เหตุเพราะโมเอ้เป็นคำวิเศษณ์ที่แสดงถึงความรู้สึกชื่นชมรักใคร่ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยมากจะหมายถึงตัวละครในการ์ตูนหรือเกม แต่จริงๆ แล้วเราสามารถใช้คำว่าโมเอ้เพื่อแสดงความรู้สึกชื่นชมสิ่งอื่นๆ ที่น่ารักบ้างก็ได้ อย่างเช่น ลูกหมา ลูกแมว หรือถ้าบางคนมองเห็นความน่ารักของเครื่องในหมูหรือไฮยีน่ารุมทึ้งเหยื่อ ก็อาจนับว่าเป็นความโมเอ้เฉพาะตัวได้เหมือนกัน
ที่ความหมายมันยังไม่นิ่งนักก็เพราะว่าโมเอ้เป็นคำสแลงที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อยี่สิบปีที่แล้วนี่เอง (อาจดูนาน แต่ถือว่าใหม่สำหรับคำสแลงที่เพิ่งถูกใช้ในวงกว้างขนาดนี้) คำคำนี้เกิดขึ้นจากชาวโอตาคุที่คลั่งไคล้อนิเมะ โดยที่ตัวอักษร 萌 ของคำว่า 萌える (โมเอรุ) มีความหมายว่าการแตกหน่อผลิดอก ซึ่งหมายถึงความเยาว์วัย สดใหม่ ซึ่งคำว่าโมเอรุก็ดันไปพ้องเสียงกับคำว่า 燃える ซึ่งเป็นคำกริยาที่แปลว่า เผาไหม้ คำว่าโมเอ้จึงล้อเลียนกับความหมายของทั้งสองคำ กลายเป็นความหมายใหม่ว่า ความเยาว์วัยที่เมื่อได้เห็นแล้วทำให้หัวใจร้อนรุ่ม (อืม...ฟังดูแล้วเหมือน ‘พลังหื่น’ มากกว่านะ) คำนี้เริ่มต้นใช้ กันในเว็บบอร์ด 2channel (เว็บบอร์ดที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศญี่ปุ่น อารมณ์ประมาณเว็บไซต์พันทิปของไทย) อย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุค 90s ใช้พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อตัวละครในอนิเมะที่มีลักษณะบอบบาง น่าทะนุถนอม เป็นความรู้สึกที่ต่างไปจากโลลิค่อน หรือ Lolita Complex ที่ชอบเด็กโดยมีแง่มุมทางเพศมากกว่า
ส่วนที่มาของคำ แม้ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ก็เชื่อกันว่ามาจากชื่อของตัวละครในเรื่อง Sailor Moon ที่ชื่อ โฮตารุ โทโมเอะ (Hotaru Tomoe) หรือเซเลอร์แซทเทิร์น ซึ่งเป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาว 2 channel มาก ด้วยปูมหลังที่เป็นตัวละครซึ่งเจอความเศร้าแต่เกิด ส่งผลให้เธอมีคาแรคเตอร์ที่เงียบและค่อนข้างปลีกวิเวก แตกต่างไปจากตัวละครตัวอื่น คนดูเห็นแล้วก็รู้สึกอยากจะเข้าไปช่วยปกป้องดูแล ทำให้เธอกลายเป็นต้นแบบของตัวละครที่ทำให้เกิดความรู้สึกโมเอ้ เป็นความรู้สึกใหม่ในการหลงใหลตัวละคร และด้วยความที่ชื่อของเธอคือ โทโมเอะ และเขียนว่า 土萌 ก็ทำให้แนวคิดที่ว่า ‘โมเอ้’ อาจจะมาจากการตัดชื่อของเธอจนเหลือแค่โมเอะ (萌) เพื่อเล่นกับความหมายของคำว่าแตกหน่อและเผาไหม้ซึ่งพ้องเสียงกับชื่อของเธอ ก็ดูมีเหตุผลหนักแน่นและน่าเชื่อยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่หลักฐานชี้ชัดว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกต้องอะไรหรอกนะครับ (นอกจากนี้ ยังมีคำที่ล้อเลียนกันคือ นาเอะ (萎え) ที่เป็นภาคตรงข้ามของโมเอ้ โดยหมายถึงตัวละครหรือพฤติกรรมของตัวละครที่ทำให้รู้สึกห่อเหี่ยวเปลี่ยวหัวใจเหลือทน แต่คำนี้ไม่ค่อยฮิต ก็เลยดับไปอย่างรวดเร็ว)
แม้จะเริ่มต้นจากการคลั่งไคล้ตัวละคร แต่รสนิยมความโมเอ้ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะเมื่อมีคาแรคเตอร์ที่โด่งดังด้วยความโมเอ้เกิดมาใหม่ ก็จะมีการตีความคำว่าโมเอ้ต่างออกไปอีก เห็นได้จากการปรากฏตัวของอายานามิ เรย์ (Ayanami Rei) ตัวละครใน Neon Genesis Evangelion ที่โด่งดังสุดขีดด้วยความโมเอ้ที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้จากเดิมที่โมเอ้หมายถึงตัวละครที่หงอยเหงาน่าปกป้องอย่างโทโมเอะ ก็เปลี่ยนเป็นโมเอ้แบบเรย์ ตัวละครที่สุดโต่งไปกว่านั้น ทั้งพูดน้อย ผิวซีด เก็บตัว ลึกลับ บอบบาง (ตอนเปิดตัวนี่ถึงขั้นนอนบนรถเข็นพยาบาลมาเลย) แถมยังดูเป็นคนที่ไม่เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ปกติอีก เธอไม่เข้าใจว่าเวลาไหนที่ควรจะยิ้ม ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องโกรธ ทำเอาแฟนอนิเมะอยากเข้าไปปกป้องเธอทั้งตัวและหัวใจ จนกระทั่งเรย์กลายเป็นแม่แบบใหม่ของความโมเอ้ ทำให้ตัวละครที่มีลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น และวงการอนิเมะหรือมังงะยุคถัดมา เช่น K-On! หรือ Lucky Star ก็เริ่มไม่เน้นเนื้อเรื่องกันแล้ว แต่หันมาขายตัวละครแทน เน้นสร้างประเด็นไปทีละตอน เอาพฤติกรรมของตัวละครมาเป็นเนื้อเรื่อง ไม่มีธีมหรือเส้นเรื่องหลักเหมือนอย่างแต่ก่อนที่ตัวละครจะต้องมีความฝัน เช่น เอาชนะศัตรู หรือแข่งขันกันเป็นแชมป์โลก
หลังจากที่คำคำนี้เริ่มแพร่หลาย ความหมายของมันก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ คำว่าโมเอ้ไม่จำเป็นต้องใช้พูดถึงตัวละครสาวบอบบางเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเอาไปใช้กับ ‘สิ่ง’ สิ่งอื่นได้ด้วย เห็นได้จากยุคหนึ่งที่หูแมวบนหัวของตัวละครสาวถือว่าเป็นความโมเอ้แบบสุดๆ อนิเมะที่ออกมาในช่วงต้นยุค 00s หลายเรื่องจึงใส่หูแมวให้กับตัวละครเพื่อเรียกเสียงกรี๊ดจากเหล่าโอตาคุโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น DiGi Charat หรือ Chobits (ดิจิทัล เลดี้) ซึ่งสิ่งที่ทำให้โมเอ้ยิ่งกว่าหูแมวก็คือพฤติกรรมของตัวละครตัวนั้นที่ทำท่าทางเลียนแบบแมวครับ เช่น พูดแล้วลงท้ายด้วยคำว่า เนี้ยง (เสียงแมวญี่ปุ่นร้อง) บางทีอาจจะใส่ตีนแมวปลอมเข้าไปอีก ใจละลายกันเป็นแถว (สงสัยเหล่าโอตาคุทั้งหลายจะชอบนิสัยแบบแมวๆ)
หลัง จากนั้น ความโมเอ้ก็ก่อเกิดกับวัตถุสารพัด ขึ้นอยู่กับว่านักสร้างอนิเมะจะสรรหาอะไรมาหลอกล่อชาวโอตาคุ ซึ่งก็มีตั้งแต่ชุดสาวเมดที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนถึงขั้นเป็นร้านเมดคาเฟ่ที่สามารถดูดเงินเหล่าโอตาคุได้เพียบ ชวนให้เข้าไปใช้บริการในร้านที่อุดมไปด้วยหญิงสาวแต่งตัวเป็นเมดสุดจะโมเอ้ ผุดขึ้นเต็มอาคิฮาบาระ (ปัจจุบันลามมาถึงบางกอกแล้วด้วย!) หรือร้านแคะหูบางร้านก็แอดวานซ์ถึงขั้นมีสาวในชุดยูกาตะมาแคะหูให้ด้วย ล่าสุดที่ทราบนี่ มีร้านที่บริการให้เข้าไป ‘นอนข้างๆ’ สาวน้อย...นอนเฉยๆ นี่แหละ ห้ามทำอย่างอื่น แต่แค่นี้ก็เล่นเอาบรรดาโอตาคุ ‘โมเอ้’ กันได้แล้ว
นอกจากนี้ ‘กางเกงในลายขวาง’ หรือ ‘ชิมะปัง’ ก็เป็นอีกสิ่งที่เกิดกระแสโมเอ้ ด้วยความที่ตัวละครในอนิเมะชอบใส่ ก็ทำให้กางเกงในลายขวางได้รับความนิยม มีการวางขายกางเกงในแนวนี้มากขึ้น ถึงขั้นมีการเอากางเกงในมาพับใส่แก้วพลาสติก แช่เย็นเอาไว้หน้าร้าน ให้ลูกค้าได้ซื้อกางเกงในเย็นๆ กลับบ้าน ซึ่ง...แช่เย็นทำไม (แต่ไม่แน่ใจว่า คนที่ซื้อคือสาวๆ หรือหนุ่มๆ กันแน่) หรือตัวละครสาวแว่น ที่จู่ๆ ก็กลายมาเป็นความโมเอ้ชนิดใหม่ที่อยู่แนบแน่นกับสังคมญี่ปุ่น ชนิดที่ว่าอนิเมะเรื่องไหนอยากทำธุรกิจขายตัวละคร ต้องมีสาวแว่นอยู่ด้วย เห็นได้จากนางาโตะ ยูกิ (Nagato Yuki) สาวแว่นที่ได้รับความนิยมจาก The Disappearance of Suzumiya Haruhi ทั้งที่ไม่ใช่ตัวละครหลักแต่ก็ดังจนฟิล์มที่มีฉากเธอโชว์ต้นคอกับกระดูกไหปลาร้าแค่ไม่กี่เฟรม ถูกประมูลไปในราคา 356,000 เยน (ประมาณแสนกว่าบาท) นอกจากนี้ยังมีความโมเอ้ที่มาฮิตในช่วงหลัง (แต่ส่วนตัวคิดว่าออกแนวน่ากลัว) คือ ‘โมเอ้น้องสาว’ หรือการเห็นว่าน้องสาวตัวเองน่ารัก ส่วนหนึ่งคงเพราะความฮิตของอนิเมะเรื่อง Ore NoImouto Ga Konna Ni Kawaii Wake Ga Nai น้องสาวของผมไม่น่ารักขนาดนั้นหรอก ...เอ่อ นี่คือชื่อเรื่องนะ ซึ่งคงจะสร้างความหวัง (แปลกๆ) ให้กับโอตาคุที่มีน้องสาวร่วมชายคาเดียวกันได้ (หวังว่าคงไม่มีใครอยากเข้าร่วมกระแสนี้ถึงขนาดไปบอกให้พ่อแม่ปั๊มน้องสาว ให้นะ)
และเมื่อวัฒนธรรมโอตาคุเริ่มเป็นที่แพร่หลายในสังคม โมเอ้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงจนถูกจัดอันดับให้เป็นคำที่ได้รับความนิยมในสังคมญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง ถึงขนาดที่อะโซ ทาโร (Aso Taro) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังออกมายอมรับว่าชื่นชอบมังงะสไตล์โมเอ้เรื่อง Rozen Maiden ที่เกี่ยวกับหนุ่มน้อยผู้กลายมาเป็นข้ารับใช้ของตุ๊กตาสาวที่ต้องต่อสู้กับตุ๊กตาตัวอื่น ซึ่งตุ๊กตาจะแต่งตัวแบบชุดยุโรปในอดีตที่มีระบายเยอะๆ พร้อมม้วนทรงผมเป็นลอน ตุ๊กตาบางตัวก็เงียบๆ ลึกลับ บางตัวก็มาแบบสาวน้อยแบ๊วๆ จึงไม่แปลกที่ท่านอดีตนายกฯ ผู้นี้จะคิดใช้วัฒนธรรมมังงะ-อนิเมะไปเจาะตลาดขายต่างชาติ เพราะว่าปัจจุบันทางตะวันตกชื่นชอบมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นมากขึ้น จนกลายเป็นตลาดใหม่ให้ชาวญี่ปุ่นทำเงินได้
ความโมเอ้ที่ว่านี้นิยมสุดๆ จนเว็บบอร์ด 2channel ต้องจัดให้มีการโหวตหาตัวละครที่โมเอ้ที่สุดในแต่ละปีภายใต้ชื่อ ‘ไซโมเอะ’ (最萌) ซึ่งแพร่หลายจนกระทั่งมี International Saimoe สำหรับเปิดให้ชาวต่างชาติโหวตด้วย และกระแสของโมเอ้ก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะขนาดทวิตเตอร์ของสถานทูตฟินแลนด์ในญี่ปุ่น ยังอวยพรวันเกิดให้กับตัวละครจากอนิเมะเรื่อง Strike Witch (อนิเมะสาวน้อยนักรบที่ท่อนล่างใส่แต่กางเกงใน) ด้วยสาเหตุที่ว่าตัวละครตัวหนึ่งได้ต้นแบบมาจากนักบินชื่อดังชาวฟินแลนด์ (ซึ่งแน่นอนว่าตัวละครสาวๆ ในเรื่องเต็มไปด้วยความโมเอ้)
แค่โมเอ้กับตัวละครสาวๆ ยังไม่พอ คนญี่ปุ่นยังทำทุกอย่างให้โมเอ้ได้ เช่น แผนที่กลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร ที่มีคนดูแล้วรู้สึกว่ามันเหมือนรูปเด็กสาวใส่หมวก (อารมณ์คล้ายดูเมฆแล้วมโนว่าเป็นนู่นเป็นนี่) พอมีคนจุดประกายปุ๊บ เหล่าบรรดาขาโมเอ้ทั้งหลายก็จัดการเอาโครงประเทศที่ว่ามาเขียนเป็นภาพสาวน้อยน่ารัก จนได้ภาพสาวน้อยแต่งชุดอังกฤษยุควิคตอเรียนทำหน้าเขินอายเล็กๆ ออกมาหนึ่งคน โมเอ้ทันที
ถ้า คิดว่าแผนที่ประเทศแปลกแล้ว ขอแนะนำอันที่แปลกขึ้นไปอีก คือพวกพี่แกเอาแมลงสาบมาทำให้โมเอ้... (ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิด แมลงสาบที่ชาวบ้านชาวช่องเกลียดกันนี่ล่ะ) ด้วยการวาดภาพออกมาให้น่ารัก กลายเป็นมังงะเรื่อง Gokicha (ภาษา ญี่ปุ่นเรียกแมลงสาบว่า โกคิบุริ) หรือ สาวน้อยแมลงสาบที่มีภาพลักษณ์เป็นสาวน้อยตัวเล็กๆ สองคนผมยาวดำขลับ มีทรงผมที่ดูแล้วเหมือนปีกแมลงสาบ มีหนวดยาวๆ ยื่นออกมาจากหัว ใส่ชุดวันพีซสีดำ ซึ่งถ้าได้อ่านมังงะหรือดูอนิเมะ เราก็จะได้เห็นชีวิตน่ารักๆ ของสองสาวแมลงสาบ ที่อาจจะทำให้เราเผลอเอ็นดูแมลงสาบตัวจริงด้วยพลังความโมเอ้ก็ได้ (แต่พอเจอตัวเป็นๆ ก็ไล่ตบอยู่ดี)
นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังชอบเอาความโมเอ้พวกนี้ไปใส่ไว้ในหนังสือวิชาการด้วย ตอนแรกก็เข้าใจได้ว่าต้องการให้ดูอ่านง่ายและเป็นมิตรกับคนอ่าน แต่ที่เจอล่าสุดแล้วเงิบจนไม่นึกว่าจะเอามาทำเป็นโมเอ้ได้ก็คือประวัติศาสตร์จอมเผด็จการโลกฉบับโมเอ้ ที่นำเสนอเรื่องราวของจอมเผด็จการคนดังในโลก พร้อมภาพประกอบเป็นสาวน้อยที่วาดขึ้นมาแทนจอมเผด็จการแต่ละราย ทำให้เราจะได้เห็นท่านประธานเหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) ในรูปแบบสาวน้อยใส่กางเกงในทรงฟักทอง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เป็นสาวน้อยจิตรกรขี้อาย (ตอนเด็กๆ ฮิตเลอร์แกชอบวาดรูปไงครับ) พล พต (Pol Pot) เป็นสาวโหดใส่บิกินี่นั่งบนกองกะโหลก และคิมอิลซุง (Kim Il-Sung) ของเกาหลีเหนือก็กลายเป็นไอดอลสาวที่ได้รับความนิยมสุดๆ อืม...มันจะมีใครเห็นเผด็จการในคราบสาวๆ แล้วรู้สึก อู้ววว โมเอ้ น่ารักเนอะ อะไรงี้บ้างไหมเนี่ย... แต่จริงๆ ต้องถือว่าดีนะครับ เพราะอย่างน้อยเขาก็เอาเรื่องประวัติศาสตร์หนักๆ มาย่อยให้อ่านง่ายๆ คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้ก็อาจหันมาสนใจกันมากขึ้น (แหม ถ้าสมัยผมเรียนตำราประวัติศาสตร์ทุกเล่มเป็นแบบนี้ ผมคงได้เกรด A ไปแล้ว)
เมื่อนักการตลาดเห็นว่าความโมเอ้นั้นขายได้ ก็เริ่มมีสินค้าสารพัดที่เข้าคอนเซ็ปต์โมเอ้เพิ่มขึ้นมากมายในท้องตลาด ไม่เว้นแม้แต่ข้าวสารโมเอ้ ที่เจ้าของแบรนด์สร้างเรื่องราวของคาแรคเตอร์ โดยเล่าผ่านเว็บไซต์ของสินค้าว่า เนี่ย ตัวละครสาวเหล่า นี้ตั้งใจปลูกข้าวแสนอร่อยให้พวกคุณได้กินกันเชียวนะ นั่นมันน้ำพักน้ำแรงของพวกเธอเชียวนะ! (บางเจ้าก็ถึงขั้นทำเป็นมิวสิกวิดีโอกันไปเลย) บนแพ็คเกจสินค้าก็จะมีภาพของตัวละครเหล่านั้นประกอบอยู่อย่างโดดเด่น พร้อมเรื่องราวของสาวๆ ให้ได้อ่านกันอีกที นอกจากข้าวสารก็ยังมีแตงโมโมเอ้ ขนมโมเอ้ เหล้าสาเกโมเอ้ ฯลฯ ที่ต่างก็มาในรูปแบบเดียวกันคือการสร้างเรื่องราว สร้างตัวละครโมเอ้แล้วเอามาทำแพ็คเกจแบบใหม่เพื่อขาย บางแบรนด์ก็เชิญนักเขียนดังๆ มาออกแบบตัวละครให้ จากที่เคยเป็นสินค้าไร้คนเหลียวแลก็กลายเป็นสินค้าขายดีชนิดที่แค่ประกาศขาย ก็มีคนจองจนหมดเกลี้ยง โดยเฉพาะเหล่าโอตาคุที่ซื้อไปสะสม
และไม่ใช่แค่สินค้าท้องถิ่นเท่านั้นที่หันมาเล่นการตลาดโมเอ้ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ก็ยังสร้างมาสคอตแสนน่ารัก OS-Tan ซึ่งมีที่มาจาก OS ที่แปลว่าระบบปฏิบัติการ ส่วน Tan ก็มาจาก ‘จัง’ ที่ทำให้เพี้ยนเป็น ‘ทัง’ เพื่อเพิ่มความน่ารักโมเอ้ (ซึ่งไม่รู้ว่าน่ารักขึ้นตรงไหน) แต่เดิม OS-Tan เป็นผลงานของศิลปินอิสระ ที่ชอบเอาระบบปฏิบัติการแต่ละระบบมาออกแบบเป็นตัวการ์ตูนสาวน้อยโมเอ้ เริ่มต้นตั้งแต่ Windows ME ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่มีปัญหาเยอะ แฮงค์บ่อย ก็เลยถูกวาดออกมาเป็นสาวน้อยป้ำๆ เป๋อๆ ซึ่งคาแรคเตอร์นี้ค่อนข้างได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ของญี่ปุ่น จนทำให้ Microsoft ตัดสินใจออกแบบ OS-Tan อย่างเป็นทางการของตัวเองเป็นครั้งแรก โดยใช้เป็นคาแรคเตอร์ของ Windows 7 ที่มีชื่อว่า มาโดะเบะ นานะมิ (Madobe Nanami—มาโดะแปลว่า หน้าต่าง นานะ แปลว่า 7 ชื่อของเธอคือ Windows 7 นั่นเอง) สาวน้อยจอมซุ่มซ่าม ที่ Microsoft ออกแบบมาเพื่อทำการตลาดในญี่ปุ่นโดยเฉพาะ คนที่ซื้อรุ่นพิเศษจะได้รับวอลล์เปเปอร์และเสียงพูดของเธอประกอบการใช้งาน เช่น เวลาได้รับอีเมลก็จะมีเสียง “มีเมลมาค่ะ” “อ๊ะ” “อ๊ะ” “สวัสดี” หรือ “ราตรีสวัสดิ์” เวลาปิดเครื่องเล่นเอาหนุ่มๆ แอบเคลิ้ม เพราะพากย์เสียงโดยมิซุกิ นานะ (Mizuki Nana) นักพากย์สาวแสนสวย ด้วยเหตุนี้มา โดเบะ นานะมิจึงกลายเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ Microsoftในญี่ปุ่น ทำให้มี OS-Tan รุ่นอื่นๆ ตามออกมาอีก เช่น คลาวเดีย (Claudia) สาวแว่นมาดเฉี่ยวจาก Windows Azure มาโดเบะ ยู (Madobe Yuu) และมาโดเบะ ไอ (Madobe Ai) จาก Windows 8 ที่เล่นกับคำว่า UI (ระบบ User Interface แบบสัมผัส)
ไม่ใช่ แค่แวดวงธุรกิจที่เอาความโมเอ้มาเป็นจุดขาย เพราะแม้แต่ส่วนราชการของญี่ปุ่นก็ยังโมเอ้ โดยเฉพาะส่วนการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดแต่ละเมือง ที่ขยันสร้างสรรค์มาสคอตสาวโมเอ้ออกมาเชิญชวน ประชาสัมพันธ์ให้คนไปเที่ยว (ซึ่งก็ฉลาดดีเหมือนกัน เพราะไม่ต้องเสียเงินจ้างนางแบบนายแบบ) ความโมเอ้ลามไปถึงกองกำลังป้องกันประเทศ ที่ปรับภาพลักษณ์ใหม่ด้วยการสร้าง คิซาราสุ อาคาเนะ (Kisarazu Akane) สาวหัวแดงในชุดทหารสุดน่ารักมาเป็นมาสคอตประจำกองทัพ (ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทำโฆษณารับสมัครเข้ากองกำลังในสไตล์ของเหล่าขบวนการห้าสีด้วยนะ) ซึ่งมาสคอตโมเอ้เหล่านี้นอกจากจะทำให้เป็นมิตรต่อคนทั่วไปแล้ว ยังถูกต่อยอดเอาไปทำเป็นสินค้าที่ระลึก แถมยังเอาไปสกรีนติดข้างเฮลิคอปเตอร์โชว์อีกต่างหาก
หน่วย ราชการทำสินค้าโมเอ้ว่าแปลกแล้ว วงการศาสนาทำสินค้าโมเอ้น่าแปลกกว่า... ที่เด่นๆ จะมีอยู่สองที่คือ วัดพุทธเรียวโฮจิ (Ryohoji) ที่ฮาจิโอจิในเมืองโตเกียว ซึ่งเป็นวัดที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1489 แต่จู่ๆ ในปี 2009 ก็กลายเป็นวัดโมเอ้ มีป้ายลายหวานจ๋อยตั้งอยู่หน้าวัด มีเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาพุทธที่ถูกออกแบบมาให้เป็นตัวละครน่ารัก โดยเฉพาะเทพสตรี Benzaiten (หรือพระสุรัสวดี) ที่เป็นเทพด้านศิลปะและเป็นเทพองค์เด่นของวัดก็ถูกออกแบบอย่างแบ๊ว หรือพี่น้องจิ้งจอกที่คอยรับใช้เทพ ก็ถูกออกแบบให้มีหูแมว ทวีความโมเอ้กันเข้าไป เป็นมิติใหม่ของวัดไปเลย
เหตุ ที่เปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ก็เพราะว่า วัดพุทธเรียวโฮจิมีเส้นสายและรู้จักกับนักออกแบบคาแรคเตอร์ วัดจึงไหว้วานให้ช่วยออกแบบตัวละครโมเอ้เหล่านี้ให้หน่อย จะได้มีบรรยากาศเป็นกันเอง และคนจะได้เข้าวัดง่ายขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จแบบเกินคาด คนแห่มาที่วัดกันยกใหญ่ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโอตาคุ) สร้างรายได้จากการขายของได้เพียบ มีสินค้าออกอย่างต่อเนื่อง เช่น การ์ดลายเทพโมเอ้ที่ด้านหลังมี QR Code สแกนแล้วจะได้ฟังบทสวดมนต์ของวัดผ่านโทรศัพท์ (เสียงพระสวดปกตินะ ไม่ใช่เสียงมาสคอตโมเอ้) มีการแตกไลน์มาแจกซีดีเพลงของวัด ซึ่งชื่อเพลงแปลเป็นไทยได้ว่า วัดสุดกรี๊ด! วัดเรียวโฮจิแห่งความรัก (Tera Zukkyun! Ai no Ryohoji) ผลิตโดย Ryohoji Records (ครับ...วัดทำค่ายเพลงด้วย) ซึ่งซีดีพวกนี้ก็จะเอาไปแจกตามอีเว้นต์ของอนิเมะหรือเกมทั้งหลาย นอกจากนี้ ในวัดยังปั้นฟิกเกอร์รูปจำลองเทพ Benzaiten (แบบโมเอ้) มาให้สักการะกันอีกด้วย ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าจะออกเกมตีโมะคุเกียว (เครื่องดนตรีให้จังหวะที่พระเอาไว้เคาะเวลาสวด) เลียนแบบเกมตีกลอง ซึ่งในเกมจะมีคาแรคเตอร์ของวัดออกมาเต้นตาม เสียดายที่เจอปัญหาลิขสิทธิ์เสียก่อนก็เลยไม่ได้ออกวางขาย แต่ก็ต้องยอมรับ ว่าวัดนี้เขาครบวงจรจริงๆ (อย่าเพิ่งรีบดราม่านะครับ เพราะเขาเป็นศาสนาพุทธคนละนิกายกับเรา และวงการศาสนาที่ญี่ปุ่นเขาเปิดกว้างกว่าทางมหายาน)
นอกจากวัดแล้ว ยังมีศาลเจ้าชินโตอีกแห่งที่ชื่อวาชิโนะมิยะ (Washinomiya) ในจังหวัดไซตามะ เขตคันโต ซึ่งวันดีคืนดีก็กลายเป็นศาลเจ้าโมเอ้แบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้งอย่างวัดพุทธเรียวโฮจิ แต่ที่ดังก็เพราะศาลเจ้าแห่งนี้ดันไปโผล่อยู่ในเรื่อง Lucky Star อนิเมะโมเอ้ที่เล่าเรื่องเด็กนักเรียนหญิงมัธยมปลายในจังหวัดไซตามะ และคนเขียนดันทำให้ศาลเจ้านี้เป็นที่ทำงานของตัวละครในเรื่อง พอแฟนเห็นเข้าก็แห่กันมาที่วัดพร้อมกับกล้องถ่ายรูป ไล่ถ่ายฉากที่เห็นในอนิเมะ เหมือนคนไทยไปตามรอยซีรีส์เกาหลี บางคนก็แต่งคอสเพลย์ บางคนก็ไปเขียนขอพรให้ตัวละครในเรื่องมาแต่งงานกับตัวเอง (…) กลายเป็นศาลเจ้าฮอตฮิตจนคนในท้องถิ่นยังตกใจ และเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เป็นกังวลว่าจุดมุ่งหมายของเหล่าโอตาคุไม่ได้โฟกัสที่ศาสนา แต่ยังดีที่โอตาคุพวกนี้ถึงแม้จะเป็นคนแปลกๆ แต่ก็มารยาทดี ไม่สร้างความวุ่นวาย คนในท้องถิ่นจึงโล่งใจ ไปๆ มาๆ ก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว แล้วก็เริ่มมีการจัดอีเว้นต์ที่เกี่ยวกับอนิเมะเรื่องที่ว่าขึ้นในเมืองนี้ เอาใจชาวโอตาคุไปเลย (เห็นแล้ว ก็ไม่อยากจะคิดถึงบ้านเรา ถ้ามีแบบนี้ป่านนี้คงโดนแบนไปแล้ว)
ไม่ น่าเชื่อนะครับ จากเดิมที่ปล่อยเอาไว้นิ่งๆ โมเอ้ก็อาจจบลงที่การเป็นเพียงรสนิยมหนึ่งของโอตาคุ แต่ชาวญี่ปุ่นกลับเอาจริงเอาจังในสิ่งที่ดูแล้วจะเป็น ‘เรื่องเล่นๆ’ ทำจนมันสามารถสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างกระแสนิยมจากมันได้อย่างยิ่งใหญ่ แถมยังขยันพัฒนาและต่อยอดไอเดียให้กว้างขึ้นกว่าเดิม จนกลายเป็นการตลาดรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย บ้านเราก็น่าลองเอามาปรับใช้ดูบ้างนะครับ ไม่แน่เราอาจได้โปรโมตความโมเอ้แบบไทยๆ ไปทั่วโลกบ้างก็ได้
ป.ล. ได้ข่าวมาว่าชาวญี่ปุ่นก็รู้สึก ‘โมเอ้’ กับชุดนักเรียนนักศึกษาของชาวไทย ใครอยากเผยแพร่เทรนด์นี้ออกต่างแดนมาติดต่อผมได้นะครับ! (เลือดกำเดาไหล)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in