เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
YAKYUU STORIESheathers
เบสบอลสนุกตรงไหนนะ ? ตอนที่ 1 สารพัดเรื่องประหลาด
  • เนื่องจากฤดูกาลนี้ล่วงเลยมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ทีมที่ไม่ได้ไปเพลย์ออฟแน่ๆอย่างเราก็มีห่อเหี่ยว เหงา เศร้า สลด เซ็ง และแอบหมั่นไส้ปนอิจฉาทีมหัวตารางกันบ้างตามประสา ช่วงนี้เลยตั้งใจว่าจะแปรเปลี่ยนความท้อใจมาเป็นพลัง โดยการเขียนถึงความสนุกของการดูเบสบอลญี่ปุ่นแบบย่อๆ เผื่อว่าจะช่วยเชิญชวนให้หลายๆคนหันมาสนใจกีฬาเบสบอลกันมากขึ้น นอกจากตอนนี้ ก็ยังอยากเขียนถึงเรื่องอื่นๆอย่าง Fielding, Pitching และ Batting ให้อยู่ในซีรี่ส์เดียวกันด้วย ถ้าได้เขียนจบครบตามนี้จริง ก็ขอให้ผลบุญจงเผื่อแผ่ไปสู่ Bullpen ทีมน้องด้วยค่ะ สาธุ (; ̄ー ̄川



    ⚾︎



    TAKE ME OUT TO THE BALL GAME

    “Take me out to the ball game” คือเพลงที่ถูกเปิดเป็นธรรมเนียมระหว่างพักครึ่งอินนิ่ง 7 ในเมเจอร์ลีก สำหรับที่ญี่ปุ่น เพลงประจำของแต่ละทีมจะถูกเปิดในสนาม รายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์จะตัดภาพไปที่แฟนๆบนสแตนด์กำลังยืนโบกผ้าขนหนูและป้ายเชียร์ไปมาตามจังหวะ เหล่ามาสคอตและเชียร์ลีดเดอร์ออกมาเต้นโดยพร้อมเพรียง ก่อนจะจบลงด้วยการปล่อยลูกโป่งสีประจำทีมให้ลอยขึ้นไปทั่ว หากเป็นสนามกลางแจ้งในหน้าร้อนก็อาจเพิ่มพลุเข้าอีกอย่าง เป็นอันจบพิธีกรรม Lucky 7 ในอินนิ่งที่ 7



    Lucky 7 จากสแตนด์ของแฟนๆ Fukuoka SoftBank Hawks ที่ Fukuoka Dome


    สำหรับตอนแรกนี้ เราจะ take you out to the ball game โดยเริ่มกันที่เรื่องราวปกิณกะ ประเภทไม่รู้ก็ได้ แต่รู้แล้วจะรักเบสบอลมากขึ้นนะ อะไรแบบนั้น ในที่นี้เราจะพูดถึงเบสบอลญี่ปุ่นกันเป็นหลัก เพราะไม่มีโอกาสได้ดูเมเจอร์ลีกเท่าไหร่ เนื่องด้วย Timezone ที่ต่างกันเสียจนกะเวลาดูลำบากกว่า ขี้เกียจตื่นมาดูว่างั้นเถอะ ใครขี้เซาและรักการนอน 8 ชั่วโมงสุดๆเช่นกันก็ขอเชิญมาที่ NPB


    ขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬา ‘เบสบอล’ เหมือนกัน กฎกติกาทั้งหลายมันก็คล้ายๆกันนั่นแหละ เบสบอลญี่ปุ่นเองก็อิงกับทางอเมริกาเป็นหลัก ปัจจุบันใน NPB มีผู้เล่นต่างชาติมากมาย กฎหลายข้อจึงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามกาลเวลาและสากลโลก อย่างล่าสุดช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการห้ามรันเนอร์สไลด์แบบอันตรายที่เบสสอง ส่วนใหญ่แก้ไขด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เล่นเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่แฟนๆไม่ต้องช็อคปากค้างกันอีกต่อไปเวลาเห็นรันเนอร์สไลด์เสียบกลางตัวฟิลเดอร์เสมือนเป็นอากาศธาตุ ลดทอนความโหดร้ายและทำให้เบสบอลเป็นกีฬาที่อบอุ่นขึ้นมาอีกนิดค่ะคุณ


    อย่างไรก็ตาม ลีกเบสบอลทั่วโลกมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ยิ่งเป็นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่อยู่กันคนละฟากมหาสมุทรด้วยแล้ว ย่อมมีสารพัดเรื่องจุกจิกที่ไม่เหมือนกันเป็นธรรมดา ใครสนใจก็ตามไปอ่านที่เคยเขียนถึง NPB ไว้ใน ตอนที่ 1 ของบล็อกกันได้ (ขายของ)



    ⚾︎


    YAKYUU


    Yakyuu ( 野球 ) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง เบสบอล เราเลยยืมมาเป็นใช้ชื่อบล็อก YAKYUU STORIES เสียเลย ตั้งใจว่าอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บเล็กผสมน้อยเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับ NPB

    NPB คือลีกเบสบอลอาชีพของฝั่งญี่ปุ่น ที่แม้จะไม่มี Power Hitter มากมายเท่า MLB ก็จริง แต่บอกได้เลยว่าการขว้างของพิชเชอร์ ทั้งสปีดและฟอร์มไม่ด้อยไปกว่า Triple A แน่นอน ผู้เล่นต่างชาติที่ทำผลงานได้ดีในไมเนอร์ลีกและคิดว่า NPB ก็คงไม่แตกต่าง พากันตีวืดมาหลายรายแล้ว การยืนอยู่บนเบสสองไม่สามารถการันตีรัน ต่อให้แบตเตอร์คนถัดมาจะตีไปไกลสุดสนาม เพราะเอ้าฟิลด์พร้อมจะขว้างลูกกลับโฮมเพลทในทุกๆเพลย์ พิชเชอร์ขว้าง Breaking ball กันดุเดือดเลือดพล่าน ( แม้แต่เด็กใหม่หน้าใสตาซื่อ ) อย่าคาดหวังว่าลูกจะพุ่งตรงมากลางโซนให้ฮิตได้ง่ายๆ นี่แหละเบสบอลแบบ NPB



    ศึกดวล แคชเชอร์/รันเนอร์ ที่หน้าโฮมเพลท
    ( รูปจาก Nikkan Sports )


    อย่างที่เรารู้กันว่ากีฬาเบสบอลและซอฟต์บอลกำลังจะกลับมาที่โตเกียวโอลิมปิกในปี 2020 คงไม่มีใครตื่นเต้นไปมากกว่าเหล่าแฟนเบสบอลชาวญี่ปุ่นอีกแล้ว ก่อนหน้านี้ทางสมาคมเบสบอลและซอฟต์บอลญี่ปุ่นร่วมกันจัดโปรเจ็ค “Ring Of Catchball” เพื่อรณรงค์ให้กีฬาทั้งสองชนิดได้กลับมาที่การแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้ง โดยเชิญบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งนักร้องนักแสดง และนักกีฬาเบสบอล/ซอฟต์บอลหลายสิบชีวิตมาถ่ายวิดีโอรับและขว้าง ( Catch and Throw ) ลูกบอลต่อกันไปเรื่อยๆ พร้อมชวนให้คนทางบ้านอัดวิดีโอของตัวเองมาแชร์กันด้วย ในวิดีโอนี้เราจะเห็นทั้งดารานักร้องญี่ปุ่นและนักเบสบอลที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีมากมาย




    Ring of Catchball #キャッチボール 野球編
    野球・ソフトボールを東京オリンピックの正式種目に!



    หลังจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะนำเบสบอล/ซอฟต์บอลกลับมาที่การแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้ง ทางสมาคมก็ทำคลิปออกมาแสดงความขอบคุณกันด้วย


    2020年 野球・ソフトボール復活!「ありがとう」メッセージビデオ



    ใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจกติกา และคิดว่าเบสบอลช่างเป็นกีฬาที่ดูซับซ้อนวุ่นวาย ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าคุณคิดถูกแล้ว! เพราะเบสบอลมันก็เป็นกีฬาที่เยอะแยะจริงๆนั่นแหละ แต่ก็ขอเตือนไว้อีกเช่นกันว่าเป็นความเยอะแยะตาแป๊ะลำไยที่พอหลวมตัวเข้ามาแล้ว จะหาทางออกไปไม่เจอเชียว

    ข้อแนะนำสำหรับชาว Yakyuu 101 คือ ให้ลองไปอ่านกติกาแบบพอเข้าใจคร่าวๆ ซึ่งมีคนเขียนสรุปไว้มากมาย สำหรับเวอร์ชั่นภาษาไทย ที่เพจ NPB Thailand มีเรียบเรียงไว้ให้อ่านเรียบร้อย ในแบบกระชับและเข้าใจง่ายสุดๆ

    เพลย์ต่างๆของเบสบอลมีกฎย่อยยุบยิบอีกมายมาย ประเภทข้อ 62.2.3 ตามตำรา อะไรแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าอ่านแล้วงงตรงไหนก็ไม่ต้องกังวล ให้หยุดอ่านแล้วลองไปดูเกมจริงๆ ดูไปซักสองสามเกมก็จะเริ่มแมตช์กติกาต่างๆเข้ากับการแข่งขันได้เอง



    ⚾︎



    SUPERPOWERS

    นอกจากกติกาจะมากมายหลายหลากแล้ว ผู้เล่นแต่ละคนก็มีหน้าที่ให้รับผิดชอบเยอะแยะเต็มไปหมดเช่นเดียวกัน กีฬาเบสบอลมีด้วยกันทั้งหมด 9 ตำแหน่ง ( +1 สำหรับลีกที่ใช้ DH ) หนึ่งเกมแบ่งเป็น 9 อินนิ่ง ใน 1 อินนิ่งแบ่งเป็น หัว ( Top ) และ ท้าย ( Bottom ) สองทีมสลับกันเล่นเกมบุก ( Offense ) และเกมรับ ( Defense ) โดยทีมเจ้าบ้านจะเล่นรับก่อน บุกทีหลัง

    ในครึ่งที่เล่นเกมรับ นอกจากพิชเชอร์และแคชเชอร์แล้ว ผู้เล่นที่เหลือมีหน้าที่เป็นฟิลเดอร์ ( Fielder ) ยืนอยู่ตามตำแหน่งของตัวเองในสนาม ทำหน้าที่เป็นเพื่อนพระเอก คอยรับลูกที่ลอยมา แหกแข้งแหกขาตีลังกากันเป็นนินจาเพื่อปกป้องลูกบอลไว้ พอสลับมาเล่นเกมบุก ผู้เล่นเหล่านี้ก็ต้องกลายร่างเป็นแบตเตอร์ ( Batter ) ดาหน้ากันเข้ามาที่ Batter Box รอตีลูกที่พิชเชอร์อีกทีมขว้างมา หากตีได้ ( Hit ) และวิ่งไปหยุดที่เบสใดเบสหนึ่ง ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ร่างที่สาม คือรันเนอร์ ( Runner ) หาทางขโมยเบส หรือวิ่งกลับโฮมให้ได้ ก่อนหรือหลังเกม บางคนก็ต้องกลายร่างเป็นซุปเปอร์สตาร์ ให้สัมภาษณ์กองทัพนักข่าว พอปิดฤดูกาลก็ต้องกลายมาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าท้องถิ่นของเมืองที่ทีมตั้งอยู่ หรือแวะไปเป็นโค้ชพิเศษโรงเรียนประถมฯ ฯลฯ นักเบสบอลหนึ่งคนจึงต้องสะสมทักษะส่วนตัวล้านแปดประการกว่าจะได้ก้าวเข้ามาอยู่ในรายชื่อผู้เล่นตัวจริง


    เอาเข้าจริงแล้ว ไอ้ความมากมายบนสนามนี่แหละ ที่ช่วยขัดเกลาให้ผู้เล่นแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นเกมก็ต้องเรียกว่าทุกคาแรคเตอร์มีท่าไม้ตายและพลังลึกลับเป็นของตัวเอง ถ้าเจอสถานการณ์ A ให้เปิดการ์ดผู้เล่น B ขึ้นมา มั่นใจได้เลยว่าเอาอยู่ !



    บางคนเป็นยอดมนุษย์สายตีโฮมรัน ถ้าเบสโหลด ( มีรันเนอร์อยู่ครบทั้งสามเบส ) แล้วผู้เล่นคนนี้เดินมาที่ Batter Box พิชเชอร์เตรียมกลืนน้ำลายได้เลย

    จากซ้ายไปขวา Yoshitomo Tsutsugoh (DeNA Baystars) Young Slugger แห่งโยโกฮาม่า ขาประจำในการแข่ง Home Run Derby ที่ All-Star Series /  Yuki Yanagita (SoftBank Hawks) นอกจากสถิติในเกมบุกต่างๆจะหรูหราอลังการมากแล้ว ยังอยู่หัวแถวในการได้ Walk จากพิชเชอร์แทบทุกปี / Wladimir Balentien (Yakult Swallows) เมื่อกลางฤดูกาลที่ผ่านมาตีโฮมรันลูกที่ 200 ในการเล่นอาชีพที่ญี่ปุ่นไปเรียบร้อย



    บางคนตัวเล็กแต่สปีดดี ถึงเบสเร็ว ขโมยเบสเก่ง ถ้าปล่อยลงไปเป็นรันเนอร์เมื่อไหร่ พิชเชอร์มีหวั่นไหวเสียสมาธิแน่นอน

    ภาพซ้ายคือ Sosuke Genda (Seibu Lions) ผู้เล่นตำแหน่งช็อตสต็อป หนึ่งในผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของฤดูกาลนี้ ( ที่มีแววว่าจะได้ Rookie of the Year Award ประจำปี 2017 ด้วยเช่นกัน ) พลิกตัวกลับมาขว้างลูกไปเบสหนึ่งจนแบตเตอร์พากันหงุดหงิดมานักต่อนัก / ภาพบนคือ Haruki Nishikawa (Nippon-Ham Fighters) Outfielder ไม้หนึ่ง ขวัญใจสาวม.ปลาย ทุกครั้งที่ตีโฮมรันได้ ภาพตัดไปบนสแตนด์จะต้องมีสาวน้อยซักคนเสียน้ำตาให้กับความเก่งกาจของนิชิคาวะซัง! / คนสุดท้ายคือ Kenta Imamiya (SoftBank Hawks) ผู้เล่นตัวจิ๋วความเร็วแสง ทำร้ายจิตใจรันเนอร์ที่เบสสองมาแล้วนับไม่ถ้วน



    บางคนถนัดบันท์ บางคนชอบตีไลน์ไดรฟ์ ลูกพุ่งยาวเป็นทาง ทะลุถุงมือฟิลเดอร์ราวกับกระสุนปืน บางคนเน้นตีสั้น แต่ตีบ่อย Ichiro Suzuki หนึ่งในนักเบสบอลญี่ปุ่นระดับตำนานที่ยังเล่นอาชีพอยู่ ( ปัจจุบันเล่นให้กับ Miami Marlins ) เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ขึ้นชื่อเรื่องจำนวนฮิต อิจิโระไม่ใช่ฮิตเตอร์สายพลัง ตัวใหญ่เน้นตีแรง แต่เขาตีบ่อย ตีเรื่อยๆ หรือถ้าพูดแบบการ์ตูนก็ต้องบอกว่า Hit to Connect จำนวนฮิตในการเล่นอาชีพเฉพาะที่เมเจอร์ลีกทะลุ 3,000 ไปเรียบร้อยเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา


    3,000 Hits ของอิจิโระในการเล่นอาชีพที่เมเจอร์ลีก
    ( รูปจาก MLB.com )


    บางคนฮิตในสถานการณ์ตึงเครียด ทีมตามอยู่ 3 รัน / เบสโหลด / สองเอ้าท์ ช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้เราจึงเห็นโค้ชเปลี่ยนตัว Pinch Hitter รุ่นเก๋าลงมารับมือ บางทีมมีผู้เล่นที่ถือเป็น specialist ด้านการขโมยเบสโดยเฉพาะ ถูกเปลี่ยนลงไปบนสนามในอินนิ่งท้ายๆ เมื่อทีมต้องสู้ให้ได้ซักรันเพื่อยันเสมอหรือชนะ



    ฝั่ง Position Players ดุเดือดขนาดนี้ พิชเชอร์บนเนินก็มีธุระให้ต้องสะสางมากมายไม่แพ้กัน แต่ละคนมีลูกไม้ตายเป็นของตัวเอง สไตล์การขว้างต่างกันไปตามความถนัด

    Takahiro Norimoto (ภาพซ้าย-Rakuten Eagles) สไตรค์เอ้าท์แบตเตอร์เป็นว่าเล่น / Shota Takeda (ภาพกลาง-SoftBank Hawks) ขว้าง Curveball ที่โค้งเสียยิ่งกว่าโค้ง / Forkball ของ Shohei Ohtani (Nippon-Ham Fighters) พุ่งออกจากมือแล้วหายวับไปกับตาที่หน้าโฮมเพลท / Slider ของ Kodai Senga (SoftBank Hawks) เลี้ยวหลบไม้แบตอย่างกับมีรีโมตบังคับจากทางไกล / Yuki Matsui (Rakuten Eagles) ขว้าง Changeup ที่เหมือนจู่ๆลูกก็หยุดอยู่กลางอากาศ / Hideaki Wakui (ภาพขวา-Lotte Marines) ขึ้นชื่อเรื่องความหวงเนิน อึดพอจะขว้างคนเดียวจนจบครบ 9 อินนิ่ง


    การดูพิชเชอร์แต่ละคนขว้างจึงให้ความสนุกที่ไม่เหมือนกัน และการขว้างแต่ละอินนิ่งก็ให้ความกดดันที่ต่างกันไป สตาร์ทเตอร์ ( Starter ) ต้องแรงดี ไว้ใจได้ ขว้างได้อย่างน้อยซัก 6 อินนิ่งก็ช่วยสร้างความอุ่นใจให้แฟนๆ การถูกเปลี่ยนตัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มขว้างเป๋, Walk เยอะ, บาดเจ็บ, Pitch Count ทะลุร้อย หรือทั้งหมดรวมกัน ก็อาจเป็นเหตุผลให้โค้ชต้องเรียก รีลีฟพิชเชอร์ ( Relief Pitcher ) ขึ้นมาแทน บางคนได้อินนิ่งโล่งๆสบายๆ ทีมตัวเองนำอยู่หลายรัน บางคนต้องรับช่วงต่อเนินที่มีรันเนอร์อยู่ครบทุกเบส แถมกำลังเสมอกันแบบคู่คี่  อินนิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามบุกแบบโหดร้ายจนทีมรับต้องใช้บริการพิชเชอร์เกินสามคนก็มีให้เห็นบ่อย

    ส่วนอินนิ่ง 8 และ 9 มักจบด้วย Setup Man และ Closer ตามลำดับ ส่วนใหญ่ทีมในญี่ปุ่นเปลี่ยนหน้าพิชเชอร์ช่วงอินนิ่ง 6-8 ไปเรื่อยๆตามสถานการณ์ แต่เกือบทุกทีมมี Closer ลำดับหนึ่งในดวงใจที่มอบหมายให้ลงไปขว้างปิดเกือบทุกเกม



    ⚾︎  



    A BASEBALL GAME A DAY KEEPS THE DOCTOR AWAY

    เบสบอลเป็นกีฬาที่มีให้ดูเกือบทุกวัน เพราะลักษณะของเกมที่ผู้เล่นไม่ได้วิ่งกันตลอดเวลาเหมือนการแข่งขันประเภททีมชนิดอื่นๆ มียกเว้นเพียง Starting Pitcher ที่อาจต้องใช้เวลาพักนานกว่าเพื่อนหน่อย นอกนั้นก็พร้อมลงสนามกันเกือบทุกวัน

    NPB แข่งกันวันอังคารถึงอาทิตย์ ช่วงท้ายฤดูกาลตารางอาจมีการสลับสับเปลี่ยนบ้าง แต่โดยปกติแล้วจะแข่งกัน 6 เกมต่อสัปดาห์ วันเสาร์อาทิตย์มักแข่งกันช่วงเที่ยง-บ่าย ส่วนวันธรรมดาจะเริ่มแข่งตอนสี่โมงเย็นตามเวลาประเทศไทย ( หรือหกโมงเย็นที่ญี่ปุ่น ) เฉลี่ยแล้วความยาวของหนึ่งเกมใน NPB อยู่ที่ราวๆ 3 ชั่วโมงกว่า เบสบอลเป็นกีฬาที่มี gap ระหว่างเพลย์ต่างๆมากมาย ทั้งระหว่างเปลี่ยนอินนิ่ง และระหว่างเปลี่ยนแบตเตอร์ มากขนาดที่ว่าคุณสามารถเดินไปเข้าห้องน้ำ ซื้อเบียร์ ตอบอีเมล์ลูกค้า ซื้อขนมนมเนยเพิ่ม แล้วค่อยกลับมานั่งดูต่อได้ แต่ในขณะเดียวกัน จังหวะที่เกมกดดันมากๆ ก็แทบต้องกลั้นหายใจทุกครั้งที่พิชเชอร์ง้างมือเตรียมขว้างลูก จะหันไปคุยกับเพื่อนยังไม่กล้า 


    ในหนึ่งเกมคุณจะได้เผชิญหน้ากับความรู้สึกหลายพันรูปแบบ ทุกอย่างสามารถพลิกได้ในการขว้างเพียงหนึ่งครั้ง เกมที่ยาวนานมากๆมักเป็นเกมที่ทีมบุกฟอร์มดีกันทั้งคู่ เปลี่ยนตัวพิชเชอร์กันแทบหมดหน้าตัก ครบ 9 อินนิ่งก็ปาเข้าไปแล้ว 4 ชั่วโมงแต่ยังเสมออยู่ NPB ใช้กฎต่อเวลา 3 อินนิ่ง ถ้ายังเสมออยู่ก็ให้นับเป็นเสมอไป มีอยู่เหมือนกันที่อินนิ่ง 12 ผู้บรรยายเริ่มคุยกันว่าทีม F (ชื่อสมมติ) เปลี่ยนพิชเชอร์จนหมด roster แล้ว ผู้เล่นตำแหน่งอื่นๆคนไหนบ้างที่น่าจะลงมาขว้างได้ ถ้าพิชเชอร์คนสุดท้ายต้านทานไม่ไหวจริงๆ

    บางเกมพอถึงอินนิ่งต่อเวลา กล้องถ่ายทอดสดแพนไปที่ Starter ตรงม้านั่ง เราจะมีงงๆว่า นี่เขาขว้างตอนต้นเกมใช่มั้ย เพราะบางครั้งมันนานมากจนเหมือนเหตุการณ์เมื่อตอนสี่โมงเย็นเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ การนำอยู่ 5 รันในอินนิ่งแรกเหมือนตำนานในอดีตกาล ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า



    ในหนึ่งเกม มีทั้งผู้ชนะ และผู้แพ้
    ( รูปจาก baseball.findfriends.jp )



    คอลัมนิสต์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆแล้วเมื่อกาลก่อนเบสบอลมันก็ไม่ได้เล่นกันนานขนาดนี้หรอกนะพวกเธอ จนกระทั่งเขาเริ่มเปิดเพลงทุกครั้งที่แบตเตอร์เดินลงมานั่นแหละ

    ใช่แล้ว เบสบอลเป็นกีฬาที่เอ็นเตอร์เทนขนาดนั้น แบตเตอร์ทุกคนจะเลือก Walk Up Song เป็นของของตัวเอง ทางสนามจะนำมาเปิดท่อนสั้นๆขณะผู้เล่นคนนั้นๆเดินจากม้านั่ง ( Dugout ) มาที่ Batter Box

    แฟนเมเจอร์ลีกอาจจะคุ้นเคยกับเพลงฮาร์ดร็อคหรือฮิปฮอปที่ผู้เล่นใน MLB มักเลือกใช้ แต่ที่ NPB สไตล์เพลงค่อนข้างจับฉ่ายกว่าเล็กน้อย และไม่ได้เน้นเพิ่มความฮึกเฮิมแต่อย่างใด เลือกกันตามความชอบส่วนตัวล้วนๆ เพลงที่ถูกเลือกใช้บ่อยก็มาจากศิลปินหน้าประจำทั้งหลายอย่าง Mr. Children, Greeeen, ONE OK ROCK, Exile ส่วนผู้เล่นที่เด็กลงมาหน่อยชอบใช้เพลง J Soul Brothers เพลงสายไอดอลหรือเพลง OP การ์ตูนก็มีมาให้ได้ยินบ่อย ( โชเฮย์ โอตานิเคยใช้ทั้งเพลงจากวง Perfume และเพลงเปิดการ์ตูนเรื่อง 'Major' ) เพลง K-Pop ก็มีโผล่มาเรื่อยๆโดยเฉพาะเพลงเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นของวง Bigbang หรือเพลงฮิตติดลมบน Oricon Chart ในช่วงนั้นๆอย่าง KOI ของ Gen Hoshino


    แบตเตอร์บางคนเดินมาหน้าอย่างโหด ควงไม้แบตมาแต่ไกล แต่เพลงเปิดมาอย่างแบ๊ว พิชเชอร์มันต้องมีแอบยิ้มกันบ้างแหละ

    ช่วงหนึ่ง Hayato Sakamoto ช็อตสต็อปแห่ง Yomiuri Giants เคยวอร์คอัพด้วย ‘Let it go’ เพลงประกอบภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Frozen ที่ฮิตแบบถล่มทลายในญี่ปุ่น เจ้าตัวใช้เป็นเพลงวอร์คอัพตอนไปแข่งเกมพิเศษกับทีม All-Star ของเมเจอร์ลีกด้วย ตอนนั้นแม้แต่ผู้บรรยาย MLB ยังต้องยกมาแซว




    พิชเชอร์เองก็มีเพลงประจำตัวเช่นกัน โดยจะเปิดระหว่างลงมาขว้างวอร์มอัพสั้นๆก่อนเริ่มแข่งจริง บางทีก็เรียกกันว่า Warm Up Song


    Yuki Saito เลือกใช้เพลงที่คล้องกับชื่อต้นของตัวเองอย่าง Yuuki 100% โดยใช้เพลงนี้ตั้งแต่เริ่มต้นเล่นอาชีพเมื่อปี 2011 จนถึงปัจจุบัน 




    Masahiro Tanaka เป็นแฟนคลับที่เหนียวแน่นของวงไอดอลชื่อดังอย่าง 'Momoiro Clover Z' เมื่อย้ายไปเล่นในเมเจอร์ลีก เพลงวอร์มอัพของเขาจึงเป็นเพลงที่วง Momoiro Clover Z ทำขึ้นมาให้ใหม่โดยเฉพาะ ชื่อว่า “My Dear Fellow” ( ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังใช้เพลงเดิมอยู่รึเปล่านะ )



    ⚾︎  


    9 INNINGS, 1 GAME

    มีอีเว้นท์มากมายเกิดขึ้นในเบสบอลหนึ่งเกม เริ่มตั้งแต่ Ceremonial  First Pitch โดยทางทีมจะเชิญบุคคลมีชื่อเสียงมาขว้างเปิดเกม ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็หลากหลายเอามากๆ Nippon-Ham Figsters เคยเชิญรถไฟชินคันเซ็น(!)มาขว้าง ช่วงที่ชินคันเซ็นขยายเส้นทางใหม่มาฮาโกดาเตะ

    ส่วนในคลิปด้านล่างคือตอนซาดาโกะมาขว้างเพื่อโปรโมตหนังใหม่ นักกีฬารอบๆก็วอร์มอัพกันไป ประหนึ่งเป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน





    จากนั้นก็ Play Ball ! เริ่มเกมได้ ขอเชิญคุณพบกับ ความทรหดของพิชเชอร์ / เพลย์ยอดมนุษย์ของฟิลเดอร์ / เรื่องดราม่าเคล้าน้ำตา ( เป็นลีกที่ emotional มากๆนะคะ ร้องไห้กันได้เรื่อยๆ ) / เขม่นกันจนมีเรื่อง / ผู้จัดการเดินมาคุย / กรรมการดูรีเพลย์ / พิธีกรรมอินนิ่ง 7 / พิชเชอร์ใจสลาย / เพื่อนๆเดินมาคุย ตบหลังตบบ่า / ขว้างไปเป็นบอล / แคชเชอร์เดินมาคุย / ขว้างไปเป็นบอล / โค้ชเดินมาคุย / Walk / เปลี่ยนตัว / รีลีฟพิชเชอร์ลงมาวอร์อัพ / บอลอีก / ใจสลายอีก / คุยกันอีก ฯลฯ

    มีเส้นเรื่องมากมายเกิดขึ้นในเบสบอลหนึ่งเกม รวมทั้งพล็อตรองต่างๆ เช่น วันนี้เอซังจะฮิตครบ 1,500 ครั้ง ในการเล่นอาชีพนะ จะถึงมั้ย จะวันนี้มั้ย ตามธรรมเนียมใน NPB คือ ถ้าฮิตก็จะมีการขึ้นข้อความแสดงความยินดีบนป้ายบิลบอร์ดของสนาม มีการมอบดอกไม้ ถือป้ายถ่ายรูป ทุกอย่างที่ว่ามาคือทำกันตรงนั้นเลยค่ะ ฮิตแล้ววิ่งไปถึงเบสไหนก็รับมอบส่งของกันตรงนั้นเลย




    Takahashi Torinoti อดีตผู้เล่นช็อตสต็อปที่ปัจจุบันย้ายมายืนประจำเบสสามของ Hanshin Tigers ฮิตครั้งที่ 2,000 ในการเล่นอาชีพ แฟนๆที่รู้ว่าผู้เล่นฮิตใกล้ครบจำนวนเท่าไหร่จะทำป้ายมาเตรียมแสดงความยินดีล่วงหน้า บางคนทำป้ายมานับถอยหลังเลยก็มี หลังจากนั้นก็เตรียมซื้อเสื้อยืดหรือสินค้าอื่นๆอีกร้อยแปดแบบที่ทางทีมผลิตออกมาขายเป็นที่ระลึกได้




    นอกจากความยินดีที่เกิดขึ้นในเกมแล้ว บางครั้งก็มีเรื่องให้ต้องน้ำตาตก เช่นการรีไทร์ของผู้เล่น การเดินมาประจำที่ Batter Box เป็นครั้งสุดท้าย หรือการเดินขึ้นเนินไปขว้างเป็นครั้งสุดท้ายจึงมักเต็มไปด้วยความรู้สึกต่างๆร่วมกันระหว่างผู้เล่น เพื่อนร่วมทีม และแฟนเบสบอล


    Daisuke Miura อดีตพิชเชอร์ของทีม Yokohama DeNA Baystars และการขว้างเกมสุดท้ายในชีวิตก่อนรีไทร์ที่ Yokohama Stadium ท่ามกลางแฟนๆที่มาร่วมส่งเสียงเชียร์ส่งท้าย Miura ขว้างให้ทีมโยโกฮาม่าตลอดชีวิตการเล่นอาชีพของเขานับตั้งแต่ปี 1992 ( สมัยนั้นยังใช้ชื่อ Taiyo Whales ) จนถึงปี 2016 รวมทั้งสิ้น 25 ฤดูกาล



    ⚾︎



    ใกล้จบฤดูกาล 2017 แล้ว ผู้เล่นที่วางแผนจะรีไทร์ก็ทยอยกันจัดงานแถลงข่าว ทางทีมจะแจ้งแฟนๆว่างาน Retirement Ceremony ของผู้เล่นแต่ละคนจะจัดขึ้นเมื่อไหร่ ส่วนมากเป็นเกมท้ายๆของฤดูกาลนั้น สำหรับปีนี้ทางฝั่ง Pacific League มี Yuji Iiyama (Nippon-Ham Fighters) และ Tadahito Iguchi (Lotte Marines) ที่เตรียมตัวรีไทร์หลังจบฤดูกาล



    ป้ายบิลบอร์ดที่ Sapporo Dome ขึ้นข้อความแจ้งข่าวงานรีไทร์ของ Yuji Iiyama



    ขนาดหนึ่งเกมยังเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ช่วงเวลาการเล่นอาชีพของนักเบสบอลหนึ่งคนคงเต็มไปด้วยความทรงจำที่เยอะเกินกว่าเราจะจินตนาการออก

    ใครอยากสัมผัสประสบการณ์ลุ้นจนปวดท้องเวลารันเนอร์เต็มเบส เกร็งจนต้องนั่งปิดตาตอนท้ายอินนิ่ง 9 บางทีเหมือนดูซีนแอ็คชั่น บางทีเหมือนดูหนังผี บางทีดราม่าน้ำตารื้น กราฟอารมณ์ขึ้นลงเป็นรถไฟเหาะตีลังกา ก็ต้องลองมาดู 'เบสบอล' ⚾︎
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in