อยมา จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 19 เริ่มมีไฟฟ้าใช้และวิทยาการต่างๆ รุดหน้า เตารีดไฟฟ้าชิ้นแรกก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยนายเฮนรี่ ดับบลิว ซีลีย์(Henry W. Seeley) และจดสิทธิบัตรไว้ที่นิวยอร์กเมื่อปี 1882

    จากนั้นมันก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนสามารถใช้งานได้จริงและกลายเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายได้ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1905 จากนั้นไม่นานแทบทุกบ้านในสหรัฐอเมริกาก็มีเตารีดไฟฟ้าใช้ และแพร่กระจายไปทางยุโรป

    ถึงแม่บ้านอเมริกันจะรีดผ้าได้ง่ายขึ้นเพราะเตารีดไฟฟ้า แต่ยังไงการรีดผ้าก็ไม่ใช่เรื่องสนุกอยู่ดี เพราะภารกิจไม่ได้น้อยลงแต่อย่างใด แถมพอมีเตารีดที่ใช้ง่ายๆ แค่เสียบปลั๊ก ยิ่งทำให้ต้องรีดบ่อยขึ้นกว่าเดิม จนกลางศตวรรษที่ 20 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวนหนึ่งก็เริ่มผลิตผ้าที่ ‘ไม่ต้องรีดเลย’ หรือ ‘ไม่ต้องรีดเยอะ’ ออกมา
  • เห็นไหมครับว่า ตั้งแต่การสร้างและเริ่มใช้เตารีด เรื่องรีดๆ เรียบๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องวุ่นวายของมนุษย์เราไม่น้อยเลย ตั้งแต่การผลิตเตารีดขึ้นมาเพื่อรีดให้เรียบ ยันไปจนถึงการคิดค้นผ้าที่ไม่ต้องรีดก็เรียบ...


    ทำไมต้อง ‘เรียบ’?

    ฟังดูเป็นคำถามที่งี่เง่า ไม่ก็เป็นคำถามของคนขี้เกียจ (รีด) อารมณ์เดียวกับคำถามที่ว่า ‘ทำไมเราต้องรีดเสื้อ?’ เพราะมันเป็นคำถามที่ดูจะมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว—ก็อยากให้มันเรียบไง

    แต่เอาเข้าจริงคำตอบมันไม่ได้ชัดเจนเท่าไหร่หรอกครับ

    เพราะพอนึกถึงความจริงที่ว่า นี่เรารีดผ้าไปทำไม? ใส่ไปไม่ถึงห้านาทีมันก็ยับแล้ว และไอ้การที่ผ้ายับซึ่งดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ ทำไมถึงน่ารังเกียจสำหรับเรา?

    ทำไมเราถึงต้องใช้ความพยายามและเงินทองไปกับการกำจัดรอยยับพวกนี้?

    ก็เพราะว่าต่อให้เราดูแลร่างกายดีแค่ไหน ถ้าเสื้อผ้าที่ใส่มันยับเราก็จะถูกตัดสิน (และบ่อยครั้งที่ไปตัดสินคนอื่น) ว่าเป็นคนไม่เรียบร้อยซกมก ไม่มีระเบียบ กระจอก อ่อนหัด หนักจนทำให้การใส่เสื้อผ้าที่ ‘เรียบ’ กลายเป็นธรรมชาติของคนที่มีนิสัย ‘เรียบร้อย’ ไปซะงั้น

    เท่ากับว่า ‘ความเรียบของผ้า’ กับ ‘ความเรียบร้อยของผู้ใส่’ นอกจากจะพ้องกันที่คำว่า ‘เรียบ’ แล้ว ยังบ่งบอกถึงคุณลักษณะของผู้ใส่ว่าเป็นคนที่มีอุปนิสัยเรียบร้อยด้วย

    ขณะเดียวกัน ‘ความยับ’ ก็สามารถบ่งบอกว่าคนผู้นั้นเป็นคนไม่มีระเบียบวินัย ขี้เกียจ เผลอๆ จะหนักข้อถึงขั้นกระจอกงอกง่อย!

    ซึ่งน่าสงสัยว่า การใส่เสื้อผ้ามันสะท้อนคนคนหนึ่งได้จริงๆเหรอ?
  • ความยับของเสื้อผ้ามันไปเกี่ยวอะไรกับนิสัยใจคอของคนเนี่ย...

    ถ้าบอกว่าการใส่ผ้าเรียบๆ จะทำให้รู้สึกสวมใส่สบายขึ้นนี่พอเข้าใจได้ แต่ ‘ความเรียบ’ กับ ‘ความมีระเบียบเรียบร้อย’ นี่ผมยังนึกความเชื่อมโยงไม่ออก กลับกัน—ผมส่องพบแต่ความสิ้นเปลืองกับมาตรฐานประหลาดๆ ที่ใช้ตัดสินคนเท่านั้นแหละ


    เสื้อผ้าที่เรียบเกี่ยวกับความมีระเบียบยังไง?

    นั่นสิ ‘ความเรียบร้อย’ คืออะไรกันแน่?

    เอาเข้าจริง สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เวลาที่เราพูดถึงการมีระเบียบคือ ‘ความเหมือนกัน’ แค่ได้ยินคำนี้หลายๆ คนก็นึกถึงนักเรียนในชุดนักเรียนที่กำลังยืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน ตัดผมถูกระเบียบ หัวเกรียน ติ่งหู

    คิดอย่างขำๆ ว่าตรงนี้เองล่ะมั้งที่ทำให้ความยับกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ไป

    เพราะเวลาเสื้อผ้าเรียบๆ มันก็เรียบเหมือนกันหมด ต่างจากความยับ ที่ถึงจะยับเหมือนกัน แต่   รายละเอียดในความยับกลับไม่เหมือนกัน ความเรียบสิที่เหมือนกัน ถึงจะเรียบกริบไม่กริบ ใช้น้ำยารีดผ้าทั่วไปหรือรีดด้วยฝีมือระดับแชมป์ แต่มองรวมๆ มันก็ดูเรียบเหมือนกัน 

    จากชุดเครื่องแบบหรือ Uniform ที่แปลว่า ‘รูปแบบที่เหมือนกัน’ (Uni) พอเราโตขึ้นมันก็ลดรูปเหลือแค่ชุด ‘ทางการ’ หรือ Formalเฉยๆ เช่น ชุดทำงาน หรือชุดไปงานสุภาพทั้งหลายก็ดูเหมือนว่าระเบียบวินัยยังตามมากำกับให้เราทำตัวเรียบร้อย ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือความเรียบร้อยบนชุดที่ใส่ที่ยังต้อง ‘เรียบ’ อยู่เหมือนเดิม

    สิ่งที่ระเบียบวินัยเรียกร้องกับเราก็คือความมีระเบียบวินัย อาจพูดได้ว่าเป็นการบังคับและควบคุม เช่น การที่ต้องไปยืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบตอนเช้าสิ่งที่ครูต้องการก็คือ ให้นักเรียนรู้จักควบคุมและจัดการร่างกายของตัวเอง (ยืนตรง ไม่พูดคุย อดทนกับแสงแดด)ภายใต้การเฝ้ามองของครู
  • การเข้าแถวคล้ายๆ กับการรีดผ้า ตรงที่มันคือกระบวนการที่เราต้องบำเพ็ญกิจกรรมแห่งความยากลำบากเหมือนกัน และทำให้คนอื่นได้รับรู้ว่าเรามีระเบียบ เพราะอย่างนี้ เสื้อผ้าที่เรียบเลยดูจะเป็นผลผลิตอย่างหนึ่งของความมีระเบียบวินัย ไม่ต่างกับการเข้าแถวอย่างเรียบร้อยให้ครูดู

    ความมีระเบียบวินัยมันก็เป็นเรื่องดีแหละครับ เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็นเวลาต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เราต้องควบคุมร่างกายของเราให้เป็นระเบียบเพื่อจะได้ไม่ไประรานคนอื่น เช่น การเดินให้เป็นแถว หรือต่อคิวรอรับบริการอะไรสักอย่าง

    แต่มันชวนให้คิดว่า ในสังคมที่ต้องการให้เราควบคุมตัวเอง มันต้องการให้เราควบคุมตัวเองไปถึงขนาดไหน? แค่ควบคุมเราเฉพาะเวลาอยู่กับคนอื่นๆ ข้างนอก หรือควบคุมไปถึงความคิดด้วย?

    อย่างที่บอกว่าเวลาเราอยู่นอกบ้านหรือในที่สาธารณะ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบตามสมควร แต่การรีดผ้าที่รีดอยู่ในบ้านแถมส่วนใหญ่ยังรีดกันในวันหยุด ถึงผลลัพธ์ก็คือเสื้อที่ใส่จะเรียบกริบ แต่มันก็ไม่เห็นเกี่ยวกับระเบียบวินัยนอกบ้านเลยสักนิด จริงไหมครับ?


    ใส่เสื้อยับมันไปทำลายระเบียบของสังคมตรงไหน?

    เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าเราจะตัดสินว่าคนคนนั้นเป็นคนมีระเบียบหรือไม่จากการรีดหรือไม่รีดเสื้อ ถ้าทุกคนใส่เสื้อยับแต่ทำตัวตามระเบียบ ตามกฎที่เหมาะสม สังคมก็ย่อมสงบสุขกว่าการที่ทุกคนใส่เสื้อเนี้ยบเรียบกริบแล้วทำตัวเรื่อยเปื่อยไม่สนใจคนอื่น

    การรีดผ้าแสดงให้เห็นว่า การควบคุมคนด้วยสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวินัยมันก้าวล้ำเข้าไปในเรื่องส่วนตัวของเราแม้แต่ในที่ลับตาคน และการตัดสินคนจากเสื้อผ้าที่ใส่ ก็เหมือนไปตัดสินเขาผ่านเรื่องส่วนตัวของเขา ทั้งที่จริงๆ การที่เขาจะใส่เสื้อยับหรือไม่มันไม่เห็นจะเกี่ยวโยงอะไรกับระเบียบวินัย (โดยตรง) ซะหน่อย แต่ดูเหมือนว่าเราพร้อมจะตัดสินกันด้วยเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวโยงอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน บ่อยจนบางทีก็เอาแต่สังเกตเรื่องภายนอกจนลืมเรื่องภายใน เอาแต่สนใจว่าแต่งตัวเรียบร้อยไหมมากกว่าจะสนใจว่าเขาไประรานคนอื่นด้วยความไม่มีระเบียบส่วนตนหรือเปล่า เพราะบางคนแต่งตัวดีก็เอาตูดหนีบเสารถไฟฟ้าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้เหมือนกัน
  • ความน่ากลัวของระเบียบวินัยที่มากเกินไป ทำให้เราคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แถมยังไปตัดสินและคอยจัดการคนอื่นที่ไม่อยู่ในระเบียบเดียวกันกับเราไปด้วย

    ถ้าจะพยายามอธิบายความเกี่ยวข้องระหว่างการรีดผ้ากับความมีระเบียบวินัย น่าจะชวนสับสนงุนงง เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การรีดผ้าเป็นกิจกรรมที่เราเหนื่อยกับมันสุดๆ แต่ก็ยังหาเหตุผลของความลำบากได้อย่างไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่

    หรือบางทีมันอาจไม่มีความหมายที่เกี่ยวโยงกันเลยจริงๆ ก็ได้?

    เพราะถึงการรีดผ้าจะมีมานานนมแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่าทำไมเราถึงต้องรีด? ลองค้นในอินเทอร์เน็ตก็จะพบว่ามีคนสงสัยอย่างนี้อยู่พอสมควร แถมยังมีการจุดประเด็นให้เลิกรีดผ้าด้วย เพราะคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ เปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ เป็นมาตรฐานที่สังคมกำหนดขึ้นโดยไม่สมเหตุสมผล

    อ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากจะบอกประเด็นที่สำคัญคือ การตั้งคำถามกับการรีดผ้าที่เรากำลังทำกันอยู่เนี่ย มันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องชี้หน้าหาว่าการรีดผ้าเป็นสิ่งเลวร้ายหรือเรากำลังพยายามล้มล้างการรีดผ้า (หรือความเป็นระเบียบ) ให้หายสาบสูญไปจากโลกนะครับ (ผมเองเวลาใส่เสื้อผ้ายับๆ ก็ยังรู้สึกไม่เข้าพวกอยู่เหมือนกัน)

    สุดท้ายแล้ว ถึงการรีดผ้า (อาจ) จะไม่ได้มีเหตุผลในตัวเองก็จริง แต่มันก็ยังมีแง่มุมบางอย่างที่ทำให้บางคน (หรือตัวเราในบางครั้ง)หลงใหลการรีดผ้าได้ เช่น ความรู้สึกดีๆ เวลาที่ผ้าโดนความร้อน เวลาได้ดมกลิ่นหอมๆ ของน้ำยารีดผ้า บรรยากาศแสนอบอุ่นเวลาที่ไอน้ำล่องลอยไปทั่ว หรืออาจจะชอบผ้าที่ถูกทำให้เรียบลื่น ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับระเบียบวินัยหรือสามารถใช้ตัดสินได้เลยว่าคนนั้นคนนี้ขี้เกียจหรือชีวิตไม่มีระเบียบได้แต่อย่างใด
  • บางทีในการพยายามหาเหตุผล เราอาจเจอว่าจริงๆ มันไม่มีเหตุผล เหมือนหลายอย่างในชีวิตเรา บางทีมันก็ไม่เห็นมีเหตุผลอะไร

    แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ในความไร้เหตุผลพวกนั้น เราก็กำลังรับเอาระเบียบหรือวิธีคิดบางอย่างเข้ามาติดตั้งไว้ในตัวเรา ลงมือทำมันแล้วก็เอาการกระทำเหล่านี้ไปตัดสินคนอื่น โดยลืมทบทวนว่า ทำไมเราถึงเอาความหมายของสิ่งที่เราทำไปตัดสินคนอื่น ขณะที่ก็ลืมฉุกคิดว่าทำไมเรา (หรือคนอื่น) ถึงต้องทำอย่างนั้น?

    เพราะเราไม่ค่อยชอบตั้งคำถามกับตัวเองหรือพิจารณาทบทวนสิ่งที่กำลังกระทำ แต่เราเลือกการตัดสินคนอื่นแทน เพราะดูเป็นวิธีการที่สะดวก ฉาบฉวย และปลอดภัยต่อจิตใจตัวเองดี

    การที่คำถามที่เรามีต่อสิ่งที่เคยทำต่อๆ กันมา (เช่น การสงสัยเรื่องการรีดผ้า) มักถูกกลืนลงคอไปอย่างรวดเร็ว บางทีอาจเป็นเพราะความกลัว—กลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวว่าถ้าเกิดมีการตั้งคำถามไปแล้ว วันรุ่งขึ้นทุกอย่างที่ถูกตั้งคำถามจะหายไป กลัวว่าวันรุ่งขึ้นโลกจะเต็มไปด้วยผ้าที่ยับ หรือกลัวว่าจะถูกตัดสิน (อย่างที่ไปตัดสินคนอื่น) ว่าเป็นคนขี้สงสัย เป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่มีระเบียบ

    ทั้งที่บางทีคนที่ถูกตัดสินว่าขี้เกียจ เขาอาจไม่ได้ขี้เกียจอย่างที่คิดก็ได้นะ  

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in