*กรุณาจินตนาการเป็นเสียงบรรยายของมอร์แกน ฟรีแมน*
แล้วพวกเขาก็ไม่ได้ทำเครื่องบินกระดาษพุ่งใส่กัน วางใจได้ (มันก็ไม่น่ากลัวรึเปล่าน่ะอันนั้น) มินิมอร์เฝ้าดูสงครามนี้มาพักหนึ่ง...ตั้งแต่ช่วงที่มันเริ่มต้นขึ้น คิดในใจเลยว่า เฮ้ย สนุก ทำไมคนเราถึงเอาโพสต์อิทมาต่อกันแล้วแปะบนกระจกไปทักทายตึกข้างๆ เหนื่อยเหรอ? เบื่อเหรอ? หรือยังไง แล้วคนตึกข้างๆ เบื่อเหมือนกันเรอะถึงเล่นตอบ แล้วไม่เปลืองกระดาษหรือไง ทำแล้วได้อะไร!
ก่อนจะไปตัดสินหรือสงสัยอะไรเขาเราไปดูกันก่อนดีกว่าว่าเขาทำอะไรกันไว้บ้าง
เพราะคำว่า Hi คำเดียวเลยเนี่ย เรื่องมันถึงใหญ่ขนาดนี้
ภาพจาก @freshasthedayshewasborn (โอ้โห ชื่ออินสตาแกรมยังเก๋)
ถามทีเดียว ตอบมากี่ที่ล่ะนั่น! แล้วตอบกันหลากหลายเหลือเกินนะ
ภาพจาก @VinVox
(งาน ADELE ก็มา เห่ลโหล่ว ฟรัม ดิ อ๊าเต้อร์ ซ้ายด์)
มันคงไม่เกิดอะไรมากนัก ถ้าบริษัทที่ทำงานอยู่ในสองตึกนี้ดั๊นนนน เป็นเอเจนซี่สายโฆษณาและงานสร้างสรรค์กันทั้งนั้น ในย่าน TriBeCa (ไทรแบก้า) ของแมนฮัตตันนั้นได้ชื่อว่าเป็นย่านคนรวย มีคนดังมากมายซื้ออพาร์ทเมนต์อยู่ย่านนี้ แล้วบน Canal Street และใกล้เคียงก็เป็นที่ตั้งของบริษัทสายครีเอทีฟหลายบริษัทเลยด้วยล่ะ อย่างบริษัทที่เข้ามาร่วมเกมนี้ก็จะมี Havas Worldwide (นี่เลยคนก่อหวอด..) Horizon Media, Cake Group, Biolumina and Harrison ,Star และบริษัทที่เป็นตัวแทนขายภาพถ่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Getty Images ก็เอากับเขาด้วย!
กลายเป็น #canalnotes หรือ #postitwar (บางคนก็ใช้ #postitwars) กิจกรรมเหล่านี้เรียกความสนใจจากผู้คนในนิวยอร์กและสำนักข่าวได้อย่างดีเลย (แต่คนเล่นไม่สนใจหรอก สนแค่การโต้กลับของตึกตรงข้าม ใช่มั้ย?)
แรกๆ ก็เป็นแค่คำพูดอยู่หรอก แล้วก็มีแค่สีเหลือง หรือสีที่สำนักงานของเบิกมาใช้ จืดๆ แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป...ภายหลังการมาถึงของสิ่งนี้
บริษัทผู้ผลิต Post-it ออกโรงมาด้วยตัวเอง! พร้อมกระเป๋าโลหะดั่งกระเป๋าใส่อาวุธสงครามในหนัง เมื่อเปิดมาก็เจออาวุธ(?)หลากสีที่พร้อมจะให้บริษัททั้งหลายประหัตประหารกันทางไอเดียแล้ว! มินิมอร์ชอบคู่มือการสร้างพิกเซลอาร์ทมาก นี่ฝ่ายกราฟฟิคฝ่ายอาร์ทของโพสต์อิททำงานเร็วไปมั้ยอะ
ด้วยสีสันที่เพิ่มขึ้น งานศิลปะแนวพิกเซลอาร์ทจากกระดาษโน้ตก็เลยถือกำเนิดขึ้น! มินิมอร์ขอประมวลภาพคร่าวๆ ให้ดู แน่นอนว่าเลือกอันที่ตัวเองชอบมา (อ้าว..)
ภาพหัวใจสีม่วง เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักร้องในตำนานที่เพิ่งล่วงลับไป Prince ผลงานที่น่ารักของ @NNNTweets ที่ชอบอันนี้เพราะมีการแปะกระดาษบิดเข้าโค้งจนกลายเป็นเหลี่ยมคล้ายกับเพชรทรงหัวใจเลย เท่!
งานภาพการ์ตูนก็มีเยอะเลย แต่มินิมอร์ชอบสองแม่ลูกจาก เดอะ ซิมป์สัน! ไม่ใช่เพราะชอบการ์ตูนเรื่องนี้อย่างเดียว แต่ชอบเพราะจะมีการ์ตูนกี่เรื่องในโลกนี้ที่มีร่างกายเป็นคนแล้วใช้โพสต์อิทสีเหลืองสร้างพิกเซลอาร์ทได้ *น้ำตาไหล* ภาพนี้โดยคุณ @kBostley
ถ้าใครอยากรู้ว่าพวกเขาจริงจังกันขนาดไหน ลองไปดูคลิปในทวิตเตอร์ของ @HorizonMedia กันได้เลย นี่คือเกณฑ์คนมาทำอย่างจริงจัง *กับเรื่องงานตั้งใจขนาดนี้มั้ยลูก*
แต่ที่รู้สึกว่าอลังการงานสร้างที่สุด คือบริษัท Maxus USA ที่เอาโพสต์อิทมาสร้างเป็นงานศิลปะระดับโลก ผลงานของ Van Gogh ที่ชื่อว่า The Starry Night
และสงครามครั้งนี้ก็ได้ปิดฉากลง โดยบริษัท Havas ที่เป็นคนเริ่ม ได้ทำภาพ mic drop (แปลว่า จบ!) แล้วมีคนใจดีไปทำเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ด้วยอีกแน่ะ!
แม้สงครามบน Canal Street จะจบไปแล้ว แต่เรื่องราวยังไม่สิ้น... เพราะจากการติดตามทวิตเตอร์ของ Post-it ผู้ผลิตกระดาษโน้ต มินิมอร์พบว่าได้มีงานศิลปะเช่นนี้ที่เมืองอื่นๆ รวมถึงต่างประเทศก็มีคนทำด้วยเหมือนกัน! ถ้าใครสนใจไปติดตามต่อได้ที่ @Postit ได้เลย
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะสงสัย ทำไปทำไม? ทำแล้วได้อะไร? เปลืองกระดาษนะเว้ย!
แรกๆ เขาก็แค่เบื่อๆ เลยหาอะไรสร้างสรรค์ทำ แต่เมื่อมันกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น...การละเล่นก็กลับกลายเป็นการสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ เพราะ Post It War เข้าร่วมแคมเปญบริจาคเงินให้กับทหารผ่านศึก!
เห็นไหมว่ากระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมที่ดูไม่มีอะไรเล้ย นอกจากเอาไว้จดและแปะลงบนที่ต่างๆ มันยังสามารถกลายเป็นงานศิลปะที่สั่นสะเทือนหน้าที่การงานโลกได้ มาจากสาเหตุสำคัญ...ความสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไงล่ะ
มินิมอร์เชื่อว่าไม่ว่าอะไรมันก็กลายเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวาได้ ขนาดชาวนิวยอร์กที่ทำงานอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม หน้าคอมพิวเตอร์ ในเมืองที่มีแต่ตึกสูงและมองเผินๆ มีแต่ความเย็นชายังสามารถทำเรื่องสนุกได้ ถ้าเราไม่ลืมหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยไฟของความสร้างสรรค์ รับรองว่าเราต้องเปลี่ยนวันซึมเซาให้สดใสขึ้นได้แน่ แม้จะไม่มีพระอาทิตย์ก็ตามที จริงไหม?
(ไม่ ทุกคนบอกไม่มีพระอาทิตย์น่ะดีแล้ว เพราะร้อนมาก)
ขอบคุณข้อมูลจาก
adweek.co
themuse.com
nytimes.com
nbcnews.com
campaignlive.co.uk
onairwithryan.iheart.com
boredpanda.com
ny1.com
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in