เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#วิรัลอ่านa week before valentine
เล่มที่ยี่สิบห้า - ในมือเธอมีดอกทานตะวัน (the sun and her flowers)




  • สิ่งใดกันเล่า
    จะแข็งแกร่งกว่าหัวใจคนเรานี้
    ที่แหลกสลาย
    ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ยังไม่ตาย

    -- รูปี กอร์, ในมือเธอมีดอกทานตะวัน

    __

    หลังจากเมื่อปลายปีก่อน "ปานหยาดน้ำผึ้ง" หรือ "milk and honey" ผลงานแรกของรูปี กอร์ (Rupi Kaur) นักเขียนสาวชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียตีพิมพ์เป็นภาษาไทยกับสำนักพิมพ์ Her Publishing เป็นครั้งแรก ปีนี้เราก็ได้เห็นผลงานเล่มที่สองของเธอ "the sun and her flowers" หรือในชื่อภาษาไทยว่า "ในมือเธอมีดอกทานตะวัน" วางจำหน่ายในบ้านเรา

    ใครที่เป็นแฟนผลงานของรูปี กอร์ คงไม่พ้นรีบไปหาอ่านกัน หรือใครที่สนใจแนวคิดสตรีนิยม (feminism) นี่ก็เป็นอีกเล่มของเธอที่น่าสนใจไม่แพ้กัน สำหรับเราที่อ่าน "ปานหยาดน้ำผึ้ง" ไปแล้ว "ในมือเธอมีดอกทานตะวัน" เป็นผลงานที่กอร์ยังคงแสดงให้เห็นแนวคิดและจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจน

    เธอสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม ความเสมอภาพ การลดความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยสอดแทรกเรื่องนั้นผ่านข้อความสะเทือนอารมณ์ ทั้งอารมณ์รักและอารมณ์เศร้า

    ความกอร์ (ขอเรียกแบบนี้) คือ ถึงเธอจะเขียนงานหวาน ๆ ในเล่ม (หวานจนติดน้ำเน่าเลยทีเดียว) แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความเถรตรงของตนเอง และการยืนหยัดในการพึ่งพาตนเองเป็นหลักในงาน กอร์อาจเขียนเรื่องของคนอกหัก หรือคนที่กำลังเศร้า แต่กอร์ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้ และเราไม่จำเป็นต้องทำร้ายตัวเองหรือลดคุณค่าของตัวเองลงเพียงเพราะผิดหวังจากความรัก เราทุกคนมีความงามในแบบของตนเอง -- เราต้องรักตัวเองก่อน

    เปรียบเทียบกันระหว่าง "ปานหยาดน้ำผึ้ง" กับ "ในมือเธอมีดอกทานตะวัน" เล่มใหม่นี้โตขึ้นมาหน่อย เนื้อหาค่อนข้างหนักกว่าเล่มแรก กอร์พูดถึงเรื่อง abuse มากขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัว แล้วก็พูดเรื่องครอบครัวทั้งในแง่ดี (กอร์ดูรักแม่มาก) และแง่ที่ครอบครัวกลายเป็นฝันร้ายให้เด็กบางคน ซึ่งก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจดี (และน่าหดหู่ในหลาย ๆ บท)


    อย่ารู้สึกผิดที่คิดเริ่มต้นอีกครั้ง

    -- รูปี กอร์, ในมือเธอมีดอกทานตะวัน



    กอร์มากับคติว่า 'จง move on' แทบทุกครั้ง จริง ๆ กอร์ไม่ได้ต่อว่าการเศร้าโศกเสียใจจากคนรัก มีหลายคนที่เลิกรากันไปไม่ดี ถูกหักหลัง ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ความบอบช้ำเช่นนี้เราย่อมต้องใช้เวลาเยียวยาตัวเองพักหนึ่ง แต่การที่เราหลุดพ้นจากเรื่องในอดีตไม่ใช่เรื่องที่ควรเสียใจ

    [ข้างล่างนี้ความเห็นส่วนตัว]

    กอร์น่าจะหมายรวมไปถึงหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการถูกทำร้ายทางเพศหรือขมขื่น ความเศร้าของเรื่องพวกนี้คือ เหยื่อมักถูกตั้งคำถามว่าทำอะไรที่เป็นเหตุให้ตนถูกทำร้ายหรือเปล่า หลังจากนั้นยังต้องติดอยู่กับความรู้สึกว่าตนไม่บริสุทธิ์ ตนสกปรก ที่สังคมมอบให้ การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งไม่ใช่ความผิด เราไม่ต้องรู้สึกผิดกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ผิด คนที่ผิดคือคนที่ทำแบบนั้นกับเรา




    งานของกอร์ให้ภาพของหญิงยุคใหม่ที่มีปากมีเสีัยงมากขึ้น กล้าออกมาพูดความต้องการของตนเองจริง ๆ แหวกกฎและม่านประเพณีต่าง ๆ ที่ครอบเพศหญิงเอาไว้ และมองทุกคนอย่างเท่าเทียม -- เป็นหนังสือที่ความคิดเท่ดี

    __

    อ้างอิง
    รูปี กอร์.  (2562).  ในมือเธอมีดอกทานตะวัน.  พลากร เจียมธีระนาถ แปล.  นนทบุรี: เฮอร์พับลิชชิ่ง.


    • ป.ล. ไม่ได้เขียนถึงหนังสือมานานมากกกก จริง ๆ เล่มนี้อ่านจบหลายวันแล้วลืม มีเล่มที่อ่านจบไปแล้วยังไม่ได้เขียนถึงด้วย ไว้ยังไงมาไล่เขียนย้อนหลัง
    • ป.ล. 2 ติดมือถือแล้วสมาธิสั้นลง อ่านหนังสือช้ามาก T_T (แต่เล่มนี้อ่านเร็วเพราะตัวหนังสือไม่เยอะเท่าไหร่)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in