เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#วิรัลอ่านa week before valentine
เล่มที่สิบแปด - ปานหยาดน้ำผึ้ง (milk and honey)

  • ปานหยาดน้ำผึ้ง แปลจากบทกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษเรื่อง 'milk and honey' ของ รูปี กอร์ นักเขียนหญิงเชื้อสายอินเดียสัญชาติแคนาดา (แปลโดยคุณพลากร เจียมธีระนาถ) เป็นหนังสือขายดีของ New York Times Bestseller ติดต่อกันหลายสิบสัปดาห์ และเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมากใน pinterest และ instagram (เสิร์ชแท็กชื่อเรื่องไปนี่ขึ้นรูปเยอะแยะไปหมด)


    หนังสือเล่มนี้มีทั้งคนชื่นชอบและคนโจมตี ประเด็นที่เห็นอยู่บ่อย ๆ คือการที่หลายคน (รวมถึงตัวผู้เขียน) เรียกมันว่าเป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์ แต่มันก็ไม่เห็นจะกวีนิพนธ์สักเท่าไหร่ (อาจจะเรียกว่ากลอนเปล่าได้) แต่ไม่อยากให้คนมองข้ามมันแค่เพราะโดนติเรื่องนี้เลย จริง ๆ แล้วเนื้อความของหนังสือน่าสนใจมาก ๆ

    หนังสือแบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ ๆ คือ รวดร้าว หลงรัก เลิกรา และเยียวยา -- "รวดร้าว" คือการเปิดตัวมาด้วยการพูดถึงความรุนแรงและความเจ็บปวด ในฐานะเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ สถานะทางสังคมของผู้หญิงในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ความรุนแรงเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ที่รุมเร้าจนอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง บทนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมา รวมถึงพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวด้วย

    บทที่เราขอยกมาพูดถึงคือบทต่อไปนี้


    ทุกครั้งคราว
    ที่คุณบอกลูกสาว
    ว่าคุณดุด่าว่ากล่าว
    ด้วยความรักจากใจ
    เท่ากับคุณได้เสี้ยมสอน
    ให้เห็นโทสะเป็นความปรารถนาดี
    ซึ่งดูเข้าท่าเข้าที
    จนถึงวันที่เธอเติบใหญ่
    แล้วไว้ใจชายผู้ทำร้ายเธอ
    เพราะพวกเขา
    ช่างเสมอเหมือนกับคุณ

    - ถึงพ่อผู้มีลูกสาว


    ความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ มักถูกยกไปอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อความรัก แต่มีไม่กี่คนที่ฉุกคิดขึ้นมาว่า การโดนทำรุนแรงซ้ำ ๆ และถูกฝังหัวว่ามันคือความหวังดี อาจจะทำให้คน ๆ หนึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงวงไปซ้ำ ๆ เพราะคิดว่าคนที่ทำร้ายเธอหวังดีกับเธอก็ได้

    (มันทำให้เรานึกถึงข่าวที่ศิลปินเกาหลีวง The East Light โดนโปรดิวเซอร์ทำร้าย น้องที่เป็นเยาวชนบอกกับพ่อแม่ว่าจะอดทน ต้องทนเพื่อให้ได้มีผลงาน ซี่งมันแย่มาก ๆ พอได้เห็นแผลที่น้อง ๆ โดนเอาไม้เบสบอลฟาด เอาสายกีตาร์รัดคอ มันเกินกว่าการทำเพราะหวังดีแล้ว แบบนี้มันโรคจิตชัด ๆ)

    บทถัดมาคือ "หลงรัก" เป็นบทที่เอ่ยถึงความรักในรูปแบบต่าง ๆ การตกหลุมรัก ความคาดหวังต่อความรักและความสัมพันธ์

    เราชอบบทนี้


    เขาถามว่า คุณคิดอย่างไรกับผมเล่า
    ฉันวางมือบนตักเขา
    แล้วกระซิบแผ่วเบาว่า
    คุณคือความหวังทั้งมวล
    ครบถ้วนที่ฉันเคยวาดหวัง
    ในร่างมนุษย์


    จุดเด่นของรูปี คือการเขียนถึงเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา อารมณ์รัก ความปรารถนา ความใคร่ เรียกได้ว่าเปิดเปลือยความรู้สึกแบบที่ไม่ต้องตีความมากมาย มีความเป็นเฟมินิสต์เต็มเปี่ยมในทุกตัวอักษรจริง ๆ (คุณพลากรก็พยายามถ่ายทอดออกมาได้ดีทีเดียว)


    เมื่อหลงรักแล้ว ย่อมมี "เลิกรา" บทนี้ยังคงพูดถึงความรักและความสัมพันธ์ แต่เป็นการกล่าวเหมือนสอนและเตือนใจ บางบทอ่านแล้วเหมือนจะเอาสันหนังสือฟาดให้หน้าชา เรียกสติให้ตื่น เราชอบบทนี้มาก ๆ


    ฉันไม่รู้จักความพอเหมาะพอดี
    ยามโศก
    ฉันไม่เพียงร้องไห้ แต่ร่ำไห้
    ยามสุข
    ฉันไม่เพียงยิ้ม แต่ชื่นบาน
    ยามโกรธ
    ฉันไม่เพียงโวยวาย แต่เดือดดาล

    เป็นคนอารมณ์รุนแรงนั้นดี
    ตรงที่เวลารักใคร ฉันจะพาเขาโบยบิน
    แต่แท้จริงแล้ว
    นั่นอาจไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยนัก
    เพราะคนรักมักจากลา
    และใครได้มาเห็นย่อมรู้ว่า
    ยามร้าวรานใจ
    ฉันไม่เพียงเศร้าสลด
    ฉันแหลกสลาย


    (ส่วนตัวชอบ ยามร้าวรานใจฉัน ไม่เพียงเศร้าสลด ฉันแหลกสลาย มาก ๆ ชอบจังหวะคำ ไม่รู้ว่าคุณพลากรตั้งใจไหม แต่ชอบจริง ๆ ค่ะ)

    บทนี้เห็นภาพดี คนเรามักทุ่มเทให้กับอะไรบางอย่างเกินไปจนลืมเผื่อใจ ผลกลับมาเลยรุนแรงพอ ๆ กับตอนที่เทใจให้ไป ยิ่งรักมากเท่าไหร่ ยิ่งแหลกสลายมากเท่านั้น


    ส่วนบทสุดท้ายคือ "เยียวยา" จะเรียกว่าเป็นบทสรุปก็ได้ หลังจากผ่านเรื่องราวอันแสนสาหัสในชีวิตกันมามาก เราว่าบทนี้เหมาะกับการส่งให้คนที่เรากำลังห่วง หรือกังวลเกี่ยวกับเขาอ่านมาก ๆ มีหลายบทที่อ่านแล้วรู้สึกให้กำลังใจ

    เราชอบอันนี้ เหมาะกับคนทำงานสร้างสรรค์ดี


    ไม่สำคัญว่า
    มีใครกี่คน
    ชื่นชอบงานศิลปะของเรา
    แต่สำคัญว่า
    ตัวเราเองนั้น
    ชอบมันมากแค่ไหน
    ซาบซึ้งตรึงใจเพียงใด
    และเราทำมัน
    จากใจจริงหรือไม่
    จงอย่าละทิ้ง
    ความจริงใจ
    เพียงเพื่อ
    เอาใจใคร

    - ถึงกวีหนุ่มสาว


    (FYI: รูปี กอร์ คือนักเขียนคนหนึ่งที่โดนโจมตีอย่างหนักเพราะงานของเธอหัวรุนแรงเกินไป และไม่เป็นที่ชอบใจของคนที่เห็นต่างกับเฟมินิสต์ เธอให้สัมภาษณ์กับเอ็มม่า วัตสัน ใน Our Shared Shelf ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสิ่งที่เธอเขียนคล้ายกับการมีคนรัก และเธอไม่ต้องการให้มือที่สามเข้ามายุ่มย่ามเรื่องระหว่างเธอกับงานของเธอ -- แนวคิดแบบนี้ก็เจ๋งดีนะ 555)


    หลายคนอาจจะมองว่า เราจะมั่นหน้าในงานของเราไปไหน 55 แต่ไม่ว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ อย่างน้อยเราต้องมีความเคารพในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา และภูมิใจในมัน เราคิดว่าบทนี้ตั้งใจจะสื่ออย่างนั้นนะ


    พออ่านจบก็พอจะเข้าใจว่าทำไมมันถึงขายดีนัก หนังสือเล่มนี้มีช่วงให้หยุดคิดหลายบทเลย บางบทอ่านไปแล้วต้องพักก่อน บางบทกระแทกใจมาก บางบทไม่ตรงใจก็อ่านผ่าน ๆ ไป แต่ภาพรวมคือของดี สมควรอ่านสักครั้ง

    และอย่าลืม รักตัวเองให้มาก ๆ นี่คือหนังสือที่ตั้งใจจะสื่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุด


    แหล่งอ้างอิง

    • รูปี กอร์.  (2561).  ปานหยาดน้ำผึ้ง.  พลากร เจียมธีระนาถ แปล.  เฮอร์ พับลิชชิ่ง: นนทบุรี.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in