เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Japan DidSALMONBOOKS
จักรยานสองล้อแรงคนกับสังคมญี่ปุ่น
  • ผมชอบปั่นจักรยานครับ และหนึ่งในสิ่งที่มีอิทธิพลกับชีวิตจนทำให้ผมหันมาสนใจปั่นจักรยานแบบทุกวันนี้คือมังงะเรื่อง สิงห์นักปั่น หรือ Shakariki ผลงานของโซดะ มาซาฮิโตะ (Soda Masahito) ที่เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มผู้บ้าปั่นจักรยานขึ้นเขาแบบไม่เกรงกลัวอะไร ซึ่งในตอนนั้น การ์ตูนออกมาตรงกับช่วงที่จักรยานเสือภูเขาเริ่มเข้ามาตีตลาดในบ้านเรา เด็กๆ แต่ละแก๊งเลยรวมกลุ่มปั่นจักรยานกันเป็นแถว โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่การ์ตูนเรื่องนี้ทำให้การขี่จักรยานฮิตระเบิดระเบ้อ

    ตอนที่ผมโผล่ไปที่ห้องชมรมจักรยานของมหาวิทยาลัยที่เรียนปริญญาโทอยู่ ก็พบว่าการ์ตูนเรื่องดังกล่าวถูกวางอยู่ครบทุกเล่มในชั้นวางหนังสือ สมาชิกชมรมเกือบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประทับใจและได้แรงบันดาลใจจาก สิงห์นักปั่น ทำให้อยากขี่จักรยาน ไม่ต่างกับ Slam Dunk และ Prince of Tennis ที่สร้างนักกีฬาหน้าใหม่ทั่วประเทศ พอฟังแล้วเราชาวไทยก็ได้แต่แอบอิจฉา เพราะนอกจากจะมีการ์ตูนดีๆ คอยสร้างแรงบันดาลใจ สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างถนนหนทางก็เหมาะสมต่อการขี่จักรยาน แถมราคาเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วถือว่าดีกว่าบ้านเรามาก ดังนั้นเวลามองไปตามถนนหนทางในญี่ปุ่น จะเห็นจักรยานมีพื้นที่บนถนนไม่น้อยหน้าบรรดารถยนต์ เพราะที่นู่นไม่ใช่แค่สิงห์นักปั่นเท่านั้นที่ขี่จักรยานอย่างจริงจัง แต่มีทั้งนักเรียน แม่บ้าน พนักงานกินเงินเดือน ผมเองยังเคยเจอสาวนั่งดริ้งค์แต่งตัวสวยหรูทำผมเต็มยศปั่นจักรยานอยู่ในกิ ออง–ย่านท่องราตรีชื่อดังที่เกียวโตเลย

    ก่อนที่จักรยานจะฮิตในสังคมญี่ปุ่นขนาดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตจักรยานราคาถูกมาตั้งแต่ยุคก่อนปี 1900 ยี่ห้อแรกๆ ในตลาดคือ Miyata ที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1892 หรือร้อยกว่าปีมาแล้ว และในสังคมญี่ปุ่นเองก็ค่อยๆ เริ่มใช้จักรยานมาเรื่อยๆ จนถึงขั้นมีหน่วยทหารจักรยานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วย โดยที่จักรยานส่วนมากจะก๊อบปี้มาจากทางยุโรปหรืออเมริกา

    แม้ญี่ปุ่นจะไม่ได้เป็นชาติที่เริ่มต้นใช้หน่วยทหารจักรยาน (ประเทศเยอรมนีเริ่มก่อน) แต่หน่วยทหารจักรยานของญี่ปุ่นก็มีผลงานเด่นในปฏิบัติการยึดมลายูและ สิงคโปร์ ด้วยบทบาทสำคัญในการลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปตามพื้นที่ที่ไม่สะดวกต่อการเดินทางด้วยรถประเภทอื่น และความเร็วของพวกเขาก็เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่ทำให้กองกำลังของ ‘เสือแห่งมลายู’ นายพลยามาชิตะ โทโมยูกิ (Yamashita Tomoyuki) เอาชนะนายพลเพอร์ซิวาล (Arthur Percival) แห่งกองทัพอังกฤษได้

    ความที่สะสมประสบการณ์ในการทำจักรยานมานาน ญี่ปุ่นก็เริ่มมีบริษัทที่สร้างแบรนด์จักรยานดังๆ เป็นของตัวเอง ไล่มาตั้งแต่ Panasonic ที่เราคุ้นชินกับการเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มาทำจักรยานแข่งพร้อมสร้าง แบรนด์ Panaracer ที่ขายอุปกรณ์เสริมชั้นดี หรืออย่าง Bridgestone ที่แม้จะชื่อฝรั่ง แต่จริงๆ แล้วเป็นบริษัทของประเทศญี่ปุ่นนะครับ (มีที่มาจากการแปลชื่อเจ้าของแบรนด์เป็นอังกฤษแบบตรงๆ) เขาไม่ได้ผลิตยางรถอย่างเดียว แต่ยังทำจักรยานทัวร์ริ่ง (จักรยานสำหรับการปั่นท่องเที่ยวทางไกล ทรงคล้ายๆ กับเสือหมอบ แต่องศาของการขี่จะสบายกว่า ไม่เน้นซิ่งสักเท่าไร) ทรงคลาสสิกสวยๆ ออกมา ขาย แถมยังสร้างแบรนด์ลูกที่ชื่อ Anchor ขึ้นมาอีกต่างหาก ส่วนอีกแบรนด์เก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ดังไม่แพ้ยี่ห้ออื่น มาพร้อมโลโก้ภูเขาไฟฟูจิอย่าง Fuji Bikes แม้จะเริ่มกิจการในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1899 แต่ตอนนี้ถูกอเมริกาเทกโอเวอร์ไปเสียแล้ว และก็มาถึงแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจนฮิตมาไกลถึงบ้านเราอย่าง Tokyo Bike กับ Doppelganger ที่รู้กันว่าเป็นแบรนด์จักรยานที่เหมาะสำหรับผู้นิยมจักรยานทรงเก๋ๆ สำหรับใช้ในเมือง

    Tokyo Bike คือบริษัทจักรยานเล็กๆ ตั้งขึ้นในปี 2002 ที่ชานเมืองโตเกียว มีจุดเด่นที่การดีไซน์ต่างๆ สะท้อนภาพลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นได้ชัดเจน ตั้งแต่ความเรียบง่าย ไม่หวือหวา ดูแล้วเห็นถึงความคลาสสิก ต่างจากจักรยานรุ่นใหม่ๆ ที่เวลาปั่นแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นป้ายโฆษณาให้แบรนด์จักรยานซะอย่างนั้น ส่วนระบบขับเคลื่อนก็ถูกปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันในเมืองหลวง ใช้งานง่าย ซ่อมง่าย ไม่ซับซ้อน กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวไปเลย

  • ใน ทางกลับกัน Doppelganger จักรยานจากเมืองโอซาก้าก็สะท้อนความเป็นชาวโอซาก้าได้เป็นอย่างดี (ในที่นี้หมายถึงการชอบอวด ชอบโชว์ให้โลกรู้ ตามสไตล์พ่อค้าพาณิชย์ชาวโอซาก้าที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี) เพราะแบรนด์นี้จะเน้นออกแบบลวดลายจักรยานด้วยสีเจ็บๆ อย่างแดง ส้ม ม่วง ที่ไม่ใช่แค่ตัวถัง แต่ลามไปกระทั่งยาง รวมไปถึงการพยายามทำจักรยานให้พับได้ จักรยานยี่ห้อนี้จึงมีรูปทรงค่อนข้างแปลกไปจากจักรยานยี่ห้ออื่น

    เมื่อพูดถึงจักรยานกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ที่เลื่องลือกว่าจักรยานก็คือ Shimano ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมที่ใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสามของโลก มีมาร์เก็ตแชร์ของตลาดโลกถึง 50% ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นของพวกเขามาจากซะไค–เมืองเล็กๆ ในจังหวัดโอซาก้า เมืองที่ขึ้นชื่อด้านการค้าขายและผลิตเหล็กตั้งแต่ยุคไฟสงคราม (ช่วงที่ญี่ปุ่นยังไม่รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ยุคก่อนปี 1600)

    Shimano เริ่มต้นกิจการในปี 1921 พวกเขาผลิตชิ้นส่วนจักรยานมาตลอด โดยรักษาคอนเซ็ปต์สินค้าจากญี่ปุ่นในยุคนั้น คือมีราคาถูก และเมื่อจักรยานเกิดบูมในอเมริกา สินค้าราคาถูกแต่คุณภาพดีของ Shimano ก็ได้โอกาสไปเจาะตลาด จนติดลมกลายเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้า Campagnolo แบรนด์คลาสสิกจากอิตาลี และ SRAM จากอเมริกาอย่างงดงามไปเลย

    ทุกวันนี้ Shimano ก็ไม่หยุดยั้งตัวเอง ยังขยันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาจนกลายเป็นผู้ที่ครอบครองสิทธิบัตรนวัตกรรมจักรยานมากที่สุดในโลก ยกตัวอย่างระบบล็อกเท้าเข้ากับแป้นถีบที่เราใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองก็มีชื่อแบบทางการว่า Shimano Pedaling Dynamics (SPD) นะครับ

    อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวงการจักรยานระดับโลกและพัฒนามาจากญี่ปุ่นคือ การแข่งขันเคริน (競輪) ที่แปลตามตัว อักษรแบบทื่อๆ เลยว่า ‘แข่งล้อ’ ก็คือการแข่งขันจักรยานในลู่ที่พัฒนามาจากการแข่งจักรยานแทร็คที่เร็วสุดๆ มาเป็นกีฬาเพื่อการพนันตั้งแต่ปี 1948 โดยรถจะถูกออกแบบให้เบา ไม่มีเบรก (เพราะไม่คิดจะหยุด) มีเกียร์เดียว เน้นการปั่นอย่างหนักหน่วงและรวดเร็วเป็นหลัก

    เครินคล้ายกับการแข่งม้า คือมีสนามแข่งหลายที่และนักปั่นต้องตระเวนกันไปแข่งตามสนามต่างๆ โดยในวันแข่งจะมีการแข่งแบบแบ่งเป็นลีก และแบ่งเป็นอันดับตามผลงานของนักปั่น ในแต่ละปีนักปั่นจะถูกกำหนดให้ไปปั่นที่สนามต่างๆ ตามที่สมาคมเครินกำหนด ในการแข่งแต่ละครั้ง บนสนามแข่งจะมีนักปั่นเคริน 9 คน คัดมาจาก 3 เขตสังกัด (นักแข่งแต่ละคนจะขึ้นทะเบียนกับเขตต่างๆ ในญี่ปุ่นตามสถานที่ฝึกซ้อมของตัวเอง โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 เขตทั่วประเทศ) ซึ่งจริงๆ แล้วเครินเป็นการแข่งขันส่วนบุคคล แต่จำเป็นต้องอาศัยแรงคนอื่นในการเอาชนะด้วย ทำให้นักปั่นจากเขตสังกัดเดียวกันจะจับกลุ่มแบ่งหน้าที่ตามความถนัดว่าใครจะเป็นตัวนำ ตัวไล่ตามแล้วมาเร่งทีหลัง หรือตัวคอยกันทีมอื่น เพราะการบังลมให้กันจะช่วยเก็บแรงให้นักปั่นคนที่มีโอกาสเร่งแซงในตอนท้ายได้ หรือบางคนก็รับหน้าที่คอยกันทีมจากเขตอื่นไม่ให้แซงขึ้นมาได้ ดังนั้น ในรอบแรกที่แบ่งเป็นเขต นักปั่นก็จะช่วยกันเพื่อเบียดเขตอื่นออกไป เพราะการแข่งเคริน ไม่ใช่ว่าปั่นได้เร็วแล้วจะชนะคนอื่น ด้วยระยะทางที่รวมแล้วประมาณสองกิโลเมตร จำนวนรอบก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นสนามรอบวง 205 เมตร 333 เมตร หรือ 400 เมตร ทำให้นักปั่นต้องวางแผนในการปั่นให้ดี 

    การปั่นเครินไม่ต่างจากการต่อสู้บนจักรยานที่ต้องมีการเบียดกระทบกระทั่งจนอาจเกิดอันตราย ซึ่งพอจบรอบแรกก็จะคัดตัวผู้ชนะเข้าไปแข่งรอบถัดไป ทีนี้ก็จะไม่สามารถช่วยกันตามเขตที่สังกัดได้แล้ว เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะผ่านเข้ารอบมาทั้งหมด ทำให้รอบยิ่งลึก นักปั่นก็ต้องหาพันธมิตรกันใหม่เพื่อสร้างไลน์ในการปั่นในรอบต่อไปอยู่ เรื่อยๆ แล้วก็แข่งกันต่อไปจนกว่าจะได้ผู้ชนะของสนาม ซึ่งก็จะได้เงินรางวัลเป็นหลักล้านเยนในแต่ละสนามแข่ง (ส่วนข้างสนามก็จะมีบรรดาเซียนคอยลุ้นคอยแทงว่าใครจะเข้าอันดับไหน ซึ่งแฟนๆ เหล่านี้จริงจังถึงขนาดติดตามนักปั่นที่ชอบไปทุกสนาม แข่งที่ไหนก็จะแห่กันไปแทง เอ้ย ไปเชียร์ทุกที่กันเลย)

  • และเพื่อเป็นการโชว์ฝีมือของนักปั่นเครินประจำชาติชาวญี่ปุ่นก็เชิญนักปั่นแทร็คฝีมือดีจากต่างประเทศมาร่วม แข่งเครินเป็นระยะทำให้เครินเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการจักรยานทั่วโลกและถูก บรรจุเข้าเป็นหนึ่งในประเภทการแข่งจักรยานแทร็คในโอลิมปิกตั้งแต่ปี2000ที่ ซิดนีย์กลายเป็นหนึ่งในกีฬาจากญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีเหรียญทองจากชาติต้นตำรับเสียที

    ย้อนกลับมาในญี่ปุ่น แม้ว่าตัวนักปั่นจะมองว่าเครินเป็นกีฬา แต่ตราบใดที่รายได้หลักของวงการมาจากการพนัน (ไม่เหมือนกีฬาอื่นที่มาจากสปอนเซอร์) คนภายนอกก็เลยตัดสินไปว่าเครินเป็นกีฬาเพื่อการพนัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนใฝ่ฝันอยากเป็นนักปั่นเครินอยู่ดี ซึ่งแรงจูงใจก็มีไม่มากหรอกครับ นอกเสียจากเหตุผลที่ว่าค่าตอบแทนนั้นมีมูลค่ามหาศาล

    แต่การเป็นนักปั่นเครินใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ ความที่มันเป็นกีฬาที่ค่อนข้างอันตราย หากไม่มีความรู้พื้นฐานก็มีโอกาสเจ็บตัวถึงตายได้ ดังนั้นนักปั่นเครินทุกคนจะถูกบังคับว่าต้องผ่านโรงเรียนอบรมเสียก่อน ซึ่งเขาก็จะเปิดรับสมัครทุกปี แต่โอกาสผ่านมีแค่หนึ่งในสิบเท่านั้น และเมื่อผ่านแล้ว ทุกคนก็ต้องเรียนร่วมกัน ใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำที่เข้มงวดด้วยกันเป็นเวลาสองปี มีกฎระเบียบเข้มงวดตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมต้องไถสั้น ห้ามมีโทรศัพท์มือถือ ห้ามออกข้างนอก ถ้าจะติดต่อกับครอบครัวต้องผ่านโทรศัพท์สาธารณะ เจอรุ่นพี่ก็ต้องโค้งคำนับ ห้ามกินข้าวก่อนรุ่นพี่ ข้อกำหนดยุบยับไม่ต่างจากคุก แต่ทุกคนก็ยอมสู้เพื่ออนาคต เพราะถ้าไม่ผ่านการทดสอบก็ไม่มีสิทธิ์เป็นนักปั่นเคริน ทุกอย่างที่พยายามมาก็จะสลายไปหมด แต่ถ้าคิดว่าชีวิตช่วงนักเรียนเครินนั้นเข้มงวดจนน่ากลัว ขอให้ลืมไปก่อน เพราะจะบอกว่า พอออกมาเป็นนักปั่นอาชีพแล้ว พวกเขาก็ยังต้องเจอกับสังคมแนวตั้งที่เข้มงวดเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องสุดๆ อีกต่างหาก

    ตามที่บอกว่าเวลาไปแข่ง นักปั่นแต่ละคนจะสังกัดเขตต่างๆ ตามพื้นที่ของญี่ปุ่น ทำให้ใครที่เด็กสุดในเขตที่ลงปั่นก็ต้องทำหน้าที่ดูแลรุ่นพี่ให้ดี ตั้งแต่ชงชา หาอาหาร เตรียมที่พักผ่อน (ว่ากันว่าต้องเตรียมหนังสือโป๊ด้วย) ซึ่งในประเพณีของแวดวงนักปั่นเคริน สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเป็นทีมเดียวกันต้องปั่นไปด้วยกัน ก็ต้องสร้างความเชื่อใจกันให้เต็มที่ และต่อให้เป็นรุ่นพี่ แต่ถ้ารู้ตัวว่ารุ่นน้องมีโอกาสชนะมากกว่า ก็ต้องทำหน้าที่เป็นตัวหนุนให้

    แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องก็คือ นับวันความนิยมของเครินก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่ค่อยมีเด็กรุ่นใหม่เข้าไปดู วงการก็ไม่ค่อยคึกคักเหมือนเก่า ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศกำลังได้รับความนิยมในฐานะการแข่งขัน แต่ในประเทศบ้านเกิด กีฬาเครินที่ถูกมองว่าเป็นการพนันกลับหงอยเหงาลงไปเรื่อยๆ จนได้แต่หวังว่าการแข่งอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นประเภทนี้จะกลับมามีชีวิต ชีวา และมีอายุยืนยาวต่อไปเรื่อยๆ

    ที่ผ่านมาเราคุยกันเรื่องวงการจักรยานแข่งแบบมืออาชีพตลอด มาพูดถึงมือสมัครเล่นกันบ้าง 

    ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ใช้จักรยานกันเยอะ ดูได้จากเมื่อเปรียบเทียบจำนวนจักรยานกับจำนวนประชากรแล้ว พวกเขาติดท็อปเท็นของโลกและเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะพวกเขายอมรับในความสะดวกสบายของจักรยาน ที่ทำให้เดินทางไปไหนมาไหนง่าย ไม่ต้องมีใบขับขี่ รวมถึงถนนหนทางที่ออกแบบไว้สำหรับจักรยานก็มีอยู่มาก กระทั่งฟุตปาธทั่วไปก็กว้างพอที่จะปั่นจักรยานได้ มันจึงกลายเป็นพาหนะที่จำเป็นและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับชาวญี่ปุ่น

    ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว การมีรถยนต์นี่นับว่าเป็นเรื่องไร้สาระมากๆ เพราะนอกจากรถจะติดแล้ว ที่จอดยังราคาแพงพอๆ กับค่าเช่าบ้าน สิ้นเปลืองอย่างที่สุด แถมรถไฟในเมืองก็ครอบคลุมถึงทั่วทุกเขตทุกซอย พาหนะที่เหมาะสมก็หนีไม่พ้นจักรยานคันเล็กๆ ถูกๆ และไม่กินที่นี่แหละแจ๋วที่สุด แค่ปั่นไปจอดที่สถานีรถไฟแล้วก็เดินทางไปต่อได้ง่ายๆ

  • อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนใช้จักรยานก็คือเรื่องราคา จักรยานรุ่นพื้นฐานของญี่ปุ่นแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป สามารถหาซื้อได้ตามห้างฯ ในราคาแค่หมื่นกว่าเยน (ประมาณสามพันบาท) เป็นทรงคล้ายๆ รถจักรยานเสือภูเขา แต่ท่อบน (ท่อส่วนบนของโครงจักรยานที่เชื่อมจากคอแฮนด์มาถึงหลักอานนั่ง) จะถูกดึงลงมาเพื่อให้ผู้หญิงที่สวมกระโปรงสามารถก้าวข้ามไปได้ อ๋อ แล้วจักรยานที่นี่จะไม่มีที่ให้ซ้อนท้ายนะครับ ไม่มีแม้กระทั่งแท่งที่ยื่นจากดุมล้อหลังที่มีไว้ให้คนยืนซ้อนเหมือนจักรยาน บ้านเรา เพราะการซ้อนจักรยานที่นี่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถูกจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย (แต่ดันมีที่เหยียบวางขายอยู่ทั่วไปในร้าน 100 เยน) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังอนุโลมให้จักรยานแม่บ้านติดที่นั่งสำหรับเด็กได้ ซึ่งดูการออกแบบแล้วประทับ ใจมากๆ เพราะเขาพยายามพัฒนาจักรยานมาให้เหมาะกับการใช้งานจริงๆ ดูได้จากรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับคุณแม่ลูกสองที่เบาะหลังจะมีที่เอาไว้ให้เด็ก โตนั่งพร้อมพนักพิง ขณะที่แฮนด์หน้าก็มีเบาะสำหรับเด็กทารกพร้อมเข็มขัดนิรภัยติดเต็มยศ ทีนี้คุณแม่ก็สามารถกระเตงลูกทั้งสองไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่าเดิมแล้ว

    และเมื่อมีจักรยานจำนวนมาก ก็ต้องมีการควบคุมดูแลที่ดีตามสไตล์ประเทศเจ้าระเบียบ 

    ในประเทศญี่ปุ่น เราสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อความปลอดภัยของจักรยานได้ ด้วยการนำรถไปขึ้นทะเบียนกับตำรวจ จากนั้นก็จะได้หมายเลขรถและป้ายสำหรับติดที่ท่อล่าง (ท่อของโครงจักรยานส่วนที่เชื่อมจากคอแฮนด์จับถึงแกนแป้นถีบ) ระบุเขตที่เราอยู่ ซึ่งถ้าเกิดวันไหนรถหายไปก็สามารถตามหาได้ง่ายขึ้น 

    ส่วนการจอดจักรยานเวลาไปซื้อของ ชาวญี่ปุ่นจะชอบจอดจักรยานริมฟุตปาธเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายนะครับ ต้องจอดในสถานที่ที่เตรียมไว้ หากใครจอดทิ้งไว้ที่ฟุตปาธนานๆ ก็จะมีป้ายมาแปะเตือนให้ย้ายออก และหากเตือนแล้วยังไม่ย้าย ตำรวจก็จะขนไปรวมไว้ ก่อนที่จะถูกนำไปบริจาคหรือปล่อยไปยังประเทศอื่นๆ (เพราะอย่างนี้แหละ ร้านจักรยานมือสองในบ้านเราเลยมีจักรยานที่ยังมีทะเบียนญี่ปุ่นติดอยู่ไม่น้อย) แต่มาคิดดูอีกที คนที่จอดทิ้งเอาไว้ก็อาจจะตั้งใจทิ้งอยู่แล้วก็ได้ เพราะที่นี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทิ้งขยะ สู้จอดทิ้งไว้ฟรีๆ แล้วทำเนียนลืมไปเลยดีกว่า ไม่ต้องเสียเงิน

    สำหรับการจอดจักรยานตามสถานีรถไฟ สถานีส่วนใหญ่จะมีที่จอดจักรยานไว้ให้บริการ แต่ก็เฉพาะสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อขบวนเท่านั้น ซึ่งที่จอดก็จะแออัดพอสมควร เพราะแต่ละคนก็ปั่นจักรยานจากบ้านมาต่อรถไฟด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีข้อดีตรงที่หายยากหน่อยเพราะมีที่จอดชัดเจนนี่แหละ (หันมาดูที่จอดจักรยานตามสถานีรถไฟใต้ดินบ้านเรา...ได้แต่ถอนหายใจ...เฮ้อ) แต่สถานีรถไฟบางแห่งเขาก็มีบริการเจ๋งๆ เช่น สมัยที่อยู่เมืองทาจิมิ จังหวัดกิฟุ ผมต้องปั่นจักรยานไปขึ้นรถไฟเที่ยวเจ็ดโมงกว่าทุกวันเพื่อไปต่อรถบัสไป มหาวิทยาลัย ซึ่งการวนหาช่องจอดจักรยานทำให้ผมตกรถไฟบ่อยๆ ขาดเรียนคาบแรกในทันที ผมเลยตัดสินใจเช่าที่จอดจักรยานรายเดือน มีที่จอดเป็นของตัวเอง เป็นอำมาตย์แห่งวงการจักรยาน (เว่อร์ซะ) ซึ่งที่จอดก็จะอยู่ข้างสถานีเลย เป็นที่จอดจักรยานสองชั้น เสียค่าที่จอดเดือนละ 1,500 เยน (ราคาเมื่อปี 2003 ตอนนี้เท่าที่ลองเช็กดูถ้า เป็นของเอกชนก็ประมาณ 1,800-2,000 เยนแล้ว) พอๆ กับการกินราเมนสองสามชาม ถือว่าไม่เลวร้ายอะไร สำหรับผู้ที่สนใจจะใช้บริการก็ต้องติดต่อลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่าย จากนั้นเขาจะให้สติ๊กเกอร์มาติดรถ บอกหมายเลขที่จอด (กันมั่ว) กับบัตรสแกนเข้าออก (ไฮเทคดี ไม่ต้องมีคนเฝ้า) เวลาจะจอดก็ปั่นจักรยานมาตรงทางเข้า รูดบัตร ประตูเปิด ลากจักรยานไปจอดได้เลย ส่วนที่จอดก็จะเป็นแบบคันนึงจอดกับพื้น คันถัดไปก็ยกเอาล้อไปเสียบกับที่เสียบด้านบน ทำให้ส่วนหน้ารถยกลอยขึ้น แฮนด์จะได้ไม่ชนกัน ประหยัดพื้นที่ไปได้เยอะ สะดวกสบายสำหรับนักปั่น และทุกวันนี้ก็มีที่จอดจักรยานรุ่นใหม่เป็นแบบจอดใต้ดินด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งอยู่ตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ และสถานีใจกลางเมือง เพียงแค่เราเอาจักรยานไปจ่อให้ตรงกับตำแหน่งของตัวล็อกในบูธเล็กๆ แล้วจ่ายเงินหรือสอดบัตรสมาชิก เครื่องก็จะดูดเอาจักรยานเราเข้าไปข้างใน แล้วก็ดึงจักรยานลงไปใต้ดิน สายพานก็จะพารถเราไปจอดในที่ที่กำหนดไว้ สะดวกสบาย จอดได้เป็นร้อยๆ คัน และประหยัดพื้นที่ยิ่งกว่าเดิมเพราะส่วนที่โผล่ขึ้นมาบนดินนั้นเป็นแค่บูธ เล็กๆ เท่านั้น เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะกับเมืองใหญ่มาก

  • ช่วงปีที่ผ่านมา เวลาไปโตเกียวผมสังเกตเห็นคนขี่จักรยานไปทำงานหรือไปทำธุระกันเยอะกว่าแต่ก่อนมาก ทีแรกคิดว่าเป็นกระแสขี่จักรยานรักษ์โลก แต่พอได้คุยกับคนญี่ปุ่นก็ได้ทราบว่าเหตุที่ทำให้ปริมาณจักรยานพุ่งพรวดแบบนี้เป็นเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เขย่าเกือบทั้งประเทศในวันที่ 11 มีนาคม 2011 ในหลายพื้นที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิแต่ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดคมนาคมสาธารณะอย่างรถไฟที่เขาปิดบริการเป็นวันๆ เพื่อความปลอดภัย หลายคนทนรอไม่ไหวก็ตัดสินใจซื้อจักรยานปั่นกลับบ้าน เล่นเอายอดขายจักรยานพุ่งพรวดในวันเดียว และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้หลายคนรู้ตัวว่าสามารถปั่นจักรยานจากบ้านมาทำงานได้สบายๆ ก็เลยทำเรื่อยมา เป็นหนึ่งในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติไปเลย

    แต่อย่างที่พูดในตอนต้นว่า คนที่หันมาปั่นจักรยานหลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากการ์ตูน และช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็จัดได้ว่าเป็นช่วงบูมของการ์ตูนจักรยาน (ตามที่รายการ Imaginationทางช่อง NHK World ว่าไว้) เพราะดูในตลาดแล้ว การ์ตูนจักรยานมีหลายเรื่อง จากที่เคยมีแต่ Shakariki ที่เด่น ปัจจุบันก็มีเรื่องอื่นจากสำนักพิมพ์เดียวกันอย่าง Yowamushi Pedal (โอตาคุน่องเหล็ก) หรือ Over Drive จาก Kodansha ที่เป็นการ์ตูนแข่งจักรยานของวัยรุ่นที่เร่าร้อนทั้งหลาย แต่ถ้าคิดว่าการ์ตูนจักรยานมีแต่เด็กมัธยมแข่งกันแบบสามเรื่องที่ผ่านมานั้น ขอบอกว่าผิดถนัดครับ เพราะที่จริงบนแผงหนังสือนั้นมีตั้งแต่เรื่องของเด็กญี่ปุ่นที่มุ่งจะไปปั่นในรายการแข่งขันจักรยานระดับโลกอย่าง Tour De France ในเรื่อง Tour! (ในชีวิตจริงก็มีคนญี่ปุ่นลงแข่งใน Tour De France อยู่เรื่อยๆ อย่างปี 2012 ก็มีอาราชิโร่ ยูกิยะ (Arashiro Yukiya) นักปั่นอาชีพที่สังกัดทีม Europcar ในฝรั่งเศส ซึ่งเขาโชว์ผลงานเด่นด้วยการคว้ารางวัลนักสู้ดีเด่นประจำสเตจที่ 4 ในปีนั้น) หรือการ์ตูนสำหรับวัยทำงานที่ต้องการกำลังใจก็มี Kamome Chance (นางนวลสยายปีก) เรื่องของชายวัยทำงานที่จู่ๆ ก็ต้องมาเป็นนักจักรยานโดยกะทันหัน จุดประกายให้ผู้ใหญ่หันมาปั่นจักรยานได้ดี (ผมก็คนนึงที่ตกเป็นเหยื่อ) หรือคนที่ไม่ต้องการแข่งอะไร แค่อยากปั่นชิลๆ ก็ยังมี Noririn การ์ตูนจักรยานแบบเรื่อยๆ ชิลๆ ของชายที่เกลียดจักรยาน แต่กลับต้องมาขี่สองล้อเพราะว่าใบขับขี่โดนยึด ซึ่งเขาก็จะค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับสังคมคนปั่นจักรยานไปเรื่อยๆ

    เขียนมาถึงจุดนี้ก็คงเห็นว่าจักรยานอยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานแสนนาน ไม่ว่าจะตั้งแต่ในการรบ การใช้งานทั่วไป การแข่งขันที่กลายเป็นการพนัน และกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปสู่เวทีระดับโลก การมีการ์ตูนจักรยานที่มีส่วนผลักดันให้คนมาสนใจการปั่น รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ของพาหนะชนิดนี้ที่ก้าวขึ้นไปสู่ระดับโลกอย่างเต็มตัว

    แม้ญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ชาติที่ได้ชื่อว่าใช้จักรยานเป็นหลัก  (โดยเฉพาะเมื่อเอาไปเทียบกับเนเธอร์แลนด์ที่ขึ้นชื่อด้านการปั่นจักรยานเป็นอันดับต้นๆ) ทว่าการต่อยอดพัฒนาของพวกเขานั้นไม่เคยหยุดนิ่ง และสำหรับคนทั่วไป แม้จักรยานจะเป็นแค่พาหนะในชีวิตประจำวัน แต่สีหน้ามีความสุขที่แวบออกมาเมื่อสามารถทำความเร็วได้อย่างสนุกสนาน ก็สร้างความชื่นใจให้กับคนที่ได้เห็นทุกครั้ง กระทั่งซาลารี่มังบางคนที่เหนื่อยจากงาน แต่พอได้ปั่นจักรยานลงเนิน พวกเขาก็ยังแอบยิ้มได้

    ถึงจักรยานจะเป็นพาหนะที่ดูเรียบง่าย มีแค่สองล้อกับแรงถีบ แต่มันก็มีเสน่ห์ในแบบของมันเอง จนทำให้หลายต่อหลายคนหลงใหลแบบถอนตัวไม่ขึ้น จะว่าไปมันก็เป็นพาหนะที่มีมนตร์วิเศษจริง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in