หากมีผู้ใดพูดจาสำนวนโบร่ำโบราณสักหน่อยก็คงจะเคยได้ยินสำนวนที่พูดถึงคนที่ไม่ตรงไปตรงมา พลิกแพลง หรือออกแนวเล่นตัว ว่า ยักกระสาย
สำนวน ยักกระสาย นี้ มีที่มาจากแวดวงการแพทย์แผนไทย และในตำรายาโบราณ สามารถแยกคำออกมาได้สองคำคือ คำว่า ยัก และคำว่า กระสาย
คำว่า ยัก หมายถึง เปลี่ยน สับเปลี่ยน พลิกแพลง แต่ไม่ถึงกับนำเอาของผู้อื่นมาเป็นของตนอย่างในคำว่า ยักยอก
คำว่า กระสาย หมายถึง เครื่องแทรกยาซึ่งใช้เพิ่มลงในเครื่องยาที่ปรุงแล้ว เพื่อเพิ่มฤทธิ์ยาให้มีสรรพคุณยาสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ จึงเรียกว่า น้ำกระสาย หรือ น้ำกระสายยา อาจเป็นน้ำเปล่าต้มสุก น้ำผึ้ง น้ำมะนาว น้ำสุรา น้ำชะเอมต้ม น้ำรากถั่วพูต้ม น้ำผลยอต้มน้ำเปลือกมะรุมต้ม เป็นต้น เครื่องยาชนิดเดียวกันเมื่อเปลี่ยนน้ำกระสายยาก็จะใช้รักษาโรคได้ต่างกัน เช่น ยาขนานเดียวกันเมื่อใช้กระวาน กานพลู อบเชย เป็นต้น บดเป็นผง แล้วใช้น้ำผลยอต้มสุกเป็นน้ำกระสายยา จะใช้แก้อาเจียน แต่ถ้าใช้น้ำรากถั่วพูต้มเป็นน้ำกระสายยา จะใช้แก้อาการอ่อนเพลีย และถ้าใช้น้ำชะเอมต้มเป็นน้ำกระสายยา จะใช้แก้อาการเซื่องซึม เมื่อใช้ยากับน้ำกระสายอย่างหนึ่งแล้วโรคไม่ทุเลา หมอก็จะเปลี่ยนน้ำกระสายยา จึงเป็นที่มาของสำนวนว่า ยักกระสาย
น้ำกระสายยา : น้ำกุกลาบ น้ำกระเทียม น้ำดอกมะลิ น้ำรากผักชี
กระสาย มักสับสนและใช้ผิดไปกับคำว่า กระษัย หรือ กษัย ที่แปลว่าโรคชนิดหนึ่ง เช่น บางคนมักดื่มสุราก่อนนอน หรือหลังอาหาร เมื่อมีคนทักก็จะบอกว่าดื่มเพียงนิดหน่อย พอเป็นกระสัย ซึ่งสำนวนพอเป็นกระสัยก็หมายถึงพอประมาณ นิด ๆ หน่อย ๆ ที่ถูกต้องควรใช้สำนวนว่า พอเป็นกระสาย มากกว่า เพราะกระสาย หรือน้ำกระสายจะใช้แทรกเครืื่องยาเพียงนิดเดียว ไม่มาก ฟังดูเข้าความมากกว่าคำว่า กระษัย ที่หมายถึงชื่อโรค
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in