เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
intern.rotten.tomato
04 : Well , read.
  • สัปดาห์แรกของเดือนกรกฏาคมเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับโจทย์การทำงานครั้งใหม่

    ข้อความจากกรุ้ปแชทฝึกงานเด้งขึ้นมาในบ่ายวันหนึ่ง เป็นข้อความจากพี่เน็ท
    พี่เน็ทส่งลิ้งค์บทความจากเว็บไซต์เว็บนึงมาให้ เป็นบทความภาษาอังกฤษชื่อว่า 
    30 Books You Need to Read to Earn 'Well-Read' Status 

    พร้อมกับฝากให้เรากับเนยช่วยเอาเนื้อหาจากบทความที่ว่ามาทำเป็น content ในครั้งนี้ 
    โดยมีโจทย์คือปรับเนื้อหาให้ถูกจริตกับคนไทย และลองคิดดูว่าจะเปลี่ยนคำว่า well read 
    เป็นคำว่าอะไรได้บ้าง

    เนื้อหาในบทความเป็นการพูดถึงหนังสือ 30 เล่มที่เมื่ออ่านแล้ว จะช่วยเปลี่ยนสถานะให้เรากลายเป็นนักอ่าน well read โดยมีการแบ่งหมวดหมู่ของหนังสือออกเป็น 9 หมวดแตกต่างกันออกไป มีทั้งหมวด  Western classic / Non-western classic / Sci-fi / Dystopia / Popular / Great american novels / Science fiction and fantasy / Literary Heavy Hitters / Immigrant Experience และ Satire
    รวมทั้งหมด 30 เล่ม

    ตอนแรก เราคิดว่างานครั้งนี้ไม่น่าจะยากเท่าครั้งก่อน และคิดไว้ว่าน่าจะใช้เวลาน้อยว่าที่ผ่านมา
    เพราะเรามีเนื้อหาอยู่ในมือแล้วเรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำต่อไปมีแค่การอ่านบทความที่ได้มาให้เข้าใจ นำมาเล่าใหม่ในภาษาของเรา และออกแบบกราฟฟิกในการนำเสนอเท่านั้น

    แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบที่เราคิด 
    งานชิ้นนี้กลับกลายเป็นงานที่ใช้เวลานานมากพอ ๆ กับสองงานที่ผ่านมาเลย

    เริ่มต้นตั้งแต่การหาคำใหม่ที่จะนำมาใช้แทนคำว่า well read เราจุ้มปุ้กกันอยู่นานสองนาน
    พยายามเค้นออกมาว่า well read มันควรจะแทนด้วยอะไรได้บ้างนะ 

    จะให้แปลจากชื่อบทความต้นฉบับ จากคำว่า to Earn Status ไปเป็น ยกสถานะ
    ก็ดูจะเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดและมีความ offensive อยู่ค่อนข้างมาก

    ( ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนในทีมเห็นตรงกันว่า ถ้าใช้คำว่ายกสถานะ / ยกระดับ
    จะดูเป็นการแบ่งชั้นให้คนอ่านมากเกินไปหรือเปล่านะ เพราะเราทุกคนคิดว่าการอ่านเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ และต่อให้ไม่ได้อ่านหนังสือในบทความจนครบ ทุกคนก็เป็นนักอ่านที่ดีได้ทั้งนั้น )

    เนยกับเราคิดแล้วคิดอีก เพราะไม่อยากทำให้ content ที่กำลังจะเกิดขึ้น
    กลายเป็น content ที่ทำให้ใครหลายคนอ่านแล้วรู้สึกแย่ 

    ระหว่างนั้นมีหลายคำที่คิดออกแต่ก็ต้องปัดตกไป ด้วยเหตุผลเดียวกัน

    จนกระทั่งวันประชุมเพื่ออัพเดตงานชิ้นนี้เดินทางมาถึง เราเสนอคำใหม่ที่คิดกันไว้ทั้งหมดให้พี่โจ้กับพี่เน็ทฟัง พร้อมบอกเหตุผลที่เราไม่ใช้คำเหล่านี้มาเป็นคำก็อปปี้ในคอนเทนต์

    พี่โจ้กับพี่เน็ทเห็นด้วยกับเราสองคนว่าการใช้คำเหล่านั้น 
    ในบางมุมก็ดูเป็นการ lable หรือแปะป้ายให้คนอ่านมากเกินไป

    เราสองคนเลยกลับมาคิดกันใหม่อีกรอบ พร้อม ๆ กับการคิดรูปแบบคอนเทนต์ 
    ตอนนั้นเรากับเนยคิดกันว่าอยากทำออกมาในรูปแบบของ challenge สั้น ๆ 30 วัน 
    ชวนคนอ่านมาอ่านหนังสือวันละเล่ม 

    และใช้คำโปรยว่า '30 day challenge อัพเลเวลเป็นนักอ่านพรีเมียม' 

    แล้วก็ออกมาเป็นกราฟฟิกแบบนี้



    แต่ระหว่างนั้นก็มีการถกกันเกิดขึ้นอีกครั้ง เรารู้สึกว่าคำว่าพรีเมียมจริง ๆ มันก็แอบแบ่งชั้นเหมือนกันนะ
    พอเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาเนย เนยก็คิดแบบเดียวกัน เราสองคนก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนคำก็อปปี้อีกรอบ ( และอีกรอบ ) จนมาจบที่คำว่า นักอ่าน MVP

    เราใช้คำว่า MVP เพราะเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในวงการกีฬา หมายถึงผู้เล่นที่เล่นได้ยอดเยี่ยมที่สุดประจำเกมนั้น ๆ ซึ่งฟังดูแล้วไม่ offensive เพราะเป็นเหมือนการให้รางวัลตัวเองมากกว่าการเปรียบเทียบกับใคร
    แถมยังสอดคล้องกับรูปแบบของคอนเทนต์ที่เราตั้งใจไว้ว่าจะทำเป็น Challenge ก่อนหน้านี้ด้วย

    กราฟฟิกและคำก็อปปี้ที่ออกมาเลยเป็นแบบนี้


    ฟีดแบ็คที่ได้รับหลังจากเราอธิบายให้พี่โจ้กับพี่เน็ทฟังระหว่างการประชุมงานว่า MVP หมายถึงอะไร
    คือ พี่โจ้ตั้งคำถามกลับมาว่า ถ้าเราต้องมานั่งอธิบายว่า MVP หมายถึงอะไรให้คนที่อ่าน content เข้าใจ
    แล้วทำไมเราไม่ใช้คำว่า well read ไปเลยล่ะ เพราะยังไงก็ต้องเอามาแปลเหมือนกัน

    เด็กสองคนก็เลย เอ้อ จริงด้วยเนอะ เท่านั้นก็เป็นอันเข้าใจกันว่า MVP ถูกปัดตกไปอีกรอบ
    และเราสองคนที่ยอมแพ้ ต้องกัดฟันกลับมาใช้คำว่า well read เหมือนตอนแรกจนได้ ( ฮืออ )

    บวกกับคอมเมนท์เรื่องกราฟฟิกที่ได้รับมา รวมถึงรูปแบบของตัวกิจกรรมที่อาจจะทำได้ยากเกินไปสักหน่อยภายในเวลาจำกัดแค่ 30 วัน ทำให้เราต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่ทั้งหมด

    เรานั่งคิดต่อกันอยู่นาน เพราะไม่อยากจะทิ้งรูปแบบ content แบบเชิญชวนให้คนอ่านมาทำ challenge ไปด้วยกัน พี่ ๆ ทั้งสองคนก็ช่วยเราคิดเต็มที่ แต่คิดยังไงก็ยังไม่เวิร์คสักที เราเลยตกลงกันใหม่ว่า
    ถ้าเสียดายไอเดียนี้ก็ไม่เป็นไร ทดเอาไว้ในใจก่อน เราอาจจะได้เอามาใช้ในการทำ content ครั้งหน้าก็ได้ ( และใครจะรู้ว่าสุดท้ายก็ได้เอามาใช้ใน content อื่นจริง ๆ ด้วยนะ )

    เราสองคนเลยตัดสินใจเก็บไอเดียในครั้งนี้พับเก็บไว้ก่อน 
    และเริ่มลงมือทำกราฟฟิกและคิดรูปแบบใหม่ให้ง่ายขึ้นแทน
    เราตัดสินใจจะนำเสนอเหมือนเราเป็นตัวแทนของเพื่อนนักอ่านที่เข้าไปสำรวจตามเว็บไซต์ต่าง ๆ
    แล้วเจอบทความที่ว่า และเห็นว่ามันน่าสนใจก็เลยอยากเอามาเล่าให้คนอ่านฟัง

    จนในที่สุด ก็ออกมาเป็นโพสนี้จนได้

    บทเรียนที่สามสำหรับการทำงานชิ้นนี้คือ :
    ไม่ว่าจะทำอะไร จงคิดให้รอบคอบ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in