เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Running with Podcastโตมร ศุขปรีชา
ว่าด้วยเรื่องภาษา
  • Podcast : Ted Radio Hour
    Host : Guy Raz ผู้เคยเป็นนักข่าวของ NPR และ CNN
    Episode : Spoken And Unspoken

    Podcast นี้ เล่าให้เราฟังถึงเรื่องภาษา ซึ่งหลายตอนน่าสนใจมากๆ แต่ที่อยากนำมาเล่าให้ฟัง คือช่วงที่พูดถึงภาษาเวียดนาม

    ผู้เล่าเรื่องคนหนึ่งในพ็อดแคสต์ตอนนี้เล่าให้ฟังว่า ภาษาเวียดนามว่าเป็นภาษาที่ไม่มี subjunctive (คืออนุประโยคที่แสดงความเป็นไปได้ แสดงเงื่อนไข แสดงความไม่แน่ใจ ความปรารถนา) ทำให้คนเวียดนามไม่ค่อยสนใจคาดการณ์ถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น เรื่องเล่าที่ได้ฟังมานั้นสะเทือนใจมาก ผู้เล่าเรื่องนี้เป็นโปรเฟสเซอร์สอนภาษากรีกและละตินที่เป็นคนเวียดนาม เขาหนีออกมาจากเวียดนามในยุคที่เกิดสงคราม 

    ตอนขึ้นรถเพื่อหนีออกจากประเทศ ครอบครัวเขารอดมาได้ เพียงเพราะขึ้นรถช้าไปคันเดียว เขาเล่าว่า รถคันที่อยู่ข้างหน้าของเขาถูกระเบิด คนตายหมดทั้งคัน คือหากครอบครัวของเขาขึ้นรถเร็วไปเพียงนิดเดียว ก็คงไม่มีใครรอดชีวิต

    แต่เขาเล่าว่า คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาไม่สะทกสะท้านอะไรเลยต่อ 'ความคิด' เรื่องนี้ เนื่องจากในภาษาเวียดนามไม่มี Subjunctive ทำให้ไม่มีโครงสร้างภาษาเพื่อเอาไว้ใช้ 'คิด' ว่า "ถ้าเราไม่ได้ขึ้นรถคันนี้ จะเป็นอย่างไร" 

    เขาเล่าด้วยว่า ตอนเด็กๆ เมื่อหนีภัยสงครามอพยพออกมาจากเวียดนามได้แล้ว เขาเคยถามพ่อ (เป็นภาษาอังกฤษ) ว่า ถ้าพรุ่งนี้ฝนไม่ตก เราจะไปเที่ยวชายหาดกันได้ไหม พ่อบอกว่าโง่เหรอ อะไรยังไม่เกิดก็ไม่ต้องไปคิดมัน เขาตั้งข้อสังเกตว่า นั่นแสดงให้เห็นว่า ภาษานั้น shape วิธีคิด (หรือไม่ก็กลับกัน คือวิธีคิด Shape ภาษา) อย่างชัดเจนมาก

    คิดต่อว่า พอรู้อย่างนี้แล้ว จึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนเวียดนามถึงทำงานกันแบบสู้ตาย และสามารถเอาชนะสงครามเวียดนามได้ อาจเป็นได้ที่พวกเขาไม่ได้คิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ นอกจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ได้ (แต่นี่อาจเป็นข้อสรุปที่เหมารวมและตีขลุมกว้างเกินไปก็ได้) 

    อีกประเด็นหนึ่งที่คิดต่อเองก็คือ น่าสงสัยว่า-วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น และมีความเป็นพุทธะมากขึ้นไหม

    ที่ชวนคิดต่อไปอีกนิดก็คือ แล้วในภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ (โดยเฉพาะภาษาไทย) ล่ะ มัน 'ขาด' อะไรแบบที่ภาษาเวียดนามไม่มี subjunctive บ้างไหม แล้วมันมีผลบ่งชี้ให้เรารู้หรือไม่ว่า เรามีวิธีมองโลกอย่างไร หรือว่าการขาดสิ่งนั้นๆไป จะทำให้เราไม่มีโอกาสได้เห็นว่าเราขาดอะไรไปตลอดกาล เพราะเมื่อไม่มีสิ่งนั้นตั้งแต่ต้นเสียแล้ว เราก็ไม่มีวันรู้ว่าเราขาดมันไป

    ในตอนเดียวกัน ยังมีนักภาษาศาสตร์อีกคนหนึ่งมาตั้งคำถามว่า texting ในมือถือทั้งหลายนั้น คือ writing หรือ speaking กันแน่ 

    นี่เป็นคำถามที่ขวนคิดมาก เขาบอกด้วยว่า ภาษา texting นั้นมีวิวัฒนาการของมันเอง เช่นเดี๋ยวนี้ lol ไม่ใช่ laugh out loud เฉยๆแล้ว แต่คือคำพูดแบบ yo ของคนแอฟริกันอเมริกัน คือมีการใช้เพื่อ 'เติมคำในช่องว่าง' เฉยๆ ทำให้คิดถึงคำว่า Well ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน หรือคำว่า Why (ที่ไม่ได้แปลว่าทำไม) ของภาษาอังกฤษในยุคชาลส์ ดิกเคนส์ และชวนให้นึกถึง 555 ที่ก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการหัวเราะเฉยๆแล้ว หลายครั้งเรา 55 หรือ 555 เพื่อเติมคำในช่องว่าง (แบบอาโน...ของญี่ปุ่น) เท่านั้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in