สถานที่เอาต์ดอร์ต่างๆ ช่วงเทศกาลล้วนเต็มไปด้วยผู้คน ร้านอาหารไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่มีแต่ลูกค้า คิวออเต็มหน้าร้าน ขายดีกันถ้วนหน้าโดยไม่ต้องรอให้แม่ช้อยมารำเชียร์ ที่เที่ยวแลนด์มาร์กหนาแน่นไปด้วยฝูงชนจากทั่วสารทิศ จนทำให้การเซลฟี่โดยไม่ติดหน้าคนอื่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะแวบไปเล่นทะเล ก็ว่ายไปชนเข้ากับคนอื่น ได้แต่ลอยตัวตุ๊บป่องๆ อยู่อย่างนั้น หนีขึ้นเขาก็เจอคณะทัวร์มากันเป็นกลุ่มๆ กางเต็นท์จองที่พักกันตั้งแต่หัววัน หนีไปย่านถนนแถวที่พักก็มีแต่ของขายจนแทบไม่มีทางเดิน จะลองขับรถเล่นรอบตัวเมืองแม่งก็ติดแหง็กตั้งแต่ยังไม่ออกไปไหน
สุดท้าย ได้แต่เดินคอตกกลับที่พัก นอนอ้อยอิ่งบนเตียงนุ่มๆ และเล่นเน็ต (ร้องไห้)
หลายคนพอเจอแบบนี้ก็เริ่มหาทางออก คิดใคร่ครวญถึงความหมายของการเดินทาง เริ่มคิดว่าการเที่ยวในเมืองไทยแม่งไม่ใช่แล้วล่ะ อุตส่าห์นั่งรถจนก้นด้าน ทำไมกูต้องมาเจอคนเยอะขนาดนี้ ไหนล่ะความรื่นรมย์
ว่าแล้วก็จองตั๋วบินไปต่างประเทศดีกว่า!
ตัดภาพไป เจอคนไทยเหมือนเดิม เฮ
ในส่วนนี้ต้องขอขอบคุณสายการบินในประเทศไทยอีกครั้งที่สนับสนุนให้คนไทยบินได้ แห่กันบินออกนอกประเทศกันทั้งวันทั้งปี จนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เจอคนไทย ยิ่งช่วงหน้าเทศกาลนี่พีคมาก ไม่ว่าจะไปลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว เปียงยางก็ต้องได้ยินเสียงคนไทย รู้สึกอบอุ่นเหมือนเดินอยู่อนุสาวรีย์ชัยฯ มากๆ
อันที่จริง พอไปเที่ยวแล้วเจอปรากฏการณ์คนทะลักหรือคนไทยอิสเอฟเวอรี่แวร์ก็เริ่มสงสัยว่าเราจำเป็นต้องเที่ยวช่วงเทศกาลมั้ย ไปเที่ยวช่วงอื่นได้หรือเปล่า ลองเปลี่ยนไปเที่ยวช่วงก่อนหรือหลังเทศกาลบ้างก็ได้ ซึ่งเท่าที่ลองมา ผมว่าทฤษฎีนี้นั้นน่าสนใจ คนหายไปอย่างเห็นได้ชัด มีคนไปเที่ยวบ้างประปราย แต่ก็ไม่เยอะมาก เพราะการไปช่วงเวลาแบบนี้เหมาะกับคนที่มีวันหยุดเหลือ ฟรีแลนซ์ หรือคนที่ชอบไปเที่ยวคนเดียวเป็นพิเศษ
ส่วนคนที่มีเพื่อนเยอะ มีแฟน มีครอบครัว กว่าจะเคลียร์คิวกันได้ลงตัวก็นู่นแหละครับ
(เปิดปฏิทิน)
‘วันหยุดยาว’
แม้จะรู้ว่าต้องเจอกับคนเยอะ ต้องฝ่าฟันจองที่พัก ขยันหาโปรโมชั่น แต่การมีคนไปเที่ยวด้วย ไม่ว่าช่วงเวลานั้นจะวุ่นวายขนาดไหน ข้อดีก็คือ เรายังมีคนให้หันไปบ่นใส่
แค่นี้ ผมก็เริ่มกลัวการเที่ยวช่วงเทศกาลน้อยลง
กริ๊งงงง
“เฮ้ย ไอ้กาย สงกรานต์มึงว่างปะ ไปเที่ยวกัน”
“ไม่ว่างว่ะ ปิดเล่ม”
…
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in