เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อ่านจบแล้วก้มกราบPDpuggerino
อ่าน, Play(1963) : ฤาแก่นแท้ของความรักคือความทุกข์
  • ร่ำร้องหาความมืด แต่พอยิ่งมืดกลับซ้ำร้าย แปลกจริงๆ  

         คำที่ว่านี้เป็นคำพูดจากบทละครเรื่อง Play ของ Samuel Beckett ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักการละครคนสำคัญในละครแนว Absurd ซึ่งยากที่จะหาความหมายว่าจริงๆ แล้ว Beckett ต้องการจะสื่อว่าอย่างไร แต่บทความนี้เราจะมุ่งหาแก่นแท้ของชีวิตตามอภิปรัชญาที่ Beckett ได้สอดแทรกลงมาในทุกผลงานของเขา และเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Beckett สะท้อนมุมมองต่อความรักและการเป็นชู้ของเขาผ่านตัวละคร 3 ตัวที่อยู่ในโกฐ! และยังไม่พอมีแค่หัวที่นั่งคุยกันด้วยแบบนี้เลยค่ะ (ตามวีดีโอเป็นแบบภาพยนต์เวอร์ชัน 2001 นะคะ นำแสดงโดยศาสตราจารย์สเนป Alan Rickman นั่นเองงง)



           

    เรามาเริ่มที่ทำความรู้จัก Samuel Beckett กันก่อนดีกว่าค่ะ      

         Samuel Beckett นั้นเป็นนักเขียนละคร กวี อาจารย์ชาวไอริช ผู้หลงใหลวรรณคดีฝรั่งเศสและภาษาอิตาเลียน[1] อีกทั้งยังเป็นผู้ถูกแทงด้วยมีดที่มหานครปารีสที่เขารัก และเมื่อถามว่าแทงทำไมกลับได้คำตอบว่าไม่รู้[2] ??? เขาพูดอย่างนี้จริงๆ ค่ะ5555 

         Beckett จึงเกิดความคิดว่าบางทีมนุษย์นั้นเข้าใจยากเหลือเกิน Beckett อธิบายงานของเขาด้วยคำว่า “Naught is more real” หนือที่แปลว่าไม่มีอะไรนั่นคือความจริง[3] และนั่นเป็นสิ่งเดียวกันกับงานของเขาที่เข้าใจยากเหลือเกินเพราะแก่นแท้ของ Beckett คือมนุษย์ที่ผ่านสงครามโลกมาสองครั้งอย่างไร้เหตุผลว่าทำไมคนเราจะต้องฆ่าแกงกันถึงสองครั้งสองครานั่นเอง 

       

          บทละครชื่อดังของ Beckett คือเรื่องของ คอยโกโดต์ อันเป็นเรื่องของการรอคอยโกโดต์ บางคนก็ตีความว่าโกโดต์เป็นพระเจ้า แต่ Beckett นั้นไม่เคยเฉลยว่าพระเจ้าชื่อโกโดต์หรือไม่ หรืออย่างเรื่อง Play นั้น Beckett ก็ได้แต่เพียงบอกใบ้แบบที่ไม่คิดก็จะไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของเขากับภรรยาเพียงคนเดียวที่แต่งงานและอยู่ด้วยกันจนวาระสุดท้ายของชีวิตและหญิงสาวอีกคนที่ชื่อว่า Babara Bray ผู้เป็นเพื่อนนักอ่าน และคนสำคัญของชีวิต ของเขาอีกคน จึงเดาไม่ยากเลยว่าบทละครในปี 1964 เรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักและการค้นหาปรัชญาชีวิตผ่านความทุกข์จากรักที่ไม่สมหวังของเขานั่นเอง

                                  คุณ Babara Bray 

                เมื่อกล่าวถึง Samuel Beckett ก็ต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์การละครของละครแนว Absurd หรือ” ‘The theatre of the absurd’ ซึ่งเป็นคำที่คิดค้นโดย Martin Esslin อันเป็นละครที่แพร่หลายในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ช่วง 1950จนถึง 1960s[4]. 

              ละคร Absurd นั้นยากที่จะหาตรรกะการเขียนหรือการแต่งได้ไม่ว่าจะเป็นทางปรัชญา ทางละคร หรือทางอารมณ์มาวิเคราะห์ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ตัวละครที่ไม่มีที่มาที่ไป และตั้งคำถามว่าความจริงหรือความไม่จริงนั้นเป็นอย่างไร และแน่นอนค่ะว่าต้องตั้งคำถามถึงการมีชีวิตอยู่อย่าง ว่าคนเราเนี่ยมีชีวิตอยู่ไปทำไม และปวดหัวมาก555 ดูจบก็แล้วแต่จะตีความเลยค่ะ ว่าคนเรามีชีวิตอยู่ไปทำไม ในละครจะมีการใช้ภาษาที่ไม่สมเหตุสมผล การแสดงออกที่ละทิ้งขนบธรรมเนียมของการละคร  อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทละครที่มองโลกในแง่ร้ายก็ไม่ผิดนัก พูดมาขนาดนี้ แน่นอนสิ่งที่คนดูได้ก็คือความ งง แต่ถ้ากลับมาตีความ หรือลองไปดูแนวคิดของคนเขียนก็จะพบว่าคำพูดของตัวละครช่างสะท้อนความไม่มีเหตุผล รวมถึงชีวิตมนุษย์นั้นช่างไร้ความหมายเสียจริง เราจะเห็นได้เลยว่าแนวคิดของละครแอบเสิร์ดนั้นตัวละครมักจะไม่มีที่มาที่ไป ฉากก็เป็นฉากที่เกินจินตนาการอย่างเรื่อง Play ที่เลือกมาก็เป็นโกฐหรือที่ใส่กระดูกมีหัวคนโผล่ออกมาคุยกันเรื่องของความเจ็บปวดของการมีชู้ รักสามเศร้า ซึ่งคุยกันข้างนอกโกฐก็ได้5555 ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเข้าไปอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน


    ภาพจาก : Samuel Beckett’s Play from Arcturus Theater Company  (Photo: Teresa Rose )

               กลวิธีการประพันธ์ของ Beckett ในเรื่อง Play นั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่ได้เดินตามขนบของอริสโตเติลแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่องที่ไม่มีตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนจบที่สมบูรณ์ ตัวละครที่ยากจะหยั่งรู้ว่าใครเป็นตัวเอก ฝ่ายตรงข้าม ใครดี ใครเลว ตัวละครทุกตัวนั้นเหมือนมานั่งคุยกันอย่างขาดจุดมุ่งหมายโดยแท้ แก่นเรื่องยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีทางแสดงผ่านตัวละครออกมา หากแต่ต้องเกิดจากการตีความบริบทรอบข้างอย่างการใช้ภาษา เซ็ตติ้ง  แต่ก็ปวดหัวขึ้นไปอีกเพราะการใช้ภาษาในเรื่อง

          ถ้าจะมีก็คงมีแต่ภาพที่ยังคงตรงแต่ Beckett ก็คือ Beckett ภาพที่เราเห็นก็คือบรรยากาศดำมืด ยากจะตีความว่าทำไมต้องเป็นโกฐ แล้วโกฐเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้??? ก็จะมาหาคำตอบกันต่อไปค่ะ 

          มาถึงเรื่องของพล็อต ก็มันไม่มีอะค่ะ555 เหมือนคิดมาแล้วว่าจะเป็นอบบนี้ คุยกันไปเรื่อยๆ เรื่องราวดำเนินไปอย่างไร้ความหวังราวกับเป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขของคนในโกฐทั้งสามใบที่นั่งคุยกันเรื่องการเป็นชู้ ความรัก และความสงบในจิตใจ ซึ่งก็เหมือนกับงานต่างๆ ของ Beckett ที่มักพูดถึงความเดียวดาย ความอ้างว้างของชีวิตผ่านการใช้กลวิธีการนำเสนอแบบเรียบง่ายควบคู่ไปกับความตลกของสิ่งไม่น่ายินดี[5]  ก็น่าจะพอเดาได้แล้วเนอะว่าโกฐคืออะไร

          เรื่อง Play นำมาในบทความนี้ก็เหมือนเป็นการพูดคุยกัน ไม่มีการบรรยายตัวละครในบทเลยค่ะ ทั้งสามตัวละครโผล่หัวมาระลึกถึงความหลังและนั่งถกเถียงกัน เราจะเห็นได้ว่ายังคงเป็นไปตามการไม่มีขนบใดๆ มาทำให้ให้เป็นไปตามขนบ (?) ของละครแนว Absurd กล่าวคือการอยู่ในโกฐของสามตัวละคร ไม่มีการเคลื่อนไหว มีเพียงการพูดคุยตอบโต้กันไปมา นั่นก็แสดงความเป็น Absurd ได้อย่างดีเยี่ยม และแน่นอนว่ามีแนวคิดเรื่อง "trapped” หรือการติดในสิ่งใดสักสิ่งที่ต้องมีในเรื่องของ Beckett ทุกเรื่อง 

         การพูดคุยนั้นเป็นไปในโทนเสียงธรรมดาปนเบื่อด้วยซ้ำโดยทั้งสามคนนั้นไม่ได้แสดงท่าทีโกรธเกรี้ยว หรือหน้าตาที่แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกัน ทุกคนต่างพูดคุยบทสนทนาที่เผ็ดร้อนด้วยหน้าตาที่เบื่อหน่าย โดยบทสนทนานั้นเป็นเรื่องของการเป็นชู้ กันระหว่างหญิง 2 และชายที่มีเพียงคนเดียว  ซึ่งความสัมพันธ์หากคาดเดาจากการพูดของทั้งสามคนแล้วล้วนแต่ติดอยู่ในกับดักของความสัมพันธ์ที่อาจเรียกว่า “กับดักของความรัก  

    ดังจะเห็นได้จาก หญิง 1 นั้นกล่าวว่า“ดิฉันร่ำร้องหาความมืด แต่ยิ่งมืดกลับซ้ำร้าย จนมืดสนิทถึงจะรู้สึกสบาย”

    ส่วนฝ่ายชายนั้นรำพันและลงท้ายว่า “แต่ให้เหมือนกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เหมือนเป็นละคร”

    และหญิง 2 ที่กล่าวว่า “ฉันทำตัวดีที่สุดแล้ว ทำจนสุดความสามารถ”

    ทั้งหมดนี้แสดงถึงแนวคิดและประเด็นของเรื่องอย่าง ความรู้สึกผิดจากการที่สิ่งที่ตนเองมั่นใจว่าผิดแต่ก็ยังคงกระทำต่อไป และยังคงหาทางออกจากความรู้สึกไม่ได้ เช่นเดียวกับบริบทของการแต่งเรื่องนี้ที่Samuel Beckett นั้นได้ใคร่ครวญถึงชีวิตความรักของตนที่มีต่อ Babara Bray รุ่นน้องและเพื่อนคนสำคัญที่ตั้งใจหมายมั่นจะไปอยู่กับเขาที่ Paris ในขณะที่ Beckett ตอนนั้นเองก็แต่งงานกับหญิงสาวที่คบกันมาอย่างยาวนานอย่าง Suzanne Deschevaux-Dumesnil อยู่ จึงเกิดเป็น Dilemma ระดับที่ทำอย่างไรก็ไปไหนต่อไม่ได้ คนนี้ก็ภรรยาตามทะเบียนสมรส ถามว่ารักมั้ย ก็รัก อีกคนก็เหมือนคู่คิดที่ขาดไม่ได้

     ******** เรื่องนี้เกิดในปี 1964 นะคะ ใครมองด้วยมุมมองเฟมินิสต์ปัจจุบัน อาจจะกรี๊ดใส่ Beckett ได้ สำหรับความค่อนข้างไม่เป็นกลาง ยังไงผู้ชายกับ Babara Bray ก็ผิดค่ะ แต่บทความนี้จะวิเคราะห์ในมุมมองของละครกับสัจธรรมความรักนะคะ********

                               ภาพ Beckkett และSuzanne    จาก:www.emory.edu/EMORY_MAGAZINE/issues/2012/winter/of-note/beckett-letters/index.html

                โดยเรื่องรักสามเส้าของทั้งสามคนเป็นหนึ่งในเค้าโครงที่จะมาพัฒนาเป็นเรื่อง Play ที่เขียนขึ้นไม่นานจากความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงครั้งนี้[6] การใคร่ครวญเรื่องความรักคืออะไร ทำไมความรักจึงเหมือนเป็นกับดักไม่ต่างจากคนสามคนที่ต้องติดอยู่ในโกฐในขทละครของ Beckett แสดงให้เห็นผ่านบทสนทนาอย่าง ตอนนั้นทุกสิ่งทุกอย่างวิเศษ มหัศจรรย์ แต่ตอนนี้..." ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ยากลำบากใจของตัวละครชาย ซึ่งอาจหมายถึงตัวของ Beckett เองที่ถลำลึกและทำผิดในความสัมพันธ์ครั้งนี้ หากแต่เขาก็ยังคงหาทางออกจากความรู้สึกนี้ไม่ได้ได้ เค้าทำเพียงแต่หนีและพบว่าความทุกข์ยังคงอยู่กับเขา บทสนทนาทั้งเรื่องจึงเป็นเสมือนการทบทวน ความรู้สึกผิด และการกลับไปจุดเริ่มต้นคือการรำพึงรำพันในวังวนของรักสามเศร้าของตัวละครเหล่านี้ดังคำพูดกลางเรื่องว่า บางทีผมก็อยากให้เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงละคร” ที่เป็นที่มาของชื่อเรื่องว่า Play นั่นเองค่ะ



           มาถึงเรื่องของแก่นหลักของเรื่อง Play (1964) Beckett นั้นต้องการจะสื่อว่าความสัมพันธ์ช่างเต็มไปด้วยทุกข์ ความรักและการแต่งงานในโลกสมัยใหม่ในมุมมองของเขานั้นช่างเต็มไปด้วยความผิดหวัง และ 'ง่ายต่อการหมด passion’ ความรักที่เคยหวานชื่อ สนุกสนานของ Beckett กลับทำให้ตัวเขาในวันนี้รู้สึกขื่นขมและต้องใช้ชีวิตในความรู้สึกราวกับ "ดิ่งลงไป ดิ่งลงสู่ความมืดอธนกาล ตามคำพูดในเรื่องของตัวละครชาย ซึ่งสะท้อนว่าทั้งตัวละครชายที่มีชู้และตัวของ Beckett นั้นเห็นตรงกันว่า"ความรักคือการมีความทุกข์"      การดํารงอยู่ของตัวละครของเขาคือการ “ทนอยู่" เพื่อรอจนกว่าจะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราต้องอย่าลืมว่า Samuel Beckett  มองโลกในแง่ร้ายมาก โลกนี้ไม่มีความหวังสวยงาม ใดๆ ทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจึงไม่เกิดขึ้นเพราะ Beckett ใจร้ายมากค่ะ ทำให้ในตอนท้ายเรื่องก็เป็นการย้อนรอยจุดเริ่มต้น ใช่ค่ะ สามคนนี้กลับมาพูดเรื่องเดิมใหม่อีกรอบ วนไปไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งสามมีบทสนทนาเดิมแบบเป๊ะเลย การอยู่ร่วมกันของทั้งสามในโกฐก็ไม่ต่างอะไรกับการติดกับดักในความสัมพันธ์ ทุกฝ่ายนั้นต้องการหาทางออกแต่ก็พบว่าเรื่องราวนั้นกลับกลายเป็นดังตัวละครหญิง1 พูด คือ 

     ฉันจะไม่ทำอะไรเพื่อใครอีกต่อไป พอกันที นี่กระมังที่ฉันต้องการพูด แล้วทำไม่ฉันยังไม่หยุดวุ่นวายใจสักที” 

    หรือ 
     ฉันรู้ตั้งแต่แรกว่าทั้งหมดไร้สาระ แต่ก็ทำใจไม่ได้สักที
     

          ทั้งหมดทำให้เห็นถึงชีวิตคู่มีอะไรมากกว่า คำว่า รัก หญิงมือที่สามก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นหญิงร้าย ภรรยาหลวงก็ไม่ได้เป็นคนไม่ดี ทั้งสามคนเป็นเพียงมนุษย์ผู้จมอยู่ในวังวน จมอยู่ในความสับสนของความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นและจบลง และวนลูปไปเริ่มขึ้นใหม่และน่าเศร้าที่การจบลงก็คือการเริ่มต้นของสิ่งเดิมๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นโกฐและบรรยากาศเงียบงันราวกับงานศพ เพราะความทุกข์ใจของคนทั้งสามคนก็ไม่ต่างกับการตายทั้งเป็นมากนัก คุณค่าในสังคมของเรื่องนี้จึงเป็นที่ลึกซึ้งว่า "ความรักนั้นช่างเต็มไปด้วยทุกข์ทรมานเหลือเกิน"
        การอ่านบทละครทีไม่ได้เป็นไปตามการประพันธ์ตามแบบอริสโตเติลกลับทำให้การขบคิดของผู้คนนำไปสู่การเข้าใจในชีวิตความสัมพันธ์ที่จะกี่ร้อยปี มนุษย์ก็ยังต้องทุกข์ทนกับความรักไม่ต่างจากในสมัยพุทธกาลหรือในสังคมสมัยยุค 1960s ที่ Beckett แต่งเรื่องนี้ขึ้นมา อาจจะไม่ได้ชี้นำแต่ก็สอดแทรกว่าเราควรจะเลือกตอนจบอย่างไร ผู้คนที่ได้อ่านจะได้สะท้อนตนเองผ่านตัวละครที่สามารถเชื่อมโยงกับตัวตนของตนเองได้ไม่ยากและหาทางออกในรูปแบบของตนเองไม่วาจะเป็นการเดินออกจากความสัมพันธ์หรือจะติดอยู่ต่อไปก็เอาที่ตนเองสบายใจได้เลย เพราะแก่นแท้ของความรักตามที่ Beckett ต้องการสื่อก็คือ มีความรักคือมีความทุกข์ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด จะเป็นความรัก การแต่งงาน รักสามเศร้า รักสามี รักภรรยาน้อย รักตัวเอง การหนีของตัวละครชายก็ไม่ต่างกับการเดินไปในทางที่ตัน เพราะสุดท้ายถ้าหนีก็คือการเริ่มต้นใหม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละคน เพราะนรกของ Beckett นั้นไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นความรักที่ทำให้มนุษย์เศร้าใจเช่นนี้ คนดูจะตระหนักในข้อนี้เช่นเดียวกันและเลือกตามหัวใจต้องการ

          “After Godot, plots could be minimal; exposition, expendable; characters, contradictory; settings, unlocalized, and dialogue, unpredictable. Blatant farce could jostle tragedy.”[7] จากคำพูดนี้นั้นหมายความว่า การละครในยุคหลังสามารถพัฒนาเรื่องราวให้เป็นเรื่องเล็กๆแต่ทรงพลังมีความย้อนแย้งในตนเองไม่จำเป็นต้องเดินตามประพันธศิลป์ของอริสโตเติล ศิลปะการละครจึงไม่จำเป็นต้องมีทุนสูง เล่าเรื่องราวใหญ่โต ให้แรงบันดาลใจ แต่สามารถเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้ ส่งผลต่อการละครรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ปล่อยให้ผู้คนตีความมากกว่าจะชี้นำว่าต้องการความหมายอย่างไร และทำให้เห็นว่าการมีแค่ไดอะล็อก และคนสามคนใน setting คือ โกฐ คุยกันก็น่าติดตามและสามารถเป็นเรื่องราวที่ทำให้คนดูอึ้ง อึดอัด เศร้า หัวเราะและร้องไห้ตามได้ไม่ยากไม่แพ้ละครในรัชดาลัยเธียเตอร์


           น่าแปลกที่ความงงจะทำให้คนดูดึงดูดตนเองเข้าไปในเรื่องได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตอนแรกคือถอดใจจะไม่ดูต่อแล้วแต่ก็กดพอสไม่ได้ อยากรู้ว่าจะมีผีโผล่มามั้ย5555 ก็เป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีค่ะ แล้วจะพบว่าการตีความ Beckett นั้นไม่ต้องหรือต้องฉลาด แตกฉานในวรรณกรรม หากแต่คุณต้องมีความเป็นมนุษย์ แล้วการดูละคร Beckett จะไม่ยากเท่าที่คิดเลย คุณค่าของเรื่องนี้คือความรักของคนสามคนที่ยุ่งเหยิงและเป็นวังวนความสัมพันธ์ ไม่ต่างจากการตอบในกระทู้พันทิป หรือคอมเมนต์เฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ คุณจะได้ผ่อนคลายและอึดอัดในเวลาเดียวกันกับความเห็นของ Beckett ต่อความรักในเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ตั้งสติและลองจัดระบบความคิดใหม่ในเรื่องความรัก เข้าใจสัจธรรมและนำมาการปล่อยวางไม่ต่างกับการฟังพี่อ้อย พี่ฉอด ที่จะทำให้มองเห็นช่องทางความรักที่ตนจะเลือกเดินได้ง่ายขึ้น 


             Beckett จะสอนให้เราเรียนรู้ว่าชีวิตคือความทุกข์ เมื่อถูกทำให้ไร้ทางออก ชีวิตจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสิ้นหวัง และไม่ต้องพูดเหมือนตัวละครชายที่ว่า เมื่อไหร่ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นละคร เนื่องจากถ้ายอมรับความจริงของความรัก ย่อมจะมองหาทางออกได้ชัดเจน และถ้าจะเลือกอยู่ในวังวนไร้ทางออกเหมือนตัวละครก็ยอมเป็นสิทธ์ในชีวิต หรือจะเรียนรู้จากตัวละครแล้วปรับมุมมองความคิดก็ย่อมได้นั่นเอง 


    ภาพจาก : Samuel Beckett and actor Klaus Herm rehearsal the television play Geistertrio (Ghost Trio), May 1977. Photograph: SWR/Hugo Jehle.

    [1]วัลยา วิวัฒน์ศร. แซมมวล เบกเกตต์ : คอยโกโดต์, ใน วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ฉบับที่ 28 (ม.ค.-มิ.ย. 2542),104-105.

    [2] Ibid.

    [3] ชุติมา มณีวัฒนา. (๒๕๖๑). แซมมวล เบกเกตต์ กับการตีความที่ไร้ขอบเขต. การประชุมวิชาการด้านศิลปกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 1 “ศิลปกรรมศาสตร์กับสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย”. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 5.

    [4] https://www.bl.uk/20th-century-literature/articles/nonsense-talk-theatre-of-the-absurd

    [5] ชุติมา มณีวัฒนา. (๒๕๖๑). แซมมวล เบกเกตต์ กับการตีความที่ไร้ขอบเขต. การประชุมวิชาการด้านศิลปกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 1 “ศิลปกรรมศาสตร์กับสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย”. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 7.

    [6] Dan Gunn, Beckett's letters to Barbara Bray: 'Hammer hammer adamantine words' , accessed on 14 December,2019, https://www.theguardian.com/culture/2014/sep/26/samuel-beckett-letters-third-volume-barbara-bray.

    [7]Suzana Berger, “Beckett’s Influences,” accessed on 14 December,2019, https://ardentheatre.org/becketts-influences.

     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in