เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดูหนังกันเถอะเราSoraya
POVERTY, INC. | บริษัทนี้มีความจนมาขาย |


  • [2014, Michael Matheson Miller]


    วลี’การผลิตซ้ำทางสังคม’ มักถูกใช้กับสื่อ  ซึ่งสื่อที่เข้าถึงคนจำนวนมาก มักชี้นำให้คนรับสารหรือผู้ชมผู้ฟัง มีทัศนคติสอดคล้อง โน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกับตัวสารนั้น  เมื่อตัวสารหรือชุดความคิดใดความคิดหนึ่งถูกนำเสนอบ่อย ๆ โดยกระแสค้านไม่ได้ถูกขยายในวงกว้าง ชุดความคิดนั้นมักกลายร่างเป็นสำนึกปกติของคนส่วนใหญ่ในสังคม

    โฆษณาเงินสินเชื่อเจ้าหนึ่งใช้ท่าไม้ตาย ‘พูดความจริงกับลูกค้า’ แน่นอนเมื่อดูเอาสนุก จุดนี้เรียกยอดวิวและเสียงสรรเสริญอย่างล้นหลาม แต่หากพิจารณาช้า ๆ ดูชัด ๆ ถึงเนื้อถึงแก่นแนวคิดของโฆษณาตัวนี้ 
    จะเกิดความตงิดในใจ จนต้องอุทานออกมาว่า แบบนี้ก็ได้เหรอ?

    ภายใต้เนื้อหาจริงใจต่อลูกค้า โฆษณาดังกล่าวเคลือบชุดความคิด การโทษคนจนเชิงปัจเจก 
    ในเรื่องปัญหาความยากจนเอาไว้ ซึ่งเพื่อจะฉีกพล็อตเรื่องจำเจ ผู้สร้างสรรค์โฆษณาจึงพยายามพูดกับคนดูในสำเนียงแปลกใหม่ อาจจะโดยไม่ตั้งใจ สำเนียงแปลกใหม่นั้นกลับเป็นเนื้อหาเก่า เป็นชุดความคิดเดิมที่ว่า คนจนต้องเผชิญกับความยากจนข้นแค้น  เพราะคนจนทำตัวเอง และนี่ก็เป็นการผลิตซ้ำทางสังคมอีกครั้ง

    การโทษคนจนไม่ใช่เรื่องใหม่ ติสื่อที่โทษคนจนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่เหตุใดสองสิ่งนี้จึงเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงอยู่เสมอ ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ โฆษณาตัวนั้นเผยแพร่ออกไป เพจ Documentary club โพสต์กวักมือชวนชาวโซเชียลไปชมหนัง Poverty, Inc. บริษัทนี้มีความจนมาขาย พร้อมกับการเสวนาพอดี 

    ควันหลงความตงิดใจกับโฆษณายังครุกรุ่นอยู่ เราจึงโยนตัวไปตามแรงชวนอย่างง่ายดาย

    Poverty, Inc. ใช้ระยะเวลาถ่ายทำกว่า 4 ปี ใน 20 ประเทศ เล่าเรื่องภาพมุมมองของผู้ให้สัมภาษณ์กว่า 150 คน 

    ทีแรกทึกทักไปเองว่าหนังคงไกลตัวเรามาก จนกระทั่งผู้ให้สัมภาษณ์ในประเทศเฮติรายหนึ่งพูดประมาณว่า “ได้รับอีเมลจากคนไทย กล่าวว่าขอแสดงความยินดีที่คุณรอดพ้นและได้รับความช่วยเหลือจากภัยพิบัติแล้ว แต่ขอให้คุณรอดพ้นภัยจาก NGO ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว”  
    เอ้า! มีคนไทยเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ด้วย ยังงี้ไอ้บนจอนี่มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แล้ว 
    มันจะต้องลุกลามมากกว่า 20 ประเทศแน่ ๆ

    หนังเป็นดังกระบอกเสียงของคนท้องถิ่นที่เผชิญปัญหาความยากจน หรือผลกระทบจากภัยพิบัติ  เสียงตะโกนนั้นบอกกับผู้หวังดีอย่างเราๆ ว่า เฮ้ ความช่วยเหลือจากพวกคุณในเบื้องต้น เป็นเรื่องที่ดี พวกเราต้องการมัน แต่จะดีกว่าหากช่วยให้พวกเราสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ได้หุ้นส่วนอุตสาหกรรมค้าขายความยากจนในหนังมีตั้งแต่องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานพหุภาคี องค์กรแสวงหาผลกำไร แม้กระทั่งรองเท้า TOMS ก็นับ เพราะการหวังดีโดยเอารองเท้าไปบริจาคเป็นการเชือดคอโรงงานทำรองเท้าในท้องถิ่น

    ศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นอีกสถานที่ป๊อปปูลาร์ในการทำความดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กส่วนใหญ่ที่ตบเท้าเข้าสู่รั้วบ้านเด็กกำพร้า ไม่ใช่เด็กกำพร้าจริงๆ พวกเขายังมีพ่อมีแม่ แต่ที่เด็กเหล่านี้ต้องถูกแปะป้ายว่าเป็นเด็กกำพร้า เพราะพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้ เนื่องจากต้องทำงานหนัก เงินไม่พอ การส่งลูกเข้าบ้านเด็กกำพร้าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
    เด็กเหล่านี้จะเข้าถึงการศึกษา มีปัจจัยต่างๆ พร้อมรองรับ  แต่ปัญหาที่ตามมา เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นจะมีแนวโน้มไม่รับผิดชอบลูกของตน และมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะพวกเขาก็ผ่านสิ่งเหล่านั้นมา 
    อีกปัญหาคือ เด็กที่ถูกรับตัวไปเป็นลูกบุญธรรมในต่างแดนไม่ได้รู้สึกว่าพ่อแม่บุญธรรมของเขาเป็นพ่อแม่ ไม่รู้สึกว่าเขาจะต้องรักครอบครัวใหม่ เพราะพวกเขาก็ยังมีครอบครัวตัวเองที่ยังมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินเกิด

    ความเข้าใจผิดที่คิดว่าตัวเองเป็นคุณพ่อรู้ดีในร่างผู้ช่วยเหลือ ยังถูกถ่ายทอดผ่านคนดังในวงการบันเทิงและสื่อบันเทิงของอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น เพลง 
    Do They Know it's Christmas ผลงานถ่ายทอดความรู้สึกเมื่อดูข่าวสภาวะขาดแคลนอาหาร ความแห้งแล้งในเอธิโอเปียของ Bob Geldof และ Midge Ure  
    เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1984 โดย Band Aid 
    ปี 2011 ในซีรีส์ดังอย่าง GLEE  (Episode: Extraordinary Merry Christmas )
    และซ้ำอีกครั้งปี 2014 โดย Band AID 30 



    หนังจบโดยทิ้งท้ายให้คนดังตลอดจนเราทุกคน เชื่อมั่นในศักยภาพของคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประสบภัยพิบัติหรืออยู่สภาวะยากจนข้นแค้น และเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ไว้หลายจมูกของผู้ชมว่า ตัวเราเองเป็นหนึ่งในฟั่นเฟืองอุตสาหกรรมความยากจนหรือไม่ ?
  • แล้วเหตุใดความยากจนข้นแค้นถึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังคม 
    ซึ่งไม่เพียงแค่ในไทย แต่เป็นปัญหาระดับอินเตอร์

    คำตอบชุดหนึ่งผ่านกรอบแว่นทางเศรษฐศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ธานี  ชัยวัฒน์ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ)  
    อาจารย์ธานีนำเสนอว่าคำในภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Poverty มากที่สุด 
    คือ คำว่า ยากจนข้นแค้น เมื่อแตกออกมาจะได้ 4 คำ ได้แก่
    ยาก – ยากจะก้าวหน้า ชีวิตขาดโอกาส
    จน – จนทรัพย์สิน ไม่มีหลักประกันในชีวิต
    ข้น – ถูกใช้แรงงานอย่างเข้มข้น
    แค้น – คับแค้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม  

    ซึ่งไอ้ความยากจนข้นแค้นมันไม่ได้เกิดมาพร้อมมนุษยชาติ  แต่มันเกิดมาเพราะเมื่อมีรัฐ มีชนชั้นชัดเจน มีระบบตลาดหากมนุษย์มีลำดับขั้นของวิวัฒนาการ ความยากจนก็มิน้อยหน้า มีบรรพบุรุษเช่นกัน ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

    Primitive Society อยู่กันเป็นชนเผ่า ไม่มีชนชั้นชัดเจน มีความอดอยาก อดมื้อกินมื้อ แต่ทุกคนก็อดเหมือน ๆ กัน ไม่มีความยากจน

    Feudal Society เริ่มมีชนชั้น ยังไม่มีความยากจน แต่มีคนรวย-คนจน คนรวยจะเลี้ยงดูเกื้อหนุนคนจนเพื่อต้องการแรงงาน และการคุ้มครองจากคนจน แต่จะพยายามควบคุมเรื่องรายได้ของคนจน เพราะถ้าคนจนรวยขึ้น ๆ คนรวยจะไม่สามารถปกครองคนจนอีกต่อไป

    Democratic Society สังคมยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มีการเมือง มีชนชั้นปกครองกับถูกปกครอง ชนชั้นปกครองเลี้ยงดูเกื้อหนุนผู้ถูกปกครองเอาไว้ เพราะ ‘การให้’ จะเป็นตัวแปรคงไว้ซึ่งอำนาจและฐานเสียงของชนชั้นปกครอง

    Capitalist Society มีทุนเกิดขึ้น เศรษฐกิจเริ่มมีบทบาท สังคมเก็บรักษา (maintain) คนจนเอาไว้ เพราะ การบริจาคให้คนจน คือความสุข ความเพลิดเพลินของคนรวย  เกิดธุรกิจ กิจกรรมที่เกี่ยวของกับคนจน

    สาเหตุที่ทำให้ poverty หรือความยากจนข้นแค้นแก้ไขยาก แบ่งได้เป็น 3 ระดับ
    1. Individual เช่น ขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน
    2. Structural  ชัดเจนขึ้นเมื่อระบบตลาดทำงานมากขึ้น จนเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม
    3. Cultural ทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมของสังคมทำให้เชื่อว่าเมื่อจนแล้ว ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ อีกทั้งในไทยยังเชื่อมโยงความจนกับความดี ทำดีไม่พอ จึงได้รับผลเป็นความจน ตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมเช่น คำอวยพรว่า ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน สำนวนอย่างรักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา (การทำงานหนักกว่าไม่เกี่ยวกับรักชั่ว),คำพูด (จากความเชื่อ)ที่ว่า ทำความดีเยอะ ชาติหน้าจะสบาย เป็นต้น

    ทั้งนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างบวกกับทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมของสังคมนี่เองที่ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความจนในสื่อและสังคมเมื่อปัญหาความยากจน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนจนหลายๆ คนขี้เกียจทำงาน 
    การกล่าวโทษ ติเตียน คาดคั้นเอาผิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่ช่วยให้เห็นทางออก
    ฉะนั้นด้วยความชอบธรรมทั้งปวง ทุกคนเป็นผู้เหมาะสมที่จะร่วมแก้ไขโจทย์ข้อนี้ไปด้วยกัน



    [3.5/5]

    Doc+talk ครั้งที่ 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : 24 ธันวาคม 2559 

    ###

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in