สวัสดีจ้าเพื่อนๆ เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย เข้าสู่วันที่สองของการเรียนและทำงานกันแล้ว คงเรียนหนังสือหรือทำงานกันหนักจนตาลายเลยใช่ไหมล่ะ วันนี้มินิมอร์เลยอยากเอาปกหนังสือสวยๆ มองแล้วสบายตามาให้เพื่อนๆ ดูกัน มาพักสายตากันก่อนดีกว่า แล้วค่อยไปลุยกันต่อ!
City of Ladies
เขียนโดย Christine de Pizan ออกแบบโดย Catherine Dixon
ปกหนังสือสีขาวสะอาด พร้อมลวดลาดที่ดูเรียบหรูเล่มนี้เป็นวรรณกรรมที่เขียนเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1405 อายุไม่ใช่น้อยเลยนะเนี่ย แถมเบื้องหลังจุดกำเนิดวรรณกรรมเล่มนี้ก็น่าสนใจมากเช่นกัน เพราะผู้เขียน Christine de Pizan เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อตอบโต้นักเขียนชายคนหนึ่งที่เขียนหนังสือว่าร้ายผู้หญิงว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เลวร้าย! Christine ทนไม่ไหว เลยตอบโต้ด้วยการสร้างเมืองหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือ City of Ladies ที่มีตัวละครเป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายอาชีพทั้งในประวัติศาสตร์และในช่วงเวลาของเธออาศัยอยู่ Christine เขียนหนังือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิงว่าพวกเธอก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และสนับสนุนให้ผู้หญิงได้รับกรศึกษาเช่นกัน แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 600 ปี แต่หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่ดีที่ทุกคนยังพูดถึงอยู่เลย
The Fractalist
เขียนโดย Benoit Mandelbrot ออกแบบโดย Timothy Goodman ปกหนังสือเล่มต่อมานอกจากจะมองแล้วสบายตา ก็ดูสวยใช่เล่นนะเนี่ย ไม่บอกไม่รู้เลยว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติ! หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของ Benoit Mandelbrot ผู้สร้างแฟร็กทัล (Fractal) ที่เป็นเหมือนวัตถุทางเรขาคณิตขึ้น! และการคิดค้นของเขาในครั้งนี้ก็สร้างประโยชน์ให้ทั้งวงการคณิตศาสตร์ วงการเงินโลก จนถึงวงการศิลปะเลยทีเดียว หลายคนอาจไม่รู้จักแฟร็กทัลว่าคืออะไร แต่หลักการแฟร็กทัลนั้นนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายอย่างและใกล้ตัวเรามากๆ เลย อย่างเช่น ฉากกราฟิกส์ในภาพยนตร์ ชุดลายพรางของทหาร ออกแบบแฟชั่น ทำภาพในเกม จนถึงการใช้ศึกษาแผ่นดินไหว เป็นต้น ใครอยากรู้ว่าเจ้าแฟร็กทัลนั้นเป็นอย่างไร ลองค้นหากันดูนะ
On the Pleasure of Hating
เขียนโดย William Hazlitt ออกแบบโดย David Pearson หนังสือที่ดูเรียบง่าย แต่ภายในเต็มไปด้วยข้อคิดน่าสนใจมากมาย หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1823 ในช่วงนั้นชีวิตของ William Hazlitt ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กำลังแย่มากๆ ทั้งทะเลาะกับคนที่ทำงาน และชีวิตแต่งงานล้มเหลว และด้วยความเบื่อหน่ายกับวรรณกรรมรักโรแมนติก Hazlitt เลยเขียนหนังสือขึ้นมาเอง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนักกวีอังกฤษในยุคนั้น ก่อนเขาจะกลายเป็นนักเขียนชาวอังกฤษคนแรกที่ทำอาชีพนักวิจารณ์เชิงพรรณา Hazlitt เขียนตั้งแต่เรื่องทาสจนถึงการจินตนาการ ตั้งแต่การต่อยมวยจนถึงเรื่องประชาธิปไตย และตั้งแต่นั้นมาเขาก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักข่าวและนักการเมือง
Room of One’s Own
เขียนโดย Virginia Woolf ออกแบบโดย David Pearson
หนังสือเล่มนี้น่าสนใจดีนะ วรรณกรรมเรื่องนี้เผยแพร่เมื่อปี 1929 เมื่อนักเขียน Virginia Woolf ได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยของผู้หญิง ในหัวข้อ "ผู้หญิงและนวนิยาย" ก่อนรวบรวมการบรรยายนั้นเป็นหนังสือเล่มนี้นี่เอง หนังสือเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนวิจารณ์เกี่ยวกับผู้หญิง Woolf ใช้วิธีวิเคราะห์ต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมถึงมีนักเขียนผู้หญิงน้อยนัก และคำตอบคือส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้พวกเธอยากจนและขาดความเป็นส่วนตัว หรือเราต้องทำเหมือนประโยคบนปกหนังสือ "ผู้หญิงต้องมีเงินและห้องสวนตัวถึงจะเขียนหนังสือได้"
Off the Page
ออกแบบโดย Darren Haggar
มีใครเคยสงสัยไหมว่านักเขียนเขาเริ่มเขียนหนังสืิอเล่มหนึ่งกันอย่างไร ต้องเริมจากการวางเนื้อเรื่อง หรือตัวละคร หรือบรรยากาศก่อนนะ ที่จริงแล้วชื่อหนังสือเล่มนี้มาจากนวนิยายเรื่อง Off The Page ที่เขียนโดย Jodi Picoult และ Samantha van Leer เป็นนวนิยายซีรีส์ชื่อดังขายดีอันดับหนึ่งของ New York Times บรรณาธิการ Carole Burns ได้รวบรวมขั้นตอนการเขียนหนังสือของนักเขียนนวนิยายเล่มนี้มาให้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้จะมีนักเขียนชื่อดังคนอื่นๆ อีกหลายคนเลย ถ้าได้ลองอ่านแล้วทั้งนักอ่านและนักเขียนต้องได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้แน่นอน
Social Contract
เขียนโดย Jean-Jacques Rousseau ออกแบบโดย David Pearson
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเขียนที่มีชื่อเสียงม๊ากก ถ้าพูดถึง ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau) น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชายผู้มีความสามารถหลากหลายคนนี้ และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในผลงานของเขา เผยแพร่เมื่อปี 1762 เกี่ยวกับทฤษฎีในการสร้างชุมชนทางการเมืองเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาของสังคมการค้า และหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองในแภบยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ปกเรียบๆ แต่เนื้อหาไม่เรียบตามเลยนะเนี่ย
The Lie That Tells a Truth
เขียนโดย John Dufresne ออกแบบโดย John Fulbrook lll
อยากบอกว่าชอบปกหนังสือเล่มนี้จังเลย โดยเฉพาะประโยคบนปก กวนใช่เล่นนะเนี่ย และหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่นิยาย วรรณกรรม หรือบทกวี แต่มันคือคู่มือการเขียนนิยายล่ะ! และหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่าเหมาะกับนักเขียนทั่วไป นักเขียนประจำ นักเขียนจริงจัง นักเขียนมือใหม่ และนักเขียนที่กำลังคิดอะไรไม่ออก เอาเป็นว่าเหมาะกับทุกคนที่อยากเขียนนั่นเอง เพราะในหนังสือเล่มนี้จะมีข้อแนะนำ เทคนิค และการสร้างสิ่งต่างๆ ให้แก่เรื่องที่เราจะแต่ง ถือว่าเป็นหนังสือดีๆ อีกเล่มที่เหมาะสำหรับทั้งผู้เขียนและผู้อ่านเลย
มินิมอร์ว่าปกหนังสือที่นำมาให้เพื่อนๆ ดูกันวันนี้หลากหลายแนวมากเลยนะ แถมหน้าปกก็ดูง่ายสบายตาด้วย แถมปกเรียบๆ คลีนๆ แบบนี้ก็ทำให้หนังสือเนื้อหาหนักบางเล่มดูน่าสนใจขึ้นมาทันที เอาล่ะ ดูปกหนังสือสวยๆ สบายตากันไปแล้ว ตอนนี้พร้อมทำงานกันรึยังเอ่ย ถ้ายังไม่พร้อมพักอีกนิดก็ได้นะ แล้วค่อยมาลุยต่อ สู้ๆ จ้า!
เขียนโดย Minimore Trainee : aaommm
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in