เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ครั้งแรกของฉันvvkhxng
ครั้งแรกที่ 4 : ซึมเศร้า
  • ก่อนหน้าเราได้ยินแต่คำว่าโรคซึมเศร้าเต็มไปหมด จนเรารู้สึกว่าทำไมมันเกิดขึ้นเยอะจัง แล้วอาการของคนเหล่านั้นเค้าจะรู้สึกอย่างไร จนกระทั่งครั้งแรกนี้มันเกิดกับคนใกล้ตัวเข้าจังๆ...

    เค้ามีอาการที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้าทุกประการ ซึ่งในระยะแรกก็ยังไม่ยอมรับมันออกมา จนกระทั่งล่าสุดมันก็แสดงอาการออกมาจนเห็นได้ชัดเจนมาก ชัดเจนจนเราเห็นภาพรวมของโรคซึมเศร้าทั้งหมดแล้วว่ามันเป็นอย่างไร เลยตัดสินใจพาไปหาหมอแบบจริงๆ จังๆ เสียที

    เป็นเช้าแรกๆ ในหลายๆ เดือนที่เราเองตื่นเช้าเพื่อจะพาเค้าไปรักษา รอเค้าตื่นจากฝันร้ายก่อนก็พาตัวไปที่โรงพยาบาลรามาฯ เพราะว่าลองค้นหาข้อมูลดู ก็มีหลายเสียงบอกว่าคุณหมอที่รามาฯ โอเคดี แต่เนื่องจากเราไปกันสายพอสมควร และถ้าเราไม่นัดจิตแพทย์ไว้ก่อนและไม่มีประวัติคนไข้กับโรงพยาบาลก็ทำให้เสียเวลาไปหมด สุดท้ายเราไม่ได้คิวตรวจ และไม่มีคิวหลุดออกมาให้เราเลย พยายามถามพยาบาลที่ดูแลคิว "ขอเป็นคิวสุดท้ายได้มั้ย เค้าน่าจะเป็นโรคซึมเศร้านะครับ"  พยาบาลตอบได้เพียง"ไม่มีคำว่าสุดท้ายค่ะ มีแต่คิวเต็มหรือไม่เต็ม แล้ววินิจฉัยแล้วหรอคะ รู้แล้วหรอว่าเค้าเป็นซึมเศร้าทั้งๆ ที่ยังไม่ตรวจที่ไหนเลย" เราเงียบไป พร้อมกับพยาบาลเช็คคิวหมอให้ บอกว่ามีว่าอีกทีวันที่ 10 มิ.ย. ตอนนั้นเราไม่อยากรอแล้ว แต่คงต้องรับคิวมาก่อน แล้วเดินออกมาหาเค้าที่หน้าห้อง เค้าเริ่มแสดงอาการออกมาอีกครั้งตอนยืนรอหน้าห้องตรวจที่เต็มไปด้วยผู้คนและแออัดมากๆ จนเค้าบอกภายหลังเมื่อโอเคแล้วว่าถ้าได้ตรวจที่นั่นคงอึดอัดและคงเหนื่อยน่าดู สุดท้ายเราตัดสินใจย้ายโรงพยาบาล หาที่ใกล้ที่สุด ปรากฎว่าวันศุกร์เป็นวันที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะทำการครึ่งวันหรือไม่มีหมอลงตรวจเลย ตอนนั้นนึกแต่คำของเพื่อนนักจิตวิทยาว่าให้ไปโรงพยาบาลศรีธัญญา เราคิดดูแล้วพบว่าเป็นไปได้ที่ควรจะมาที่นี่เพราะหากมีการนัดครั้งต่อไป เค้าจะสบายมากเนื่องจากใกล้บ้านของเค้าเอง จึงตัดสินใจฝากเค้าไว้กับพี่สาวคนสนิทที่พาแฟนไปตรวจอยู่รามาฯ แล้วเราโทรไปสอบถามว่ายังสามารถไปหาหมอได้หรือไม่ ตอนแรกประชาสัมพันธ์ไม่อยากให้มาเพราะว่ารับลงประวัติคนไข้ใหม่แค่เช้านี้ เกรงว่าจะไปไม่ทัน เรามองดูนาฬิกา ตอนนั้น 09.45 น. เลยบอกทางนั้น "ผมต้องการรักษาเค้าจริงๆ เค้าเหมือนจะเป็นภาวะซึมเศร้าครับ เมื่อคืนอาการเค้ารุนแรงมากแล้วครับ" ประชาสัมพันธ์จึงตัดสินใจบอกว่า "โอเคค่ะ งั้นตอนนี้น้องรีบพามาให้ทันก่อน 11 โมงนะคะ ขึ้นทางด่วนมาเลยได้ยิ่งดี แล้วเดี๋ยวจะนัดหมอให้ ยังไงถึงหน้าเคาท์เตอร์แล้วแจ้งได้เลยนะคะ" ขอบคุณจริงๆ ที่ตอนนั้นพี่ประชาสัมพันธ์เข้าใจเรา สุดท้ายเราร่ำลาพี่สาว ลางานของเราและของเค้าทั้งวัน เพราะคงไปทำงานครึ่งวันไม่ได้แล้ว จากนั้นรีบพาเค้าไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญาทันที 

    และเป็นอีกวันที่สวรรค์เหมือนไม่เป็นใจ เราเช็คจาก Google Maps ว่ารถจะติดขนาดไหน ตอนนั้นเวลา 10.00 น. ทางด่วนมีสีแดงเข้ม แต่เมื่อถามพี่คนขับรถแท็กซี่ "เวลานี้รถฝั่งเราไม่ติดหรอกน้อง วิ่งฉิวสบายๆ" ตอนนั้นเราอยากให้เค้าพาไปอีกเส้นที่ Google Maps แนะนำ แต่พี่เค้าบอกว่าตรงช่วงสะพานมันอาจจะติดนะ เลยตัดสินใจขึ้นทางด่วนเลยก็ได้มันคงไม่ติดหรอก ซึ่งผิดคาด เป็นเช้าที่รถติดบนทางด่วนพอสมควรและยาวนาน จนเราได้แต่ภาวนาในใจว่าขอให้ทันทีเถอะ ส่วนเค้าพอขึ้นรถมาได้คงจะเพลียจากฝันร้ายเมื่อคืนจึงงีบไป ผ่านไป 30 นาทีเรารอดพ้นจากช่วงทางด่วน พี่แท็กซี่จึงรีบขับและหาทางไปศรีธัญญาให้เราแบบเร็วที่สุด ตอนนั้น 10.35 น. เรารีบไปทำรายละเอียดผู้ป่วยใหม่อย่างรวดเร็ว พลางเหลือบไปเห็นป้าย 'วันศุกร์ งดรับทำประวัติผู้ป่วยใหม่ตั้งแต่ 10.30 น.' เลยได้แต่คิดในใจว่าถ้าเค้าไม่รับ เราก็ต้องหาทางให้เค้ารับให้ได้ เรารีบเขียนแบบไม่สนใจความสวยงามแล้วและจัดแจงเอกสารเสร็จจึงไปยื่นดู พี่ทะเบียนมองนาฬิกา 10.43 น. เราได้แต่กุมมือตัวเองว่าขอให้ได้เถอะ แล้วก็เป็นผล พี่ทะเบียนจัดทำประวัติให้ ขั้นตอนจากนั้นก็ซักประวัติ ชั่งน้ำหนักและวัดความดันของเค้าเบื้องต้น แล้วไปหาด่านแรก

    เค้าถูกส่งมาที่ห้องตรวจแรก ห้องนักสังคมสงเคราะห์ ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าให้มาที่ห้องนี้ทำไม ซึ่งตอนแรกเค้าขอเชิญเราเข้าไปก่อน "คนไข้ยังสื่อสารได้ปกติครับ" เค้าไม่รับฟังเหตุการณ์จากเรา แล้วขอเชิญเค้าเข้าห้องไป จากนั้นเราได้แต่รอ... ว่าจะเกิดอะไรไปต่อ ระหว่างรอเค้าเข้าไปในห้อง เราลองมองไปรอบๆ โรงพยาบาล เราพบว่าจริงๆ แล้วศรีธัญญาก็คือโรงพยาบาลทั่วๆ ไป เพียงแต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลนี้ว่าเป็นโรงพยาบาลคนบ้าก็เพราะละครที่สื่อออกมานั่นเอง และโรงพยาบาลนี้เน้นใช้สีฟ้าเพื่อความสบายตาและสบายจิต รวมถึงร้านค้าในโรงพยาบาล ก็มีผู้ป่วยนักจิตเวชเป็นพ่อค้าแม่ขายกัน อาจจะสื่อสารกันทุลักทุเล แต่ก็ได้รอยยิ้มจากคนเหล่านั้นเสมอมา 

    ผ่านไปประมาณ 15 นาที เค้าออกมาจากห้องด้วยหน้าตานิ่งเฉย เค้าบอกว่าในห้องนั้นเพียงแค่ถามอาการเบื้องต้นพร้อมทำแบบสอบถามเรื่องภาวะซึมเศร้า ซึ่งแน่อยู่แล้วว่าเข้าข่ายแน่นอน จากนั้นเราย้ายตัวเองไปที่หน้าห้องตรวจหมายเลข 12 คิวที่ 52 พบว่าเพิ่งตรวจคนไข้ไปแค่ 12 คิว เราเริ่มไม่มีความหวังว่าเราจะได้ตรวจแล้ว ตอนนั้นอยากให้เค้าได้พบหมอสักนิดก็ยังดี ยิ่งมองสีหน้าที่ไม่มีความสุขของเค้าแล้วเรายิ่งเจ็บปวดแทน พอเรานำทะเบียนคนไข้ไปไว้หน้าห้องตรวจ บุรุษพยาบาลจึงบอกให้เราไปห้องตรวจอีกห้องนึง ซึ่งเป็นด่านที่สอง ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยงพอดี พี่เจ้าหน้าที่ห้องนั้นจึงให้เราไปกินข้าวกันก่อน จะได้มีแรง

    ห้องตรวจที่สอง เราได้พบกับ นักจิตบำบัด ห้องนี้เป็นห้องสำคัญที่จะทำให้เราได้รู้ว่าเค้ามีอะไรอยู่ในใจ เค้าจะยอมเล่าเรื่องอึดอัดให้คนแปลกหน้าฟังหรือเปล่าเพื่อความสบายใจของตัวเค้าและเพื่อการวินิจฉัย เค้าถูกเรียกเข้าไปในห้องนั้นร่วมชั่วโมงกว่า เราได้แต่เพียงมองเค้าจากกระจกใสช่องเล็กๆ หน้าห้องว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราพอจะเข้าใจสถานการณ์ว่าเค้าเองไม่พูดอะไรกับนักจิตฯ มากนัก เมื่อเสร็จสิ้นเราได้ถูกเชิญให้เข้าไปนั่งฟังสรุปอาการด้วย สิ่งแรกที่นักจิตฯ ได้บอกกับเราคือ

    โรคซึมเศร้า มันเกิดจากการที่สารเคมีในสมองมันหลั่งออกมาไม่สมดุลกัน ทำให้สภาพอารมณ์บางอย่างมันหายไปจนมีแต่ความเศร้า ฉะนั้น การรักษาจะเกิดขึ้นได้การรักษาด้วยยาเพื่อให้สารเคมีในสมองกลับมาหลั่งได้อย่างสมดุลและจากตัวของเค้าเองที่จะสู้กับมันเพื่อให้พบทางออกของตัวเอง ที่สำคัญการออกกำลังกาย, นั่งสมาธิหรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะหลีกเลี่ยงมัน ไม่ได้ทำให้โรคซึมเศร้าหายไป เพราะมันคือโรค ไม่ใช่อารมณ์

    ทำให้เราเข้าใจกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น และเริ่มเข้าใจเค้ามากขึ้นกว่าเดิม หลังจากนี้จะต้องช่วยกันพยุงเค้าออกมาจากความเศร้า เดินตามเค้าเพื่อหาทางออกของเค้า และค้นพบความเป็นตัวของตัวเองให้เจอ ก็ทำให้เค้ากลับมาเป็นเค้าได้อีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน (เพิ่งทราบว่าห้องนี้เป็นคลินิกซึมเศร้าโดยเฉพาะ ทำให้สามารถรักษาได้อย่างถูกจุดแน่นอน และเรารู้สึกชอบนักจิตบำบัดท่านนี้อย่างมาก ทั้งโทนเสียงในการให้คำปรึกษาและการตั้งคำถามเพื่อให้เราคิดต่อไป)

    สุดท้ายเราถูกพามารอหน้าห้องตรวจที่สาม พบกับ จิตแพทย์ จริงๆ เสียที ตอนนี้เราก็ไม่ได้เข้าไปกับเค้า แต่นั่งรอไม่นานก็ออกมาพร้อมสีหน้าของเค้าที่เริ่มโอเคขึ้น ห้องนี้จิตแพทย์ได้วินิจฉัยโรคแล้ว สรุปว่าเป็นโรคซึมเศร้าแน่นอน จึงแนะนำวิธีการใช้ชีวิตคร่าวๆ ให้เค้าไปและได้สั่งจ่ายยาต่อมา
  • เราไม่รู้ว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีคนพูดว่า 'ไม่อยากอยู่แล้ว' 'ถ้าเราตายไปคงไม่มีใครเสียใจหรอก' 'เหมือนตัวเองไร้ค่าขึ้นทุกวัน' แต่สำหรับเรา คำเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถรับการกระทำของโรคซึมเศร้าได้เลย มันทำให้คนๆ หนึ่งที่ความจะมีความสุขกลับมีแต่ความทุกข์ตลอดเวลา ยิ่งเวลาเราให้ความห่วงใยในตอนที่โรคซึมเศร้ามันกำเริบ มันกลับมองความห่วงใยของเราเป็นสิ่งไร้ค่าและทำให้คนๆ นั้นเข้าใจในการกระทำของเราผิดไป เรายอมไม่ได้จริงๆ ที่มันจะมาทำร้ายเค้าแบบนี้ เค้ายังมีคุณค่าในตัวเอง เค้ายังมีสิ่งที่ต้องทำอยู่อีกมากมาย โลกใบนี้จะหมุนไปอย่างไรก็ช่างโลกหมุน เราต้องลุกขึ้นสู้เพื่อค้นหาและเรียนรู้โลกใบนี้กันต่อไป จากนี้เราจะช่วยให้เค้าออกมาจากบ่อแห่งความเศร้า และเราจะทำลายความกดดันทั้งหลายออกไปจนเค้าสามารถลุกขึ้นยืนและกลับมายิ้มได้ด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่งด้วยตัวเอง เราจะกอดเค้าให้แน่นกว่าทุกวัน เราจะให้กำลังใจกันทุกวัน ขอให้สู้และตั้งมั่นว่าจะกลับมามีรอยยิ้มบนหน้าเพื่อให้ตัวเองมีคุณค่าสำหรับคนรอบข้าง สำหรับพ่อแม่ สำหรับเราและสำหรับตัวเค้าเอง...

    รักษาสุขภาพจิตของตัวเองกันดีๆ นะครับ :)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in