เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
YAKYUU STORIESheathers
เกิดอะไรขึ้นหลังปิดฤดูกาล
  • ก่อนอื่นใดก็ต้องขอแสดงความยินดีกับ Fukuoka SoftBank Hawks แชมป์ Nippon Series ประจำฤดูกาล 2017 และขอต้อนรับแฟนเบสบอลทุกท่านเข้าสู่ช่วง Off Season อย่างเป็นทางการ ก่อนจะรีบร้อนไปนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2018 ฤดูกาลหน้าฟ้าใหม่ เรามาย้อนความถึงเรื่องราวดีๆ(สำหรับบางทีม) และเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตา(ของอีกหลายๆทีม)กันดีกว่า ตอนนี้เลยจะเป็นการบ่นยาวๆหนึ่งจบแบบไม่พักหายใจ ไปค่ะ!


    ⚾︎


    BREAKING THE RECORD



    หนึ่งในไฮไลท์ที่หลายคนน่าจะผ่านตากันมาบ้างแล้วคือ บรรดาสถิติต่างๆที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี Takahiro Norimoto พิชเชอร์จาก Rakuten Eagles ขว้าง Strike Out ในหนึ่งเกมเป็นจำนวนเลขสองหลัก (10K+ ต่อเกมนั่นเอง) ติดต่อกัน 8 เกม ทำลายสถิติเดิมของพิชเชอร์ระดับตำนานอย่าง Hideo Nomo ที่เคยทำไว้ติดต่อกัน 6 เกม

    ส่วน 2K Hits Club ปีนี้ก็มีโอกาสได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีกครั้ง หลังจาก Takashi Toritani จาก Hanshin Tigers ฮิตทะลุ 2,000 ครั้งในการเล่นอาชีพ (ที่สนามโคชิเอ็งเสียด้วย) โดยฮิตที่ทำสถิติได้คือ Double-2RBI

    Dennis Safarte พิชเชอร์ประจำอินนิ่งเก้า (หรือที่เราเรียกกันว่า Closer) แห่ง Fukuoka SoftBank Hawks ปีนี้เดินลงจากเนินพร้อมตัวเลขใหม่เอี่ยม 54 Save ในหนึ่งฤดูกาล! แบบว่าโอ้โห อลังการดาวล้านดวง เยอะแบบบ้าไปแล้ว ชีวิตนี้เราจะมีโอกาสได้เห็นใครมาทำลายสถิตินี้มั้ย บางทีมปีนี้ได้ Win มาเยอะกว่า Save ของ Sarfate แค่นิดเดียวเท่านั้นค่ะ จะไม่บอกหรอกนะว่าทีมไหน



    ⚾︎



    NIPPON SERIES

    อีกหนึ่งเซอร์ไพรซ์ของปีนี้เกิดขึ้นในช่วง Climax Series เมื่อ Yokohama DeNA BayStars ฝ่าฟันกับพายุฝน สนามโคลน และไลน์อัพสุดเหี้ยมโหดของทีมอันดับหนึ่งและสอง จนสามารถเฉือนเอาชนะทั้ง Hanshin Tigers และ Hiroshima Carp คว้าตั๋วฝั่ง Central League มาชิงแชม์ Nippon Series ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี

    ช่วงเวลาที่ BayStars ห่างหายไปจาก Nippon Series นั้นยาวนานเสียจนบรรดาแฟนเบสบอลทั้งใน Twitter และ Buzzfeed ต้องมาช่วยกันแชร์ว่าเมื่อ 19 ปีที่แล้ว (ปี 1998) มันเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ >  ภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่อง Titanic เข้าฉายที่ญี่ปุ่น / เหล่าพนักงานออฟฟิศยังใช้ระบบปฏิบัติการ Windows98 / Daisuke Matsuzaka อดีตพิชเชอร์ Boston Red Sox ตอนนั้นยังเป็นหนุ่มม.ปลายหัวเกรียน ลงขว้างที่โคชิเอ็งในฐานะเอซพิชเชอร์ของโรงเรียน Yokohama / Seiya Hosokawa รุกกี้ของ BayStars ที่ลงมาฮิต RBI ใน Climax Series ปีนี้ ตอนนั้นเพิ่งจะอายุ 2 เดือน!



    Fukuoka SoftBank Hawks - Nippon Series 2017 Champion
    ( ภาพจาก Japan Times )


    การเห็นทีมอันดับสามเบียดเข้ามาเจอกับทีมแชมป์ลีกใน Final Stage ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ทีมอันดับสามยังสามารถกัดฟันสู้จนมาถึง Nippon Series นานๆทีเราจะได้เห็นกัน เครดิตส่วนหนึ่งคงต้องยกให้ Alex Ramirez ผู้จัดการทีมชาวเวเนซุเอลาของ BayStars หนึ่งในผู้จัดการที่ตัดสินใจจังหวะต่างๆในเกมแบบไม่ตามตำราที่สุดที่เราเคยเห็นมา ปกติไม่ได้ดูเกมฝั่ง CL บ่อยเท่าไหร่ มาได้ดู BayStars เล่นจริงจังก็ช่วง Post season นี่แหละ เซอร์ไพรซ์กับหลายๆช้อยส์ของ Ramirez มาก เช่น การส่งพิชเชอร์เบอร์หนึ่งลงมาขว้างกลางเกม ทั้งๆที่ทีมอาจแพ้และต้องแข่งต่อวันพรุ่งนี้ (ซึ่งก็กลายเป็นว่าเวิร์คนะ) หรืออย่างการให้เด็กหน้าใหม่ที่สถิติฮิตไม่ค่อยดีลงไปตีในสถานการณ์ที่มีรันเนอร์อยู่บนเบส (แต่เด็กมันก็ฮิตจริงๆ ทั้งโฮมรันและ RBI)

    หลายคนบอกว่า BayStars ไม่ใช่คู่แข่งของ Hawks ให้มากสุดก็แข่งกันแบบสบายๆไม่เกิน 5 เกม แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่าทั้ง 6 เกมที่เพิ่งจบลงคือซีรี่ส์ที่สนุก BayStars ไม่ได้แข่งแบบทีมที่คิดว่ายังไงก็คงแพ้ กะแค่มาเอาบรรยากาศ แต่แข่งแบบทีมที่หวังได้แชมป์จริงๆ ส่วน Hawks ก็ไม่ได้เล่นแบบคนมาเหนือ แข่งแค่พอเป็นพิธี ยังคงลงสนามด้วยความอำมหิตเลือดเย็นเหมือนเคยทุกเกม ในฐานะแฟนทีมครึ่งล่าง ก็ต้องขอขอบคุณทั้ง Hawks และ BayStars ที่ทำให้เรามีเบสบอลสนุกๆดูกันต่ออีก 6 เกม ตอนสองทีมนี้เขาแข่งกันหน้าเครียดคางเกร็ง ตัดภาพไปที่พวกทีมอันดับ 4-6 คือวิ่งเล่นกันอยู่ริมชายหาดที่ Fall Camp แล้วจ้า 




    ความสนุกอีกอย่างของ Nippon Series ปีนี้ คือการโคจรมาเจอกันในเกมระดับท็อปคลาสของ Higashihama Nao พิชเชอร์จาก Hawks และ Hiroki Minei แคชเชอร์ของ BayStars ทั้งสองคนเป็นคู่ Battery สมัยเรียนมัธยมฯปลายที่โอกินาว่า และมหาวิทยาลัย Asia ต้องบอกว่า Minei น่าจะรับลูกของ Higashihama มาแล้วเป็นหมื่นๆครั้ง เกมที่ทั้งสองคนลงเล่นพร้อมกันจึงกลายเป็นเรื่องตื่นเต้นที่โอกินาว่าเลยทีเดียว

    ความเสียใจอย่างเดียวของซีรี่ส์นี้คืออดดูแมตช์ Senga-Imanaga ไว้มาเจอกันใหม่ตอน Interleague ละกันเด้อ



    ⚾︎



    FIGHTERS REPORT

    สำหรับแฟนๆ Fighters ฤดูกาล 2017 คือช่วงเวลาแห่งการฝึกมุทิตาจิตอย่างแท้จริง ดูเบสบอลเหมือนบำเพ็ญเพียร ต้องมีจิตใจแข็งกล้า เต็มไปด้วยความยินดีต่อความสำเร็จของผู้อื่น ปลงกิเลส ลดละเลิก (ประนมมือ) Hokkaido Nippon-Ham Fighters ปีนี้จบฤดูกาลที่อันดับ 5 ของตารางแบบสาธุบุญมากๆ เพราะ Marines ดันผีเข้ากว่าเลยยึดที่ 6 ไปครองยาวหกเดือน ถ้าเขามาฟอร์มเดียวกับซีซั่นก่อน ก็ไม่ต้องบอกนะคะว่าใครจะบ๊วย

    อย่างไรก็ตามในน้ำตายังมีรอยยิ้ม (แหยๆหน่อย แต่ก็คือยิ้มอะแหละ) ช่วงนี้เราเลยจะมาอวด มาขายของ มาสาธยายความสำเร็จต่างๆของทีมในปีนี้กันค่ะ มีเหรอ? หลายคนถาม ก็มีนิดหน่อยจ้า พอเป็นน้ำจิ้ม เป็นผักชี




    ปีนี้ Outfielder ที่ฮอตที่สุดบนเกาะฮอกไกโด คุณ Haruki Nishikawa นอกจากจะท็อปฟอร์มจนติดทั้ง Best 9 และ Golden Glove แล้ว ยังทำสถิติขโมยเบสไป 39 ครั้ง เยอะที่สุดในฝั่ง Pacific League ซึ่งได้มาแบบลุ้นมากๆ เพราะท้ายซีซั่น Sosuke Genda (SS-Lions) ตามมาติดๆที่ 37 ครั้ง แถม Nishikawa ยังเจ็บจนถูกถอดจากรายชื่อตัวจริงอีก แต่ก็ได้มาแล้วค่า~ ส่วน Genda ก็ได้รับรางวัล PL Rookie of the Year ไปเรียบร้อยตามระเบียบ



    Takuya Nakashima
    ( ภาพจาก Baseball Crix )

    อีกเรื่องที่ทำให้ปี 2017 เป็นฤดูกาลที่จะจดจำไปอีกนานแน่นอน คือการที่ในปีนี้ ผู้เล่นที่เราชอบที่สุดสองคนใน Fighters ตีโฮมรันได้เป็นครั้งแรกในการเล่นอาชีพทั้งคู่ คนแรกคือน้อง Shimizu แคชเชอร์ที่ลุ้นแล้วลุ้นอีกว่าเมื่อไหร่จะได้มาอยู่ทีมหนึ่งถาวรเสียทีหนอน้อง ปีนี้ได้เล่นเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นครั้งแรก บล็อกลูกกับ Pick off ให้ผ่านแล้ว รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะฮิตถี่กว่านี้

    อีกคนคือ Takuya Nakashima ช็อตสต็อปที่หลายคนคุ้นเคยในฐานนะแบตเตอร์ผู้ตีฟาวล์ครั้งแล้วครั้งเล่า ตีจนพิชเชอร์หงุดหงิด ตีจน Pitch Count เขาพุ่งไม่หยุดก็ยังไม่ยอมเลิก นากาชิม่าไม่ใช่ผู้เล่นสายจอมพลัง ส่วนใหญ่ตีไปเป็น Single นานๆครั้งจะเห็นลูกลอยไปกระแทกรั้วเอ้าท์ฟิลด์ ตำแหน่งตีคือลำดับที่เก้าปิดท้ายไลน์อัพ เป็นผู้เล่นประเภทที่ถ้ามีรันเนอร์อยู่บนเบสแล้วยังไม่มีใครเอ้าท์ ก็จะถูกสั่งให้บันท์ และมีสตอรี่เหมือนช็อตสต็อปอีกหลายๆคน คือมาอยู่ในไลน์อัพด้วยฝีมือเกมรับเป็นหลัก

    นากาชิม่าลงเล่นกับทีมหนึ่งอย่างจริงจังครั้งแรกในฤดูกาล 2012 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาไม่เคยตีโฮมรันเลยซักครั้งเดียว ถ้าฮิตแล้วลูกลอยไปไกลหน่อยเมื่อไหร่ แฟนๆจะพากันลุ้นให้ลูกนั้นเป็นโฮมรันตลอด โฮมรันแรกของนากาชิม่าได้มาตอนลงไปแข่งกับ Hawks ที่ฟูกุโอกะ บ้านเกิดของเขาพอดี หลังจากนั้นก็เป็นมหกรรมขายเสื้อ กระเป๋า พวงกุญแจ ผ้าขนหนู และนานาของที่ระลึกอย่างที่เรารู้กัน





    หันไปทางทีมสองของ Fighters ที่ Eastern League ปีนี้ถือว่ามีเรื่องดีๆมาเล่าสู่กันฟังหลายอย่าง Moriyama (OF) ที่เพิ่งดราฟมาปีก่อน ได้รับรางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ แถมยังตีโฮมรันเป็นจำนวนสูงสุดในลีก Yokoo (IF) ที่เริ่มกลายเป็นขาประจำทีมหนึ่งได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยม ส่วน Batting Average ที่ดีที่สุดตกเป็นของ Takahama (IF) ทางฝั่งพิชเชอร์ก็มี Yoshida (P) ที่ได้ Best ERA แต่! แต่ถึงกระนั้น ทีมน้องๆก็จบฤดูกาลที่อันดับรองบ๊วยเหมือนทีมพี่ๆเด๊ะ (!)



    ⚾︎



    DRAFT 2017

    เรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้ว เราก็ให้มันผ่านพ้นไป มาดูอนาคตที่สดใส(?)กันต่อดีกว่า

    NPB Draft 2017 มีเรื่องแปลกกว่าปีอื่นๆอยู่เล็กน้อย เพราะแก๊งค์เด็กม.ปลายที่เก็งกันว่าจะถูกเลือกในรอบแรกเป็น Position Player ล้วน ต่างจากปกติที่พิชเชอร์มักถูกรุมยื้อแย่งตัว แถมการดราฟรอบแรกปีนี้ยังยาวนานมากๆ ใช้เวลาไปเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม เลือกกันซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำจนพอได้ยินชื่อเด็กคนเดิม หัวเราะกันไปทั้งห้องจัดงาน



    ( ภาพจากถ่ายทอดสด NPB Draft 2017 )


    สำหรับ Kotaro Kiyomiya คงไม่มีอะไรต้องพูดถึง ตีไป 111 โฮมรันตอนม.ปลาย ถูกเลือกจาก 7 ทีมในรอบแรก ก่อนจะถูกโชคชะตาจะพัดพามาฮอกไกโด (〜 ̄▽ ̄)〜

    อีกคนคือ Shosei Nakamura เจ้าของสถิติ 6 โฮมรันที่โคชิเอ็ง ถูกเลือกในรอบแรกจาก Carp และ Dragons ที่ส่งผู้จัดการมาจับฉลากกันทั้งคู่ ทีมที่ดวงดีกว่าคือ Hiroshima Toyo Carp ไม่รู้ว่าทางทีมจะยังให้เล่นเป็นแคชเชอร์ต่อรึเปล่า ส่วนตัวแอบอยากเห็นโค้ชลองจับไปเล่นเป็นเอ้าท์ฟิลด์หรือช็อตสต็อปดู ได้ข่าวมาว่าจริงๆแล้วตอนม.ปลาย Nakamura ก็เคยเล่นตำแหน่งช็อตสต็อปอยู่เหมือนกัน

    นอกจากสองคนที่ว่ามา Daiki Tajima จาก JR (Industrial league) ก็ถูกเลือกจากทั้ง Orix Buffaloes และ Seibu Lions ซึ่งทีมแรกเป็นฝ่ายได้ไป น่าจะได้เห็นอยู่ใน Rotation ปีหน้าของโอริกซ์แน่ๆ แฟนๆฝั่ง PL เตรียมตัวเจอได้เลย

    ในการเลือกครั้งที่ 2 (ของรอบแรก) มีเด็กม.ปลายถูกเลือกซ้ำอีก 2 คน คนแรกคือ Hisanori Yasuda จากโรงเรียน Riseisha เด็กตัวใหญ่ สายตีแรง อนาคตพาวเวอร์ฮิตเตอร์อีกคน ถูกเลือกจาก Marines, Hawks และ Tigers ทีมที่ได้ไปคือ Chiba Lotte Marines (ที่ได้ฮิตเตอร์ม.ปลายตัวท็อปไปครอบครองถึง 2 คน ในรอบ 3 ปี ก่อนหน้านี้คือ Hirasawa Taiga เมื่อปี 2015 ที่ต้องจับฉลากลุ้นกันกับ Eagles)

    เด็กม.ปลายคนสุดท้ายที่ทีมต้องจับฉลากแย่งกัน คือ Munetaka Murakami จากโรงเรียน Kyushu Gakuin ที่ถูกเลือกจาก Eagles, Giants และ Swallows โดยทีมหลังสุดเป็นฝ่ายได้ไป



    ( ภาพจากถ่ายทอดสด NPB Draft 2017 )

    ถึงตอนนี้ก็จับฉลากกันไปแล้ว 5 ครั้ง แต่นั่นยังคงไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะในการเลือกใหม่ครั้งที่ 3 Kosuke Baba พิชเชอร์จากมหาวิทยาลัย Sendai ถูกขานชื่อจากทั้ง Hawks และ Tigers ตอนรู้ว่าใจตรงกันอีกเป็นหนที่ 3 ผู้จัดการทั้งสองทีมถึงกับหัวเราะยกใหญ่ สุดท้าย Tigers โชคดีกว่าได้ตัวไป ส่วน Hawks ที่จับฉลากได้พิชเชอร์ตัวท็อปติดกันสองปี ปีนี้ต้องกลับไปเลือกใหม่ครั้งที่ 4 เป็นทีมสุดท้าย

    เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานดราฟปีนี้ที่นึกออกก็เช่น Giants ดราฟพิชเชอร์ในรอบปกติไปแค่คนเดียว ที่เหลืออีก 7 คนเป็น Position Player ล้วนๆ

    นอกจาก Yasuda แล้ว Marines ยังดราฟ Yudai Fujioka ช็อตสต็อปจากทีม Toyota ต่อในรอบสอง เดาว่าฟอร์ม Hirasawa Taiga คงยังไม่เข้าที่ และทีมอยากมีช็อตสต็อปที่พร้อมลงสนามทันทีตั้งแต่เกมแรกของปีหน้าเก็บไว้ในบัญชีรายชื่อผู้เล่น ส่วนรอบสี่เลือก Tsuyoshi Sugano เอ้าฟิลเดอร์ของ Hitachi เป็นผู้เล่นที่เราจำได้เพราะเมื่อปี 2015 ช่วงก่อนจบจากมหาวิทยาลัย Meiji เขาเคยยื่นดราฟแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ถูกเลือก ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกันในปีนั้นอีก 3 คนได้เทิร์นโปรหมด ตอนแถลงข่าว เจ้าหน้าที่พาเพื่อนๆมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ส่วนตัวเองมีโค้ชพาเดินอ้อมไปด้านหลังเงียบๆ ซีนหนังซีนละครมาก พวกสกู๊ปข่าวก็ขี้บิ๊วสุดๆ แต่ปีนี้ได้เทิร์นโปรในที่สุดก็ดีใจด้วยมากๆ เชื่อว่าเพื่อนๆรอเจออยู่ที่ทีมหนึ่ง ( แล้วพวกเพื่อนอีกสามคนคือใคร ย้อนไปเมื่องานดราฟปี 2015 ในรอบแรก Uehara Kenta (P) ถูกดราฟไปอยู่กับ Fighters ท้ายฤดูกาลนี้ได้ลงเล่นเป็น Starter และได้ Win แรกในการเล่นอาชีพมาครอง อีกคนคือ Takayama Shun (OF) ที่ไปอยู่กับ Tigers และได้ลงเล่นเป็นตัวจริงทันทีในปีถัดมา กลายเป็น Rookie of the Year ของปีนั้น ส่วน Seishiro Sakamoto (C) ถูกดราฟมาอยู่กับ Tigers เช่นกันในรอบที่สอง แฟนๆ CL น่าจะเริ่มคุ้นหน้าเพราะปีนี้ลงมาแคชแบ่งกับ Umeno อยู่หลายเกม )



    ( ภาพจากถ่ายทอดสด NPB Draft 2017 )

    Draft Class 2017 ของ Fighters ก็ต้องถือว่าดีงามตามธรรมเนียม นอกจาก Kiyomiya ที่เหลือเป็นพิชเชอร์ล้วน (เหมือนจะมี Yuhei Nanba หนึ่งคนที่ทีมตั้งใจดราฟมาเล่น IF) ก็ถือว่าตรงกับความขาดแคลนใน roster ทีมสองตอนนี้ดี แถมมีน้องคนหนึ่งเกิดปี 2000 ด้วยนะ ถึงยุคที่เด็กมิลเลนเนี่ยมเทิร์นโปรแล้วจ้า ก็รู้สึกแก่ๆกันไป  ปีนี้ที่เซอร์ไพรซ์กว่า Kiyomiya คือ Kohei Miyadai พิชเชอร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ถูกดราฟมาในรอบ 7 เนื่องจากไม่ได้ติดตาม Tokyo Big 6 เลยไม่รู้ว่าทำไมหลุดมาไกลขนาดนี้ ตอนแรกคิดว่าจะไปตั้งแต่สามสี่รอบแรกด้วยซ้ำ ไม่รู้ฟอร์มแกว่งหรือจะมีอาการบาดเจ็บอะไรติดตัวมาหรือเปล่า แต่มาอยู่กับ Fighters แล้วก็เป็นกำลังใจให้สุดๆนะหนูนะ อย่าหงอยอย่าซีดตามคนอื่นในทีม

    ส่วนบรรดาเด็กดราฟรอบแรกจากปีก่อน ฤดูกาลนี้ได้ลงเล่นชิมลางกันเกือบครบทุกคน มีแค่ Tatsuya Imai พิชเชอร์แชมป์โคชิเอ็งปีก่อนของ Lions ที่ทีมยังให้ชุบตัวอยู่ทีม 2 แต่ก็ได้ข่าวแว่วๆมาว่าขว้างดีสมราคาดราฟรอบแรกนะจ๊ะ ส่วนอีกคนที่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นซักทีคือ Seigi Tanaka ของ Hawks เหมือนว่าจะไปเก็บตัวรักษาอาการบาดเจ็บที่ไหล่ขวา ตามข่าวว่าถ้าปีหน้ายังฟิตไม่เต็มที่ ทางทีมจะให้ลองเล่นเป็น Reliever ดู อยากเจอมากบอกเลย เมื่อไหร่จะเปิดฤดูกาล!



    สารภาพตามตรงว่าความรู้เกี่ยวกับเบสบอลม.ปลายของเราใกล้เลขศูนย์มาก ใครที่ไม่ติดทีมชาติก็แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเลย (ยกเว้นมาจากโรงเรียนในฮอกไกโด เพราะสกู๊ปข่าวกีฬาของ Fighters จะมีอัพเดทสถานการณ์เบสบอลในฮอกไกโดแปะท้ายมาด้วย) ส่วนใหญ่จะมารู้จักมักจี่กันจริงๆก็หลังจากงานดราฟแล้ว ใครที่สนใจอยากติดตามเบสบอลระดับเยาวชนและการแข่งขันโคชิเอ็งเป็นภาษาไทย ขอแนะนำบล็อกนี้เลยค่ะ > http://kirakira-bb.blogspot.com ข้อมูลแน่นมากมาย ที่สำคัญคือมีรีพอร์ตเกมมาให้อ่านอยู่เรื่อยๆ

    ในบรรดาเด็กเพิ่งถูกดราฟหน้าตางงๆเหล่านี้ ใครอยากเห็นฟอร์มซักนิดซักหน่อยแต่ขี้เกียจไปไล่หาทีละช็อตจากโคชิเอ็ง สามารถตามไปย้อนดูไฮไลท์หรือเกมเต็มๆจากทัวร์นาเมนต์ WBSC U-18 เมื่อสามเดือนก่อนได้ที่ช่องทางการของ WBSC ใน YouTube เห็นว่าติดทีมชาติกันหลายคนอยู่



    ⚾︎



    TRADING

    NPB เป็นลีกที่ผู้เล่นส่วนใหญ่อยู่กับทีมที่ดราฟตัวเองมาไปเกือบตลอดชีวิต ย้ายทีมกันอย่างมากก็เพียงสองสามครั้ง ตลาดซื้อขายผู้เล่นช่วงปิดฤดูกาลเลยไม่ได้ร้อนฉ่าเป็นไฟเหมือนลีกกีฬาอื่นๆ ปีนี้มีเรื่องน่าสนใจคือเราอาจได้เห็นพิชเชอร์หลายคนย้ายไปเมเจอร์ลีก มีทั้ง Hirano (Buffaloes) ที่ขว้าง Splitter และ Wakui (Marines) ที่อายุยังไม่มาก เป็น Starter ได้ ลงมาเป็น Reliever ก็ยังได้ น่าจะมีทีมที่สนใจอยู่ แต่จะตกลงสัญญากันได้มั้ยก็อีกเรื่อง



    ( ภาพจากรายงานข่าวของ Fighters )

    ส่วนอีกคนที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ คือคนที่คุณก็รู้ว่าใคร Shohei Ohtani นักเบสบอลที่ฮอตที่สุดในโลก ณ เวลานี้ แค่เช็คเอ้าท์จากโรงพยาบาลยังเป็นข่าว ช็อตเดินลงจากแท็กซี่ยังได้พื้นที่หนึ่งหน้าหนังสือพิมพ์

    ช่วงท้ายฤดูกาลมีข่าววงในอ้างว่าโอตานิจะย้ายทีมแน่ๆประมาณสามพันครั้งสามร้อยทอด อารมณ์ประมาณ “แหล่งข่าวคอนเฟิร์มว่าคนสนิทของเจ้าหน้าที่ในไฟท์เตอร์บอกมาว่าโอตานิเปรยๆว่า...” หลังจากปล่อยให้ข่าวคอนเฟิร์มหลายตลบฮือฮาอยู่เป็นเดือน เจ้าตัวก็เพิ่งจะออกทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมครั้งแรกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยตัดสินใจให้ CAA Sports เป็นเอเยนต์ในการเจรจาต่อรองสัญญากับทีมใน MLB จากนั้นในวันที่ 10 ทาง Nippon-Ham Fighters ทีมต้นสังกัดยืนยันกับสื่อว่าไปคุยกันมาแล้วเรียบร้อย โอตานิผู้สวมเสื้อหมายเลข 11 จะแถลงข่าวในวันถัดไปคือวันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11 นาฬิกา(ตามเวลาญี่ปุ่น) คืออะไร หมอดูทักมาเหรอลูก ในงานแถลงข่าวเธอก็ขอบคุณทุกอย่างในโลก ขอบคุณทุกคนในชีวิต ขอบคุณไปถึงสุนัขที่บ้าน พร้อมยืนยันการตัดสินใจของตัวเองในการเริ่มต้นเจรจากับทีมในเมเจอร์ลีก

    ช่วงนั้นข้อตกลงเรื่อง Post System ระหว่าง NPB กับ MLB ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ตอนแรกบอกว่าปีนี้จะให้ใช้ระบบเก่าไปก่อน มาตอนนี้จะใช้ระบบใหม่แล้ว ถ้าจะพูดเรื่องนี้กันเต็มๆ คงต้องลากไส้ออกมายาวไปอีกสามหน้ากระดาษพร้อมหาข้อมูลเพิ่มเติม ดังนั้นเราก็จะข้ามเรื่องเทคนิคไปก่อน เอาเฉพาะเนื้อๆก็คือว่า สถานการณ์ตอนนี้ โอตานิไม่สนใจว่าจะได้เงินน้อยลงกว่าเดิมกี่ล้านเหรียญ ซึ่งก็เป็นวลีที่เจ้าตัวย้ำมาหลายต่อหลายครั้ง เราคิดว่าไม่มีใครเชื่อสนิทใจหรอก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ ไม่มีใครคิดว่าจะมีคนกล้าทิ้งเงินเป็นล้านๆ ขอแค่ว่าตัวเองจะต้องได้ทั้งขว้างและตี ความจริงแล้วเราอยากให้โอตานิเล่นที่ญี่ปุ่นต่ออีกสองปี รอให้อายุพ้นเกณฑ์ก่อน แล้วค่อยย้ายไปด้วยสัญญาที่สมควรจะได้รับจริงๆ แต่เข้าใจแหละนะว่าอยากไปมาตลอด 

    ทำใจไว้ก่อนได้เลยว่าไปช่วงแรกๆคงมีพลาดกันบ้าง ถูกสไตรค์เอ้าท์หลายครั้ง พอไปขว้างเองดันถูกตีโฮมรัน เล่นดีใครๆก็รัก เล่นห่วยใครๆก็ด่า เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นในทุกลีก แต่ทุกอย่างที่ MLB จะเอ็กซ์ตรีมยิ่งกว่าที่โอตานิเคยเจอใน NPB หลายเท่า ใครจะมาสปอยล์เธอเหมือนตอนอยู่ฮอกไกโดฮะ ถึงอย่างนั้นเราก็เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเขาก็จะหาทางปรับตัวเข้าหาเมเจอร์ลีกได้ โอตานิไม่ใช่ผู้เล่นที่ไม่มีความบกพร่อง แต่ข้อดีของเขาคือการรู้จักข้อด้อยของตัวเอง มีช่วงหนึ่งถูกบ่นบ่อยๆว่าตีลูกที่เข้ามาด้านล่างฝั่งใกล้ตัวไม่เคยได้ สุดท้ายงัดขึ้นมาเป็นโฮมรันซะเลย หรือหลังจากบาดเจ็บเมื่อปลายปีก่อน กลับมารอบนี้ก็โชว์ขว้าง Slider ไม่หยุด ยังไงก็อยากเห็นโอตานิที่เมเจอร์ลีกนะ ถ้าไม่ขี้เกียจก็จะพยายามตื่นมาดู ทีมที่มีโอกาสได้ตัวไปตอนนี้น่าจะเหลือไม่มาก ดูจากสล็อตเงินที่ยังเหลือให้ใช้ภายใต้กฎจำกัดค่าตัวผู้เล่นต่างชาติอันใหม่ ซึ่งไม่มีทีมไหนให้ได้เกิน 4 ล้านเหรียญ (แอบเชียร์ให้ไป Mariners นิดนึง)

    ย้อนกลับไปอ่านสองพารากราฟบนแล้วเหมือนคุณป้าเขียนจดหมายสั่งลาหลายชายก่อนไปเรียนเมืองนอก (ノ﹏ヽ) สรุปใจความหลักคือ โชคดีนะโอตานิ!



    ⚾︎



    OFF-SEASON

    นอกจากลุ้นกันเรื่องใครจะย้ายไปทีมไหนแล้ว ช่วงปิดฤดูกาลยังพอมีเบสบอลให้ดูอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นลีกในประเทศที่ฤดูหนาวอากาศไม่โหดร้าย ปีนี้ Saitama Seibu Lions ส่ง Tomoya Mori (C) กับ Kona Takahashi (P) ไปเล่นกับ Melbourne Aces ที่ออสเตรเลีย

    ส่วน BayStars หลังจากที่เคยส่ง Tsutsugoh ไป Mexican Winter League เมื่อปีก่อน คราวนี้ก็ส่ง Tomo Otosaka (OF) ไปลองของดูบ้าง รายนี้ฟอร์มเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ไปถึงวินเทอร์ลีกดันฮิตกระจาย ลูกแรกที่ขว้างใส่เธอก็จัดไปเป็นดับเบิ้ล ตอนนี้สถิติดีสุดๆ จนถูกเลือกไปเล่นในเกม All-Stars ไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่า Rakuten Eagles เตรียมส่ง Louis Okoye ไปเม็กซิโกด้วยเหมือนกัน แฟนๆรุกกี้สี่คนนี้ไปตามดูกันได้



    เป็นอันว่าจบ จบ จบ จบฤดูกาล 2017 ได้เวลาแยกย้ายไปสะสางธุระในชีวิต ไปนอน ไปจำศีล ไม่ต้องหมดเวลาวันละสามชั่วโมงกว่าๆไปกับการนั่งปวดท้องหน้าจออีกต่อไป แล้วปีหน้ามีอะไรให้ตื่นเต้นบ้าง ที่ NPB ? ที่แน่ๆคือเราจะได้เห็น Challege System แบบเดียวกับที่ใช้ในเมเจอร์ลีก / ได้เห็น Marines ภายใต้การคุมทีมของผู้เล่นระดับตำนานอย่าง Tadahito Iguchi / ได้เห็น Lions และ Tigers ในเวอร์ชั่นที่น่าจะพีคขึ้นไปอีกขั้น หลังจากปีนี้ทั้งสองทีมใช้งานผู้เล่นรุ่นใหญ่ผสมกับเด็กใหม่หมาดๆ แล้วผลออกมาเวิร์คสุดๆ / ปีหน้า Yomiuri Giants จะมาพร้อมโลโก้ใหม่ / ส่วน Fighters จะไป Spring Camp ที่สหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นปีที่ 3

    หลังจากนี้ถ้าว่างแล้วก็หวังว่าจะได้กลับไปเขียน "เบสบอลสนุกยังไงนะ ตอนที่ 2" ที่ตั้งใจจะเขียนเรื่อง Defense หรือความสนุกของเกมรับนั่นเอง ขอจบตอนนี้ด้วยภาพถ่ายรวมรุ่น Draft Class 2017 ของ Hokkaido Nippon-Ham Fighetrs และคุริยามะซังผู้จัดการทีม ปกติจะไปถ่ายรูปกันที่หน้าตึกศาลาว่าการเก่าเมืองซัปโปโร แต่ปีนี้พาเด็กๆมาโต้ลมหิมะกันก่อนล่วงหน้าที่ Ōkurayama ลานแข่ง Ski Jump ที่เคยถูกใช้งานในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1972 หลายคนในนี้น่าจะมีโอกาสลงมาโชว์ฟอร์มให้เราเห็นกันที่เกม Pre-season เดือนมีนาคมปีหน้า ก็มาลุ้นกันว่าจะเป็นอย่างไร


    ( ภาพจาก Fighters' Twitter )

    เมื่อไหร่จะเปิดฤดูกาล! ⚾︎

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in