เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
STORY TIME WITH NAMENOSENSEnamenosense
เปิดประตูสู่ครอบครัว 'วรรณกรรมสำหรับเด็ก'
  • หลังจากจบมัธยมปลาย หญิงสาวใช้เวลาเกือบสองอาทิตย์กับการคิดว่าต่อจากนี้ชีวิตเธอในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ ตอนนี้เพื่อน ๆ ต่างก็ได้เข้ามหาลัยในคณะที่ตัวเองหวังไว้ แต่ตัวเธอกลับเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าอยากเข้าหรือเรียนคณะไหน เพราะเธอไม่รู้ว่าอยากทำอาชีพอะไร ไม่รู้แม้กระทั่งความถนัดของตัวเอง เธอรู้เพียงแค่ว่าเธอชอบอ่านหนังสือและเขียนบันทึก 

    วันนี้ก็เป็นอีกวันที่น่าเบื่อเช่นเคย เธอเปิดแอปพลิเคชันยอดฮิตสีขาวแดงเพื่อดูคลิปวิดิโอของศิลปินที่เธอชื่นชอบ แต่เพราะช่วงนี้เธอวุ่นอยู่กับการหาข้อมูลมหาลัยทำให้อัลกอริทึมขึ้นคลิปวิดิโอ PODCAST ของผู้ใช้งานคนหนึ่ง โดยปกคลิปมีชื่อว่า 'เปิดประตูสู่ครอบครัว เอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ' 

    'มีเอกนี้อยู่ในประเทศเราด้วยเหรอ' เธอคิดในใจ โดยไม่รอช้าที่กดเข้าไปดู 


    สวัสดีทุกคนนะคะ และยินดีต้อนรับเข้าสู่ บันทึกเรื่องเล่า วันนี้ก็กลับมาพบกับพี่หนูนาอีกครั้งนะคะ ช่วงนี้คงเป็นช่วงที่น้อง ๆ ชั้นมัธยมปลายหลายคนกำลังวุ่นวายอยู่กับการตัดสินใจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย สำหรับคนที่ได้คณะและมหาลัยที่ตัวเองตั้งเป้าไว้ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้ หรือยังตัดสินใจไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ เรายังพอมีเวลา ดังนั้นบันทึกเรื่องเล่าของพี่หนูนาในวันนี้ ก็จะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก โดยแขกรับเชิญของเราในวันนี้ก็คือ พี่ลี่ลี่นั่นเองค่ะ สวัสดีพี่ลี่ลี่นะคะ

    "สวัสดีค่ะพี่หนูนา สวัสดีทุกคนเช่นกันค่ะ อย่างแรกขอแนะนำตัวอย่างเป็นทางการก่อนนะคะ ชื่อนางสาวญาณิศา ลิ้มเจริญ หรือพี่ลี่ลี่ ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากนี้ยังเขียนบทความรีวิวหนังสือ รับงานจิตอาสาจัดกิจกรรมสำหรับเด็กค่ะ"

    ปัจจุบันพี่ลี่ลี่ก็กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 แต่ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาในสาขาวิชานี้พี่ลี่ลี่มีการศึกษาหาข้อมูลยังไงบ้างคะ 

    "ลี่เริ่มเข้ามาศึกษาในสาขาวิชานี้เลือกจากความชอบ ลี่ชอบทั้งศิลปะ การอ่านหนังสือ ชอบเด็ก และชอบภาษา เลยศึกษาว่าพอจะมีสาขาวิชาไหนบ้างที่เปิดรับจนกระทั่งได้มาเจอสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก โดยสาขานี้สามารถตอบโจทย์ความชอบของเราได้ทุกอย่าง และความพิเศษคือ เป็น สาขาเดียวในประเทศไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

    น่าทึ่งมากจริง ๆ ค่ะ ไม่คิดเลยว่าสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กจะมีเพียงแค่ในประเทศไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แล้วสาขานี้เรียนอะไรบ้างคะ มีจุดเด่น ความน่าสนใจอย่างไร 

    "สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กเราจะเรียนภาพรวมสำหรับเด็กค่ะ พูดได้ตรง ๆ ภาพรวมสั้น ๆ คือ เราเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ผลงานสำหรับเด็ก พวกเราจะเรียนทุกอย่างเหมือนเป็ด แต่ความเป็นเป็ด เราเรียนทุกอย่างครอบคลุมทั้งหมด เราสามารถรวมทุกศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กไม่ได้เรียนเพียงแค่การเขียนเท่านั้น แต่ยังเข้าใจพัฒนาการเด็กแบบเจาะลึก โดยการเชิญอาจารย์หมอ ตำแหน่งกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม จากราชานุกูลมาสอน เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการและจิตวิทยาเด็กอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้จะมีการเรียนที่ไม่ได้จำกัดแค่การเขียน แต่ยังรวมไปถึงการคิดสร้างสรรค์ การเขียนสารคดี วรรณกรรม หรือบันเทิงคดีสำหรับเด็ก ครอบคลุมไปถึงการออกแบบ การทำนิตยสาร บรรณาธิการต่าง ๆ เพื่อที่จะมาพัฒนาศาสตร์ทางด้านสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กด้วยค่ะ"

    สาขาวิชานี้รู้สึกจะมีความน่าสนใจอยู่มากเลยนะคะ ที่สำคัญคือจะได้เรียนพัฒนาการเด็กแบบเจาะลึกด้วย มีการเรียนที่หลากหลาย แต่อาจจะยังเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ พี่หนูนาเลยอยากรู้ว่าบรรยากาศการเรียนการสอนภายในห้องเป็นอย่างไรคะ เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถไปเรียนในห้องได้ ทางสาขาวิชามีแนวทางการปรับตัวเพื่อไม่ให้การเรียนน่าเบื่อแบบไหนบ้างคะ 

    "บรรยากาศการเรียนพิเศษมากค่ะสำหรับสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ความพิเศษอยู่ตรงที่ ในห้องเรียนเราจะเรียกอาจารย์ทุกท่านว่า คุณครู แทนค่ะ เพราะคำว่า'คุณครู'สำหรับลี่เปรียบเสมือนคำว่า แม่และคำว่าอาจารย์รวมกัน เป็นทั้งผู้ที่ประศาสตร์วิชากับการเป็นคุณแม่ในตัวด้วย ซึ่งอาจารย์ทุกท่านรักและทุ่มเทให้กับการสอน เราจะรู้สึกได้จากการที่อาจารย์พยายามปรับตัวมากจากการเรียนภายในห้องและออนไลน์ นอกจากนี้ เด็กสาขาวิชานี้ทุกคนจะมีความถนัดเฉพาะด้าน ทำให้มีความกลมเกลียวกันสูง เพราะเราจะมีความเหมือนกันบางอย่างที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ด้วยความเป็นสาขาวิชาเล็ก ๆ ทำให้พวกเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องค่อนข้างสนิทกัน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จะสังเกตได้ว่าคุณครูสามารถเชิญรุ่นพี่ที่จบจากสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กรุ่นก่อน ๆ มาเป็นวิทยากรรับเชิญที่มีคุณภาพให้เราได้เสมอ และรุ่นพี่ทุกคนก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือแก่เราตลอด"

    การมีบรรยากาศการเรียนที่ดีจะช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้เราได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการมีมิตรภาพที่ดีด้วยเช่นกัน จนตอนนี้ตั้งแต่เข้าเรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กพี่ลี่ลี่ชื่นชอบวิชาไหนเป็นพิเศษไหมคะ 

    "สำหรับเราวิชาที่ชื่นชอบให้เลือกปีละหนึ่งวิชาคงเลือกไม่ได้ เพราะแต่ละปีมีวิชาที่ชอบเยอะมาก ลี่จะขอเรียงเป็นแต่ละปีแทนว่ามีวิชาไหนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ"

    "ปี 1 ลี่ชอบวิชาประวัติศาสตร์วรรณกรรมนานาชาติ (Histroy and deverlopment of international children's literature) เพราะเป็นวิชาที่ทำให้เราเปิดโลกมาก ๆ รู้สึกว่ามันสนุก ได้อ่านหนังสือหลากหลาย ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในห้อง นอกจากนี้ยังมีวิชา Overview of children literature เป็นวิชาที่ช่วยเปิดโลกเรื่องพัฒนาการเด็ก เราได้เรียนภาพรวมของวรรณกรรมสำหรับเด็ก ทั้งด้านความสนใจ ความชอบ

    ปี 2 ลี่ค่อนข้างชอบหลายวิชา อย่างวิชา สารคดี (Children's non fiction) อันนี้ก็จะสอนการเขียนสารคดีสำหรับเด็กให้น่าสนใจ ทำให้รู้ว่าเด็กไม่ได้ชอบเพียงแค่เรื่องแต่ง หรือ นิทานเพียงเท่านั้น เรื่องความรู้เด็ก ๆ ก็สนใจเหมือนกัน วิชาพัฒนาการเด็ก (Children development) เป็นวิชาที่เราจะได้เรียนเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โดยวิชานี้เราจะได้เรียนกับอาจารย์หมอ นอกจากนี้ยังมี วิชากวีสำหรับเด็ก (Writing verses for children) ซึ่งเรียนการแต่งกลอนสำหรับเด็ก มีกิจกรรมสนุก ๆ ให้แลกเปลี่ยนบทกลอนกับเพื่อน ๆ ในห้อง และสุดท้ายวิชาการศึกษาสำหรับเด็ก (Overview of education for children) โดยจะเป็นวิชาที่ผนวกศาสตร์ความรู้จากช่วงปี 1 และ ปี 2เข้าด้วยกัน ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนกับน้อง ๆ รวมถึงได้เรียนเกี่ยวกับการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก

    ปี 3 สิ่งที่ชอบที่สุดคือ Educational materials for children เพราะได้ทำสื่อสำหรับเด็กที่หลากหลาย ทั้งการทำนิทาน การทำงานฝีมือสื่อผ้าสำหรับเด็ก หรือการสร้างสรรค์แบบฝึกหัด ซึ่งเป็นการท้าทายความสามารถของเรา ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และได้นำผลงานของตัวเองไปให้เด็ก ๆ ได้ลองใช้ ซึ่งตอนนั้นสถานการณ์ยังไม่รุนแรงมาก ทำให้สามารถเดินทางไปจัดกิจกรรมกับเด็ก ๆ ได้ด้วยตัวเอง 

    ปี 4 ส่วนตัวเรียนมาแล้ว ชอบวิชาการเรียนสร้างสรรค์ (Creative writing for children) เป็นพิเศษ เพราะเราจะได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของเราออกมาได้อย่างเต็มที่ และเราก็สนุกตั้งตารอวิชานี้อย่างเต็มที่เลยค่ะ "

    ตอนนี้เราคงเห็นภาพสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กมากยิ่งขึ้น จากการเรียนการสอนแต่ละวิชาก็มีความน่าสนใจและแตกต่างกันออกไป เรียกได้ว่าถ้าหากเข้ามาเรียนสาขาวิชานี้ต้องไม่รู้สึกเบื่อแน่ ๆ เพราะมีหลายอย่างให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ แต่เมื่อพูดถึงการเรียนก็ทำให้เรานึกถึงคำ ๆ หนึ่งนะว่า 'การเรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กจำเป็นต้องรักเด็ก' แล้วเมื่อเรียนจบไปแล้วต้องทำงานเกี่ยวกับเด็กอย่างเดียวไหม

    "การเรียนสาขานี้ ไม่จำเป็นต้องรักเด็กค่ะ แต่อย่างหนึ่งที่ต้องมีคือ ความรับผิดชอบ และที่สำคัญคือเราต้องมีหัวใจที่เป็นเด็ก อันนี้คือสิ่งสำคัญของการเรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เพราะเราจะไม่สามารถทำงานให้กับเด็กได้เลยถ้าตัวเราไม่มีความเป็นเด็ก เราไม่จำเป็นต้องรักเด็กมาก ๆ เหมือนคนอื่น แต่เราสามารถรักษาความเป็นเด็กในตัวของเราได้มากแค่ไหนและรู้จักวิธีการดึงออกมาใช้ให้เป็น

    สาขาวิชาเราเมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถทำอาชีพได้หลากหลาย เราสามารถเป็นนักคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กก็ได้ เราเรียนวิชาบรรณาธิการกิจก็สามารถไปเป็นบรรณาธิการหนังสือสำหรับเด็กได้ เป็นนักเขียน นักวาดภาพประกอบ หรือไปเป็นครูสอนเด็ก ๆ เพราะเราเรียนพัฒนาการสำหรับเด็กมา หรือไปเป็นนักพัฒนาชุมชนที่อยู่ในด้านของเด็ก หรือทำงานในองค์กรหนังสือต่าง ๆ เพราะเราเรียนเหมือนเป็ด และสามารถรวมทุกศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย"

    สุดยอดไปเลยค่ะ พี่หนูนาเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาไหนก็ตามสิ่งที่เราทุกคนควรมีคือ ความรับผิดชอบ ใจรัก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กมีความพิเศษอีกอย่างคือการมีหัวใจที่เป็นเด็ก หลายคนอาจจะหลงลืมไปแล้วว่าครั้งสุดท้ายที่ได้ยิ้มหัวเราะไปกับเรื่องราวในวัยเด็กเนี้ยตอนไหน การได้มองย้อนกลับไปในช่วงเวลาแห่งความสุข ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องมีอะไรให้คิดและลำบากใจเท่ากับตอนนี้ คงเป็นเรื่องที่ดีมาก น่าสนใจจริง ๆ ค่ะ แน่นอนว่าสาขาวิชานี้ก็ยังเปิดรับสมัครน้อง ๆ มัธยมปลายที่มีความสนใจอยู่ ต้องมีการเตรียมตัวยังไงบ้างคะ 

    "ปีการศึกษาที่จะถึงนี้นะคะ สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กยังเปิดรับทั้งหมดสองรอบด้วยกัน ได้แก่รอบที่สามและสี่ ทั้งในระบบ TCAS และระบบใหม่ การเตรียมตัวก็แล้วแต่รอบที่น้อง ๆ ต้องการจะยื่น เพียงแค่มีคะแนนสอบของ o-net, 9 วิชาสามัญ รวมถึงการสอบเพิ่มเติมในรายวิชาอื่น ๆ ซึ่งแต่ละปีเกณฑ์ก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับกระทรวงการศึกษา หากน้อง ๆ ตั้งใจศึกษาข้อมูลอย่างดี ก็สามารถส่งคะแนนยื่นเข้าเรียนสาขาวิชานี้ได้เลยค่ะ"

    ครบถ้วนจริง ๆ ค่ะสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่ลี่ลี่ นิสิตสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กในวันนี้นะคะ ก็มาถึงช่วงสุดท้ายของ บันทึกเรื่องเล่า อยากให้พี่ลี่ลี่ฝากผลงานและช่องทางการติดต่อ เผื่อน้อง ๆ บางคนมีความสนใจที่จะศึกษาต่อในสาขาวิชานี้และมีคำถามเพิ่มเติมอยากจะสอบถาม รวมไปถึงอยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่ต้องการจะเข้าเรียนสาขาวิชานี้คะ

    "ตอนนี้ลี่เป็นแอดมินเพจ Linderelly  ซึ่งเป็นเพจที่รีวิวหนังสือสำหรับเด็ก มีการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือนะคะ ถ้าน้อง ๆ คนไหน สนใจอยากไปทักทายพูดคุยกันได้ในเพจ ปัจจุบันก็ทำโครงการ Halfbook กับพี่หนูนานั่นเอง ซึ่งเป็นโครงการของพี่แม็คและเหล่าพี่ ๆ จิตอาสาที่จะเล่านิทานควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ รู้สึกเบื่อในช่วงวันหยุดค่ะ"

    "สิ่งที่พี่ลี่ลี่อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนนะคะว่า การเรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กอาจจะเฉพาะทางแต่จริง ๆ มันครอบคลุมศาสตร์ที่สำคัญในชีวิตเรา ไม่ใช่การเรียนอะไรบางอย่างเพื่อที่จะไปทำงานเท่านั้น แต่มันคือการเรียนรู้ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และพี่ลี่ลี่เชื่อว่า ถ้าเด็ก ๆ ได้เข้ามาเรียนในสาขาวิชานี้นอกจากจะได้ความรู้ที่ติดตัวเพื่อประกอบอาชีพ เด็กๆจะได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์อย่างมีความสุข และรักษาความเป็นเด็กให้หัวใจ รวมถึงจินตนาการเอาไว้อย่างแน่นอนค่ะ แล้วพบกันในครอบครัววรรณเด็กนะคะ"

    วันนี้ก็ต้องขอขอบคุณพี่ลี่ลี่มาก ๆ ที่มาร่วมพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ 'เปิดประตูสู่ครอบครัว วรรณกรรมสำหรับเด็ก' นะคะ พี่หนูนา พี่ลี่ลี่ และบันทึกเรื่องเล่า ก็ต้องขอตัวลาไปก่อน สวัสดีค่ะ 

    หลังสิ้นสุดวิดิโอ หญิงสาวไม่รอช้าที่จะคลิกช่องทางการติดต่อผู้ให้สัมภาษณ์ที่เจ้าของคลิปนำมาแปะลิงก์ไว้ให้ เธอมีคำถามมากมายที่อยากจะถาม เธอตัดสินใจส่งข้อความไปยังเว็บเพจ ตอนนี้เธอไม่รู้หรอกว่าจะสามารถเข้าเรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กได้หรือเปล่่า แต่สำหรับเธอแล้วก็เป็นการเริ่มต้นค้นหาแนวทางในอนาคตที่ดีได้อย่างแน่นอน

    ----------------------------------------------------

    ----------------------------------------------------

    ขอขอบคุณ คุณลี่ลี่ เจ้าของเพจ Linderelly ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับเราในครั้งนี้ด้วยนะคะ 

    FB Page : https://www.facebook.com/Linderelly


    Instagram : https://www.instagram.com/linderellyy/


    Club House : https://www.clubhouse.com/club/linderelly-club


    Blockdit : https://www.blockdit.com/linderelly


    ----------------------------------------------------
                                                                                                        >>>>>> See You Next Story <<<<<<
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in