ต่อให้เราไม่มีมรดกพกห่อใดๆ จะมอบให้ลูกหลาน เราก็ยังมีเรื่องไว้เล่าสืบทอดต่อกันไป ดังภาษิตที่เขาว่า ผู้ใดจารึกประวัติศาสตร์, ผู้นั้นย่อมกำหนดอนาคต
วงล้อแห่งอดีต ย่อมหมุนซ้ำเสมอ
กงเกวียนกำเกวียน
วงเวียนชีวิต
พอแล้ว! เริ่มเยอะเกินไปแล้ว!
ที่ฉันจะบอกก็คือ เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่ง เราต่างมีเรื่องเอาไว้เล่าอวดรุ่นน้องไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ว่าละครเรื่องนี้กูเคยดูมาก่อนแล้วเว้ย และตอนนั้นมีใครรับบทเป็นใครบ้าง
บ้านเรามีละครหรือหนังรีเมกบ่อยขนาดไหน ถ้าให้ฉันลองนับเองเล่นๆ เอาเฉพาะที่ฉันและคุณพ่อ
(รุจน์ รณภพ) มีส่วนร่วม นับรวมทั้งหนัง ละคร ละครเวที ละครวิทยุ ก็จะได้สถิติการผลิตซ้ำออกมาดังนี้
คู่กรรม 10 ครั้ง
บ้านทรายทอง 10 ครั้ง
แม่นาก 46 ครั้ง
ถ้าอายุเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ 60 ปี แค่ดูละครรีเมกสามเรื่องนี้ปีละครั้ง เราก็จะมีละครดูไปยาวนานกว่าอายุขัย จนเอาไปตั้งจอฉายไว้ข้างพวงหรีดงานศพได้แล้ว
แล้วทำไมต้องรีเมก ไม่มีเรื่องใหม่จะทำแล้วหรือไง!
คำตอบคือมีสิ ทำไมจะไม่มี, แต่กูจะทำเรื่องนี้ แล้วใครจะทำไม
และคนดูอย่างเราก็ดูละครรีเมกเพราะอยากดูนักแสดงคนใหม่มารับบทเป็นตัวละครที่เราเคยรู้จักมาก่อน แล้วเราก็จะมาชำแหละ เปรียบเทียบ และด่าว่ามันเล่นสู้คนเดิมในยุคของเราไม่ได้
ส่วนเนื้อเรื่อง ถึงจะรู้มันตั้งแต่ตอนแรกยันตอนสุดท้ายก็ช่างมันสิ แร้วงัยคัยแคร์อ่อคะ ยังไงกูก็อยากรู้ว่าฉากเลิฟซีนจะฟินเว่อร์วังเท่ากับเวอร์ชั่นที่แล้วไหม ฉันเป็นแค่คนดูนะยะไม่ใช่มโนธรรมประจำใจของใคร ไม่ใช่กระทรวงพัฒนาสังคมที่ต้องออกมาให้เหตุผลหรือแจกแจงประโยชน์ของการดูละครให้ทุกคนได้ฟัง
ละครรีเมกนี่มันดูแล้วอุ่นใจจะตาย ไม่ต้องนั่งลุ้นตัวเกร็งยังไงค่ายบางระจันก็โดนตีแตก อีเย็นก็ไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นแม่คุณหนูแดง อีลำยองก็ต้องขี้เมา พี่คล้าวก็หาเงินสิบหมื่นมาหมั้นทองกวาวไม่ได้อยู่ดี
นี่คิดว่าเราไม่รู้เหรอว่าตอนจบโกโบริต้องตาย (ว่าแต่ยุคสมัยนั้นมันตรงกับสงครามอะไรและใครเริ่ม...), บ้านทรายทองต้องตกเป็นของพจมาน (พ.ศ. อะไรที่เป็นรุ่นอัสดงของชนชั้นแล้วสามัญชนอย่างพจมาน มาครองบ้านท่านชายเพราะอะไรทำไมฉันจะต้องไปรู้เรื่องนั้น) และสุดท้ายคือ อีนากมันเป็นผี! (ความสมจริงที่ว่าผู้หญิงสมัยนั้นไว้ผมสั้นหรือยาว ห่มผ้าแถบหรือสไบ ก็ไม่สำคัญ เพราะถึงยังไงอีนากมันก็ตายและกลายเป็นผีอยู่ดี)
เราดู, ทั้งที่เรารู้ดีอยู่แล้วนี่แหละ
รู้ขนาดที่ว่าฟังแค่บทสนทนา เราก็รู้แล้วว่าเป็นเรื่องอะไร
ในมุมของนักแสดง (อย่างฉัน) เมื่อพูดถึงละครรีเมก ก็มีทั้งอยากและไม่อยากเล่นในเวลาเดียวกัน
เพราะ...
“มันกดดันมากค่ะ (เวอร์ชั่นที่แล้วนักแสดงกวาดรางวัลขันน้ำพานรองมาแทบทุกเวทีเลย ถ้าคราวนี้เล่นได้อัปยศอดสูก็จะเป็นที่สมเพชประชาชนเอาได้) แต่มันก็ท้าทาย (ถ้าไม่เล่นตอนนี้ก็ไม่ทันแล้วปะวะ อายุมากขึ้นทุกปี กูต้องรีบเทิร์นตัวเองขึ้นมาเป็นตัวแม่ในวงการให้ได้) จริงๆ ก็ไม่อยากให้เปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นเก่าเลยค่ะ มันคนละยุคกัน มีการตีความใหม่ด้วย สุดท้ายก็อยากฝากว่า ระฆังดีไม่ตีก็ดัง คาถานะจังงังไม่จำเป็นก็อย่าใช้ ขอบคุณและฝากผลงานของพวกเราด้วยค่าาาา” พูดพร้อมยิ้มสวย
การรีเมกละครนั้นเป็นเหมือนการไหว้ครู และการวัดฝีมือของผู้จัด ผู้สร้าง และนักแสดงในแต่ละยุค ว่าทำแล้วเรตติ้งจะเกรียวกราวหรือเงียบเหงา จะมีกระทู้พันทิปพูดถึงเราหรือไม่ ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ได้เมื่อไหร่ ขึ้นเพราะอะไร ชมหรือด่าว่าดูสิ อีละครพีเรียดเรื่องนี้มันมีเสาไฟฟ้าในนาทีที่ 9.44 ด้วยค่ะทุกคน แหม… เวอร์ชั่นก่อนโปรดักชั่นเนี้ยบกว่าเยอะเลย
เราสนุกสนานกับการจับผิดและเปรียบเทียบละครรีเมกมากกว่าการดูละครจริงๆ เสียอีก และเหมือนกับว่าคนแต่ละยุคก็จะชื่นชอบละครยุคของตัวเองมากกว่า บ้างก็ว่าดำเนินเรื่องดีกว่า งานประณีตกว่า พระเอกหล่อกว่า นางเอกสวยกว่า หรือตีความดีกว่าละครรีเมกใหม่กันทั้งนั้น
ความสำคัญของละครรีเมกจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวแปลกใหม่ แต่เป็นการตอบสนองตัณหาในใจคนดู จะได้มีเรื่องไว้ให้วิพากษ์วิจารณ์ มีมาตรฐานของเวอร์ชั่นเก่าเอาไว้เปรียบเทียบ
และไม่ว่าจะดูหรือไม่ดูเวอร์ชั่นใหม่ ก็พอจะมีเรื่องเอาไว้คุยกับคนรุ่นต่อไปรู้เรื่องค่ะ!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in