เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
HOW HAPPINESS WORKS AND WHY WE BEHAVE THE WAY WE DO ความสุขทำงานยังไง
SALMONBOOKS
01 เงินและความสุข: ตอนที่ 1

  •  
  • เงินใช้ซื้อความสุขได้จริงหรือ?

    ข้อสันนิษฐานสำคัญข้อหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์คือเราสามารถใช้เงินซื้อความสุขได้โดยตรง ผ่านการใช้เงินบริโภคสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้พอจะสรุปได้ว่ายิ่งเรามีเงินมากขึ้นเท่าไหร่ ความสุขก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

    พูดในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ ความสุขที่สามารถใช้เงินซื้อได้ไม่มีทางลดไปตามความร่ำรวยของเรา หรือ diminishing return นั่นเอง เพราะถ้าเราเบื่อกับการบริโภค A การมีเงินก็สามารถทำให้เราเปลี่ยนไปบริโภค B ได้ง่ายๆ


    เศรษฐศาสตร์ความสุข

    แต่หลักฐานทางด้านสถิติที่ผมค้นพบหลังจากทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขของคนได้ไม่นานคือ ‘เงิน’ และ ‘ความสุข’ ที่วัดได้จากความพอใจในชีวิตของคน (life satisfaction) มีความสัมพันธ์ที่เล็กถึงเล็กมาก เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ของปัจจัยอื่นๆ เช่น การแต่งงาน การมีงานทำ หรือการอยู่ในช่วงอายุต่างๆ ของคนเรา

    ยกตัวอย่าง—ในอังกฤษ (ประเทศที่ค่าครองชีพและความเป็นอยู่ค่อนข้างสัมพันธ์กัน) ถ้าคุณต้องการให้เงินคนที่ยังไม่ได้แต่งงานเพื่อให้เขามีความสุขเท่าๆ กับคู่แต่งงานใหม่ คุณต้องให้เงินโดยเฉลี่ย 50,000 ปอนด์ (ราวสามล้านบาท)

    และถ้าคุณต้องการใช้เงินชดเชยความสุขของคนคนหนึ่งที่ต้องเสียไปเพราะตกงาน คุณต้องให้เงินเขา 143,000 ปอนด์ (เกือบเจ็ดล้านบาท) เพื่อที่จะให้เขามีความสุขเท่าๆ กับคนที่มีงานทำ

    พูดง่ายๆ คืออัตราแลกเปลี่ยนของเงินกับความสุขนั้นน้อยมากจนน่าตกใจ  

  • รวยแล้วจะมีความสุขจริงหรือ?

    เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุขจึงเล็กมากกว่าที่เราคิดคือ คนมักให้ความสำคัญกับ ‘การมีเงิน’ มากจนเกินไป

    เวลาคนเราส่วนใหญ่คิดถึงการมีเงินก็มักคิดถึงความสุขที่เราจะได้มาจากการใช้เงิน เช่น ได้ไปเที่ยวบ่อยๆ มีรถสวยๆ ขับ มีบ้านหลังใหญ่ และใช้เวลาเกือบทั้งหมดทำแต่งานที่เราชอบ ซึ่งความคิดพวกนี้ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า ‘ถ้าเรารวย เราคงจะมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่’

    แต่ความจริงแล้ว การที่คนส่วนใหญ่จะหาเงินเพิ่มได้นั้นต้องแลกกับการทำงานหนักขึ้น ต้องเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานมากขึ้น และอาจต้องไปเที่ยวน้อยลงเพื่อเก็บออมเงินให้มีมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่จะเพิ่มความเครียด และยิ่งเครียดมากขึ้นเท่าไหร่ ความสุขของเราก็ยิ่งลดลงไปเท่านั้น

    งานวิจัยร่วมของ Daniel Kahneman กับนักวิจัยคนอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Science พบว่า คนที่มีเงินเยอะ แทนที่จะใช้เวลาพักผ่อน (passive leisure) ดูทีวีอยู่บ้าน หรือทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น พวกเขากลับใช้เวลาทำงานมากกว่าคนที่มีเงินน้อยเสียอีก!


    ไม่ได้จะสื่อว่ายิ่งจนยิ่งมีความสุขนะครับ แต่แค่อยากจะสื่อว่าการรวยขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้นเหมือนอย่างที่คิดเสมอไป
    และชวนกลับไปคิดถึงคำถามที่ว่า

    เงินใช้ซื้อความสุขได้จริงหรือ? 


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in