เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Running with Podcastโตมร ศุขปรีชา
ความเจ็บปวดของแชมป์
  • Episode : Champions
    Podcast : TED Radio Hour
    Host : Guy Raz
    Time : 53 นาที

    การฟังพ็อดแคสต์ตอนนี้ระหว่างวิ่ง ทำให้ได้แรงบันดาลใจมหาศาล ขอแนะนำสำหรับนักวิ่ง นักกีฬา และทุกๆคนในโลก ที่กำลังต้องการแรงบันดาลและกำลังใจให้กับตัวเอง

    เริ่มแรก พ็อดแคสต์นี้พูดถึง Diana Nyad ซึ่งจริงๆเธอเป็นหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เธอเป็น ก็คือการเป็นนักว่ายน้ำระยะไกลหญิง เรื่องเปิดขึ้นโดยการที่ Nyad เล่าให้ฟังว่า ตอนอายุห้าขวบ พ่อของเธอเรียกเธอเข้าไปหา และบอกว่าอายุห้าขวบแล้ว ควรจะรู้ถึงสิ่งสำคัญได้แล้วว่า Nyad เป็นชื่อของเทพที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เรื่องนี้ผลักดันให้เธอกลายเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทางไกล และเคยว่ายน้ำรอบเกาะแมนฮัตตันจนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว

    แต่ที่โด่งดังไปกว่านั้นอีกก็คือเมื่อเธออายุได้ 60 ปี เธอรู้สึกเหมือนกับว่า ชีวิตนั้นเป็นดังสายฟ้า คือแลบแปลบปลาบมาเพียงวาบเดียวก็ใกล้จะสิ้นสูญแล้ว เธอจึงถามตัวเองว่าต้องการทำอะไรกันแน่ และคำตอบของเธอก็คือ เธออยากเป็นคนแรกที่ว่ายน้ำจากคิวบาไปฟลอริดาให้ได้

    การว่ายน้ำจากฮาวานา คิวบา ไปยังคีย์เวสต์ ฟลอริดา นั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาว่ายน้ำติดต่อกันไม่หยุดนานถึงมากกว่า 50 ชั่วโมง แถมยังต้องเผชิญหน้ากับ Gulf Stream ซึ่งเป็นเหมือน ‘แม่น้ำ’ ที่อยู่ในมหาสมุทร Gulf Stream นั้น บางทีก็มีความกว้าง 40 ไมล์ แต่บางทีก็กว้างถึง 80 ไมล์ ซึ่งเธอจะต้องว่ายตัดข้ามไปในแนวทแยง เพื่อไม่ให้น้ำพัดเธอออกนอกเส้นทาง แต่ที่ยากไปกว่านั้นก็คือ ใต้กระแส Gulf Stream ยังมีกระแสน้ำที่ไหลทวนกลับด้วย และในบางช่วง เมื่อกระแสน้ำทั้งสองมาปะทะกัน ก็จะเกิด Vortex หรือน้ำวนขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งหากเธอว่ายหลุดเข้าไปในนั้น ก็จะไม่มีวันได้ออกมาอีกเลย

    แค่นี้ว่ายากเย็นมหาศาลแล้ว เธอยังอยากทำมากกว่านั้นอีก นั่นคือเธออยากว่ายโดยไม่ต้องใช้กรงกันฉลาม (Shark Cage) และที่สำคัญก็คือ เธอมีอายุ 60 ปีแล้วด้วย!

    แม้มีความมั่นใจเปี่ยมล้น แต่เมื่อออกว่ายน้ำครั้งแรก เธอไม่รู้ตัวเลยว่า จะต้องเผชิญหน้ากับแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายอย่างแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Portugese Man-of-War) ซึ่งปกติไม่ได้อยู่ในน่านน้ำแถบนี้ เมื่อเจอกับมันเข้า หนวดของมันสัมผัสกับเธอ ทำให้เธอรู้สึกแสบร้อนเหมือนถูกไฟเผา ว่ายๆไปเธอต้องร้องตะโกนว่า “Fire, Fire!” แล้วในที่สุดพิษของมันก็ทำให้ระบบหายใจของเธอล้มเหลว เธอต้องหยุดว่ายแล้วขึ้นเรือ

    Nyad พยายามทั้งหมดห้าครั้ง ครั้งต่อๆมาเธอต้องฝึกใช้อุปกรณ์กันแมงกะพรุน ซึ่งจะต้องไม่ให้มีช่องว่างในตัวเลย ไม่อย่างนั้นหนวดของมันจะแทรกซอนเข้ามาได้ เพราะแมงกะพรุนชนิดนี้จะเก่งมากในการเสาะหาโปรตีนเพื่อกินเป็นอาหาร แต่กระนั้น สี่ครั้งแรกของเธอก็ล้มเหลว เป็นครั้งที่ห้าเมื่ออายุ 64 ปี เธอถึงทำสำเร็จ โดยเธอเล่าว่า ว่ายๆไปแล้วเห็นแสงไฟที่ขอบฟ้า เธอคิดว่าเป็นพระอาทิตย์ขึ้น แต่คนบนเรือบอกว่าไม่ใช่ นั่นคือคีย์เวสต์ ฟลอริดา แต่เธอต้องว่ายต่อไปอีก 15 ชั่วโมง ถึงจะถึง!

    เรื่องราวของ Nyad คือแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่สำหรับทุกคน เธอบอกว่าที่เธอว่ายน้ำได้ขนาดนั้น ไม่ใช่เพราะเธอไม่กลัวอะไร เธอกลัวตาย เธอกลัวฉลาม กลัวแมงกะพรุน แต่สิ่งที่เธอกลัวมากกว่าก็คือกลัวจะทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น-เธอจึงสู้ และพยายามทำให้สำเร็จ


  • พ็อดแคสต์ตอนนี้ยังพูดถึงพัฒนาการของนักกีฬาแขนงอื่นๆ เช่น การวิ่งของยูเซน โบลต์ หรือนักบาสเกตบอล NBA โดยบอกว่านักกีฬายุคใหม่นั้นมีการพัฒนาลึกลงไปถึงระดับยีน สมัยก่อนนักกีฬาจะเล่นกีฬาได้หลายอย่าง แต่ปัจจุบันรูปร่างของนักกีฬาแต่ละอย่างจะเฉพาะทางมากกว่าเดิม เช่นนักบาสฯ ของอเมริกาจะสูงกกว่า 7 ฟุต ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คนอเมริกันสูง 7 ฟุต นั้นมีน้อยมาก จนถ้าเราเจอคนอเมริกันสูง 7 ฟุต เขาบอกว่าก็มีโอกาส 17% ที่คนคนนั้นจะเป็นนักบาสเกตบอล NBA

    อีกประเด็นสำคัญ (มาก) อยู่ตรงที่พ็อดแคสต์นี้เล่าให้เราฟังด้วยว่า การออกกำลังกายนั้นไม่ใช่แค่ Physical Training หรือการฝึกร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็น Mind Training หรือการฝึก ‘สมอง’ ด้วย เขาบอกว่าในสภาวะทั่วไป ถ้าเราใช้ร่างกายหนักๆจนเกินขีด ทำให้ร่างกายอ่อนล้า สมองจะป้องกันไม่ให้ร่างกายตาย ด้วยการ Shut Down ร่างกาย เราจึงรู้สึกเหนื่อยมากๆ คิดว่าทำต่อไปไม่ไหวแล้ว และต้องหยุดใช้แรงกายจริงๆ แต่การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จะเป็นการ ‘ผลัก’ ขีดจำกัดนี้ของสมองออกไป มันทำให้สมองสั่งให้ร่างกาย Shut Down ช้าลง ร่างกายทำงานได้มากขึ้นก่อนที่สมองจะสั่งให้หยุด สำหรับนักวิ่งมาราธอน การวิ่งระยะสะสมจึงสำคัญกว่าการไปคิดฮึดสู้เวลาวิ่งจริงโดยไม่ได้ซ้อม เพราะนอกจากร่างกายจะไม่พร้อมแล้ว เอาเข้าจริงตัว ‘สมอง’ ก็ไม่พร้อมด้วย

    นอกจากนี้ พ็อดแคสต์นี้ยังเล่าถึงนักกีฬาสโนว์บอร์ดที่ติดเชื้อแบคทีเรียจนเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และต้องตัดขา เธอมีโอกาสรอดชีวิต 2% และเสียทั้งขา ม้าม และอวัยวะภายในอีกหลายอย่าง ทว่าเธอก็สู้ และลุกขึ้นมาทำเท้าเทียมโดยใช้ยาง เหล็ก ไม้ และเทปสีชมพูนีออน (เธอบอกอย่างนั้นด้วยอารมณ์ขัน หลังจากร้องไห้ตอนเล่าถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่มากหลังรู้ว่าตัวเองถูกตัดเท้าออกไปและเล่นสโนว์บอร์ดไม่ได้) ในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ และกลับมาเป็นแชมป์พาราลิมปิก เธอบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องดีสำหรับเธอ เพราะทำให้เธอรู้ว่า ความทุกข์นั้น Force ให้เกิด Creativity ขึ้นมาได้

    ฟังพ็อดแคสต์ตอนนี้แล้ว ทำให้รู้ว่าการเป็นแชมป์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องต่อสู้ทางร่างกายเท่านั้น แต่หัวใจคือเรื่องสำคัญมากๆ แต่กระทั่งหัวใจก็ยังต้องผ่านการ ‘เทรน’ แบบเดียวกับร่างกายด้วย แค่ฮึดสู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in