เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
HOW HAPPINESS WORKS AND WHY WE BEHAVE THE WAY WE DO ความสุขทำงานยังไง
SALMONBOOKS
คำนำ







  • คำนำสำนักพิมพ์


    คุณคิดว่าความสุขมีค่าเท่าไหร่?

    รอยยิ้มของลูกน้อย เสียงหัวเราะของเธอหรือเขา แววตาปริ่มปลื้มปีติของพ่อแม่ มีมูลค่าเท่าไหร่หากจะแปลงเป็นเงินหรือวัดเป็นหน่วยสักหน่วย

    บางคนอาจว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ความสุขนะไม่ใช่เศษเหรียญที่จะสามารถนับและวัดค่าได้ แล้วสุขของคนเราจะเท่ากันได้ยังไง เอาแค่ขนมสักห่อ ในสายตาของเด็กก็อาจล้ำค่ากว่าสายตาของผู้ใหญ่แบบเทียบกันไม่ติด

    ก็จริง ความรู้สึกของคน จะว่ามันเป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยากก็อาจจะใช่

    แต่จะบอกว่ามันไม่เป็นรูปธรรมเลยก็คงไม่จริงไปเสียหมด

    ก่อนหน้านี้เราคิดว่า ‘เศรษฐศาสตร์ความสุข’ เป็นเพียงแค่การเล่นคำของหนังสือแนวจิตวิทยาที่นำเรื่องเศรษฐศาสตร์มาเล่าพฤติกรรมของคนทั่วไป

    แต่เมื่อเรารู้จักกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ก็พบว่ามันล้ำลึกกว่านั้น เพราะในสิ่งที่เราคิดว่าวัดค่าไม่ได้ ในประเทศอังกฤษกลับมีการศึกษาศาสตร์ด้านนี้โดยตรง ใช่ ศึกษาความสุขที่ดูเบาหวิวจับต้องได้ยากยิ่งกว่าแรงโน้มถ่วงนี่แหละ

    ณัฐวุฒิเล่าให้เราฟังว่า ไม่กี่ปีก่อน แม้ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกัน ‘เศรษฐศาสตร์ความสุข’ ยังถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่เหมือนกับการศึกษาเศรษฐศาสตร์ด้านอื่นที่ยังมีหลักการคิดอยู่บนสิ่งที่จับต้องได้หรือวัดผลง่ายกว่า เช่น รายได้ อายุ เพศ ถิ่นฐาน ฯลฯ

    “ที่จริงเศรษฐศาสตร์ความสุขนั้นสำคัญน่าดู เพราะสิ่งที่เราจะได้รู้จากการวิจัยมีผลต่อประเทศชาติไม่แพ้ตัวเลข GDP เลย” ณัฐวุฒิบอกกับเรา

    ในประเทศอังกฤษมีความตั้งใจที่จะศึกษาความสุขมานานเพราะเชื่อว่าความสุขมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นตัวชี้วัดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละพื้นที่ พร้อมกันยังเป็นการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างความแตกต่างที่อาจทำให้คนเรามีความสุข ‘เท่ากัน’ หรือ ‘น้อยไปกว่ากัน’

    ความสุขยังเป็นทั้งคำตอบในคำถามใหญ่ๆ ประมาณว่า ‘ทำไมคนที่อยู่ในแถบที่อยู่ซึ่งอบอุ่นและเพียบพร้อมกว่า มีความสุขน้อยกว่าแถบที่หนาวเหน็บเย็นเจี๊ยบ?’

    ‘ทำไมคนที่มีลูกสาวถึงสนใจนโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายขวามากกว่ากลุ่มที่มีลูกชาย?’

    ไปจนคำถามใกล้ตัวที่ฟังดูตลกๆ อย่าง 

    ‘เพราะอะไรเราถึงลดความอ้วนได้ยากเย็นนัก?’

    งานวิจัยที่จริงจังจากศาสตร์ที่โลกกำลังให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นนี้ จะชี้ให้เราเห็นว่าความสุขนั้นมี ‘พลัง’ มากกว่าที่เคยเข้าใจ เพราะผลของการวิจัยไม่ได้ถูกเก็บเอาไว้บนหิ้ง แต่รัฐบาลยังมีการรับลูกไปคิดต่อเพื่อนำไปพัฒนาชุมชน เมือง ไปจนถึงประเทศ

    มองอย่างมีความหวัง งานวิจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้คนอื่นที่อยู่นอกวงวิจัยเริ่มมาสนใจความสุขของตัวเองมากกว่าที่เคย และอาจจะส่งผลให้ใส่ใจสังคมโดยรวมมากยิ่งขึ้น

    อย่างที่คุณอาจรู้สึก หลังจากที่อ่านเรื่องเล่าของความสุขสนุกๆ ที่ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ความสุข ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรมและความสุขแห่ง Warwick Business School มหาวิทยาลัย Warwick หยิบมาเล่าให้ฟังอย่างพอเห็นภาพ ว่าความสุขนั้นมีพลังมากกว่าที่พวกเราเคยเข้าใจไปหลายจุด และมีค่ากว่าที่เคยประเมิน


    สำนักพิมพ์แซลมอน




  • คำนำผู้เขียน


    สมมติว่าคุณซื้อตั๋วหนังไปในราคา 200 บาท หลังจากจ่ายเงินเสร็จสิ้นเเล้ว คุณก็เก็บตั๋วหนังนั้นเอาไว้ในกระเป๋ากางเกงเเล้วเดินเล่นในห้างฯ เพื่อรอเวลาหนังฉาย พอถึงเวลาที่หนังกำลังจะฉายอีกไม่ถึงสิบนาทีคุณก็พบว่าทำตั๋วหนังหาย (เเละคุณก็จำที่นั่งที่ซื้อไปไม่ได้ เเถมซื้อตั๋วกับเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ ไม่ได้ซื้อกับคนเสียอีกด้วย) คำถามคือคุณจะยอมควักเงินอีก 200 บาท ซื้อตั๋วหนังอีกใบ เพื่อดูหนังที่จะฉายในรอบนี้ไหม

    สมมติอีกครั้งว่าคุณกำลังจะไปซื้อตั๋วหนัง เเต่พอถึงโรงหนังคุณกลับพบว่าทำเงิน 200 บาท (ซึ่งเท่ากับราคาตั๋วหนัง) หาย คำถามก็คือคุณจะยอมจ่ายเงินอีก 200 บาท ซื้อตั๋วหนังไหม

    ถ้าคุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์เหมือนเพื่อนของผมหลายๆ คน คุณก็อาจจะให้คำตอบที่ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากดูหนังรอบนั้นขนาดไหน คุณมีเงินในกระเป๋าหรือในธนาคารขนาดไหน แต่คำตอบที่คุณจะให้กับคำถามเเรกเเละคำถามที่สองนั้นก็คงจะเหมือนๆ กันคือ ถ้าคุณยอมจ่ายเงินอีก 200 บาทเพื่อดูหนัง การที่คุณทำตั๋วหนังหายหรือทำเงิน 200 บาทหายก็ไม่น่าจะมีผลต่อความต้องการที่จะจ่ายเงินอีก 200 บาทของคุณแต่อย่างใด

    เเต่ในความเป็นจริงเเล้ว ตามผลงานวิจัยของ Richard Thaler บิดาของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัย Chicago ปรากฏว่ากลุ่มคนที่ถูกสุ่มมาเพื่อให้ตอบคำถาม มีเเค่ 46% เท่านั้นที่ตอบว่าจะควักเงินอีก 200 บาท เพื่อซื้อตั๋วหนังอีกใบหลังจากทำหาย ในขณะที่ 88% ของกลุ่มกลับยอมไปกดเงินอีก 200 บาท เพื่อที่จะนำมาซื้อตั๋วหนังหลังจากทำเงิน 200 บาทหายในขณะที่เดินทางมาเพื่อจะดูหนัง

    ริชาร์ด เธย์เลอร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Mental Accounting’ หรือการที่คนเรามักมีสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายในหัว เช่น 200 บาทนี้เป็นเงินสำหรับใช้ดูหนังเท่านั้น ถ้าจ่ายไปเเล้วก็ถือว่าหายไปเเล้ว เเต่ถ้าเราทำเงินของเราหายไป 200 บาท เเต่เรายังไม่ได้จัดบัญชีในหัวของเราว่าจะเอาเงินจำนวนนั้นไปทำอะไร คนส่วนใหญ่ก็สามารถย้ายเงินจากบัญชีอื่นมาเพื่อซื้อตั๋วหนังได้ ทั้งๆ ที่ในสองกรณีนี้ เงินที่เราจะต้องเสียเพิ่มนั้นคือ 200 บาทเท่าๆ กันก็ตาม

    สรุปคร่าวๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ดูไม่ค่อยจะมีเหตุมีผลเสียเท่าไหร่ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

    คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมคนดีถึงนอกใจ เเล้วเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเมื่อคุณอายุได้ประมาณสี่สิบต้นๆ คุณถึงรู้สึกเศร้าอย่างที่อธิบายไม่ได้

    ข้อดีการเป็น ‘คนเก็บตัว’ คืออะไรบ้าง

    ทำไมเราควรจะสอนลูกหลานให้รู้จักคิดต่างจากคนอื่น ถึงเเม้ว่าบางทีอาจจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม

    ทำไมความเชื่อผิดๆ ถึงตายยาก

    เพราะเหตุใดความเครียดจึงเป็นศัตรูของคนที่อยากลดความอ้วน

    วิทยาศาสตร์ที่จะมาอธิบายคนที่ ‘โง่เเต่อวดฉลาด’ นั้นหน้าตาเป็นยังไง 

    เเละอื่นๆ อีกมากมาย

    ทั้งหมดนี้มาจากผลงานการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเเละเศรษฐศาสตร์ความสุขทั้งนั้น ซึ่งในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ความสุขและพฤติกรรมคนหนึ่ง ผมสามารถบอกได้ว่าทั้งสองเป็นวิชาที่สนุกมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าหลักการของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีจิตวิทยาของมนุษย์เป็นหลักจะช่วยให้เราสามารถอธิบาย เข้าใจตรรกะเเละพฤติกรรมเเปลกๆ ของมนุษย์ได้มากกว่าเดิม 

    ผมตั้งใจที่จะให้หนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความกว่าสี่สิบชิ้นที่ผมเขียนไว้ให้กับเว็บไซต์ ThaiPublica เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมเเละความสุขของมนุษย์ทั้งหลาย ปูทางให้คุณผู้อ่านทั้งรุ่นเก่าเเละรุ่นใหม่ ทั้ง Gen Y, Gen X เเละ Genesis หันมาสนใจเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเเละเศรษฐศาสตร์ความสุข
    มากขึ้น

    ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านมองเห็นพฤติกรรมเเละตัวเเปรความสุขของคุณเเละคนใกล้ตัวในมุมมองใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยมองมาก่อนนะครับ


    ณัฐวุฒิ เผ่าทวี



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in