เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
YAKYUU STORIESheathers
วิบากกรรมของเอซพิชเชอร์ (แห่งโคชิเอ็ง)
  • เดือนสิงหาคมนับเป็นฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น อากาศร้อนอบอ้าว ร้อนจนหน้าแดง ร้อนจนเป็นลม นอกจากเทศกาลชมดอกไม้ไฟแล้ว อากาศร้อนยังเป็นสัญญาณเตือนถึงการเริ่มต้นของงานแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมฯปลายทั่วประเทศ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม ‘โคชิเอ็ง’







    แฟนการ์ตูนเบสบอลน่าจะคุ้นเคยกับวลีประเภท ‘มุ่งหน้าสู่โคชิเอ็ง!’ หรือ ‘พวกเรามาไปโคชิเอ็งด้วยกันเถอะ!’ แววตาฮึกเหิมของเหล่าวัยรุ่นเลือดร้อนที่หมายมั่นอย่างแน่วแน่ว่าต้องไปเยือนสถานที่แห่งนี้ให้ได้ซักครั้ง น่าจะบอกได้ดีว่าสนามนี้สำคัญกับพวกเขามากแค่ไหน


    โคชิเอ็ง คือชื่อสนามเบสบอลกลางแจ้งสุดคลาสสิคที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ท่วมท้นทั้งหยาดเหงื่อและหยดน้ำตา ตัวสนามตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ที่จังหวะเฮียวโงะ ภูมิภาคคันไซ ไม่ไกลจากเกียวโตและโอซาก้า ทำหน้าที่เป็นสนามเหย้าอย่างเป็นทางการของทีม Hanshin Tigers มายาวนานหลายสิบปี รองรับแฟนเบสบอลที่หลั่งไหลเข้ามาชมเกมต่างๆกว่าสองล้านคนต่อฤดูกาล

    เฉพาะในเดือนมีนาคมและสิงหาคม โคชิเอ็งจะกลายร่างเป็นสังเวียนของเหล่าเด็กหนุ่มผู้ฝันอยากมาคว้าชัยให้ได้ซักครั้งในชีวิตม.ปลาย



    บรรยากาศ Koshien Stadium ในการแข่งขันหน้าร้อน
    ( ภาพจากการถ่ายทอดสดของ Asahi )



    ⚾︎



    HARU - NATSU

    การแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมฯปลายที่ถือว่ายิ่งใหญ่และเป็นที่จับตามองที่สุดในญี่ปุ่นคือ การแข่งขันช่วง ฤดูใบไม้ผลิ(ฮารุ) และ ฤดูร้อน(นัตสึ) โรงเรียนที่ได้ทั้งสองแชมป์ในปีเดียวกันได้รับการขนานนามว่า แชมป์ฮารุ-นัตสึ ( เคยเกิดขึ้นเพียง 7 ครั้งเท่านั้น ) การแข่งขันทั้งสองรายการจัดขึ้นที่สนามแห่งเดียวกันทุกปี จึงถูกเรียกติดปากว่า ‘โคชิเอ็ง’ นั่นเอง

    การแข่งภาคฤดูใบไม้ผลิเรียกกันอีกชื่อว่า ‘เซ็นบัตสึ’ โรงเรียนที่เข้าร่วมต้องได้รับการคัดเลือกจากสมาคมเบสบอลระดับมัธยมฯปลาย ทีมที่การันตีว่าได้มาแน่นอนส่วนใหญ่คือแชมป์ภูมิภาคจากการแข่งขันฤดูใบไม้ร่วงของปีก่อน ทีมที่มีผลงานดีหรือมีผู้เล่นน่าสนใจในช่วงนั้นก็มีสิทธิได้รับเลือกเช่นเดียวกัน

    สำหรับฤดูร้อน ทีมที่เข้าร่วมต้องเป็นแชมป์จากการแข่งขันรอบคัดเลือกประจำจังหวัด ( ฮอกไกโและโตเกียวได้โควต้า 2 ทีม ) อากาศหน้าร้อนนั้นโหดร้าย ร้อนขนาดที่ว่าทีมจากภูมิภาคที่อากาศเย็นอย่างฮอกไกโดต้องซ้อมในโรงยิมที่เปิดฮีตเตอร์เพื่อปรับสภาพร่างกายให้ชินก่อนบินลงมาแข่ง

    ทั้งสองรายการแข่งด้วยระบบแพ้คัดออก รอบแรกๆแข่งกันหลายเกมต่อวัน นักข่าวจับจองที่ในสนามตั้งแต่เช้าจรดเย็น ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง นอกจากนักกีฬาบนสนาม กล้องถ่ายทอดสด และผู้ชมกว่าหมื่นคน โคชิเอ็งยังเต็มไปด้วยวงดุริยางค์และทีมเชียร์ที่แต่ละโรงเรียนขนมาเต็มสแตนด์ งัดทีเด็ดมาโชว์กันอย่างไม่ยอมแพ้ ปีนั้นเพลงไหนกำลังฮิตบนชาร์ตก็ดูได้จากเพลงที่เด็กๆเลือกมาเล่นระหว่างเกม 

    ทีมชนะเข้ารอบ ทีมแพ้โกยดินจากสนามกลับบ้านพร้อมคำพูดที่ว่า “ฤดูร้อนของพวกเราจบลงแล้ว”



    หลังจบเกมระหว่าง Osaka Toin และ Sendai Ikuei โคชิเอ็งฤดูร้อนปี 2017 ฝ่ายแรกแพ้ไป 1-2
    ( ภาพจากการถ่ายทอดสดของ Asahi )


    แม้จะติดตามข่าวคราวของโคชิเอ็งเพียงคร่าวๆ แต่ทุกครั้งที่เปิดไปดูแล้วได้ยินเสียง “ แก๊ง ! ” ดังไปทั่วสนามเมื่อผู้เล่นตีลูกได้ ก็ต้องยอมรับว่ามันคลาสสิคมากจริงๆนะ



    ⚾︎



    ACE

    เบสบอลม.ปลายในปัจจุบันเล่นกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น การเห็นเอซคนเดียวแบกทั้งทีมไว้บนบ่า ขว้างจนไหล่พังแขนยับมีให้เห็นน้อยลง ทีมที่ได้แชมป์ไม่ใช่ทีมที่มีผู้เล่นเบอร์หนึ่งเสมอไป อย่างปีนี้ทีมโรงเรียน Waseda Jitsugyo ที่มีตัวท็อปแห่งปีอย่าง Kotaro Kiyomiya ผู้เล่นเบสหนึ่งปี 3 เจ้าของสถิติโฮมรัน 100+ ในการเล่นม.ปลาย ก็มีอันต้องพลาดโคชิเอ็งฤดูร้อนไป หลังพ่ายแพ้ในการชิงแชมป์เขตโตเกียวตะวันตก



    Kotaro Kiyomiya ตีโฮมรันที่โคชิเอ็งเมื่อตอนอยู่ปี 1
    ( ภาพจาก BFJ )


    Kiyomiya เป็นผู้เล่นที่อยู่ในความสนใจของสื่อและ scout มาตั้งแต่สมัยเรียนปี 1 ปัจจุบันยังไม่ได้ออกมายืนยันว่าจะเข้าร่วมการดราฟปี 2017 หรือไม่ ข่าวลือ 1 บอกว่าเขาน่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วข้ามไปเมเจอร์ลีกเลย ข่าวลือ 2 บอกว่าเขาจะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาเลยต่างหาก แต่ถ้าหวยออกที่ข่าวลือ 3 นั่นคือตัดสินใจร่วมงานดราฟของ NPB ในปีนี้ ก็เดาได้ว่าคงถูกเลือกอย่างถล่มทลายจากหลายทีมแน่นอน

    การเป็นดาวเด่นนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะการอยู่ใต้สปอตไลท์หมายถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ Kiyomiya เอง (แม้จะไม่ได้แบกหมายเลขหนึ่งไว้กลางหลัง) ก็มักโดนปรามาสบ่อยๆว่าได้รับการ overrated จากสื่อ 


    สำหรับเบสบอลม.ปลาย ตำแหน่งที่สื่อและคนทั่วไปจับจ้องย่อมหนีไม่พ้น ‘Ace’ หรือเจ้าของเสื้อเบอร์หนึ่ง โดยส่วนมากเอซคือผู้เล่นตำแหน่งพิชเชอร์ แต่ก็มีหลายครั้งที่โค้ชมอบหมายเลขนี้ให้ผู้เล่นตำแหน่งอื่นๆที่ได้รับความไว้วางใจเป็นจุดศูนย์กลางของทีม 


    เอซพิชเชอร์ คือตำแหน่งซุปเปอร์สตาร์ มีแฟนคลับสาวๆตามถ่ายรูปขอลายเซ็น แถมยังเป็นที่สนใจของบรรดา scout จาก NPB หลายคนเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็มีอีกหลายคนเลือกเทิร์นโปรเลย เด็กตัวท็อปจากโคชิเอ็งถูกเลือกในการดราฟรอบแรกเสมอ ภาพเอซระดับเกรด A++ ถูกรุมดราฟจากหลายทีมมีให้เห็นกันทุกปี ผู้เล่น Big4 ของปีที่ผ่านมาก็ถูกเลือกในดราฟรอบแรกทุกคน ( Tatsuya Imai พิชเชอร์แชมป์โคชิเอ็งฤดูร้อน > Seibu Lions / Naruki Terashima > Yakult Swallows / Mizuki Hori - Nippon-Ham Fighters / Shoma Fujihira > Rakuten Eagles )



    โรงเรียน Sakushin Gakuin แชมป์โคชิเอ็งฤดูร้อนปี 2016
    ในรอบชิง Tatsuya Imai ทำสไตรค์เอ้าท์คู่แข่งไป 9 ครั้ง และขว้างจนจบเกม
    ( รูปจาก Japan Times )


    อย่างไรก็ตาม เส้นทางของมืออาชีพไม่ได้สวยงามเสมอไป หลังตอนจบของชัยชนะทั้งน้ำตาตอนม.ปลาย หลายคนอาจพบว่าเทิร์นโปรมาแล้วมีเรื่องให้ต้องร้องไห้ทุกวัน ถูกดราฟมาเอิกเกริกแค่ไหน ถูกเพื่อนๆจับโยนฉลองสูงเท่าไหร่ สุดท้ายเมื่อมาถึง NPB ทุกคนก็เท่าหมด เล่นไม่ดี ก็ไม่ได้ลง ไม่ได้ลงนานๆ ก็ไม่ถูกต่อสัญญา...


    ในประวัติศาสร์ของ NPB ผู้เล่นที่ถูกเลือกในการดราฟรอบแรกแล้วหายตัวไปเลยหลังจากนั้นมีมากมาย บางคนไม่ถูกต่อสัญญาจากทีมเดิม ต้องไป ’12-Team Tryouts’ หากยังไม่ได้รับการติดต่อจากทีมไหนอีก สุดท้ายก็ต้องรีไทร์ บางคนกลับมาเป็นโค้ชให้ทีมเดิม แต่ก็มีหลายคนหายหน้าไปจาก NPB

    ปัจจัยที่ทำให้ผลงานของผู้เล่นไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้มีมากมาย อาการบาดเจ็บคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด บางคนเริ่มต้นไม่ดีแต่ปรับตัวได้ บางคนเปิดตัวมาร้อนแรงแล้วเฟดหายไป เมื่อพูดถึงเอซพิชเชอร์จากโคชิเอ็งที่ต้องเผชิญกับโลกอันโหดร้ายของโปรเบสบอล เรามักจะนึกถึง 3 คนนี้...



    ⚾︎



    Yuki Saito




    ชีวิตตอนนั้น ไม่มีนักเบสบอลคนไหนเหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูนตาหวานเท่าเขาอีกแล้ว ยูกิ ไซโต้ คือเอซในตำนานของ Waseda Jitsugyo นักข่าวเรียกเขาว่า Hankercheif Prince หรือ 'เจ้าชายผ้าเช็ดหน้า' เพราะนิสัยชอบหยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาเช็ดเหงื่อระหว่างยืนพักบนเนิน หนุ่มดอกไม้ เรียนโรงเรียนดัง มาดพระเอก จะมีอะไรถูกใจสื่อไปกว่านี้

    ปีที่เขาพาทีมไปคว้าแชมป์ สนามแทบลุกเป็นไฟ โคชิเอ็งหน้าร้อนปี 2006 อุดมไปด้วยเหล่าตัวท็อปมากมาย ผู้เล่นตีโฮมรันรวมกันถึง 60 ครั้ง เป็นสถิติที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการแข่งขันมา ( ซึ่งถูกทำลายไปแล้วสดๆร้อนๆในปีนี้ หลังจากน้องๆซัดกันไปทะลุ 60 โฮมรันตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศ )




    ในรอบที่ 2 Waseda Jitsugyo เจอกับ Osaka Toin ที่มี Sho Nakata อยู่ในไลน์อัพของปีนั้น ตอนหลังทั้งสองกลายมาเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ Nippon-Ham Fighters




    รอบชิงปี 2006 Waseda Jitsugyo เจอกับ Komadai Tomakomai (ฮอกไกโดใต้) ที่มีเอซคือ Mashiro Tanaka ( ปัจจุบันเล่นให้ New York Yankees ) เป็นการแข่งที่ยาวนานถึง 15 อินนิ่ง ก่อนจบลงด้วยผลเสมอและต้องกลับมาแข่งกันอีกครั้งในวันต่อมา ผู้ชนะในท้ายที่สุดคือ Waseda Jitsugyo 

    หลังจากนั้น ยูกิ ไซโต้ เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ เล่นให้ทีมมหา’ลัยในลีก Tokyo Big 6 ยังคงทำ Shut Out คู่ต่อสู้บ่อยครั้งเหมือนเคย ก่อนจะดราฟมาอยู่กับ Nippon-Ham Fighters ในปี 2010


    วิบากกรรมตอนนี้ ถ้าให้พูดกันแบบตรงๆ หลังเทิร์นโปรมา 6 ปี ยูกิ ไซโต้ ยังไม่เคยมีช่วงเวลาที่ดีกับการเล่นอาชีพเลยซักครั้ง ปี 2012 เขาได้ลงขว้างเปิดฤดูกาลให้ไฟท์เตอร์ แต่หลังจากนั้นกลับทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถูกตีดับเบิ้ลติดกันบ่อยๆ สปีดของลูกหายไปกับสายลม หลังจากนั้นเป็นต้นมาใช้ชีวิตขึ้นลงระหว่างทีม 1 และ 2 ลงเล่นท่ามกลางคำวิจารณ์ในฐานะผู้สวมเสื้อเบอร์ 18 หมายเลขของ ‘เอซ’ สำหรับโปรเบสบอล

    ในปี 2017 ไฟท์เตอร์เปลี่ยนเบอร์เสื้อของเขามาเป็นหมายเลข 1 เบอร์เสื้อที่เขาคุ้นเคยจากยุครุ่งเรืองสมัยอยู่กับวาเซดะ โดยหวังว่าฟอร์มการเล่นของเขาจะกลับมาคงที่และเป็นกำลังหลักของทีมอีกครั้ง ต้นฤดูกาลที่ผ่านมานี้เอง ยูกิ ไซโต้ ได้ Win ครั้งแรกในรอบกว่า 600 วัน



    ⚾︎



    Yoshinori Sato




    ชีวิตตอนนั้น เอซแห่ง Sendai Ikuei  ทีมดังจากจังหวัดมิยางิ หน้าร้อนปี 2007 เขาเป็นพิชเชอร์ดาวรุ่งที่โคชิเอ็ง หนึ่งใน Big 3 ของปีนั้น ( อีก 2 คนคือ Sho Nakata ผู้เล่นเบสหนึ่งของ Nippon-Ham Fighters และ Yuki Karakawa พิชเชอร์ของ Chiba Lotte Marines ) Fastball ของซาโต้เป็นที่ฮือฮาในหมู่นักข่าว เขาติดทีมชาติชุดเยาวชน และถูกเลือกในการดราฟรอบแรกจากทีมถึง 5 ทีม







    ตัวเลือกแรกของทั้ง 12 ทีมในงานดราฟปี 2007



    วิบากกรรมตอนนี้ หลังจากดราฟมาอยู่กับ Tokyo Yakult Swallows เขาได้รับมอบเสื้อหมายเลข 11 และมีชะตากรรมคล้ายคลึงกับยูกิ ไซโต้ นั่นคือทำผลงานได้แย่ลงหลังปีที่สองของการเล่นอาชีพ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ทีม 2 แต่โยชิโนริ ซาโต้โชคร้ายกว่านั้น เขามีปัญหากับไหล่ขวามาตลอด จนกระทั่งต้องเข้ารับการผ่าตัดในปี 2012 และใช้เวลาพักรักษาตัวอยู่นาน หายไปจากการเล่นอาชีพเกือบ 4 ปีเต็มๆ ถ้าจำไม่ผิดมีอยู่ช่วงหนึ่งถูกลดขั้นลงไปเป็นผู้เล่นฝึกหัดและสวมเสื้อเบอร์ 121 ด้วยซ้ำ ก่อนจะได้กลับมาสวมเสื้อเบอร์ 11 อีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา

    สถานการณ์ของซาโต้ในตอนนี้น่าจะถือว่าผ่านยุคมืดที่สุดในชีวิตมาแล้ว เขากลับมาเป็น Starter ในปีที่ผ่านมาและได้ Win แรกในรอบ 5 ปีในเกมที่เจอกับ Chunichi Dragons

    เกือบ 10 ปีหลังจากงานดราฟที่เขาเป็นดาวเด่นในครั้งนั้น โยชิโนริ ซาโต้ กลับมาอยู่ใน rotation ของ Swallows อีกครั้ง และลงขว้างอย่างสม่ำเสมอ



    ⚾︎



    Shintaro Fujinami




    ชีวิตตอนนั้น ‘เอซโรงเรียนดัง’ แห่งคันไซ Osaka Toin ในยุคของเขาน่าจะเป็นหนึ่งในทีมเบสบอลม.ปลายที่แข็งแกร่งที่สุดของโคชิเอ็ง

    แคชเชอร์ของฟูจินามิคือ Tomoya Mori ( ปัจจุบันเล่นให้กับ Seibu Lions ) เป็นที่รู้กันว่าแคชเชอร์ที่กำลังแขนดี และตีตำแหน่ง Cleanup ( แบบ Shinnosuke Abe ของ Yomiuri Giants ) ไม่ได้โผล่มาให้เราเห็นกันบ่อยๆ และพิชเชอร์ที่ขว้างลูกได้เร็ว แถมยังสไตรค์เอ้าท์แบตเตอร์มหาศาล ก็ใช่ว่าจะพบเจอได้ทุกปี สองคนจึงกลายเป็นสุดยอด Battery ที่พาทีมไปคว้าแชมป์ฮารุ-นัตสึในปี 2012



    ( ภาพจาก Baseball King )


    Toin เจอกับโรงเรียน Kosei Gakuin จากจังหวัดอาโอโมริ ( ที่มีหนึ่งในศิษย์เก่าผู้โด่งดังคือ Hayato Sakamoto ) ในรอบชิงของทั้งสองรายการ Kosei มีดาวเด่นในปีนั้นคือ Tatsuhiro Tamura ( ปัจจุบันคือแคชเชอร์ของ Chiba Lotte Marines ) และ Fumiya Hojo ไม้สี่ผู้สวมเสื้อเบอร์ 6 ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นเพื่อนร่วมทีมของฟูจินามิที่ Hanshin Tigers


    วิบากกรรมตอนนี้ ความจริงแล้วภาวะงงๆของฟูจินามิเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อฤดูกาล 2015 ยังถูกพิจารณาเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิได้รับรางวัล Sawamura Award อยู่แท้ๆ ( สถิติในปีนั้นคือ WL 14-7 / ERA 2.40 / SO9 10 ) แต่ปีถัดมากลับกลายร่างเป็นอีกคนเสียอย่างนั้น สูญเสียการควบคุมลูก Pitch count พุ่งทะลุร้อยตั้งแต่อินนิ่งต้นๆ Walk เยอะ ขว้างไปเป็น Dead ball ก็บ่อย ทำเอาคู่แข่งโมโหจนหวิดจะมีเรื่องกันก็หลายที

    ภาวะงงๆที่ว่าก็ยังคงเป็นเงาตามติดตัวมาถึงฤดูกาลนี้ ไม่แน่ใจว่าปีนี้หรือปีก่อน ฟูจินามิถูกปล่อยให้ขว้างไปถึง 160 พิช ! ดีแค่ไหนที่แขนไม่หลุด หลังกลับมาจากทีม 2 ก็ยังคงขว้างด้วยความเวิ้งว้าง นั่งดูเกมล่าสุดที่แข่งกับ Hiroshima Carp แล้วถึงขั้นต้องกุมขมับกันเลย



    ⚾︎



    OUT OR SAVED ?

    ( ภาพจากการถ่ายทอดสดของ Asahi )


    ไม่มีอะไรการันตีได้ 100% ว่าสุดยอดพิชเชอร์ในวันนี้จะยังเล่นเหมือนเดิมในวันพรุ่งนี้ หลายครั้งนักกีฬาที่ไม่ถูกเลือกในการดราฟจากทีมไหนเลย เมื่อเบนเข็มไปเล่นใน Industrial League แล้วกลับมาดราฟอีกครั้งในสองสามปีถัดมา กลับได้รับเลือกตั้งแต่รอบแรกๆ


    ตอนเป็นวัยรุ่นอาจสู้ด้วยสัญชาตญาณและความฝัน แต่เมื่ออายุมากขึ้น นักกีฬาก็ต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยอีกหลายอย่างในชีวิต ทั้งสภาพร่างกาย ความเครียดจากสื่อและสโมสร ครอบครัว ลูกหลาน รายได้ต่อปี การลงเล่นคงไม่ได้มีแต่ความสนุกทุกครั้ง เหมือนกับอาชีพอื่นๆนั่นแหละ

    เราก็ได้แต่เป็นกำลังใจให้เหล่าเอซพิชเชอร์ทุกคน จงสู้ต่อไป แม้จะผ่านพ้นโคชิเอ็งไปแล้ว หลังฤดูร้อนจบลง ยังมีทางเดินที่โหดร้ายเสียยิ่งกว่า หวังว่าจะได้เห็นทุกคนกลับมาขว้างด้วยความมุ่งมั่นและมั่นใจอีกครั้ง เหมือนที่เราเคยเห็นพวกเธอขว้างครั้งหนึ่งที่โคชิเอ็ง ⚾︎


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in