Lost in the time in Wuthering Heights : บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง Wuthering Heights
ผู้แต่ง Emily Jane Brontë ( เอมิลี่ เจน บรองเต้ )
By MARY MIST
Wuthering Heights คือวรรณกรรมคลาสสิกและเป็นผลงานชื่อดังของเอมิลี่ บรองเต้ วรรณกรรมชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในระหว่างปีคริสต์ศักราช 1845 จนถึง 1846 หลังจากนั้นจึงถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในปีคริสต์ศักราช 1847 โดยเธอใช้ลักษณะการประพันธ์แบบร้อยแก้ว มีจุดเด่นที่เทคนิคการเขียนและลักษณะการบรรยาย เธอใช้สำนวนภาษาเปลี่ยนไปตามลักษณะและทัศนคติของผู้บรรยายหลักในตอนนั้น และใช้ภาษาที่แสดงออกถึงสภาวะอารมณ์ตลอดทั้งเรื่อง และนั่นถือเป็นจุดเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้ เอมิลี่ บรองเต้ เขียน Wuthering Heights ออกมาเป็นแนวรักโรแมนติกและโศกนาฏกรรม แน่นอนว่าทำให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนอินไปกับเรื่องราวที่เธอถ่ายทอดออกมา
ลักษณะการบรรยายที่เป็นจุดเด่นของเรื่องคือ เอมิลี่ใช้มุมมองการบรรยายถึง 6 มุมมอง โดยมุมมองหลัก ๆ จะมาจากตัวละครหลักในเรื่องนั่นก็คือ เนลลี ดีน ( Nelly Dean ) เธอผู้นี้เป็นผู้ดูแลบ้านของทั้งสองสถานที่หลักในเรื่อง และยังเป็นผู้เล่าถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในวัทเธอร์ริงไฮท์สและทรัชครอส เกรนจ์ อีกด้วย เพราะว่าเนลลีเป็นคนที่เติบโตมาในสองสถานที่นั้นและอยู่ใกล้ชิดตัวละครทุกตัวมากที่สุด เธอจึงเป็นเหมือนพยานในเหตุการณ์ต่าง ๆ และบอกเล่าออกมาผ่านสายตาของเธอ แต่มีอีกอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันนั่นก็คือ ล็อควูด ผู้บอกเล่าเป็นคนแรก น่าสนใจที่เอมิลีใช้ตัวละครที่อยู่นอกเหนือจากกรอบตัวละครของเธอเป็นผู้เริ่มและดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านได้เริ่มต้นเดินเข้าไปในเรื่องราวด้วยตัวเองไปพร้อม ๆ กับตัวละครที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนกับล็อควูด ทำให้ผู้อ่านตื่นตาตื่นใจที่จะได้รับรู้เบื้องหลังเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และสถานที่จริง
วรรณกรรมเรื่องนี้ใช้วิธีการบรรยายแบบเล่าเรื่องย้อนกลับไป ดังนั้นจึงทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงอารมณ์ได้ดีกว่าการดำเนินเรื่องโดยผู้แต่งเป็นผู้เล่า เพราะเรื่องราวต่าง ๆ มักเกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อมุมมองของตัวละคร ดังนั้นตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้แทบจะเป็นตัวละครหลักทั้งหมด
Wuthering Heights
“เรื่องราวเริ่มมาจากมีผู้เช่าคนนึงเดินทางมาเพื่อขอเช่าอาศัยอยู่ในทรัชครอส เกนจ์ ซึ่งนั่นก็คือคุณล็อควูด จุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็คือล็อควูดบอกว่าตัวเองเห็นแคทเธอรีน เอิร์นชอว์ —ตัวละครหลักของเรื่อง เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของตระกูลเอิร์นชอว์ผู้เป็นเจ้าของวัทเธอร์ริง ไฮท์ส— ในขณะที่ฮีทคลิฟฟ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านคนล่าสุดรู้เรื่องราวดีอยู่แล้วกลับไม่สนใจว่าผู้เช่าจะรู้สึกอย่างไร เขายังคงมีนิสัยที่หยาบกระด้างเช่นทุกครั้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตระหนกให้ล็อควูดเป็นอย่างมากเขาจึงไปพักในที่พักชั่วคราวทันทีในคืนนั้น นั่นก็คือที่ ทรัชครอส เกนจ์ ในระหว่างนั้นล็อควูดได้ถามถึงเรื่องราวของวัทเธอร์ริง ไฮท์ส กับเนลลี ดีน และเธอจึงเล่าให้ฟัง”
ในช่วงแรกของเนื้อเรื่องนี้ล็อควูดได้ใช้ภาษาและสำนวนในการบรรยายไว้แตกต่างจากคนอื่น ๆ ในเรื่อง และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าล็อควูดเป็นตัวละครแบบไหน ล็อควูดเป็นชายหนุ่มที่มีฐานะจากในเมืองใหญ่ เขามาพร้อมกับความเย่อหยิ่งทางสายตาที่มักจะติเตียนและตัดสินผู้อื่นจากภายนอกด้วยสายตาและท่าทีที่ดูฉลาดและมีฐานะ นอกจากการใช้ภาษาในการบรรยายที่มักจะแปลยากและยาวแล้ว เขายังใช้สายตาได้ดีอีกด้วย ในครั้งแรกที่เขาต้องมาเจอกับฮีทคลิฟฟ์ ที่วัทเธอร์ริง ไฮท์ส สิ่งแรกที่เขาทำหลังจากการทำความรู้จักนั่นก็คือการใช้สายตาอ่านลักษณะของฮีทคลิฟฟ์ออกมาให้ผู้อ่านได้รับรู้ สิ่งนี้คือสิ่งที่เอมิลีนำเสนอออกมาได้ดี
'A capital fellow! He little imagined how my heart warmed towards him when I beheld his black eyes withdraw so suspiciously under their brows, as I rode up, and when his fingers sheltered themselves, with a jealous resolution, still further in his waistcoat, as I announced my name.' (B. Emily, Wuthering Heights, chapter 1, p1)
ประโยคที่ตัวละครบรรยายออกมาคือลักษณะของฮีทคลิฟฟ์ที่ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอ ทำให้ผู้อ่านได้เข้าถึงตัวละครมากขึ้น
ต่อมาการบรรยายของเรื่องจะเป็นล็อควูดบรรยายต่อในฐานะผู้ที่รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ มาจากเนลลี ดีน อีกทอดหนึ่ง ซึ่งความแตกต่างของผู้บรรยายสองคนนี้คือ คนนึงเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และสถานการณ์จริง ส่วนอีกคนเป็นเพียงคนนอกที่ผ่านเข้ามาในช่วงที่เรื่องราวของเหตุการณ์ในอดีตได้จบลบแล้ว นับเป็นการเลือกวางโครงสร้างการบรรยายได้น่าสนใจและแปลกตา เพราะจริง ๆ แล้วทั้งเนลลีและล็อควูดก็ไม่ใช่ตัวละครที่มีบทบาทในแง่ของความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของตัวละครเด่นอื่น ๆ ในเรื่อง ได้แก่ ฮีทคลิฟฟ์ แคทเธอรีนและฮินลีย์ เอิร์นชอว์ เอดการ์และฟรานซิสก้า ลินตัน แม้ว่าเนลลีจะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครและได้รับผลกระทบโดยตรงหลายอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครแบบเธอเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์แต่แรกอยู่แล้ว
หลาย ๆ คนมักบอกว่าการบรรยายของเนลลีช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้อ่าน ซึ่งก็มีความเห็นเช่นนั้นเช่นกัน เพราะเธอเป็นตัวละครที่ถูกสร้างมาให้อยู่ตรงกลางของปัญหาต่าง ๆ คอยรับรู้เรื่องราวของแต่ละฝ่าย ซึ่งบางครั้งเธอเองก็ต้องเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาอีกด้วย จึงไม่แปลกที่เธอจะบรรยายและเล่าออกมาให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย
Romantic Tragedy
Wuthering Heights เป็นนิยายรักที่มีบทโศกตามที่ผู้แต่งบอก หากกล่าวว่างานเขียนประเภทนี้คืองานเขียนที่เนื้อเรื่องจะดำเนินไปถึงจุดจบที่ไร้ซึ่งความสุข มีแต่ความโศกเศร้า เป็นความรักที่ไม่สมหวังก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้หลังจากเสพผลงานชิ้นนี้ก็คือ ยังห่างไกลจากคำว่าความรักที่สวยงามแต่ไม่สมหวังเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องนี้แทบไม่มีตอนใดเลยที่ดูจะสุกงอมและผลิบานไปด้วยความรัก การเปิดหน้าหนังสือในครั้งแรกเริ่มต้นด้วยการบรรยายวัทเธอร์ริง ไฮท์ส ที่มีแต่บรรยากาศอึมครึม ดูหม่นหมอง น่ากลัวและไม่น่าอาศัยอยู่ บรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างอารมณ์ให้แก่ผู้อ่าน ตัวละครในวัทเธอร์ริง ไฮท์สหลัก ๆ คนแรกคือ ฮีทคลิฟฟ์ เด็กที่ถูกเก็บมาเลี้ยง เขาเป็นเด็กที่ไม่มีครอบครัวและยากจน เขาถูกช่วยเหลือและดูแลจนเติบโตขึ้นมา เขามีนิสัยหยาบกระด้างและไร้สัมมาคารวะ มักมีปัญหากับฮินลีย์ เอิร์นชอว์ พี่ชายของแคทเธอรีนมาเสมอ ฮินลีย์ เป็นคนที่อารมณ์รุนแรงและชอบใช้กำลัง เขารู้ว่าเขาร่ำรวย ดังนั้นเขาจึงมักเหยียดฮีทคลิฟฟ์อยู่ตลอด แม้ว่าทางบ้านจะส่งเขาไปเรียนไกลถึงโรงเรียนประจำแต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขามีมารยาทมากขึ้นเท่าไหร่นัก คนต่อมา แคทเธอรีน เอิร์นชอว์ เป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน เธอไม่ได้เองก็มีนิสัยที่ไม่ได้ดีไปกว่าสองคนแรก แคทเธอรีนเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก ๆ ไร้เหตุผลและเอาแต่ใจ ทั้งสามอยู่ในสายตาของเนลลี ดีน ผู้ดูแลบ้านหลังนี้และคอยดูแลพวกเขาด้วย
โศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่มักเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เสมอ ๆ ความแตกแยกและที่มาของความเกลียดชังเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ฮีทคลิฟฟ์ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ในฐานะลูกชายอีกคนนึง ฮีทคลิฟฟ์เริ่มมีความรู้สึกดี ๆ ต่อแคทเธอรีนและตัวเธอเองก็เช่นกัน คนเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้คือ ฮินลีย์ ลินตัน เขาค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่วันแรกเมื่อวัยเยาว์ว่าเขาเกลียดฮีทคลิฟฟ์ โดยพื้นฐานนิสัยที่เป็นคนอารมณ์รุนแรงอยู่แล้ว ฮินลีย์มักเป็นฝ่ายพูดจาหยาบคายและไร้มารยาทและลดทอนความเป็นมนุษย์ของฮีทคลิฟฟ์เสมอ เกือบจะทุกครั้งที่เขามักเรียกแทนฮีทคลิฟฟ์เป็นคำเหยียดสีผิว ฮินลีย์มักบอกแคทเธอรีนว่าฮีทคลิฟฟ์เป็นเด็กไม่มีหัวนอนปลายเท้าและยากจน ทำให้เกิดความไม่พอใจ และก็เป็นทุกครั้งที่ฮินลีย์และฮีทคลิฟฟ์เกิดการใช้กำลังกัน มาถึงตรงนี้เราสามารถรับรู้ได้ถึงสภาพสังคมในยุคสมัยนั้น ที่มีการเหยียดสีผิวเกิดขึ้น และผู้ที่อยู่ในเรื่องซึ่งเป็นวัยที่โตกว่าไม่มีใครสั่งสอนหรือบอกสิ่งที่ถูกต้องทั้งนั้น แม้แต่พ่อของเขาเองก็ทำเพียงแค่ดุว่า และในเรื่องก็ยังมีคำเหยียดอยู่ตลอด
สำหรับฮินลีย์แล้ว เรื่องบาดหมางเดียวที่ทำให้เขาเหลืออดก็คงเป็นเพราะฮีทคลิฟฟ์และแคทเธอรีนชอบกัน แม้ว่าจะดูโหดร้ายไปเสียหน่อยที่จะบอกว่าความรักเดียวที่เห็นคือการที่ฮินลีย์พยายามที่จะปกป้องแคทเธอรีนทุกวิถีทาง เพราะเธอคือคนในครอบครัวและเป็นน้องสาวคนเดียวของเขา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับฮีทคลิฟฟ์แล้วการถูกกระทำที่เขาเจออาจเป็นเรื่องฝั่งใจและทำร้ายจิตใจเขามาก ในยุคสมัยนั้นการแต่งงานกับคนต่างชนชั้นก็ยังไม่เป็นที่น่ายอมรับเท่าไหร่ แคทเธอรีนเองก็เติบโตมาอย่างดี จริงอยู่ที่เธอรักฮีทคลิฟฟ์แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะยอมให้ชีวิตหลังจากนี้จมอยู่กับอนาคตที่หาแสงสว่างไม่เจอ และนี่ก็เป็นอีกจุดที่ทำให้ฮีทคลิฟฟ์รู้สึกเจ็บปวด เมื่อแคทเธอรีนเลือกที่จะหันหลังให้เขาและเดินเข้าไปหาอีกคนที่มีฐานะมากกว่า
ความรักในเรื่องนี้นั้นเป็นสิ่งที่นำมาสู่หายนะและโศกนาฏกรรมจนต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากความรักจริงหรือไม่ ความรู้สึกพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มันมีอนุภาคมหาศาล เมื่อผูกความสัมพันธ์ใดแล้วจะต้องหล่อเลี้ยงมันเอาไว้ไม่ว่าปลายทางจะจบเช่นไร ฮีทคลิฟฟ์มีแต่ความโกรธทั้งกับฮินลีย์และแคทเธอรีน และยังเริ่มมีความโกรธกับตระกูลลินตันอีกด้วย ครอบครัวลินตันมีอยู่สองคนนั่นก็คือ เอดการ์ ลินตัน และอิสซาเบล ลินตัน ทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน ฮีทคลิฟฟ์รู้สึกอิจฉาและโมโหที่คนรักกำลังจะแต่งงานกับเอดการ์ และเขาจึงเริ่มมีความแค้นจนสุดท้ายเขาจึงกลับมาอีกครั้งเพื่อแก้แค้นหลังจากที่หายไปเพื่อเก็บเงินและสร้างฐานะ
Characters
ฮีทคลิฟฟ์ เป็นตัวละครที่มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตสูงตัวนึง เขาใช้ชีวิตบนความต้องการของตัวเองเป็นหลัก เขารู้ว่าเขาอยากได้สิ่งใดและเขาต้องได้มัน ฮีทคลิฟฟ์เป็นตัวละครที่น่าสงสาร ตั้งแต่เกิดมาเขาก็ไม่เคยพบกับความสุขสบาย และความโชคดีที่ทำให้เขาได้เข้ามาอยู่ในวัทเธอริง ไฮท์ส ก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีช่วงเวลาที่ดีได้มากมายนัก เนื่องจากเป็นคนที่ถูกทำให้ต้องกักเก็บอารมณ์ต่าง ๆ ไว้ข้างในใจอยู่เสมอ เขาต่ำต้อยกว่าคนในบ้านเพราะชนชั้นทางสังคมและฐานะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ฮีทคลิฟฟ์จึงเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงแต่ไม่สามารถปลดปล่อยออกมาได้จนรู้สึกอึดอัดใจ เขาชกต่อยบางครั้งเมื่อทนไม่ไหว ในฐานะมนุษย์คนนึงที่เป็นผู้ถูกกระทำมาตลอดแต่กลับไม่มีใครใยดีเขานัก เพียงเพราะเขาไม่ใช่ลูกหลานของคนในตระกูล มันเป็นเรื่องปกติเสียอีกที่บางวันเขาจะระเบิดอารมณ์ออกมาเพราะความเก็บกดภายในใจ แต่พอนานวันเข้าสภาพจิตใจเขาก็ยิ่งเลวร้าย เมื่อถูกทำร้ายจากคนที่ตัวเองรักจนในใจไม่อาจลบเลือนความเจ็บปวดได้
หลังจากที่เอมิลีตัดสินใจสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมา ตั้งแต่แรกที่เอ่ยชื่อฮีทคลิฟฟ์ขึ้นมาในหน้ากระดาษและจนบทสรุปสุดท้าย เชื่อว่าเอมิลีต้องการให้ตัวละครตัวนี้เป็นที่น่าจดจำและได้กระจายสารบางอย่างให้ผู้อ่านได้รับรู้ บางทีสัตว์ประหลาดที่ใจร้ายอาจไม่ใช่ตัวตนที่เขาอยากเป็น แต่เป็นเพราะคนอื่นหรือสิ่งรอบตัวทำให้เขาต้องเป็นเช่นนั้น
หัวใจของฮีทคลิฟฟ์คือของจริง เขาทำตามสิ่งที่ปรารถนามาตลอด แม้บางครั้งการกระทำของเขาจะดูโหดร้ายและน่ากลัวจนทำให้ใครหลายคนพากันเกลียดตัวละครนี้ แต่ไม่อยากให้ลืมว่าการอยู่ตัวคนเดียวและถูกทิ้งหรือทำร้ายอยู่บ่อย ๆ ก็เจ็บปวดมากเกินกว่าคนๆ นึงจะทนไหว แต่สิ่งนึงที่ไม่เข้าใจคือความรักที่เขาสัมผัสได้จากแคทเธอรีน ฮีทคลิฟฟ์ให้แคทเธอรีนมากกว่าคำว่ารักธรรมดา เรียกได้ว่าหลงใหลจนขาดสติ อยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเริ่มมาจากความรักบริสุทธิ์ แต่ด้วยนิสัยของตัวละครและความจนที่เขาเผชิญ เขาไม่เคยมีอะไรเลยในชีวิต จนวันนึงที่เขามีอาหาร มีบ้าน มีเสื้อผ้าใส่ และมีคนที่เขารัก เมื่อเขารู้ว่าตัวเขาเป็นเจ้าของได้เขาจึงอยากได้มาครอบครอง สิ่งที่มากกว่าความรักของฮีทคลิฟฟ์นั่นก็คือความแค้นและความอยากเอาชนะ ดังนั้นตัวละครนี้จึงแสดงออกมาแต่ด้านมืดของตนเองและผู้อ่านอาจมองข้ามไปว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น แม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาอาจมีสภาวะทางจิตและดูเป็นปีศาจในสายตาของใครหลายคนแต่เขาก็เป็นคนนึงที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนนึงแน่นอน แคทเธอรีนก็เป็นอีกคนที่ทำให้ตัวละครในเรื่องเจอกับความเลวร้าย เริ่มจากเธอเป็นคนที่มีฐานะดังนั้นการเลือกคู่ครองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เธออาจถูกเลี้ยงมาและถูกสอนมาตามหลักค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคม รวมทั้งถูกเอาอกเอาใจมาตลอดประดุจไข่ในหิน นิสัยเจ้าอารมณ์และเอาแต่ใจ ไม่นึกถึงจิตใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในเรื่องนี้ เอมิลีเขียนตัวละครหญิงตัวนี้แตกต่างออกไปจากตัวละครอื่น ๆ ของเธอ แคทเธอรีนไม่ใช่คนที่นิสัยดีจนวันสุดท้ายของชีวิต เป็นตัวละครที่สร้างความร้าวฉานและชวนให้ผู้อ่านรู้สึกโมโหและเกลียดชัง เธอทำในสิ่งที่เธอต้องการโดยไม่สนใจใครทั้งนั้น เธอแต่งงานกับคนที่รวยกว่าแต่ไม่เคยตัดใจจากฮีทคลิฟฟ์เลย การกระทำของแคทเธอรีนทำร้ายจิตใจเอดการ์มาตลอด โดยเฉพาะตอนที่ฮีทคลิฟฟ์กลับมาพร้อมกับฐานะที่ดีขึ้น เธอยังคงพยายามเข้าหาเขา เมื่อฮีทคลิฟฟ์แก้แค้นที่เธอไปแต่งงานกับเอดการ์โดยการบอกว่ารักอลิซาเบท ซึ่งเป็นน้องสาวคนเดียวของเอดการ์ หลังจากนั้นแคทเธอรีนก็มีพฤติกรรมที่แย่มาตลอด พยายามเข้าใกล้หรือยั่วโมโหฮีทคลิฟฟ์เพื่อเรียกร้องความสนใจ โดยไม่สนใจเลยว่าเธออยู่ในบ้านของสามีของเธอและเป็นภรรยาของเขาแล้ว เธอเรียกหาแต่ชื่อของชายอื่น เธอไม่เคยรักสามีของเธอเลย เพราะเงินคือสิ่งที่เธอต้องการ ฐานะทางสังคมก็ด้วย เอมิลีแสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยนั้นมีการแบ่งชนชั้นมากขนาดไหน
วรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากจะสะท้อนค่านิยมและสังคมในยุคสมัยนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ก็ไม่เห็นข้อดีอะไรอีกเลย หากตัดเรื่องความสามารถในการประพันธ์ของเอมิลี บรองเต้ ออกไปก็ไม่เห็นข้อดีของการอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้อีกเลย วรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอออกมาอย่างน่าหดหู่ อ่านแล้วไม่ได้รู้สึกจรรโลงใจหรือลุ้นไปกับตัวละคร ในช่วงแรกนั้นมีความรู้สึกว่าอยากให้ในท้ายที่สุดทุกคนเติบโตไปเจอกับอนาคตที่ดี แต่แล้วในเรื่องกลับมีแต่การใช้อารมณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลเลยแม้แต่น้อย การกระทำของตัวเอกอย่างแคทเธอรีนนั้นเข้าใจยากและไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนฮีทคลิฟฟ์เองก็แสดงออกเพียงแค่ความรุนแรงและความบ้าคลั่งเพียงเพราะไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
ในท้ายเรื่องเมื่อกล่าวถึงรุ่นลูกของตัวละครในเรื่อง ฮีทคลิฟฟ์ที่ยังคงมัวเมาในความรักที่แสนโหดร้ายก็ยังทำสิ่งแย่ ๆ กับลูกชายของฮินลีย์และเอดการ์ อีกทั้งไม่ใยดีลูกชายของตัวเองที่ล้มป่วยและกำลังจะตาย
ความสัมพันธ์ของแคทเธอรีนและฮีทคลิฟฟ์
ไม่อาจเรียกว่าความรักได้เต็มปาก ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชังและความเห็นแก่ตัว พวกเขาทั้งคู่ทำร้ายคนรอบข้าง เอมิลีเขียนตัวละครเอกออกมาได้น่าโมโห มันไม่มีความโรแมนติกใด ๆ ในเรื่องเลยแม้แต่น้อย มีเพียงความเห็นใจให้แก่ตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องเท่านั้น
การทำตามใจตัวเองโดยส่งผลกระทบถึงผู้อื่นไม่ได้น่าชื่นชมหรือยกย่องให้เป็นความรักที่หอมหวาน เรื่องนี้ไม่ได้จบลงอย่างเศร้าสลดเพราะการกระทำของคนรอบข้างแต่เป็นเพราะตัวของพวกเขาเอง มันไม่ได้น่าเห็นใจเลยแม้แต่น้อย ขนาดชีวิตของแคทเธอรีนจบลง ฮีทคลิฟฟ์ก็ยังไม่หยุดที่จะทำร้ายคนอื่น แม้ชีวิตเขาในตอนแรกจะน่าสงสารและเห็นใจแต่สิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ทำ จริงอยู่ที่ในช่วงแรกของนิยายมีแต่ความสงสารให้แก่ฮีทคลิฟฟ์แต่ในท้ายที่สุดแล้วพฤติกรรมที่โหดร้ายของเขาก็ไม่คู่ควรกับความสงสารใด ๆ
วรรณกรรมเรื่องนี้มีเนื้อหาที่เป็นด้านลบเยอะมาก ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกหดหู่และไม่ชอบใจ บวกกับการกระทำของตัวละครที่ดูไม่สเหตุสมผล ผู้เขียนไม่ได้ทำให้เราเชื่อนักว่าเหตุการณ์ในเรื่องสามารถถเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้เนื่องจากเอมิลี เขียนขึ้นโดยใช้พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ การกระทำหลาย ๆ อย่างของตัวละครเอกในเรื่อง ฮีทคลิฟฟ์และแคทเธอรีนที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนอยู่เหนือการกระทำปกติของมนุษย์เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าในโลกแห่งความเป็นจริงความอิจฉาริษยา ความโกรธเคืองจะมีจริงจนถึงขั้นทำร้ายกันทางวาจาหรือการกระทำ แต่ผู้เขียนไม่ได้ทำให้เชื่อนักว่ามันจริง ราวกับว่ามันเหนือจินตนาการเอาเสียมากจนเกิดความคิดที่ว่าจะมีคนที่กระทำได้อย่างใจร้ายขนาดนั้นเชียวหรือ
ความรักในเรื่องนี้คือความเห็นแก่ตัว ฮีทคลิฟฟ์และแคทเธอรีนรักแต่ตัวเอง ทำทุกอย่างเพียงตนเอง แม้แต่ลูกที่เกิดมาจากตนเองยังไม่สามารถให้ความรักได้อย่างที่ควรเป็น ทั้งคู่โหยหากัน ยอมทำทุกอย่างที่ใจร้ายต่อผู้อื่น การกระทำเช่นนี้ไม่อาจเรียกว่าความรักได้ แต่การกระทำเหล่านั้นจากตัวละครกลับเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความหวังและความโหยหา ซึ่งเป็นส่วนที่ทั้งแคทเธอรีนและฮีทคริฟฟ์มีเช่นเดียวกันจึงทำให้รู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ภายใต้ความบาดหมางในใจยังคงมีความรักให้แก่กันอย่างยากที่จะบรรยาย ในเรื่องราวความรักครั้งนี้มีอยู่หลากหลายความรู้สึกที่ปะปนกันจนบางครั้งทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ดูหนักหน่วงแต่ก็ช่วยดึงอารมณ์ของผู้อ่านให้มีอารมณ์ร่วมได้ดีมาก
คุณค่าด้านสังคม
ในวรรณกรรมเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุควิคตอเรียนที่ได้ใส่สภาพสังคมเอาไว้เพื่อให้ได้รู้จักสังคมในยุคนั้น การแข่งขันทางด้านชนชั้นยังคงเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในยุควิคตอเรียน สถานะทางสังคม สถานะทางการเงิน สิ่งเหล่านี้แทบจะเป็นตัวกำหนดแนวทางการใช้ชีวิตหรือแม้แต่บทบาท อย่างตัวเอก ฮีทคลิฟฟ์ เด็กกำพร้าที่ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ติดตัว เขาใช้ชีวิตทำงานในบ้านของคนอื่นจนเขาโตขึ้น แต่ในท้ายที่สุดเขาต่อต้องออกจากบ้านเพื่อเข้าเมืองเพื่อสร้างอาชีพและความมั่นคงให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจที่จะทำมันให้สำเร็จถ้าหากเขาต้องการที่จะสร้างครอบครัวและใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เขารัก สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นมาตรฐานที่มีไว้เพื่อกำหนดบทบาทของคนในสังคม เป็นความกดดันในการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่ง
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
อย่างที่ได้อธิบายไปในตอนต้นว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีการบรรยายในแบบที่หน้าสนใจ นั่นคือบรรยายโดยบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในทุก ๆ เรื่องราวของตัวละครทุกตัวในเรื่อง เรียกอย่างง่าย ๆ ได้ว่า เป็นผู้สังเกตการณ์ หรือ พยาน เรื่องเล่าทุกอย่างถูกถ่ายทอดผ่านบุคคลที่สาม เนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปแบบของการเล่าปากต่อปาก ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ผู้อ่านเข้าถึงเนื้อเรื่องโดยการคิดว่าและมีความคาดหวังกับเรื่องราวที่ถูกเล่าให้ฟัง มีความน่าตื่นเต้นเพราะไม่อาจรู้ได้ก่อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันจริงหรือไม่ และเรื่องราวของใครคือเรื่องราวจริง ๆ ที่เกิดขึ้น ในส่วนของข้อเสียคือผู้อ่านอาจสับสนในน้ำเสียงของผู้เล่าได้ว่าต้องการถ่ายทอดแบบใด และใครกันแน่ที่กำลังเล่าเรื่องอยู่
ในท้ายที่สุดแล้ว จุดประสงค์ของการวิจารณ์วรรณกรรมที่อยากจะสื่อนั่นคือ วรรณกรรมเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก่อนนั้นคือต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งใดจากวรรณกรรมเรื่องนี้ ในด้านของเนื้อหานั้นไม่มีความจำเป็นมากพอในการเรียนรู้ แต่ในด้านวรรณศิลป์และด้านสังคมนั้นมีหลายจุดที่สามารถศึกษาต่อยอดเพิ่มขึ้นอีกได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in