เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ห้องตรวจหมายเลข 5นักเล่าเรื่อง
บทนำ
  • คุณจะคิดถึงอะไรเมื่อพูดถึงโรคย้ำคิดย้ำทำ?

              โต๊ะทำงานที่ถูกจัดเป็นระเบียบเป๊ะในองศาเดียวกัน?

    ผู้ชายที่ล้างมือตลอดเวลาจนมือเปื่อยยุ่ย?

    ผู้หญิงที่ใช้เวลา3 ชั่วโมงไปกับการตรวจประตูหน้าต่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกเครื่องก่อนออกจากบ้าน?

    ภาพจำของผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างประเทศแล้วเคยคิดไหมว่าคนที่ดูเหมือนปกติดี  แสดงออกทุกการกระทำเหมือนคนทั่วไปอาจจมอยู่ในทะเลความคิดของโรคย้ำคิดย้ำทำก็ได้ คน ๆ นั้นอาจเป็นคนในครอบครัวของคุณ,เพื่อนร่วมงาน, คนรัก หรือแม้กระทั่งศัตรูคุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าในหัวของพวกเขาเหล่านั้นคิดอะไรอยู่

    ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับโรคย้ำคิดย้ำทำหรือเรียกภาษาอังกฤษว่า Obsessive-CompulsiveDisorder (OCD) โรคนี้แบ่งออกได้เป็น 2 อาการประกอบกัน นั่นคือ

    1.     อาการย้ำคิด (Obsessive) คือ ความคิด, ภาพ, ภาพเคลื่อนไหว หรือฉากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นในสมองของผู้ป่วยซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ผู้ป่วยควบคุมไม่ได้ต่อไปนี้ฉันขอเรียกมันว่าจินตนาภาพ จินตนาภาพเหล่านี้ขับเคลื่อนให้ผู้ป่วยทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อความคิดนั้นซ้ำๆ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยรู้อยู่แก่ใจว่าความคิดหรือภาพเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลแต่ก็ไม่สามารถลบออกไปจากสมองได้ เช่น มีความคิดหวาดกลัวต่อเชื้อโรค, คิดถึงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม,คิดลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความคิดหรือจินตนาภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจของผู้ป่วยสร้างความรู้สึกกังวล ไม่สบายใจและส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

    2.     อาการย้ำทำ (Compulsive) คือ การกระทำที่ตอบสนองต่ออาการย้ำคิดในข้อ 1 เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกคลายกังวลจากความคิดที่ไร้เหตุผลและก่อให้เกิดความสบายใจซึ่งแท้จริงแล้วการกระทำดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดความสบายใจหรือคลายกังวลได้เนื่องจากผู้ป่วยต้องทำสิ่งที่ตอบสนองต่อความคิดของตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจจะ 3-4ชั่วโมง หรือบางคนใช้เวลาครึ่งวัน ทำให้เกิดปัญหาด้านการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างตามมา

                เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ฉันขอยกตัวอย่างผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำนามว่าเดวิด อดัม เขาคือนักเขียนเจ้าของหนังสือ “คิดไม่หยุด ฉุดไม่อยู่:เรื่องจริงของโรคย้ำคิดย้ำทำ ความเจ็บป่วยที่คนนับล้านต้องพบเจอ (The Man WhoCouldn’t Stop: OCD AND THE TRUE STOR OF A LIFE LOST IN THOUGHT)” หนังสือกล่าวถึงชีวิตของเดวิดผู้มีความคิดกลัวการติดเชื้อHIV แค่จากคำพูดของเพื่อนที่ทักเขาว่า

                “ได้ใช้ถุงยางหรือเปล่าเดี๋ยวก็ติดเอดส์หรอก”

                อดัมรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางติดเอดส์เพราะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ไปออกเดทด้วยเลยแต่เขากลับต้องเช็คทุกครั้งให้แน่ใจว่าเสาทุกต้นที่เขาจับไม่มีเลือดของผู้อื่นติดอยู่เพื่อไม่ให้เชื้อ HIVจากคนแปลกหน้าเข้าสู่ร่างกายของเขาได้ ทั้ง ๆ ที่เขารู้ดีว่าเชื้อ HIVไม่มีทางอยู่ในอากาศได้นานเกิน 10 วินาทีเสียด้วยซ้ำแต่เขาก็ยังกำจัดความคิด เดี๋ยวก็ติดเอดส์หรอกออกไปจากสมองไม่ได้

    ผู้ป่วยโรคOCD ปกติแล้วจะมีความคิดหนึ่งหรือหัวข้อความคิดหนึ่งอยู่ในหัวและตอบสนองต่อความคิดนั้นด้วยการย้ำทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่รู้รึไม่ว่ายังมีผู้ป่วยที่เรียกกันว่าPure O หรือ Purely Obsessional อยู่ด้วย

    Purely Obsessional (Pure O) คือประเภทหนึ่งของโรค OCD ที่ผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการย้ำทำออกมาอย่างเป็นรูปธรรมแต่จะมีความคิดหรือจินตนาภาพที่ไม่ต้องการรึไม่สมเหตุสมผลปรากฏขึ้นในสมองซ้ำ ๆ อย่างควบคุมไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นความคิดเกี่ยวกับความรุนแรง,ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม ความกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น กลัวว่าตัวเองจะไม่สมบูรณ์แบบ,กลัวตัวเองเป็นโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิต, กลัวว่าตัวเองจะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นเป็นต้น ด้วยความที่ผู้ป่วยโรค OCD ชนิด Pure O ไม่ปรากฏการกระทำออกมาชัดเจนการบำบัดรักษาผู้ป่วยประเภทนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของจิตแพทย์ที่จะต้องรักษาเลยก็ว่าได้ผู้ป่วย Pure O มักติดกับความคิดที่ว่า

    ฉันไม่ควรคิดอย่างนี้

    ความคิดนี้มันไม่ถูกต้อง

    ทำยังไงฉันถึงจะควบคุมความคิดตัวเองได้

    ถึงแม้ผู้ป่วยPureO จะไม่ได้ใช้เวลาชีวิตไปกับการปฏิบัติพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ แต่เขาเหล่านั้นก็ใช้เวลาไปกับการคิดค้นหาว่า ทำยังไงถึงจะขจัดความคิดไม่เหมาะสมออกไปจากสมองได้หรือ ความคิดเลวร้ายเหล่านี้มาจากไหน ส่งผลให้คนเป็น Pure O จะต้องเจอกับความทุกข์ทรมานทางความคิดไม่แพ้คนที่เป็นทั้งย้ำคิดย้ำทำเลย

    เดวิดอดัมกล่าวถึงลักษณะความคิดหรือจินตนาภาพไว้ในหนังสือ คิดไม่หยุด ฉุดไม่อยู่เขาเป็นผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำชนิดปรากฏทั้ง 2 อาการ และมีความคิดกลัวการติดเชื่อHIV อย่างไร้เหตุผลจนถึงขนาดติดอยู่ในห้องน้ำที่เปิดประตูอยู่เพราะไม่กล้าก้าวเท้าไปบนพื้นที่เปียกน้ำในขณะที่เขามีแผลเล็ก ๆ ที่ฝ่าเท้า เดวิดได้กล่าวถึงลักษณะของความคิดหมกมุ่น (เขาเรียกภาพที่ปรากฏในสมองว่าอย่างนั้น)เอาไว้ว่า

    ความคิดหมกมุ่นเปรียบเสมือนหน้าต่างใหญ่ที่ย่อขนาด ขยับเขยื้อนหรือปิดไม่ได้ แม้ว่าจะมีงานหรือภารกิจอื่น ๆ เข้ามาที่หน้าจอของจิตใจเรา แต่หน้าต่างแห่งความหมกมุ่นก็ยังเปิดหราอยู่บนพื้นหลัง มันอยู่นิ่ง ๆ นอกจุดสนใจ แต่ก็พร้อมแย่งจุดสนใจเสมอ มันทำหน้าที่แย่งแบตเตอรี่ของเราอยู่ตลอดเวลา และคอยจะทำให้ประสิทธิภาพของภารกิจอื่น ๆ แย่ลง

     

    ผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่แสดงอาการทั้ง2 อาการหรือผู้ป่วยชนิด Pure O มักจะโดนคนรอบข้างพูดใส่เสมอว่า

    “ไม่มีอะไรแกอะคิดมาก”

    อ้าว! แล้วอาการย้ำคิดและการคิดมากไปเองมันต่างกันตรงไหนล่ะ

    เว็บไซต์Intrusive Thoughts ได้ให้นิยามความแตกต่างระหว่าง Pure Oและคนที่คิดมากไปเองไว้ว่า คนที่คิดมากนั้นสามารถกำจัดความคิดที่ไม่ต้องการหรือความคิดที่ทำให้ไม่สบายใจออกไปไปจากสมองได้ง่ายในขณะที่ผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำชนิด Pure Oอาจมีความคิดที่ไม่ต้องการเข้ามาในสมองชั่ววูบเดียวแต่เขาเหล่านั้นกลับติดอยู่ในความกังวลหรือความกลัวต่อความคิดนั้นแสนนานส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความทรมานทางความคิดและการใช้ชีวิต

    ยังไงก็ตามโรคย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หากสงสัยว่า โอ๊ยยย!!ตนเองคิดมากไปเอง ใคร ๆ ก็เป็นกันหรือมีอาการคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำกันแน่จงอย่าลังเลหรืออายที่จะไปพบจิตแพทย์ เพื่อหาคำตอบที่แน่นอนให้กับตัวคุณเองและอย่าลืมว่าแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีตามเว็บไซต์ต่างๆก็ไม่สามารถสู้คำวินิจฉัยของผู้ชำนาญการอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดได้เลย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in