เดือนมีนาคม ย่างเข้าฤดูร้อนของทุกปี สิ่งที่ฉันมักนึกถึงคือการ “ดองเหล้าบ๊วย” ราวกับว่ามันเป็นวันสำคัญหรือเทศกาลพิเศษประจำปี ที่เราทำมันเพื่อเป็นการแสดงถึง “การเริ่มต้นชีวิตใหม่” อย่างตรุษจีนหรือสงกรานต์อะไรทำนองนั้น
การทำเหล้าบ๊วยในฉบับของฉัน ไม่ใช่กิจกรรมที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ หรือแรงกายอะไรมากมาย เพราะงานพิถีพิถันหรือการทำอะไรง่ายๆให้เป็นงานศิลปะล้ำค่า สำหรับฉันแล้วมันไม่ใช่ ‘เรื่อง’ ถนัด เท่าไหร่นัก
แต่การทำเรื่องง่ายให้ยิ่งง่าย อันนี้ขอบอกเลยว่าเป็นสิ่งที่ฉันเก่งที่สุดเลยล่ะ
ขั้นตอนแรก เริ่มด้วยการสั่งบ๊วยสดจากช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์
คลาสสิคใช่มั้ยล่ะ?
(เพราะการต้องไปเลือกเองที่ตลาด ต้องเจอคนไม่น้อยกว่าร้อยคน วิธีการเดินทางที่ซับซ้อน และขนส่งสาธารณะที่ขูดเลือดเนื้อ พอคิดถึงตรงนั้นก็จะพาลให้ไม่อยากจะต้องทำขั้นตอนอื่นต่อไปอีกเลย)
จากนั้นก็ไปซื้อเหล้าขาวและน้ำตาลกรวดที่ร้านขายของชำเก่าๆแถวบ้าน ทุกครั้งที่ไปซื้อพนันได้เลยว่าไม่มีครั้งไหนที่สินค้าที่ได้มา จะไม่มีฝุ่นเกาะจนหนา เหมือนว่านอกจากฉันแล้ว คนแถวนี้ก็ไม่มีใครมาซื้อของที่นี่อีกเลย
แต่ก็ได้แต่ภาวนาว่าวันนึงอากงจะมีลูกค้ามากพอ มากพอที่ที่ขจัดแววตาแห่งความว่างเปล่าของอากงที่มองไปที่ร้านสะดวกซื้อที่ตั้งถัดไปแค่คูหาเดียว
เมื่อวัตถุดิบทุกอย่างพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการล้างบ๊วย
สิ่งที่ต้องทำก็คือนำบ๊วยเทลงในถังหรือกะละมัง แล้วเติมน้ำให้ท่วม ถ้าบ๊วยลูกไหนลอยขึ้นมาเหนือน้ำก็แปลว่าเน่า ซึ่งนำไปดองไม่ได้ เพราะจะส่งผลต่อทั้งรสชาติและกลิ่นของเหล้า
ในทั้งหมดของบ๊วยในถัง ส่วนมากก็จะมีแค่ไม่ถึง 10% เท่านั้นแหละ
แต่การจะเก็บเอาไปทิ้งเลย นั่นก็ไม่ใช่ ‘เรื่อง’ ที่ฉันชอบทำอีกเหมือนกัน
ฉันจะค่อยๆหยิบมาตรวจดูด้วยตัวเองทุกลูก ว่ามันเน่าจริงรึป่าว และถ้ามันเน่าจริงๆ มันเน่าถึงขั้นกินไม่ได้มั้ย ถ้าดูแล้วสภาพมันไม่ได้แย่จนเลวร้าย ฉันก็จะเก็บไว้กินสดๆแทน แต่ถ้าลูกไหนที่มันเน่าจริงๆ ก็คงต้องจำใจเก็บทิ้งไป
แล้วก็นำบ๊วยที่สภาพสมบูรณ์ไปตากจนแห้งดี
ขั้นตอนต่อไปนี่แหละ ที่ส่วนที่ฉันชอบมากที่สุดของการทำเหล้าบ๊วย เป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อที่สุด ใช้เวลานานที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นมันกลับทำให้เหล้าบ๊วยของฉันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘มิติ’ ที่เป็นนามธรรมที่มีแค่ฉันเท่านั้น ที่จะรู้ถึงการมีอยู่และรับรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้นได้
ฉันจะค่อยๆเอาไม้ปลายแหลมจิ้มลงไปรอบๆตัวบ๊วย ขั้นตอนนี้จะช่วยทำให้เหล้าซึมเข้าไปในเนื้อบ๊วย และบ๊วยก็จะปล่อยกลิ่นและรสชาติของมันออกมา
บ๊วยทุกๆลูกที่ฉันนำมาทำ ในนั้นมีความรู้สึก เรื่องราวบางฉากของชีวิต หรือสิ่งที่ฉันจะสามารถนึกถึงมันขึ้นมาได้ ณ ขณะนั้น
หลังจากนั้นก็นำไปดอง โดยวางบ๊วยสลับชั้นกับน้ำตาลกรวด เทเหล้าขาวบ้านๆของไมยใส่ลงไปจนเต็มโหลแบบส่งๆ ไร้ซึ่งการชั่งตวงใดๆทั้งสิ้น อาศัยกะปริมาณด้วยสายตาเพียงเท่านั้น สุดท้ายก็นำผ้ามาห่อโหลให้มิดชิดและนำไปวางไว้ในที่เย็นและมืดที่สุด
รอจนเวลาผ่านไปอย่างน้อย 1 ปีก็ถึงจะได้เริ่มนำเหล้าบ๊วยออกมาดื่ม
รสชาติที่ต่างกันสุดขั้วของวัตถุดิบที่ใช้เมื่อนำมารวมกัน กลับได้ผลลัพธ์ของออกมาเป็นเหล้าบ๊วยที่หอมหวาน โดยมีเวลาเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของเหล้า
และเมื่อครั้งใดที่ฉันนำเหล้าที่ดองได้ที่แล้วมาดื่ม ในทุกหยดที่ได้ลิ้มรสก็ทำให้นึกถึงช่วงเวลาของชีวิตในปีนั้นๆ ราวกับว่าสิ่งนี้นี่แหละที่เป็นไดอารี่แห่งชีวิต อดีตที่ผ่านการคัดสรรความทรงจำมาแล้ว และนำมาบ่มจนได้ที่ บ่มนานหน่อยแอกอฮอล์ก็ต่ำลงและมีรสชาติหวาน
แต่หากยังบ่มไม่นานพอ แล้วรีบดื่มก็จะได้ทั้งความขมและแอลกอฮอล์ ที่บางครั้งก็ตีแรงจนเมามายได้อย่างง่ายๆ
ไม่ต่างกับอดีต
ใช้เวลา
มีรสขม
ทว่าความหอมหวานของมันก็ดึงดูดเราดื่มด่ำ
แต่กระนั้นก็นะ
มันก็ทำร้ายร่างกายเราไปทีละช้าๆเหมือนกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in