เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บทความ (Article)mary mist
Humanization and wildlife through theoretical theory
  • Humanization and wildlife through theoretical theory

    By. MARY MIST

     

     

    ภาพยนตร์เรื่อง Hanna (2011) โดย  Joe Wright กลายเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์แนว Thriller ที่น่าสนใจตั้งแต่ปีที่เริ่มออกฉายเพราะได้มีการสร้างแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่ขึ้นมาภายใต้องค์กรระดับประเทศอย่าง CIA หรือ Central Intelligence Agency โดยหลักการและแนวคิดอย่างก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์นั้นนับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถทำได้จริง นั่นคือโครงการ Utrex ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของมนุษย์โดยการตัดแต่งพันธุกรรมและพัฒนาเซลล์ในร่างกายของเด็กทารกให้มีความรู้สึกในด้านต่าง ๆ ลดลง อาทิ ความรู้สึกเจ็บ ความรู้สึกกลัว เพื่อมุ่งหวังฝึกฝนให้กลายมาเป็นทหารชั้นนำและเป็นแนวหน้าในอนาคตให้กับต้นสังกัด CIA โดยเนื้อเรื่องมีจุดกำเนิดอยู่ที่ว่าErik Heller ถูกมอบหมายงานให้หาเด็กทารกเพื่อนำมาวิจัยในโครงการ และได้พบกับ Johanna Zadek ที่หน้าคลินิกทำแท้งและได้ขอให้ Hanna ลูกสาวทารกมาเข้าร่วมการทดลองแต่เมื่อเธอคลอดออกมาและมอบลูกสาวให้ทำการทดลองไปแล้วเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา Erik Heller ที่เกิดรักและผูกพันกับทั้งสองแม่ลูกจริง ๆ จึงบุกเข้าไปขโมยตัว Hanna ออกมาจนทำให้นำมาซึ่งการสั่งปิดการวิจัยนี้ลงเพราะมีคนทรยศ Marissa Wiegler เจ้าหน้าที่ CIA ที่ดูแลคดีนี้จึงถูกสั่งให้กำจัดเด็กทารกทุกคนทิ้งรวมถึง Hanna, Johanna Zadek และ Erik Heller ด้วย และในระหว่างการปฏิบัติการนั้น Johanna ถูกฆ่าแต่ Erik ได้พา Hanna หนีเข้าป่าไปได้ และหลังจากนั้นก็เลี้ยงเธอมาอย่างลับ ๆ มาตลอดจนเธออายุครบ 16 ปี ระหว่างนั้นเขาได้สอนเธอเกี่ยวกับวิธีการสังหารและทุกอย่างที่ CIA เคยสอนเขามา และด้วยความพิเศษของ Hanna ทำให้เธอการเป็นเด็กที่สามารถฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็นและมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าคนปกติ หลังจากที่เธอตัดสินใจที่จะกลับไปสังหาร Marissa Wiegler และคนของ CIA ก็นำมาสู่การไล่ล่า


    อย่างไรก็ตามผู้เขียนต้องการนำเสนอประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์และมานุษยวิทยาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่แปลกแยกและความเป็นมนุษย์ที่ลดน้อยลงผ่านเรื่องราวและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของคนกลุ่มนึงที่มีต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งหรือการตัดสินใจที่จะปฏิบัติต่อมนุษย์ต่างกัน จนท้ายที่สุดเราจะได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์หรือมานุษยวิทยาอธิบายความเป็นมนุษย์และตัวตนไว้แตกต่างกันหรือไม่ และตัวละครเอกในเรื่องอย่าง ฮานนา ได้รับผลกระทบอย่างไรจากอิทธิพลเกี่ยวกับทฤษฎีต่าง ๆ และแท้จริงแล้วคำนิยามที่แท้จริงของคำว่ามนุษย์คืออะไรและอะไรคือข้อความแตกต่างที่ทำให้แนวคิดอีกอย่างนั้นผิด

     

     

     


    Chapter 1

    ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม บริบทในสังคม

     

    การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ช่วงราวปีศตวรรษที่ 15 ชนพื้นถิ่นดั่งเดิมชาวเฮโรได้ลงหลักปักฐาน สร้างธุรกิจค้าขายและเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ทางตะวันออกของประเทศนามิเบีย ซึ่งเป็นช่วงยุคก่อนการล่าอาณานิคมหรือ Pre-colonial ต่อมาชาวพื้นถิ่นของแอฟริกาใต้ได้เดินทางเข้ามารุกรานในพื้นที่ของชาวเฮโรจนทำให้เกิดสงครามขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 จนมาถึงปลายศตวรรษที่19 นับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และเป็นช่วงที่พื้นที่แห่งนั้นถูกจู่โจมโดยคนเยอรมัน หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงทางการค้าขายภายในพื้นที่ทำให้เยอรมันเริ่มยึดครองพื้นที่ของชาวเฮโรมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ยึดพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศไนมิเบียได้หมด การเข้ามาของประเทศตะวันตกเพื่อยึดครองพื้นที่และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นมีมานานแล้ว ความคิดอคติของมนุษย์กลุ่มนึงต่อมนุษย์กลุ่มอื่นถูกปลูกฝังมาเนิ่นนาน พื้นที่ที่ถูกแบ่งบนพื้นโลกทำให้คนแต่ละกลุ่มมีสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน มีชนเผ่าเกิดขึ้นมากมาย มนุษย์อาศัยอยู่ทั้งในป่าและในเมือง ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน การใช้ชีวิตบางแบบของแต่ละกลุ่มไม่เป็นที่ยอมรับในพื้นที่ของอีกฝ่าย ทำให้มีทั้งอคติ ความเกลียดชังและความกลัวต่ออีกฝ่าย ซึ่งมนุษย์ถูกปลูกฝังเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่เกิด

     

    "ชาติพันธุ์ ไม่ได้หมายถึงคุณลักษณะในเม็ดเลือดนะครับ แต่หมายถึงการถือวัฒนธรรม (ในความหมายกว้าง นับตั้งแต่ภาษา, ความเชื่อ, ค่านิยม, หรือแม้แต่บุคลิกภาพ) อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตน คนต่างเผ่าพันธุ์กันหันมาอยู่ในชาติพันธุ์เดียวกัน จึงเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์” ( นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2554 )

     

    ชาติพันธุ์เองก็เป็นแนวคิดที่ทำให้มนุษย์เกาะกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนและกีดกันคนอื่นออกไปหรือแม้แต่กีดกันตัวเองออกมาเมื่อตระหนักได้ว่าเราไม่เข้าพวก แนวคิดชาติพันธุ์เป็นแนวคิดที่เหมือนจะพยายามทำให้ทุกคนนั้นเหมือนกัน เป็นกลุ่มเดียวกันแต่มันก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้แบ่งแยกเช่นกัน นิธิ เอียวศรีวงศ์ยังอธิบายไว้อีกว่า บุคลิกภาพของคนเองก็เป็นเกณฑ์ที่บ่งชี้ความเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าหลักชาติพันธุ์นี้กับทฤษฎี The Blank Slate ของ Steven Pinker มีส่วนที่ส่งเสริมกันและเห็นด้วยกับการใช้มาอธิบายธรรมชาติของมนุษย์และตัวตนที่ถูกหล่อหลอมผ่านสภาพแวดล้อมและทางสังคมโดยจะนำเสนอในประเด็นหลักต่อไป


    การตีความภาพยนตร์เกี่ยวกับการถูกผลักออกจากสภาพแวดล้อมของกลุ่มชาติพันธุ์เดิมเริ่มที่ตัวละครหลักของความขัดแย้ง Erik Heller ทำงานให้ประเทศแม่ก่อนลี้ภัยตัวเองและถูกหมายหัว บริบทผลักให้เขากลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้ง เขาเป็นผู้ลี้ภัยออกจากประเทศของตนเองและกลายเป็นคนนอกรีตและถูกกีดกันจากโลกอีกใบ อย่างไรก็ตาม ป่า เป็นสัญลักษณ์ของทั้งหลุมหลบภัยและกลายแป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกแบ่งแยกและแตกต่าง ทั้งนี้ Erik Heller  ยังไม่ใช่ตัวละครที่สำคัญในการที่ผู้เขียนจะใช้เล่าเรื่อง แต่ความแปลกแยกที่แท้จริงนั่นคือ ฮานนา ต่างหาก ด้วยการถูกตัดแต่งทางพันธุกรรมทำให้เธอไม่ได้ป็นเหมือนมนุษย์ทั่ว ๆ ไป การถูกลบล้างอารมณ์และความรู้สึกอันเป็นสิ่งที่ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่เพียงแค่ทำให้เธอแตกต่างจากมนุษย์คนอื่นแต่ทำให้เธอแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป


    อย่างไรก็ตามการฆ่าล้างเผ่าพันธ์มีแนวคิดที่ใช้กลุ่มตัวเองเป็นที่ตั้งและพยายามกำจัดคนที่ไม่เข้าพวกออกไป และสิ่งที่ในภาพยนต์นำเสนอตัวละครออกมาเพื่อให้ผู้รับสารรู้สึกได้ถึงความแตกต่างหรือความเป็นคนละพวกของตัวละครกับตัวเองนั่นคือ ฉากแรกของการเปิดเรื่องนั้นเธอได้สังหารกวางตัวผู้และชำแหละมันโดยไร้ซึ่งความรู้สึก อีกทั้งยังไม่รู้สึกเจ็บปวดที่เธอไม่สามารถยิ่งโดนเป้าหมายได้อย่างที่ควรจะเป็น เธอแสดงออกทางคำพูดว่า รู้” แต่ไม่ใช่ “รู้สึก”เป็นสองคำที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน หากจะให้อธิบายผู้หญิงที่ชื่อ Hanna คงเป็นคำว่า หุ่นยนต์ ไม่เพียงแค่ในฉากแรกเท่านั้นที่ช่วยอธิบายความหมายของคำศัพท์ดังกล่าว ในช่วงแรกของเรื่องที่เธออาศัยอยู่กับ Erik Heller เธอเป็นแค่สิ่งที่ถูกป้อนข้อมูลเข้าไปเท่านั้น เป็นชุดคำสั่งที่บอกว่าให้ทำอะไรและไม่ให้ทำอะไร ทั้งในเรื่องของการฝึกต่าง ๆ ความคิด การตัดสินใจ คำพูด การตอบสนองรวมไปถึงการถูกปิดกั้นทางความรู้สึกและการจินตนาการ ยกตัวอย่างเช่นฉากในกระท่อม Hanna เอ่ยถึงและปรารถนาถึงการฟังเพลงอยู่หลายครั้ง ทั้งที่เธอไม่เคยฟังเลยสักครั้งแต่เธอสามารถจินตนาการถึงมันได้ว่าหลังจากที่เธอได้ฟังเธอจะรู้สึกอย่างไร ผู้เขียนเองก็รู้สึกสงสัยกับเหตุการณเหล่านี้และเกิดการตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า หรือแท้จริงแล้วการทดลองนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ทหารนั้นไร้ความรู้สึกแต่เป็นการถูกปิดกั้นต่างหากที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเธอค่อย ๆ เลือนหายไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ที่ถูกปิดทึบและตัดขาดการใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นยิ่งทำให้ขาดการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ในฐานะมนุษย์ที่จะต้องอาศัยอยู่ในโลก จากในภาพยนต์ ป่า กลายเป็นดินแดนที่ถูกกีดกั้นการเข้าถึงในทุก ๆ ด้าน อย่างเช่น ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี หรือโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ


    ที่น่าสนใจคือผู้กำกับของเรื่องนี้ Joe Wright ได้ในสัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างตัวละครฮานนาให้เผชิญกับบริบทด้านพื้นที่เอาไว้ว่า

     


     “…The script was full of particular elements of interest to me, with an atmosphere that I was intrigued by. But there was lots of space left in it, and I mean that as a compliment - there was space left for me to invest my own feelings and concerns. First and foremost, what interested me was the character of Hanna; we don't see enough films with a teenaged female protagonist. Thematically, I've always been intrigued by characters who are holy fools - like E.T., Chauncey Gardiner in Being There, and Kaspar Hauser in Werner Herzog's movie - and who are not really of this world. Those last two, especially, have grown up in a world that doesn't have the pressures of outside society and so-called civilisation. They come into our world with an adult consciousness but with the naïveté of a child. I find it fascinating how someone like that experiences the world, because it offers us a subjective opportunity to see things afresh”.(GQ 2563)


     

               Joe Wright อยากแสดงให้เห็นถึงการฝ่าฟันอุปสรรคและความแตกต่างระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกอีกใบที่เธอคุ้นชินว่ามันต่างกันขนาดไหนโดยใช้ความเป็นเด็ก ที่ยังไม่มีประสบการณ์บนโลกมากพอเป็นตัวอธิบายออกมา อย่างที่เห็นได้ชัดว่าตัวผู้กำกับเองก็แบ่งโลกออกเป็นสองใบ โลกนึงที่เป็นโลกใบที่มนุษย์นั้นใช้ชีวิตอยู่โดยให้นิยามมันว่าเป็นโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนโลกอีกใบเป็นพื้นที่ที่แทบไม่มีอะไรเหมือนเลยซึ่งผู้เขียนจะให้นิยามมันว่าเป็นโลกแฟนตาซี จำนวนขั้วของความแตกต่างนั้นแทบจะเป็นศูนย์กับร้อย คำถามต่อมาคือทำไมจึงเรียกโลกอีกใบว่าโลกแฟนตาซี ความหมายก็คือ สิ่งที่ต้องการให้เป็นไปได้จะสามารถเป็นไปได้ ก่อนที่จะพูดถึงความแฟนตาซีในพื้นที่ที่เรียกว่า ป่า มาทำความเข้าใจความเป็นสิ่งไม่เข้าพวกของสิ่งมีชีวิตอีกสักเล็กน้อย


    แม้ว่า Hanna จะเกิดในโลกแห่งความเป็นจริงแต่เธอถูกพัฒนามาจากกลไกความ น่าจะเป็น ไปได้ตามหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น ถ้าเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วการพัฒนาฮานนากับการกำเนิดมนุษย์แตกต่างกันตรงไหนหรือ เพราะทั้งสองวิธีก็คือการพัฒนาทางหลักวิทยาศาตร์เช่นกัน สิ่งที่แตกต่างก็คือการให้กำเนิดบุตรของมนุษย์นั้นจนทารกเติบโตและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติอย่างแท้จริง แต่การพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อเรียกว่า Hanna นั้นเป็นการปรับแต่งและปรับเปลี่ยนกลไกทางธรรมชาติและทำโดยมนุษย์ผ่านการคิดค้นขึ้นมาใหม่และอยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานของความน่าจะเป็นเท่านั้น หรือสรุปอย่างง่ายว่าเป็นกระบวนการการพัฒนาสิ่งมีชีวิตผ่านการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฮานนาแตกต่างจากมนุษย์คนอื่นมาตั้งแต่ในโลกแห่งความเป็นจริง และนั่นทำให้เธอไม่คู่ควรกับการอยู่ในโลกความเป็นจริง


                แต่อย่างที่ได้กล่าวไปว่าในภาพยนตร์ยังนำเสนอออกมาให้ Hanna ยังมีความเป็นมนุษย์ที่สามารถเข้าพวกได้อยู่มาก นอกจากเรื่องความรู้สึกชอบ เธอยังแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย ในตอนที่เธอเจอกับครอบครัวนึงที่กำลังท่องเที่ยวด้วยรถแคมป์คาร์และได้พบเพื่อนคนนึง เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นการแสดงอารมณ์และความรู้สึกในฐานะมนุษย์ออกมาแต่ด้วยสถานการณ์ที่เธอเผชิญก็ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ว่าเธอนั้นแตกต่างและไม่อาจใช้ชีวิตร่วมกันได้ การแสดงออกในด้านนี้ก็ยังคงผสมปนเปไปกับความแปลกแยก ถ้าจะให้อธิบายว่าทำไมเธอยังหลงเหลือความรู้สึกเหล่านี้อยู่ก็คงเป็นเพราะเธอเองก็กำเนิดมาด้วยวิธีที่ปกติจนคลอดออกมาเป็นทารกทำให้เธอนั้นมีความเป็นมนุษย์อยู่ แม้จะน้อยกว่ามากก็ตาม ดังนั้นผู้เขียนต้องการจะเสนอและแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ส่งผลที่แตกต่างกันอย่างไรได้บ้าง


                ในโลกของแฟนตาซีหรือ ‘ป่า’ ทำไมจึงให้นิยามว่าแฟนตาซีเพราะมันไม่ใช่โลกที่มีอยู่จริงเพื่อมนุษย์ ดังนั้นการที่ต้องไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทำให้ขาดสิ่งที่ควรจะมีและต้องเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตจนอาจจำเป็นต้องกลมกลืนกับป่ามากที่สุดเพื่อความอยู่รอด คำถามคือ อะไรที่อยู่ในโลกแห่งแฟนตาซีนี้ มันเป็นพื้นที่ของใครกันแน่ คำตอบก็คือสัตว์ป่า คนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นสัตว์ป่าได้อยู่แล้วแต่ถ้าจะต้องอยู่ให้รอดต้องทำอย่างไร คือต้องทำตัวเป็นสัตว์ป่าและใช้ชีวิตอยู่โดยลืมบางสิ่งที่เป็นมนุษย์ไป ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นมนุษย์ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเป็นผู้ล่า ไม่ได้ล่าสัตว์แต่เพาะพันธุ์และเลี้ยงดูหรือพยายามให้กำเนิดแหล่งอาหารจากความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์โดยอาจสร้างพื้นที่เป็นโรงงานและทำอย่างเป็นระบบ แต่การใช้ชีวิตในโลกอีกแบบนั้นแตกต่างและการเป็นผู้ล่าเป็นสิ่งสำคัญตลอดเวลา ในภาพยนตร์จะเห็นว่าฮานนาต้องล่าสัตว์ในทุก ๆ มื้ออาหาร ในระยะเวลาหลายสิบปีไม่ได้ทำให้เธอกลมกลืนกับความเป็นสัตว์ป่าได้เท่ากับตัวเธอเองที่มีความเป็นสัตว์ป่าในตัว การที่ฮานนาถูกคนจากประเทศตัวเองนั้นไล่ล่านั่นเป็นเพราะเธอแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปซึ่งทำให้เธอถูกผลักออกไปอยู่ในโลกที่ควรอยู่ หรือเป็นเพราะว่ากลัวว่าอำนาจจะกลับคืนสู่เจ้าของอีกครั้ง เพราะแม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีคนทำให้เธอผิดแปลกมากแค่ไหน แตกต่างจากพวกเดียวกันมากแค่ไหนแต่เธอเองก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับสิทธิ์ที่สมควรและควรได้สิทธิ์ที่หายไปกลับคืนมา



     

    Chapter 2

    การแบ่งแยก ความเป็นศัตรูและลักษณะของมนุษย์

     

             ในบทสัมภาษณ์ของผู้สร้างภาพยนตร์ไม่มีบทความไหนที่ตอบคำถามที่เลยว่าทำไมถึงเป็นเยอรมัน ในเรื่องพูดถึงประเทศเยอรมันอยู่หลายครั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจและเมื่อได้เอ่ยถึงประเด็นความแตกต่างไปผู้เขียนจึงอยากนำเสนอประเด็นความเป็นศัตรูเพื่อตอบคำถามว่าศัตรูที่เกิดจากการแตกแยกภายในประเทศเดียวกันเกิดมาจากสาเหตุใดได้บ้าง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นำมาสู่การเกิดสงครามและแน่นอนว่านำมาสู่การปฏิวัติ เยอรมันตกอยู่ภายใต้แนวคิด Capitalism มีการกวาดล้างชนชั้นกรรมชีพกลายเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกครั้ง ตามทฤษฎีสังคมนิยมหรือ Socialism ของ Karl Marx เขาได้พูดถึงแนวคิดของตนเองไว้ว่าการที่ชนชั้นล่างจะสามารถกลับมาสู้ได้และสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ต้องเกิดมาจากการรวมตัวของชนชั้นล่างถึงจะสำเร็จ ในภาพยนตร์ฮานนาได้กลายเป็นคนที่แตกต่าง กลายเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มที่ประเทศนั้นไม่ต้องการ เส้นทางการกลับมาของเธอจะแสดงให้เห็นสองอย่างคือ การกลับมาสู่ดินแดนอาณานิคมและการลุกกลับขึ้นมาของชนชั้นล่างที่ถูกขับไล่ บทบาทของฮานนาในภาพยนต์ได้รวมทั้งสองเส้นทางนี้ไว้ที่ตัวละครตัวเดียว การกลับมาลุกฮือและต่อต้านระบบนายทุนของกลุ่มคนชาวรากหญ้าที่ถูกขับไล่อาจทำให้การปกครองแบบเดิมนั้นสั่นคลอนและอาจนำไปสู่การปฏิวัติได้ และหากอ้างอิงจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์การกลับมาต่อกรกับ CIAได้แสดงผลลัพธ์ไปในทางไหน การหล่อหลอมตัวตนและความเป็นมนุษย์จากสภาพแวดล้อมหลือวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้ต่อต้านการปกครองในแบบฉบับที่ผู้คนรู้จัก

     

                ความเป็นมนุษย์ของฮานนาถูกทำลายไปแค่ไหนหากมองผ่านทฤษฎีต่าง ๆ หลักการทางวิทยาศาสตร์นั้นได้บอกเอาไว้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาแตกต่างกันอยู่แล้วและยีนส์ในร่างการจะเป็นตัวกำหนด เพราะมนุษย์จะไม่มียีนส์หรือผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ที่เหมือนกัน และไม่สามารถเป็นเหมือนกันได้ อ้างอิงจากคำอธิบายเกี่ยวกับคำทำนายในอนาคตของคน ๆ นึงจากวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าสามารถทำนายได้ตั้งแต่น้ำหนักก่อนที่จะได้ชั่งเด็กเสียอีก กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนและชี้แจงลักษณะต่าง ๆ ตามนั้นซึ่งรวมไปถึงเรื่องลักษณะทางด้านจิตใจ สภาวะอารมณ์และความรู้สึกอีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกกำหนดมาแล้ว จากภาพยนตร์ Hanna เป็นเด็กทารกที่คลอดออกมาตามธรรมชาติดังนั้นด้วยตัวตนบางอย่างของเธอที่ได้แสดงให้เห็นในวัย 16 ปีนั้นมีส่วนที่เป็นจริง ที่เป็นเพียงแค่มีส่วนก็เพราะว่าเธอถูกดัดแปลงและตัดแต่งทางพันธุกรรมซึ่งทำให้ตัวตนบางอย่างของเธอนั้นถูกเปลี่ยน จากการวิจัยที่มีขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็นว่ามีหลายประเทศที่เปิดโครงการตัดแต่งพันธุกรรมขึ้นในครรภ์มารดาก่อนที่จะทำการคลอดซึ่งผู้วิจัยในจีนท่านนึงออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคของเด็กที่กำลังจะคลอดเท่านั้นแต่ข้อสรุปของการตัดแต่งทางพันธุกรรมนั้นยังไม่สามารถทำได้จริงในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน แต่จุดประสงค์ที่ฮานนาโดยปรับแต่งพันธุกรรมนั้นแตกต่าง โดยผลลัพธ์เห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ อย่างที่เข้าใจตามคำนิยามาจาก Oxford Languages 

     

    สัตว์ที่รู้จักคิดเหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน.” และ นิยามของเธอใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตอีกประเภทที่เรียกว่า ‘สัตว์’ มากกว่า 

     

    “สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน.”

     

              Hanna เป็นมนุษย์ที่ไร้ความรู้สึกแต่เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึก ความรู้สึกและสัญชาตญาณแบบสัตว์ที่ไม่ใช่คน และถ้าหากพันธุกรรมของคนสามารถถูกดัดแปลงได้แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรในโลกปัจจุบันหรือในอนาคตว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีตัวตนเป็นของกันและกันเองมาตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิ อาจเป็นช่องโหว่ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือการพัฒนาของมนุษย์ยังไม่จบลงและอาจมีขั้นตอนที่มากไปกว่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าตั้งคำถามว่าเราเป็นมนุษย์หรือยัง และฮานนาเป็นมนุษย์มาก่อนหรือไม่ แต่คำตอบที่มีอย่างแน่นอนในตอนนี้คือวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถบ่งบอกหรือกำหนดได้ว่าการมีการพัฒนาร่างกายหรือยีนส์ที่แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นทำให้เรากลายเป็นมนุษย์หรือยัง

     

     

     

     

    Chapter 3

    ทฤษฎีวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาทางสังคม

     

              แนวคิดทฤษฎีที่ตรงกันข้ามของ Steven Pinker ก็มีแนวคิดที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เขาเชื่อหลักการทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ แต่เขาบอกว่าการที่มนุษย์เกิดมามีชุดพันธุกรรมที่แตกต่างต่างไม่ได้ส่งผลต่ออัตลักษณ์ ตัวตน พื้นฐานของความเป็นมนุษย์อื่น ๆ นั่นหมายถึงสิ่งที่ทำให้มนุษย์คนนึงมีนิสัยมีอารมณ์แบบนึงเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา เขาเชื่อในสี่อย่างมากที่สุดนั่นก็คือ Socialization, Parenting, Culture and Experience ซึ่งทุกอย่างเหมือนจะเป็นข้อย่อยของประสบการณ์อีกที พิงเกอร์เชื่อในการใช้ชีวิตและการเจอประสบการณ์มากพอเพราะนั่นจะช่วยหล่อหลอมให้คนหนึ่งคนมีตัวตนแบบนั้น


 จากทฤษฎีของสตีเว่น เพอร์คิง แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนตจะผ่านการถูกแต่งแต้มสีสันลงบนแผ่นกระดานสีขาวที่ว่างเปล่าเพื่อให้มีอัตลักษณ์ บางอย่างบ่งบอกเราเป็นคนแบบไหนและมีลักษณะอย่างไร แต่เขาบอกว่าแผ่นกระดานสีขาวที่ว่างเปล่านั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวกำหนดว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นศูนย์หรือมีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว แพราะทุกคนไม่มีทางเกิดมาเท่าเทียมกันเนื่องจากหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ 

     

    มีการวิจัยออกมาว่าสมองของคนเรามีจุดเริ่มที่ต่างกัน แม้ว่าจะพัฒนาแต่งแต้มสีสันกันได้แต่เมื่อจุดเริ่มต้นต่างกันทุกคนก็ไม่อาจมีความคิดหรือกลายเป็นคนที่เหมือนกันได้แต่มีกรณียกเว้นคือการเกิดลูกแฝด จากการวิจัยตามที่ Steven Pinker อ้างถึง เมื่อลองแยกลูกแฝดออกจากกันตั้งแต่เกิด เลี้ยงดูคนละที่แต่พวกเขากลับมีการตัดสินใจและการกระทำที่คล้ายกันหรือในบางครั้งก็เหมือนกัน ซึ่งผลของการตัดสินใจของมนุษย์ครั้งนี้ นอกจากจะมาจากการวิวัฒนาการและการพัฒนาของมนุษย์แล้วนั้นยังมีผลการเลือกตัดสินใจจากสมองด้วย อย่างเช่น การที่คุณมีความโกรธและคิดจะฆ่าใครสักคนที่เป็นต้นเหตุของสภาวะอารมณ์คุณแต่สุดท้ายคุณอาจจะฆ่าหรือไม่ฆ่าเขาก็ได้ และหมายถึง การตัดสินใจแรกที่ทำให้คุณเกิดความคิดที่จะฆ่าเป็นผลมาจากระบบสมองที่สั่งการชุดที่หนึ่ง และต่อมาสมองจะสั่งการให้คุณหยุดความคิดนั้น โดยสรุปหลักการของ Steven Pinker คือ เขาเชื่อว่า การเจริญเติบโตของมนุษย์ที่เริ่มจากเป็นกระดานชนวนว่างเปล่าเป็นผลมาจากการหล่อหลวมทางด้าน Socialization, Culture, Parenting, Experience ที่เรียกรวมกันว่า Environment

     

    ยกอย่างเช่นการรับมือกับคำพูดหรือการกระทำที่เหมือนกันของคนที่ต่างกัน เด็กทั้งคู่ถูกเพื่อนคนนึงขโมยขนมทุกวัน เด็กคนแรกอาจโมโหและตีเพื่อน แต่เด็กอีกคนอาจมีอารมณ์ขุ่นเคืองเช่นเดียวกันแต่เธอสงสัยจึงถามออกไปด้วยอารมณ์เหมือนกันว่าเธอไม่มีขนมของตัวเองเหรอ จากสถานการณ์เช่นนี้ สตีเว่นมองว่าหลังจากที่เด็กทั้งคู่รับรู้ว่าโดนเพื่อนแอบขโมยขนมกลไกการทำงานของสมองของเด็กจะตอบสนองและสั่งการต่างกัน เด็กคนแรกไม่พอใจและใช้อารมณ์ในการตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่าง แต่เด็กอีกคนถูกสมองสั่งการให้คิดถึงเหตุผลว่าทำไมเพื่อนคนนั้นจึงต้องขโมยขนมคนอื่นกินทุกวัน สตีเว่นมองว่าการเลี้ยงดูและคอยอบรมสั่งสอนเป็นสิ่งที่ช่วยในการสร้างนิสัยของคน เขาบอกว่าถูกต้องที่สมองแต่ละคนไม่เหมือนกันแต่สมองไม่สามารถพัฒนาและตอบสนองเองได้ถ้าไม่มีการป้อนข้อมูลผ่านการรับรู้ นั่นคือการถูกสอน ถูกสั่งหรือถูกลงโทษก็เช่นกัน ในส่วนของฮานนาก็เช่นกัน เธอถูกสอนว่าในป่าต้องล่าสัตว์มาทำอาหารกินเอง รู้ว่าการฆ่าต้องยิงให้โดนหัวใจและถ้าทำได้ก็จะได้กินอาหาร เธอทำพลาดในการล่ากวางและเธอถูกลงโทษด้วยการต้องลากกวางตัวใหญ่กลับบ้านเอง

     

    ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีของ Robert Plomin ที่เชื่อว่ามนุษย์มีตัวตนที่ถูกสร้างจากชุดโครโมโซมอยู่แล้ว Steven Pinker มองว่าทารกที่เกิดมามีทุกอย่างเท่าเทียมกันและการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การสั่งสอนและสภาพสังคมรอบตัวช่วยทำให้เด็กคนนึงมีตัวตน แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่าทั้งความคิดสองมีผลต่อการพัฒนาตัวตนของมนุษย์ทั้งคู่ ฮานนาเกิดมาด้วยโครโมโซมคู่นึงและมียีนส์รูปแบบนึงตามหลักวิทยาศาสตร์ที่มีการรองรับว่าในตัวสิ่งมีชีวิตจะสามารถมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อมีแหล่งกำเนิดมาจากหลักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งหลังจากที่เธอได้ถูกดัดแปลงก็ทำให้เธอมีชุดตัวตนที่แตกต่างออกไปเช่นกัน วิทยาศาสตร์ที่ไหลลื่นและถูกดัดแปลงได้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนมากพอที่จะเป็นข้อยืนยันว่าสิ่งใดคือมนุษย์ เธอถือกำเนิดอีกครั้งด้วยตัวตนแบบใหม่ที่ถูกลดความรู้สึกและมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและชามากเกินไป แต่สภาพแวดล้อมและการได้รับการเลี้ยงดูและฝึกฝนเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมและสร้างความเป็นตัวเธอขึ้นมาเช่นกัน แต่ในอีกแง่ มันไม่เพียงเสริมสร้างแต่กลับทำลายด้วย

     

              ไม่ว่าสภาพแวดล้อมหรือใด ๆ ก็ตามที่จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวตนและความคิดของคน ๆ นึง มันไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ ครอบครัวแต่ละครอบครัวก็มีความคิดในการอบรมสั่งสอนที่ต่างกัน ยังไม่รวมถึงมนุษย์ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ไม่อาจเลี้ยงบุตรได้เองหรืออาจทำการกระทำบางอย่างที่ไม่เหมาะสมซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็ช่วยหล่อหลอมให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นกัน ถ้าเป็นเช่นนี้อะไรจะเป็นตัวกลางที่แสดงให้เห็นว่าผลผลิตจากแหล่งไหน จากใครให้ผลลัพธ์ตามคำนิยามของมนุษย์ คำตอบก็คือไม่มี ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์แขนงเก่าที่คนทั้งโลกเชื่อกันและได้รับการศึกษามาหรือการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์หรืออธิบายควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือบริบาททางสังคมก็ยังคงมีช่องโหว่หรือจุดชวนคิดเล็ก ๆ ที่ทำให้ผู้เขียนได้ข้อสรุปในตอนนี้ว่า สิ่งที่ยังคงสามารถลื่นไหลไปตามการปรับเปลี่ยนได้เสมอและไม่คงที่นั้นไม่สามารถมีข้อสรุปหรือข้อนิยามที่แท้จริงได้

     

    จากข้อสรุปทั้งสองทฤษฎีจะเห็นได้ว่าทั้งสองอย่างมีทั้งส่วนที่สร้างและทำลายความเป็นมนุษย์และตัวตนของฮานนา ความคิดที่เป็นปฏิกิริยาจากสมองในตัวของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้และความรู้สึกของมนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมและได้รับอิทธิพลจากหลายด้านเป็นสิ่งลื่นไหลได้และไม่อาจกำหนดได้ว่าแบบไหนคือมนุษย์มากกว่าอีกแบบ กลไลของสิ่งมีชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยหลักการเดียว หากจะสร้างก็ต้องสร้างด้วยกันและหากจะทำลายก็ต้องทำร่วมกันเพราะผลผลิตของสิ่งมีชีวิตมีทั้งสองทฤษฎีรวมอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งใดสร้างหรือกำหนดความเป็นมนุษย์และนิยามของคำศัพท์คำนี้ก็ยังไม่อาจนิยามได้ มันยังสามารถปรับเปลี่ยนและแก้ไขได้ เราบอกไม่ได้ว่าแท้จริงและมนุษย์ต้องเป็นแบบใด เป็นเหมือนตัวผู้เขียน เป็นเหมือนตัวผู้อ่านงานชิ้นนี้หรือเป็นแบบฮานนา มีเพียงลักษณะที่แตกต่างที่ทำให้มนุษย์มีประเภทที่หลากหลายมากขึ้นเท่านั้น ความคิดต่อมนุษย์อีกประเภทที่มีต่อมนุษย์บางกลุ่มที่มีลักษณะทางกายภาพหรือทางจิตใจไม่ตรงกันเป็นเพียงอคติที่มีต่อสิ่งที่แตกต่างจากพวกและไม่ได้กำหนดว่ากลุ่มใดเป็นมนุษย์และกลุ่มใดไม่ใช่




    /


    GQ Edition. การตัดแต่งพันธุกรรมเด็กทารกให้สมบูรณ์แบบ ทุกวันนี้ก้าวไปถึงไหน? [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา: https://www.gqthailand.com/views/article/gmos-in-human-can-be-real-isntit [29 เมษายน 2564]

    Female. Hanna Interview with Director Joe Wright [ออนไลน์]. 2011, แหล่งที่มา: female.com.au/joe-wright-hanna-interview.htm [27 เมษายน 2564]

    Plomin R, DNA and Behavioral Genetics [ออนไลน์]. 2016, แหล่งที่มา: https://youtu.be/BYGUjIlq5yA [30 เมษายน 2564]

    Pinker S, Human nature and the Blank Slate [ออนไลน์]. 2008, แหล่งที่มา:https://youtu.be/CuQHSKLXu2c [30 เมษายน 2564]

    Pinker S, Does Human Nature Exist? [ออนไลน์]. 2019, แหล่งที่มา: https://youtu.be/NxGQv7vkqXs  [1 พฤษภาคม 2564]

    นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาตินิยมกับชาติพันธุ์นิยม [ออนไลน์]. 2013, แหล่งที่มา:https://prachatai.com/journal/2013/08/48139 [3 พฤษภาคม 2564]

    Sarkin J, 2009, Colonial Genocide and Reparation Claims in the 21st Century, “the Legacy of the Herero Genocide on Namibia Today”. P25-29

     

     

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in