'DRAFT' คือการคัดสรรผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู่ลีกกีฬาอาชีพ โดยกระจายผู้เล่นที่ถูกหมายตาในปีนั้นไปสู่ทีมต่างๆในลีก ป้องกันไม่ให้ทีมใหญ่ที่มีเงินเยอะกว่ากวาดเด็กตัวท็อปไปไว้กับตัวเสียหมด ลีกกีฬายอดฮิตในสหรัฐอเมริกาอย่าง MLB, NFL และ NBA ก็ใช้ระบบดราฟเช่นกัน แต่ละลีกมีกฎย่อยแตกต่างกันไปแล้วแต่ระบบการจัดการ
NPB หรือ Nippon Professional Baseball เป็นอีกหนึ่งลีกที่รับเอาระบบดราฟมาใช้ โดยจัดงานดราฟในช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี ( หรือช่วงสัปดาห์ก่อน Nippon Series นั่นเอง ) ผู้เล่นที่มีสิทธิเข้าร่วมการดราฟมีทั้งเด็กมัธยมฯปลาย/มหา'ลัยที่กำลังจะจบการศึกษาในปีหน้า รวมถึงนักกีฬาจาก Industrial League และลีกสมัครเล่นอื่นๆทั่วประเทศ
ในช่วงนี้หนังสือพิมพ์กีฬาหลายสำนักจะทยอยกันลิสต์รายชื่อผู้เล่นที่มีโอกาสถูกเลือกในงานดราฟ บางโพยละเอียดขนาดแจกแจงให้ดูกันทีละรอบ
ในวันนั้น เหล่าผู้เล่นก็เตรียมตัวมานั่งลุ้นว่าตัวเองจะถูกเลือกและได้เซ็นสัญญากับทีมเบสบอลอาชีพตามที่ใฝ่ฝันไว้หรือไม่ ในบรรดานักกีฬากว่า 200 ชีวิต มีทั้งคนที่พอรู้ตัวว่าถูกเลือกแน่ๆ แค่ลุ้นว่ารอบไหนและทีมไหนเท่านั้น ( Scout ไปยืนสังเกตการณ์ตอนซ้อมกันแบบต่อหน้าต่อตา ไม่ได้แอบส่องผ่านกล้องทางไกลแต่อย่างใด ซ้อมสิบวัน เขามาดูสิบวัน ก็ต้องมีติดใจกันบ้างแหละ ทีมที่ออกปากว่าจะดราฟเด็กคนนี้ในรอบแรกล่วงหน้าก็มีอยู่บ่อยๆ ) แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกัน ที่ไม่รู้จริงๆว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต Draft Day จึงถือเป็นวันตัดสินชะตาชีวิต หัวหรือก้อยไม่มีใครรู้
ดาวเด่นในปีนั้นๆย่อมถูกเพ่งเล็ง แต่สุดท้ายตัวเลือกของทั้ง 12 ทีมก็แตกต่างกันไปตามสภาพของทีมในช่วงนั้น บางทีมอยากได้เด็กหน่วยก้านดีมาฟูมฟักให้เป็น Power Hitter คนต่อไป บางทีมต้องการผู้เล่นที่พร้อมลงสนามกับทีมหนึ่งทันทีในปีหน้า
บางทีมเริ่มขาดแคลนพิชเชอร์มือซ้ายเพราะเหล่ารุ่นเก๋าทยอยรีไทร์ Nippon-Ham Fighters ดราฟเด็กใหม่มือซ้ายมาทีเดียว 3 คนเมื่อปีก่อน บางทีมเน้นเด็กสปีดดี Hiroshima Carp ออกตัวก่อนเลยว่าจะไม่เลือก Kotaro Kiyomiya ในการดราฟปีนี้ เพราะสไตล์ของทีมคือต้องการใช้งานผู้เล่นที่ไปถึงเบสได้เร็ว เป็นไปได้สูงว่าปีนี้ Carp จะเลือก Shosei Nakamura แคชเชอร์โรงเรียน Koryo จังหวัดฮิโรชิม่า homeboy เจ้าของสถิติ 6 โฮมรันที่โคชิเอ็งปีนี้
⚾︎
หนึ่งในเหตุการณ์ตราตรึงจากการดราฟรอบแรก คือการจับฉลากในปี 2015 ทั้ง Hanshin Tigers และ Yakult Swallows ต่างเลือก Shun Takayama จากมหาวิยาลัย Meiji ผู้จัดการทั้งสองทีม ( ที่ไม่เคยจับฉลากมาก่อนทั้งคู่ ) จึงต้องมาเสี่ยงดวง ว่าใครจะได้ผู้เล่นที่หมายตาไปครอบครอง ในตอนนั้น Mitsuru Manaka ผู้จัดการทีมของ Swallows เห็นสัญลักษณ์งานดราฟบนฉลากที่ตัวเองจับได้ เลยเข้าใจว่าทีมได้สิทธิไป ซึ่งไม่ใช่จ้า! ฉลากทุกใบมีสัญลักษณ์งานดราฟเหมือนกันหมด ทีมที่ได้สิทธิเซ็นสัญญากับผู้เล่นจะต้องจับได้ฉลากที่มีเครื่องหมายระบุไว้ด้วยว่าคุณได้สิทธินั้น แต่ Manaka ที่เข้าใจผิดก็ชูมือแสดงความดีใจไปแล้ว ทำให้ Tomoaki Kanemoto ผู้จัดการทีม Tigers พลอยเข้าใจว่าตัวเองพลาดไป จน Manaka ให้สัมภาษณ์กับสื่อ กล่าวต้อนรับ Takayama สู่ทีมเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ ทีมงานที่ไปขอฉลากคืนถึงเห็นว่าต้องเป็น Hanshin Tigers ต่างหาก!
หลังจากนั้น Swallows จึงต้องเลือกผู้เล่นในรอบแรกใหม่ ( คือ Juri Hara จากมหาวิทยาลัย Toyo ) ส่วน Shun Takayama ก็ลอยไปอยู่กับ Tigers ตามระเบียบ เรื่องนี้กลายเป็นมุกตลกอยู่พักใหญ่ จน Manaka ต้องเอามาล้อเลียนตัวเองในรายการทีวี ปีต่อมาทางคณะกรรมการผู้รับผิดชอบงานดราฟเลยปรับโฉมฉลากเสียใหม่ให้เห็นชัดๆกันไปเลยว่าตกลงทีมคุณได้หรือไม่ได้กันแน่
มีคนในแวดวงเบสบอลญี่ปุ่นหลายคนเหมือนกัน ที่ให้ความเห็นว่า NPB ควรยกเลิกการจับฉลากในรอบแรกไปเสียเลย เพราะสุดท้ายมันก็ไม่ช่วยกระจายนักกีฬาความสามารถสูงไปสู่ทีมต่างๆอย่างทั่วถึงอยู่ดี น่าจะทำตามอย่างลีกในอเมริกา นั่นคือทีมบ๊วยในปีนั้นมีสิทธิเลือกเด็กตัวท็อปตั้งแต่รอบแรก
สำหรับรอบสอง ทั้ง 12 ทีมจะผลัดกันเลือกผู้เล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีการจับฉลากอีกต่อไป ( ถ้าจับอีกคงอยู่กันถึงเช้า ) โดยทีมอันดับล่างสุดจากแต่ละลีกจะได้เลือกก่อน สองลีกสลับกันแล้วไล่ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงทีมอันดับแรก เช่น 6th-CL, 6th-PL, 5th-CL, 5th-PL, ... , 1st-CL, 1st-PL ส่วนรอบที่สามจะกลับลำดับกันโดยทีมสุดท้ายที่ได้เลือกในรอบสอง (1st-PL) จะได้เลือกก่อนแล้วย้อนกลับลงไป รอบหลังจากนี้ก็จะสลับย้อนขึ้นย้อนลงไปเรื่อยๆ แต่ละทีมจะดราฟผู้เล่นจนถึงรอบที่เท่าไหร่ก็ได้ ทีมไหนพอใจแล้วก็หยุด ในรอบต่อมาก็จะข้ามลำดับทีมที่หยุดดราฟไป งานจบลงเมื่อไม่มีทีมไหนต้องการเลือกผู้เล่นเพิ่มอีก
หลังจากนั้นจะเป็นการดราฟผู้เล่นฝึกหัด หรือ Ikusei Players โดยผู้เล่นเหล่านี้จะไม่มีรายชื่ออยู่ใน 70-Man Roster ของทีม สวมเสื้อหมายเลขสามหลัก และลงเล่นเฉพาะกับทีมสองเท่านั้น บางทีมอาจเว้นไป ไม่ดราฟผู้เล่นฝึกหัดในปีนั้น หรือบางทีมอย่าง Fighters ก็ไม่เซ็นสัญญากับผู้เล่นฝึกหัดเลย ขึ้นอยู่กับนโยบายและเงินทุนของแต่ละสโมสร เพราะการเซ็นสัญญากับผู้เล่นหนึ่งคนก็เท่ากับค่าใช้จ่ายก้อนหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา
ผู้เล่นฝึกหัดอาจถูกดราฟมาด้วยรายละเอียดสัญญาและความคาดหวังที่ไม่สูงเท่าผู้เล่นอาชีพก็จริง แต่หากผลงานเข้าตาก็มีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้น และเซ็นสัญญาเป็นนักกีฬาเบสบอลอาชีพ
Kodai Senga ถูกเลือกในการดราฟผู้เล่นฝึกหัดรอบ 4 จาก SoftBank Hawks ฟังดูเป็นจุดเริ่มต้นการเล่นอาชีพที่ไม่เอิกเกริกและห่างไกลจาก rotation ทีมหนึ่งแบบสุดกู่ แต่ตำแหน่งของเขาในปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่า คุณจะถูกดราฟมารอบไหนไม่สำคัญเท่าผลงานหลังจากนั้น การขว้างของ Senga ในฤดูกาลนี้ถือว่าดีเยี่ยมใช้ได้ แต่นักข่าวทุกคนล้วนลงความเห็นว่า ถ้าสามารถงัดฟอร์มตอนขว้างให้ทีมชาติใน WBC 2017 กลับมาได้ ต้องขอยกให้เป็นพิชเชอร์เทียบชั้นกับ Ohtani และ Sugano
ส่วนตัวเรามองว่าผู้เล่นที่ถูกดราฟมารอบแรกมี privilege มากกว่าคนอื่นอยู่เล็กน้อย ( โดยเฉพาะคนที่แบ็คกราวด์ก่อนหน้านั้นค่อนข้างอลังการ ) ทีมอาจให้โอกาสผิดพลาดมากกว่าคนอื่นอยู่หน่อย แต่ผู้เล่นจากการดราฟรอบสองไปจนถึงการดราฟฝึกหัดรอบสุดท้ายคือเท่ากันหมดจริงๆ เล่นดีได้ดี เล่นไม่ดีไม่ต่อสัญญา
เมื่อถูกดราฟแล้ว ผู้เล่นสามารถปฏิเสธไม่เซ็นสัญญาได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ซิ แต่เกือบ 100% ตัดสินใจเซ็นสัญญากับทีม อาจมีผู้เล่นที่ถูกเลือกในรอบท้ายๆ หรือรอบฝึกหัดอยู่บ้าง ที่ตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัย หรือเล่นกับลีกสมัครเล่นก่อน แล้วค่อยกลับมาดราฟใหม่ในอีกหลายปีถัดมา
การปฏิเสธไม่เซ็นสัญญาของผู้เล่นในการดราฟรอบแรกก็มีอยู่บ้าง แม้จะไม่บ่อยนัก ปี 2011 Tomoyuki Sugano ปฏิเสธไม่เซ็นสัญญากับ Nippon-Ham Fighters และเลือกรออีกหนึ่งปีเพื่อดราฟมาอยู่กับ Yomiuri Giants
ย้อนไปก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1998 Nagisa Arakaki ดาวเด่นจากโคชิเอ็งในปีนั้นถูกเลือกในการดราฟรอบแรกจาก Orix BlueWave ( หรือ Orix Buffaloes ในปัจจุบัน ) แต่ปฏิเสธไม่เซ็นสัญญา และเลือกไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยแทน ( ก่อนจะดราฟมาอยู่กับ Hawks ในปี 2002 ) Katsutoshi Miwata คือผู้รับผิดในการ scout ของ Orix ขณะนั้น เมื่อไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้เล่นเซ็นสัญญาได้ Miwata ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการกระโดดลงมาจากอพาร์ทเม้นท์ เป็นเหตุการณ์เศร้าโศกของวงการเบสบอลในช่วงนั้น
สำหรับปีนี้ Kotaro Kiyomiya เลยจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเสียเลยว่าจะดราฟนะครับ ทีมที่หมายตาทั้งหลายก็นัดกันเข้าไปคุยรายละเอียดว่าทางทีมมีระบบพัฒนาผู้เล่นอย่างไร บางทีมทำ presentation ไปแนะนำกันเลย บอกกันตรงๆว่าทีมไหนมีนโยบาย Post นักกีฬา ( ปล่อยไปเมเจอร์ลีกก่อนผู้เล่นได้ International Free Agent หรือ 9 ปีหลังเริ่มเล่นใน NPB ) หรือทีมไหนไม่มี
NPB Draft 2017 ใกล้เข้ามาแล้ว รายชื่อผู้เล่นที่ยื่นแบบฟอร์มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเดือนนี้รายการโทรทัศน์จะตระเวนไปถ่ายทำสกู๊ปสั้นๆเกี่ยวกับชีวิตของผู้เล่นที่มีลุ้นเทิร์นโปร เรื่องดราม่าแบบนี้ รายการทีวีญี่ปุ่นไม่มีพลาดแน่นอน ไปสัมภาษณ์ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ โค้ช เพื่อนร่วมทีม ตามหารูปถ่ายและวิดีโอการซ้อมเบสบอลสมัยประถมฯต้น งัดเรื่องราวมาโชว์เพื่อเรียกน้ำตากันสุดๆ บางช่องทำละครสั้นเล่าย้อนชีวิตวัยเด็กกันเลย
พอถึงวันดราฟก็ตามไปถ่ายรีแอ็คชั่นบรรดาสมาชิกในครอบครัว ทางทีมต้นสังกัด ( โรงเรียน / มหาวิทยาลัย / ทีมสมัครเล่น ) จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวต้อนรับสื่อ มีเพื่อนๆและครอบครัวมาร่วมลุ้นดูการถ่ายทอดสดงานดราฟ
Hiroto Saiki ถูกเลือกในการดราฟในรอบที่ 3 จาก Hanshin Tigers เมื่อปีที่ผ่านมา วันนั้นก็ลุ้นกันทั้งโรงเรียนเลยทีเดียว ( ช่วงต้นวิดีโอคือการฝึกซ้อมและชีวิตทั่วๆไป ส่วนงานดราฟเริ่มต้นนาทีที่ 3.40 )
เมื่อได้รับการเลือกแล้วก็ถึงเวลาเฉลิมฉลอง ถูกเพื่อนๆจับโยน ถ่ายรูปคู่กับมาสคอตและหมวกประจำทีม ให้สัมภาษณ์นักข่าว ลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ก่อนจะมาเปิดตัวให้แฟนๆได้รู้จักที่งาน Fan Festival ของแต่ละทีมซึ่งจัดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
ช่วงเดียวกันนี้ ทั้ง 12 ทีมจะเริ่มทยอยประกาศรายชื่อผู้เล่นที่จะทางทีมจะไม่ต่อสัญญาด้วยในปีหน้า บางปีปล่อยตัวกันทีมละเป็นสิบคน ในจำนวนผู้เล่นที่ถูกปล่อยตัวทั้งหมด บางคนตัดสินใจรีไทร์ บ้างด้วยอาการบาดเจ็บ บ้างด้วยอายุ บางคนเซ็นสัญญาต่อในฐานะผู้เล่นฝึกหัด บางคนผันตัวมาเป็นโค้ช คนที่หันไปทำอาชีพอื่นเลยก็มีอยู่เยอะ
ผู้เล่นที่อายุน้อยหรือยังอยากเล่นเบสบอลต่อจะไปร่วมงาน '12-Team Tryouts' ปีนี้กำหนดไว้เป็นวันที่ 15 พฤศจิกายน มีการแข่งมินิเกมเพื่อให้ผู้เล่นได้แสดงความสามารถโชว์ตัวแทนจากทั้ง 12 ทีมที่มาเฝ้าสังเกตการณ์ ถ้าเล่นเข้าตาก็อาจได้เซ็นสัญญากับทีมใหม่
อีเว้นท์แบบนี้ก็ต้องมีรายการทีวีตามไปถ่ายทำสกู๊ปพิเศษอีกเช่นเคย เพียงแต่บรรยากาศแตกต่างกับงานดราฟแบบลิบลับ หลายคนถูกปล่อยตัวในปีที่มีลูกคนแรก หลายคนแบกค่ารักษาอาการบาดเจ็บมาด้วย นักกีฬา rank รองลงมาก็ใช่ว่าจะมีรายได้หรือเงินเก็บมากมาย ถูกปล่อยตัวก็เหมือนตกงาน ต้องหาหนทางให้ชีวิตกันต่อไป
ปีนี้ Fighters ปล่อยตัวนักกีฬาแค่ 3 คนก็จริง แต่ก็เป็นสามคนที่อ่านชื่อแล้วสะเทือนใจแบบช็อคไปเลย กลายเป็นว่าตอนนี้รอดูผล Tryouts มากกว่าดราฟอยู่นิดหน่อย
ช่วงปลายปีเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง บางคนได้เริ่มต้นชีวิตนักเบสบอลอาชีพ บางคนได้เล่นเป็นเกมสุดท้าย ปลายเดือนนี้เราก็มาลุ้นกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทีมไหนจะได้เป็นแชมป์ Nippon Series 2017 จะเกิดอะไรขึ้นในดราฟรอบแรก ผู้เล่นที่หมดสัญญาและได้ Free Agent จะย้ายทีมหรือไม่ ( ปีนี้มี Big name หลายคนอยู่นะ ) ยังไงก็ยินดีต้อนรับเด็กใหม่ทุกคนสู่ Fighters ล่วงหน้าจ้า ⚾︎
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in