เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ติ่งญี่ปุ่นมือใหม่ ฉบับคนสนใจภาษาและแอนิเมชันIcedMatchaLatte
EP.3 : เมื่อกี้น้องเมพูดว่าอะไรนะคะ? | 音位転換 ใน となりのトトロ
  • สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่เราพูดถึงเรื่อง Spirited Away กันมาถึง 2 ตอนแล้ว ครั้งนี้เรามาสังเกตการใช้ภาษาในแอนิเมชันเรื่องอื่นของสตูดิโอจิบลิกันบ้างดีกว่าค่ะ โดยเรื่องที่เราหยิบยกขึ้นมาคุยกันในบล็อกนี้ คิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ตัวละครในเรื่องนี้ก็ถูกนำมาทำเป็นตุ๊กตาหรือของใช้น่ารัก ๆ อยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือเรื่อง My Neighbor Totoro となりのトトロ หรือในชื่อไทยคือ โทโทโร่เพื่อนรัก นั่นเองค่ะ

    © 1988 Hayao Miyazaki/Studio Ghibli

    พอพูดชื่อนี้ขึ้นมา ตัวละครแรกที่ผู้ชมหลาย ๆ ท่านนึกถึงอาจจะเป็นเจ้าโทโทโระ หรือต่อให้ไม่เคยดูแอนิเมชันเรื่องนี้มาก่อนและอาจจะจำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่พอเปิดรูปโทโทโระขึ้นมา ก็คงร้องออกมาว่า “อ๋อ ตัวนี้นี่เอง” ตาม ๆ กัน แต่ในแอนิเมชันเรื่องนี้ไม่ได้มีตัวละครหลักแค่โทโทโระนะคะทุกคน แต่ยังมี ซะสึกิ เด็กหญิงวัย 11 ปี และ เม น้องสาววัย 4 ขวบของซะสึกิอีกด้วยค่ะ

    ซะสึกิ (11) และ เม (4) https://www.ghibli.jp/works/totoro/#&gid=1&pid=4

    แต่ ๆๆๆ ในบล็อกนี้เราจะมาสังเกตคำพูดของน้องเม หนูน้อย 4 ขวบคนนี้กันเป็นหลักค่ะ ╰(´︶`)╯♡ โดยในตอนที่เลือกมาคือตอนที่เมวิ่งเล่นในป่าหลังบ้านแล้วไปเจอกับหนองน้ำที่เต็มไปด้วยลูกอ๊อดและตอนที่เมพูดกับคุณยายว่าจะเอาข้าวโพดที่เก็บได้ไปให้คุณแม่ค่ะ

    หากลองสังเกตบทพูดภาษาญี่ปุ่นของเม จะพบว่ามันมีอะไรแปลก ๆ ไป เหมือนว่านี่จะไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่นที่ถูกต้อง ทุกคนลองดูบทพูดในรูปด้านล่างนี้โดยเฉพาะส่วนที่ขีดเส้นใต้ไปพร้อม ๆ กันนะคะ

    จากบทพูดข้างบน จะเห็นได้ว่าน้องเมพูดผิด โดยพูดคำว่าลูกอ๊อด オタマジャクシ เป็นคำว่า オジャマタクシ และพูดคำว่าข้าวโพด トウモロコシ เป็น トンモコロシ ค่ะ

    ในทางภาษาศาตร์เรียกปรากฏการณ์ทางภาษานี้ว่า Metathesis การสลับเสียง หรือ ภาษาญี่ปุ่นคือ 音位転換 (おんいてんかん) นั่นเองค่ะ

    การสลับเสียงเกิดจากการที่เสียงในคำที่ใกล้กันสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน โดยจะเปลี่ยนจากลำดับเสียงที่ออกเสียงยากให้เป็นลำดับเสียงที่ออกเสียงได้ง่าย ปรากฏการณ์นี้พบเห็นได้ในทุกภาษา และจะพบบ่อยในเด็กอายุหนึ่งขวบครึ่งถึงหกขวบ

    ในเรื่อง My Neighbor Totoro น้องเมที่มีอายุเพียง 4 ขวบ ได้สลับเสียงในคำว่าลูกอ๊อดและข้าวโพด จากคำว่า タマジャクシ เป็น ジャマタクシ โดยสลับตำแหน่ง タマジャ → ジャマタ และคำว่า トウモロコ เป็น トンモコロ โดยสลับตำแหน่ง ロコ → コロ เพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ

    https://www.ghibli.jp/works/totoro/#&gid=1&pid=38

    นอกจากในแอนิเมชันเรื่องนี้ เรายังสามารถพบเห็นตัวอย่างการสลับเสียงของเด็กตามปรากฏการณ์ข้างต้นได้ทั่วไปและสามารถพบเห็นได้ในบทความที่ผู้ปกครองออกมาบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอกับลูกของตัวเองหรือประสบการณ์โดยตรงของตัวเองในวัยเด็กได้เช่นกันค่ะ

    ตัวอย่างที่ 1 https://user.keio.ac.jp/~rhotta/hellog/2009-06-27-1.html (ลูก ๆ ที่บ้าน)

    「マスク」เป็น「マクス

    ตัวอย่างที่ 2 https://web.sekaishisosha.jp/posts/2551 (ลูกสาววัย 6 ขวบ)

    「どろぼう」เป็น「どぼろう」,「うらやましい」เป็น「うらまやしい」,「おるすばん(お留守番)」เป็น「おするばん」,「みずたまもよう(水玉模様)」เป็น「みずたまよもう」

    ตัวอย่างที่ 3 https://shuchi.php.co.jp/article/8882 (ผู้เขียนประสบเองตอนเด็ก)

    メガネ屋さん」เป็น「ネガメ屋さん」

    ตัวอย่างที่ 4 https://web.sekaishisosha.jp/posts/2551 (ผู้เขียนประสบเองตอนเด็ก)

    เรียกครูที่โรงเรียนอนุบาลจาก「くりばやしせんせい(栗林先生)」เป็น「くりやばしせんせい」

    ตัวอย่างที่ 5 https://user.keio.ac.jp/~rhotta/hellog/2017-01-05-1.html (ตัวอย่างอื่น ๆ ที่เด็กพูดผิด)

    「てがみ」เป็น「てまぎ」,「めがね」เป็น「めなげ」,「たまご」เป็น「たがも」,「おまけ」เป็น「おかめ

    จากตัวอย่างข้างต้น พบว่ามีคำจำนวนไม่น้อยที่พบว่าเกิดการสลับเสียงในเด็กเกิดขึ้น แต่ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้พบแค่ในเด็กเท่านั้น ยังสามารถพบการสลับเสียงที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ได้เช่นกันหากพูดโดยไม่ระวัง

    ตัวอย่างที่ 6 https://www.oyobe.com/wp/2022/07/13/コミュニケーションとコミニュケーションはどっ/#toc10

    シミュレーション」เป็น「シュミレーション」,「コミュニケーション」เป็น「コミニュケーション」,「ふんいき」เป็น「ふいんき」

    การสลับเสียงไม่ได้เป็นเพียงข้อผิดพลาดทางการออกเสียงที่เกิดขึ้น ได้รับการแก้ไขแล้วหายไปเท่านั้น แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางภาษาในภาษาญี่ปุ่นได้อีกด้วย

    คำว่า 山茶花 หากอ่านตามคันจิ ชื่อดอกไม้ชนิดนี้ควรจะอ่านว่า「さんさか」แต่ในปัจจุบันคำนี้ออกเสียงว่า「さざんか」

    ชื่อสถานที่ยอดนิยมอย่าง 秋葉原 มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า เดิมทีชื่อสถานที่แห่งนี้ควรออกเสียงว่า「あきばはら」แต่เกิดการสลับเสียงให้ออกเสียงง่ายขึ้นจนกลายเป็น「あきはばら」ดังที่เรียกกันในปัจจุบัน

    คำคุณศัพท์ที่ใช้บ่อยอย่างคำว่า 新しい ว่ากันว่าเดิมทีคำนี้ควรอ่านว่า「あらたしい」แต่มีการออกเสียงผิด โดยออกเสียงเป็น「あたらしい」บ่อยครั้ง จนได้รับการยอมรับและกลายเป็นการออกเสียงที่ถูกต้องดังที่ใช้กันในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้พบแค่ในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้ในทุกภาษา ภาษาไทยเองก็พบมากเช่นกัน หรือบางทีก็อาจพบการสลับเสียงอย่างตั้งใจเพื่อจุดประสงค์บางอย่างจนกลายเป็นคำผวนค่ะ

    ปล. หากผู้อ่านท่านไหนเคยเจอประสบการณ์ออกเสียงผิด เผลอสลับเสียงตอนพูดภาษาญี่ปุ่นโดยไม่ตั้งใจ มาเล่าประสบการณ์กันที่ช่องคอมเมนต์ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ ส่วนตัวเราเองประสบปัญหานี้บ่อยเลยค่ะ ^^;

    ที่มา :

    https://www.ghibli.jp/works/totoro/

    https://www.ghibli.jp/works/totoro/#&gid=1&pid=4

    https://www.ghibli.jp/works/totoro/#&gid=1&pid=38

    https://www.facebook.com/caicaibook/photos/a.249392841839054.49248.180806518697687/658033644308303/

    https://japan-brain-science.com/archives/3409#i6

    https://user.keio.ac.jp/~rhotta/hellog/2009-06-27-1.html

    https://web.sekaishisosha.jp/posts/2551

    https://shuchi.php.co.jp/article/8882

    https://user.keio.ac.jp/~rhotta/hellog/2017-01-05-1.html

    https://www.oyobe.com/wp/2022/07/13/コミュニケーションとコミニュケーションはどっ/#toc10

    https://news.nicovideo.jp/watch/nw3061934

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ชวิน (@Vyncent)
เย้ ๆ อนิเมะเรื่องโปรดเราเลยค่ะ อ่านสนุกมากเลยยยย เรื่องสลับเสียงที่ไม่ว่าใครก็เผลอหลงลืมพูดผิดบ่อยจริง ๆ ตัวเราก็เป็นค่ะ ในภาษาไทยคำว่า ตะกร้า กับ กะต้า (ภาษาอีสาน)
k.l.k (@k.l.k)
สนุกมากเลย ภาษาไทยก็มีนะคะ จำกัด กำจัด (พูดผิดบ่อยมาก) สถิติ สติถิ เป็นต้น ภาษาเด็กน้อยนำทางการเปลี่ยนแปลงภาษาได้
IcedMatchaLatte (@natnps)
ใช่เลยค่ะ ภาษาไทยเองหลาย ๆ รอบหนูยังต้องค่อย ๆ คิดค่อย ๆ เรียบเรียงก่อนพูดเลยค่ะ ส่วนภาษาญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยคล่องอยู่แล้วนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลยค่ะ🥲