เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Ordinary | ก็แค่เรื่องอยากเล่าAntberry
The Ordinary | อีกหนึ่งเจ้าชายน้อย...ที่อยากแนะนำให้รู้จัก
  • หลายคนอาจจะรู้จักเจ้าชายน้อย จากหนังสือเรื่อง The Little Prince กันมาพอสมควร
    แต่ยังมีอีกหลายเจ้าชายน้อยที่น่าพูดถึงไม่แพ้กัน
    วันนี้เลยพาอีกหนึ่งเจ้าชายน้อยที่มีเรื่องราวน่าสลดใจ มาเล่าให้ฟังกัน!


    "เจ้าชายแสนสุข"

    เจ้าชายแสนสุข หรือ The Happy Prince
    ผลงานเขียนของออสก้า ไวลด์

    ออสก้า ไวลด์
    ที่มา http://www.tarihiolaylar.com/img/tarihikisiler/tarihi_kisiler_2-jpg_781655381_1426447582.jpg

              

            ออสก้า ไวลด์ นักเขียนยุควิคตอเรียนอันโด่งดัง มีผลงานไว้มากมายอย่าง The Picture of Dorian Gray , De Profundis (ที่ใดมีความเศร้า)  ซึ่งเป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก เนื้อหานั้นอัดแน่นไปด้วยความเจ็บปวด น่าเวทนา และการกล่าวถึงรักร่วมเพศ

              แต่ถึงอย่างนั้นงานเขียนของเขายังคงหลากหลาย มีไปถึงประเภทบทกวี การเขียนบทละคร และเรื่องที่เราหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้อย่าง...นิทานสำหรับเด็ก

              ว่าตามจริง เราไม่คิดว่านิทานเรื่องนี้จะเป็นนิทานสำหรับเด็ก แต่เพราะด้วยความเป็นเด็ก จึงอาจจะเข้าใจเพียงผิวเผินเท่านั้น หากแต่ไม่ใช่สำหรับเรา...ที่เริ่มโตขึ้น และสามารถตีแผ่เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ได้ลึกกว่าจะเป็น"นิทานสำหรับเด็ก"



    หน้าปก The Happy Prince ฉบับภาษาไทย
    ที่มาhttp://readery.co/9786169108474


    นิทานเรื่อง เจ้าชายผู้แสนสุข ของออสการ์ ไวล์ด เป็นนิทานตลกร้าย อีกเรื่องหนึ่งที่เราเคยได้อ่านมา เรื่องราวของเจ้าชายตัวน้อย ผู้ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอย่างเป็นสุข แต่กลับต้องลาลับโลกใบนี้ไปอย่างน่าเศร้า (หนังสือไม่ได้บอกว่าเจ้าชายตายเพราะสาเหตุอะไร แต่เรากลับรู้สึกว่าน่าจะตายตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ทันได้รู้จักโลกมาก อันนี้จากความรู้สึกของเราเองนะคะ) เมื่อตายแล้วร่างก็ถูกนำมาหลอมด้วยทองคำ ดวงตาฝังหินแซฟไฟร์สีฟ้ากับด้ามดาบประดับทับทิมเม็ดเขื่องสีแดง กลายเป็นรูปปั้นนิ่งยึดกับฐานวางไว้ใจกลางเมือง



    ฉากตอนที่นกนางแอ่นบินมาเกาะเพื่อหลบพายุหิมะ
    ที่มา pjlynchgallery.blogspot.it


    เมื่อกลายเป็นเพียงรูปปั้น  กลับเหลือแต่เพียงชื่อเท่านั้นที่บ่งบอกว่า เขาเป็นเจ้าชายผู้แสนสุข เจ้าชายเห็นชาวเมืองอยู่อย่างยากลำบาก ชีวิตก่อนหน้านั้นเจ้าชายอยู่แต่เพียงภายในรั้วของพระราชวัง ไม่เคยรู้เลยว่า บนโลกใบนี้ยังมีสิ่งตรงข้ามกับความสุข อย่าง 'ความทุกข์'  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รูปปั้นเจ้าชายมีหยาดน้ำตาหลั่งไหลออกมา โดยเราตีความส่วนนี้จากข้อความในนิทานที่ว่า


    "สมัยที่ยังมีชีวิต เรามีหัวใจของมนุษย์ เราไม่เคยรู้จักน้ำตา…. พวกมหาดเล็กเรียกเราว่า เจ้าชายแสนสุข
    ซึ่งเราก็มีความสุขจริง ๆ พอเราตายพวกเขาส่งเราขึ้นมาอยู่บนนี้สูงจนเรามองเห็นความน่าเกลียดและความทุกข์ทั้งมวลของเมือง ถึงแม้น้ำตาเราจะเป็นตะกั่วแต่เราไร้ทางเลือกนอกจากต้องร้องไห้"

              เจ้าชายได้เห็นอีกมุมหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ที่ไม่ได้มีแต่เพียงความสุข ทั้งเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนกำลังทุกข์ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เขาได้แต่เฝ้ามองความทุกข์ยากของชาวเมืองมาเป็นเวลานาน จนวันหนึ่ง นกนางแอ่นมาขอพักพิงบนตัวเจ้าชายเพื่อขอหลบหิมะ เจ้าชายจึงขอให้นกนางแอ่นช่วยนำชิ้นส่วนที่เป็นอัญมณีหรือแผ่นทองไปช่วยเหลือชาวเมืองที่กำลังลำบาก



              ครั้งแรกเจ้าชายสั่งให้นกนางแอ่นนำทับทิมในด้ามดาบรูปปั้นไปให้หญิงตัดผ้าผู้ตกระกำลำบาก เมื่อเจ้านกกลับมาก็รู้สึกอุ่นกายใจทั้งที่อากาศหนาว เจ้าชายได้ให้คำตอบกับนกนางแอ่นว่า "นั่นเพราะเจ้าทำความดี"   เจ้าชายผู้แสนสุขพยายามสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การช่วยเหลือผู้อื่นจะส่งผลให้เราได้รับความสุขทั้งผู้ให้ และผู้รับ


    ฉากที่นกนางแอ่นนำทับทิมในด้ามดาบรูปปั้นไปให้หญิงตัดผ้าผู้ตกระกำลำบาก
    ที่มา ofisofi.blogspot.com

              ผู้เขียนไม่ได้บรรยายถึงน้ำตาของเจ้าชายอีกเลยหลังจากนกนางแอ่นเข้ามาช่วยเหลือ นั่นอาจแสดงให้เห็นว่า ทำไมเจ้าชายจึงคอยช่วยเหลือชาวเมืองโดยไม่สนใจว่ารูปปั้นของตัวเองจะเป็นสีเทาดูมอซอลงทุกวัน การได้เห็นสีหน้าของชาวเมืองดูสดใสกว่าแต่ก่อนทำให้เจ้าชายแสนสุขรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ทำได้แต่เพียงร้องไห้และช่วยเหลืออะไรใครไม่ได้


              แต่เรื่องน่าเศร้าก็ได้เกิดขึ้น ตามแนวเขียนของออสก้า ไวลด์... เมื่อผลจากความจงรักภักดีของนกนางแอ่นนั้นทำให้มันไม่ยอมจากไปไหนและเกาะอยู่บนไหล่ของเจ้าชาย จนกระทั่งหนาวสั่นจนแข็งตาย สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกำลังแสดงให้เจ้าชายเห็นว่า บางครั้งมนุษย์เราอาจจะสนใจแต่สิ่งที่อยู่ไกลจากตัวมากเกินไป โดยไม่ได้หันกลับมามองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด จนบางครั้งอาจจะเสียมันไปโดยไม่รู้ตัว


              นกนางแอ่นรักเจ้าชายมากจนยอมอยู่กับเจ้าชายจนกระทั่งสิ้นใจด้วยอากาศที่หนาวจัด เจ้าชายเองก็รักเจ้านกไม่ต่างกัน หัวใจตะกั่วของเขาจึงแตกออกเป็นสองเสี่ยง เป็นสัญลักษณ์ของหัวใจที่แตกสลายกับการสูญเสียคนที่รักตนไป ในตอนท้ายเรื่องได้จบลงที่ว่า วิญญาณของเจ้าชายได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ร่วมกันกับนกนางแอ่นด้วยความเมตตาของพระเจ้า


    The Happy Prince
    ที่มา http://3.bp.blogspot.com/--71vq77gh2I/VaPf3Zt2AwI/AAAAAAAABLA/-EWMHuJ2I84/s1600/happy_prince_small.jpg

           นอกจากนี้เรายังเห็นถึงความหยาบช้าของมนุษย์ อย่างตัวละครที่แสดงออกถึงความน่าเกลียดน่าชังได้ดีที่สุดอย่างนายกเทศมนตรี ที่เอาแต่สนใจเรื่องชื่อเสียง อยากให้ชาวเมืองเคารพนับถือในตัวของเขา โดยตั้งแต่ต้นเรื่องนายกเทศมนตรีได้ติชมรูปปั้นเจ้าชายผู้แสนสุขว่า


    "เขางามหมดจดเหมือนเครื่องวัดอากาศบนหลังคาบ้าน เสียแต่ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่"


           ซึ่งเป็นเพียงคำพูดเหยียดหยามอย่างน่าไม่อายต้องการเพียงพูดเพื่อหวังให้ตัวเองดูดี รวมไปถึงฉากสุดท้ายที่รูปปั้นเจ้าชายผู้แสนสุขเหลือแต่เพียงรูปปั้นสีเทามอซอที่ชาวเมืองรู้สึกหมดค่าและเห็นสมควรว่า ต้องเอาไปหลอมในเตาหลอมเพื่อนำไปปั้นเป็นรูปปั้นคนอื่นต่อ นายกเทศมนตรีก็ออกตัวว่า "เราต้องมีรูปปั้นอื่นซึ่งต้องเป็นรูปปั้นของฉัน"  ราวกับการออกความคิดเห็นเช่นนี้ เพื่อหวังให้ทุกคนยกย่องและเชิดชูตัวเขาเหมือนอย่างที่ชาวเมืองคิดกับรูปปั้นเจ้าชายผู้แสนสุข


           สุดท้ายแล้วสิ่งที่เหลืออยู่บนโลกกลับเป็นความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ และการชิงดีชิงเด่นกันเอง ที่เด่นชัดออกมามากกว่าที่เราจะได้เห็นผลจากการเสียสละของเจ้าชาย เมื่อเหล่าชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากความลำบาก แต่กลับไม่มีใครแยแส หรือพูดถึงเจ้าชายแสนสุขอีกเลย


            ดังนั้นนิทานเรื่องนี้จึงไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ตอนจบเป็นบทสรุปที่สมบูรณ์แบบ แต่กลับเป็นบทสรุปที่ให้เราได้คิดกับตัวเองต่อว่าสรุปแล้วบนสวนสวรรค์นั้นเจ้าชายแสนสุขกับนกนางแอ่นได้รับความรู้สึกเช่นไรต่อจากนั้น อาจจะเป็นเรื่องดีที่เจอกันอีกครั้ง หรือว่าอาจจะเป็นความรู้สึกทุกข์ที่ได้เห็นความวุ่นวายของโลกมนุษย์ด้านล่าง

           ยอมรับว่าอ่านรอบแรก เรารู้สึกว่ามันสดใสกว่ารอบหลัง ๆ เยอะเลย ถึงแม้ตอนจบจะเหมือนแฮปปี้ แต่ทำไมเรากลับรู้สึกว่าบรรยากาศในเรื่องมันออกหม่น ๆ มากกว่าจะเป็นสีสันสดใส


           นี่ยังแอบคิดขำ ๆ ว่า ถ้าเกิดเจ้าชายน้อยได้มาเจอกับเจ้าชายแสนสุขจะเป็นยังไงนะ
    ทั้งคู่อาจจะนำพากันไปหาความสุขแท้จริง ในแบบที่เราอาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้ :-)






    อ้างอิง
    พี่อร. (2556). 161 ปี Oscar Wilde นักเขียนผู้เป็นตำนานแห่งยุควิคตอเรีย , จาก https://www.dek-d.com/writer/38868/
    ไวลด์, ออสการ์. (มปพ). เจ้าชายผู้แสนสุข. แปลจาก The Happy Prince. โดย อัจฉรา ประดิษฐ์. (เอกสารประกอบการสอน).
    กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
toffyqueen (@toffyqueen)
ไม่เคยรู้จักเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่เคยได้ยินชื่อออสการ์ ไวลด์ มาบ้าง นับว่าน่าสนใจและสดใหม่มากแมัจะเป็นงานเขียนที่ผ่านกาลเวลามาแล้ว เป็นบทความที่อ่านแล้วเหมือนอ่านนิทานเลย เห็นภาพได้แจ่มแจ้งจากสำนวนบรรยายที่สมูธมากๆ ขอบคุณสำหรับการนำเสนอเรื่องราวนี้นะคะ