เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กฝึกงาน's story (เป็นเด็กฝึกงานมันไม่ง่ายนะคุณ)Meji Tnb'
Day 0: กว่าจะเป็นเด็กฝึกงาน
  • เราเคยเข้าใจมาตลอดว่าการหาที่ฝึกงานไม่ใช่เรื่องยาก วลีที่ว่า “เรียนจิตวิทยามาจะทำงานอะไรก็ได้” กลายเป็นวลีเด็ดประจำใจที่เรายึดถือไว้เสมอ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มเข้ามาเรียนปี 1

    โลกในตอนนั้นดูหอมหวาน เราบอกกับทุกคนที่ถามว่า “จบไปจะทำงานอะไร” ด้วยสีหน้าชื่นมื่น “อ๋อ จิตวิทยามันเกี่ยวกับคน จบไปก็ทำได้หมดเลย ทุกอย่างเลยที่เกี่ยวกับคน” (พูดถึงตรงนี้ อยู่ๆ ก็อยากย้อนเวลากลับไปตบกบาลตัวเอง แล้วบอกว่า อีบ้า แหกตาดูความเป็นจริงด้วยโว้ย)

    ก็นั่นแหละ มันหอมหวานแค่ตอนนั้นจริงๆ

    หลังจากร่ำเรียนมาเป็นเวลาสามปี จากเฟรชชี่หน้าใสใส่กระโปรงยาว เราก็ผันตัวมาเป็นจูเนียร์หน้าโทรมที่แทบไม่อยากแต่งชุดนิสิต (ก็มันขี้เกียจนี่หว่า) พร้อมๆ กับถูกผลักออกมาจากโลกอันแสนหวาน โลกที่ทำให้เราเผลอเชื่อมาตลอดสามปีว่า การทำงานมันไม่ยาก เพราะเรียนจิตวิทยามาจะทำงานอะไรก็ได้

    ส่วนสำคัญที่ผลักเราออกมาก็คือการฝึกงานนั่นเอง

    พูดถึงการฝึกงาน สำหรับคณะที่เราเรียนเนี่ย เขากำหนดไว้ว่า นิสิตในคณะต้องฝึกงานกันทุกคนนะ จะมาทำเล่นๆ ก็ไม่ได้ด้วย เพราะการฝึกงานจะถือเป็นอีกวิชาหนึ่งในหลักสูตร พูดง่ายๆ คือ ที่มึงไปฝึกกันน่ะ ต้องเอามาคิดเป็นเกรดด้วย โอ้โห ดูยากขึ้นมาทันที

    ทีนี้พอต้องมาคิดเกรดให้กับการฝึกงาน ความเป็นทางการก็จะตามตูดเรามาติดๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายที่ต้องใส่ชุดนิสิตให้ถูกระเบียบนะ หรือ กลับมาจากทำงานอย่าลืมทำบันทึกการฝึกงานของแต่ละวันล่ะ หรือ เดี๋ยวครูจะแวะไปหาที่ฝึกงานนะ จะไปให้คะแนน เป็นต้น

    ฟังดูยุ่งยากยังไงชอบกล แต่ความยุ่งยากยังไม่จบแค่นี้ เพราะด่านต่อไปที่สำคัญมากคือ “การหาที่ฝึกงาน”

    บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะถามว่า อ้าวแก มหา’ลัยไม่ได้หาที่ฝึกให้เราหรอ? ขอตอบตรงนี้เลยว่า ใช่ (พร้อมปาดน้ำตา) แต่อย่าเพิ่งตกใจนะ ว่าเห้ย นี่ฉันต้องไปหาเองหรอ บลา บลา บลา เพราะไอ้การหาที่ฝึกงานเนี่ย มันแล้วแต่คณะ แล้วแต่มหา’ลัยจริงๆ อย่างบางที่เขาอาจจะมีรายชื่อที่ฝึกงานมาให้เรียบร้อยแล้ว เราแค่ไปลงชื่อว่าจะฝึกที่ไหนก็จบ (ความยากของตรงนี้คือหลายคนรู้สึกว่าโดนตีกรอบมากไป ไหนจะต้องแย่งกันลงชื่อเพราะแต่ละที่รับจำนวนจำกัดอีก) บางที่อาจกำหนดว่าต้องฝึกทางไหนโดยเฉพาะ เช่นเธอเรียนด้านวิดีโอมา เธอจะไปฝึกด้านสื่อสิ่งพิมพ์ได้ไง เป็นต้น หรือบางที่ (อย่างของเรานี่แหละ) อาจให้ไปหาเองหมดเลย อยากทำอะไรก็ไปติดต่อให้เขารับให้ได้ มหา’ลัยไม่ซีเรียส ขอแค่เขายอมรับเข้าฝึกก็พอ ซึ่งความยากมันอยู่ที่ทำให้เขารับเรานี่แหละ
  • จากที่บอกไปในตอนแรกว่า เรียนจิตวิทยามาจะทำงานอะไรก็ได้ จนถึงตอนนี้เราก็ไม่ปฏิเสธนะ แต่ขอเพิ่มหมายเหตุลงไปหน่อยแล้วกัน เป็น “เรียนจิตวิทยามาจะทำงานอะไรก็ได้ (หมายเหตุ: แต่เขาจะรับมึงไหมก็อีกเรื่อง)”

    รู้สึกโลกฟรุ้งฟริ้งตลอดสามปีหายวับไปกับตา

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปกติแล้วที่ฝึกงานของเด็กจิตวิทยาจะวนเวียนอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ฝึกงานในโรงพยาบาล ทำงานฝ่ายบุคคลตามบริษัทต่างๆ ไม่ก็ไปตามศูนย์ฝึกสำหรับเด็กบ้าง โรงเรียนบ้าง สถานสงเคราะห์บ้าง

    เออ ก็ฟังดูไม่ยากเท่าไหร่ ใครๆ เขาก็ฝึกกัน แถมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับยากด้วย แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงนั้นน่ะสิ

    จะบอกว่าเราเป็นพวกนอกคอกก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากช่วงเวลาสามปีจะเปลี่ยนเฟรชชี่หน้าใสเป็นจูเนียร์หน้าโทรมแล้ว มันได้พรากบางอย่างไปจากเราด้วย ซึ่งก็คือ มุมมองต่อการเรียนจิตวิทยา

    ตอนเข้ามาใหม่ๆ เราตั้งใจไว้อย่างแรงกล้าว่าจะเรียนจิตวิทยา แล้วไปต่อการให้คำปรึกษา ก่อนจะจบมาเป็นผู้ให้คำปรึกษา คอยช่วยเหลือคนอื่นยามทุกข์ใจ สมัยนั้นถ้าเปรียบความตั้งใจเป็นไฟ แคทนิสก็แคทนิสเถอะ (แคทนิส เอเวอร์ดีน สาวน้อยผู้มากับไฟใน Hunger Game ไง เผื่อใครลืม) เรานี่แหละสาวน้อยผู้มากับไฟตัวจริง!

    แต่นั่นก็ตอนใหม่ๆ ไง รู้ตัวอีกทีไฟในตัวเราก็เริ่มมอดลงทุกปี จากปี 1 เข้าสู่ปี 2 และปี 3 ตามลำดับ พอมาอยู่ปี 3 หันไปมองตัวเองตอนปีหนึ่งก็รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนเดิมแล้ว จากสาวน้อยผู้มากับไฟกลายเป็นสลอทจอมขี้เกียจที่เอาแต่นอน

    แต่ระหว่างที่ไฟกำลังจะมอดจนหมด อีเวนต์หาที่ฝึกงานก็เริ่มต้นขึ้น
  • หลายคนบอกกับเราว่า การหาที่ฝึกงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไอ้ที่ฝึกงานนี่แหละ ที่จะเป็นโอกาสในการทำงานในอนาคต อย่างน้อยในโปรไฟล์ของเราก็จะมีบอกไว้ว่า ไอ้เด็กนี่เคยผ่านการฝึกกับบริษัทนี้นะ เป็นการเปิดช่องทางทำมาหากินไปอีก เผลอๆ ถ้าตอนฝึกงานทำงานดี น่าสนใจ เราอาจมีโอกาสถูกทาบทามไปทำงานต่อหลังเรียนจบด้วยซ้ำ ชีวิตดีสัสๆ

    ด้วยความที่มันเป็นโอกาสนี่แหละ เลยทำให้การหาที่ฝึกงานต้องพิถีพิถัน จะมาหาส่งๆ สมัครไปมั่วๆ ก็คงไม่ใช่ บวกกับไฟที่มอดลง ทำให้สายงานแบบที่เด็กจิตฯ ส่วนใหญ่เขาทำกันถูกปัดตกจากตัวเลือกของเรา แล้วทีนี้จะฝึกอะไรวะ?

    แล้วทีนี้จะฝึกอะไรวะ? เป็นคำถามที่อยู่ในหัวเราตลอดหลายเดือน วนเวียนแบบนั้นจนรู้สึกเคว้งคว้าง ราวกับล่องลอยในอวกาศ มองไปทางไหนก็มีแต่ดาว ดาวเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ไม่รู้จะไปอยู่ดาวไหน แถมการหาที่ฝึกงานนี่ยังมีเดดไลน์อีก คือต้องหาให้ได้ (รวมถึงเขาตกลงรับเราด้วย) ภายในวันที่นู้นนี้ โอ๊ย ตอนนั้นนอกจากรู้สึกเหมือนอยู่ในอวกาศไม่พอ ยังพ่วงเงื่อนไขไว้อีกว่า ถ้ามึงไม่ไปลงจอดที่ดาวสักดวง ออกซิเจนจะหมดแล้วนะ จะชิบหายแล้วนะ เป็นอะไรที่กดดันมากจริงๆ

    ระหว่างที่มองเพื่อนในรุ่นหลายคนเริ่มทะยอยมีที่ฝึกงาน ทางเลือกของเราก็เริ่มชัดขึ้น เราพยายามจับจุดว่าถ้าต้องทำอะไรสักอย่างติดต่อกันเป็นเวลาเกือบสามเดือน อะไรที่จะทำให้เราอยู่กับมันได้ตลอด ไม่ท้อ ไม่ชิงเบื่อจนหมดไฟไปง่ายๆ

    คำตอบที่ได้ก็คือ สักอย่างที่เกี่ยวกับหนังสือ
  • เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ พอเขียนนู่นนี่ได้บ้างแต่ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญ ตอนนั้นคิดแค่ว่าเป็นงานอะไรก็ได้แหละ ที่อยู่กับหนังสือ การหาที่ฝึกงานของเราเลยพุ่งมาที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ทั้งนิตยสารและหนังสือแบบเป็นเล่ม หาข้อมูลไปมา เราเลยคิดเอาเองว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับกองบรรณาธิการ พอคิดได้แบบนั้นการสมัครงานเลยเริ่มต้นขึ้น

    การสมัครงานไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าง่ายเลยด้วยซ้ำ

    เออ มันอาจจะง่ายถ้าเรียนทางนี้มาก่อน เช่น เรียนวารสาร นิเทศ อะไรพวกนั้น แต่สำหรับเด็กที่เรียนแต่จิตวิทยา วันๆ รู้จักแต่พาฟลอฟ ฟรอยด์ มาสโลว์ ฯลฯ การสมัครงานสายนี้ไม่ใช่อะไรที่ง่ายเลย

    ช่วงรู้ตัวเองใหม่ๆ เป็นช่วงที่เราพยายามทำพอร์ตออกมา ซึ่งแรกๆ แม่งมั่วมาก อะไรที่ดูเป็นงานเขียนก็จับยัดใส่หมด คิดแค่ว่าเอาให้เขาดูเยอะๆ ไว้ก่อน ส่งๆ ไปก่อนเผื่อเขาจะสนใจ เป็นแบบนี้อยู่พักนึง ก่อนจะพบว่า ไอ้สัส ที่มึงยัดใส่พอร์ตไปมันน่ารับไปฝึกงานตรงไหนวะน่ะ นั่นเลยทำให้เราหันมาลองเขียนงานดูใหม่ แบบไม่ได้ใช้บุญเก่า (บุญเก่าในที่นี้คือ อาศัยเอาอะไรก็ได้ในอดีตที่เขียนๆ พิมพ์ๆ ทิ้งเอาไว้มารวมใหม่ โคตรจะย้อมแมวขายเลย) ทีนี้หนทางก็เริ่มชัดขึ้นแล้ว

    สิ่งหนึ่งที่เรามักบอกกับตัวเองเสมอเวลาสมัครฝึกงานตามที่ต่างๆ คือ อย่าเน้นปริมาณงานเขียน แต่ให้เน้นคุณภาพแทน เราจะคัดงานเขียนที่ตัวเองในฐานะคนอ่านอ่านแล้วรู้สึกดีกับมัน ก่อนจะรวมเป็นพอร์ตเพื่อส่ง ส่วนตรงข้อมูลส่วนตัว ก็พยายามเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด เวลาเขียนจะคิดไว้ว่านี่เรากำลังพูดกับคนที่จะรับเราทำงานผ่านตัวหนังสืออยู่นะ ทำให้เวลาทำพอร์ต เราเลยรู้สึกสนุกอยู่ตลอด เหมือนได้เล่าเรื่องให้สักคนบนโลกนี้ฟัง

    พอทำพอร์ตเสร็จ เราก็จะส่งพอร์ตที่ทำไว้ในแบบเดียวกันให้กับเกือบทุกที่ที่สมัครไป (ตรงนี้เป็นความขี้เกียจของเราเอง บวกกับความลนตอนท้ายๆ ที่กลัวจะไม่มีที่ฝึกงาน ซึ่งจริงๆ มันไม่ดีหรอก อย่าทำตามเลย) ยกเว้นที่เดียวคือ “สำนักพิมพ์แซลมอน”

    พูดถึงแซลมอน แซลมอนเป็นสำนักพิมพ์ที่เราค่อนข้างชอบสไตล์ของเขา ชอบแบบไม่ค่อยได้อ่านงานเขียนของที่นี่เพราะไม่มีปัญญาซื้อ #ร้องไห้หนักมาก ด้วยความชอบตรงนี้นี่แหละ ทำให้เราคาดหวังที่จะฝึกงานที่นี่เป็นพิเศษ สิ่งที่ตามมาเลยกลายเป็นเราตั้งใจทำพอร์ตเพื่อส่งที่นี่มาก ทุ่มเทแรงกายแรงใจมากที่สุดในบรรดาการสมัครงานทั้งหมด ทุ่มเทจนถ้าพระเจ้ามีจริงคงเห็นในความพยายามของเรา จนทำให้เราได้ที่ฝึกงานก่อนจะชิงเป็นบ้าไปซะก่อน เพราะตอนนั้นใกล้เดดไลน์เต็มที

    จำได้ว่าวินาทีที่รู้ว่าตัวเองจะได้ฝึกงานกับแซลมอน เป็นวินาทีที่กรี๊ดแบบไม่มีเสียงหนักมาก (คือดีใจมาก อยากกรี๊ด แต่ดันอยู่ในห้องคอมฯ ของคณะเลยเสียงดังไม่ได้) ก็นั่นแหละ กลายเป็นเด็กฝึกงานในกองบรรณาธิการของแซลมอนเฉยเลย

    เออ หรือว่าบางทีการฝึกงานมันจะไม่ได้ยากอย่างที่คิดวะ?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Phasrang ST (@fb1244060506011)
? แทนใจมาก จะขึ้นปี 3 แล้วแต่มุมมองต่อจิตวิทยาเปลี่ยนไปมากเว่อร์ คิดอย่างเดียวตอนนี้คือหาที่ฝึกงานข้ามสาย...