เพื่อนๆ ที่เข้า google.co.th ก็คงสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมวันนี้ถึงมีรูปผลไม้แกะสลัก แล้วดูเป็นงานไท้ไทย รู้ไหมว่าแค่เอาเมาส์ไปวางบนรูป ก็จะขึ้นข้อความว่า Penpan Sittitrai fruit carving และพอคลิกก็จะมีข้อมูลขึ้นมา โอเคงั้นไปอ่านเองนะ
เดี๋ยวๆ
ก็จะเขียนแหละน่า เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่านำเสนอจริงๆ ก่อนอื่นเลยเพื่อนๆ หลายท่านอาจจะทำงานนับวันรอสิ้นเดือนจนลืมไปว่าวันนี้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นั้นเป็นวันศิลปินแห่งชาติ google ประเทศไทยก็เลยเลือกงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมาเป็น Google Doodle และงานแกะสลักอันสวยงามเหนือจริงนี้ก็เป็นผลงานของ อาจารย์เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติปีพ.ศ. 2552 และท่านได้จากไปเมื่อปี พ.ศ. 2558
ดูปลาน้อยเหล่านั้นสิ โอ๊ย แล้วไหนจะดอกเบญจมาศสีส้มที่ทำมาจากแครอทนั่นอีก - ที่มา manager.co.th
โอย นางกินรี พออยู่กับใบบัวแล้วเหมือนลงสรงสนานสระอโนตาดอะเธอออ - ที่มา manager.co.th
ฮื้ออออ เต่า น่ารักมาก เอาแตงโมมาทำเต่า นอกจากลายไทยก็มีแบบนี้อะ เจ๋งจริงๆ
สิ่งที่ท่านทิ้งเอาไว้คือภูมิปัญญาในการแกะสลักผักและผลไม้ที่สวยงามอย่างน่าทึ่ง และเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวต่างชาติ ทั้งแขกของรัฐบาล ทูตานุทูต และบุคคลสำคัญอีกมากมาย ท่านได้ตกแต่งมื้ออาหารไทยที่เดิมพิเศษอยู่แล้วด้วยงานศิลปะ ทำให้ภาชนะรวมถึงตัวอาหารเกิดความงามและเป็นอาหารตาด้วยอีกประการ ท่านได้ริเริ่มให้มีการแข่งขันการแกะสลัก ผัก ผลไม้ ในระดับชาติ แล้วยังเขียนตำราเกี่ยวกับการแกะสลักไว้ด้วยนะ
เหมือนว่างานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดผ่านอาหารนี้ เป็นสิ่งที่ท่านได้รับมาจากครอบครัว เพราะท่านเคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
"ตระกูลวชิโรดม(นามสกุลเดิม) เป็นตระกูลสร้างวัดค่ะ
งานแกะสลัก ก็ได้ฝึกมือมาตั้งแต่ตอนนั้น
เพราะตามประสาคนต่างจังหวัด
มีทั้งงานแห่เทียนเข้าพรรษาและแห่ปราสาทผึ้ง
ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งเหล่านี้ถวายวัด"
ความรู้และภูมิปัญญาที่ท่านได้ถ่ายทอดไว้ ใครอาจจะนึกไม่ออกว่ามีมากมายแค่ไหน แต่มินิมอร์ได้เห็นจากภาพข่าวในงานพระราชเพลิงศพของอาจารย์ บรรดาลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครช่วยกันจัดดอกไม้สดประดับพลับพลาที่ประทับ และรังสรรค์ผักและผลไม้เป็นอาหารต้อนรับแขกเหรื่อ
ภาพทั้งหมดแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คุณค่าของการที่ท่านทุ่มเทถ่ายทอดงานศิลปะมาตลอดชีวิต หาได้ทำเพื่อให้ตนเองได้ชื่อว่าเป็นศิลปินแห่งชาติผู้เอกอุด้านประยุกต์ศิลป์ แต่เพื่อส่งมอบจิตวิญญาณและความงามของศิลปะไทยต่อไปอีกรุ่นหนึ่งนั่นเอง
คลิปข้างบนนี่อยากฝากทิ้งเอาไว้ให้เพื่อนๆ ได้ลองฟัง ว่าอาจารย์ท่านเคยกล่าวเอาไว้เช่นไรกับการรักษาศิลปะประจำชาติแขนงต่างๆ ไว้ ถึงจะบอกว่าท่านอนุรักษ์งานศิลป์ที่ถ่ายทอดมา แต่ท่านก็ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะงานศิลปะที่จะอยู่ได้นาน คือต้องมีการรักษาของเดิมไว้และมีการต่อยอดแหละเนอะ
ขอบคุณ Google ที่ได้นำเสนองานของศิลปินแห่งชาติผ่าน Google Doodle หน้าตาน่ารัก ทำให้พวกเราสนใจและได้ทำความรู้จักกับคนที่สืบทอดศิลปะด้วยความรัก ความทุ่มเทของท่าน จนวันสุดท้ายของชีวิต หวังว่าเพื่อนๆ ได้อ่านบทความนี้ แล้วจะสัมผัสได้ถึงความสร้างสรรค์ของอาจารย์เพ็ญพรรณนะจ๊ะ :>
ที่มา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in