เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็นSALMONBOOKS
03: ใช้ถนนร่วมกัน


  • ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นทรัพยากรส่วนกลาง มีค่าและมีอยู่จำกัด จึงต้องจัดสรรแบ่งปันให้ยุติธรรม

    ความคิดที่ว่าถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์ คือต้นตอปัญหาสังคมเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการวางผังเมืองและวิศวกรรมการออกแบบถนนในบ้านเรา ทำให้ผังเมืองมีรูปแบบที่เหมาะสมต่อรถยนต์เป็นหลัก แทบทุกคนอยากมีรถยนต์ไว้ใช้ ถนนหนทางจึงแน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ส่วนตัว เข้ามาล้ำพื้นที่ของเลนรถเมล์ซึ่งควรเป็นสิทธิของมวลชนหมู่มาก

    เมื่อรถติดขยับไปไหนไม่ได้ มอเตอร์ไซค์ก็เข้ามาตอบโจทย์สอดแทรกลัดเลาะตามช่องว่างระหว่างรถ และป่ายปีนขึ้นทางเท้าล่วงล้ำสิทธิคนเดินถนน แถวบ้านของผู้เขียนก็มีรถยนต์ชอบปีนขึ้นมาจอดอยู่บ่อยๆ ช่วยกันพ่นไอเสีย ทำลายอากาศหายใจ สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

    ไฟจราจร ทางข้ามถนน ระบบเดินรถ ทั้งระบบวิ่งทางเดียว คู่ขนาน และยูเทิร์น ทั้งหมดออกแบบให้กับรถยนต์ โดยที่ผู้ใช้ถนนอื่นๆ มีสภาพคล้ายลูกเมียน้อย ต้องทำตัวลีบๆ ลนลานคลานผ่านเท้าคุณนาย หลบหลีกอารมณ์เกรี้ยวกราดของหญิงเล็กที่เอาแต่ใจ
  • มีไฟจราจรมากมายหลายแยกที่ไม่มีจังหวะหยุดให้คนข้ามถนน เพราะอนุญาตให้รถเลนซ้ายวิ่งได้ตลอด ทำให้ต้องยืนปิดจมูกรอกันนานกว่าจะได้ข้าม

    เพราะเราคิดว่าถนนเป็นคฤหาสน์ของรถยนต์ รถยนต์จึงเบ่งครองเมืองได้เต็มที่ วิถีเบ่งด้วยพละกำลัง ไม่ใส่ใจผู้อ่อนแอกว่ากลายเป็นวิถีปกติที่เรายอมรับสภาพและถ่ายทอดให้ลูกหลาน

    ปัญหาการล่วงเกินสิทธิวิถีสัญจรทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดมลพิษสามารถบรรเทาได้ไม่ยาก แค่ปรับรายละเอียดรูปแบบถนนที่มีอยู่แล้วเพิ่มเติมอีกหน่อย แต่ทุกคนต้องปรับความเข้าใจก่อนว่า ถนนเป็นพื้นที่ของทุกคน เราทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นแขกผู้มาเยือน เป็นผู้ขอยืมใช้ทรัพยากรส่วนรวม

    นั่นหมายความว่าเราต้องมีกติกาการใช้ถนนร่วมกัน

    ‘เรา’ หมายถึงผู้ใช้ถนนสัญจรด้วยยานพาหนะต่างๆ เช่นรถเมล์ รถเก๋ง รถบรรทุก รถแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์ รถเข็น สามล้อถีบ จักรยานปั่นสองล้อ และคนเดิน ส่วนผู้ใช้ถนนหนทางเพื่อกิจกรรมอื่น เช่น ขายของประท้วงรัฐบาล ฯลฯ เป็นคนละประเด็นกัน ขออนุญาตไม่พูดถึง

    เราจะตกลงกติกากันไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจมุมมองและความต้องการของแต่ละฝ่าย ทุกวันนี้เรารู้ความต้องการของคนขับรถยนต์ เราเข้าใจหัวอกคนขึ้นรถเมล์และคนเดินถนน (แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าไรก็ตาม) จะมีก็แต่ความต้องการของผู้ใช้จักรยานที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก

    อันที่จริง จักรยานก็มีคุณสมบัติที่ต่างและคล้ายกับการสัญจรรูปแบบอื่นๆ เช่น ปลอดมลพิษเช่นเดียวกับการเดิน สามล้อถีบและรถเข็น แต่ปราดเปรียวกว่า เวลาการจราจรคล่องตัวอาจเคลื่อนที่ช้ากว่ารถยนต์และมอเตอร์ไซค์ แต่ในสภาพการจราจรติดขัดก็สามารถแซงรถยนต์ได้สบาย
  • จุดด้อยของจักรยานก็คงเป็นเรื่องการทรงตัวบนสองล้อ ทำให้เสียสมดุลได้ง่าย อีกทั้งจักรยานไม่ได้ใช้เครื่องยนต์จึงค่อนข้างเงียบ บวกกับมีขนาดเล็ก ผู้ใช้ถนนคนอื่นจึงมักไม่ได้ยิน หรือมองไม่เห็น

    จักรยานจึงต้องการลู่วิ่งที่แยกจากคนเดินและรถเครื่องทั้งหลาย เพราะความเร็วนั้นไม่สอดคล้องกับการสัญจรอื่น และยังต้องการพื้นที่กันชน-กันล้มเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย

    ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอกติกาการใช้ถนนร่วมกับจักรยาน 10 ข้อ

    หลายข้อเป็นกติกาสากล หลายข้อเกิดจากการสะสมประสบการณ์ของผู้เขียนเอง หลายข้อเกิดจากสามัญสำนัก และมีบางข้อที่เป็นกรณีเฉพาะของกรุงเทพฯ ที่ต้องขอความเห็นใจกัน

    หนึ่ง—เมื่อขับผ่านจักรยานให้เว้นระยะห่างระหว่างรถยนต์และจักรยานประมาณหนึ่งเมตร อย่าเฉี่ยวผ่านใกล้ๆ

    สอง—ไม่ขับรถทับเลนจักรยาน (ในกรณีที่ถนนเส้นนั้นมีเลนจักรยาน)

    สาม—จอดรถยนต์ด้านนอกเลนจักรยาน อย่าจอดทับเลน อันนี้เป็นกฎระเบียบตามกฎหมายที่ไม่มีใครรู้

    สี่—เมื่อจะเปิดประตูรถ โปรดระวังจักรยาน

    ห้า—เมื่อจะเลี้ยวซ้ายหรือหยุดจอดรถ โปรดให้สัญญาณไฟและดูดีๆ ก่อนเลี้ยว ระวังตัดหน้าจักรยาน

    หก—เมื่อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ต้องจอดรอสัญญาณไฟจราจร โปรดเว้นพื้นที่ด้านหน้าให้จักรยานจอด เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นจักรยานออกรถตอนไฟเขียว
  • เจ็ด—บางครั้งจักรยานไม่สามารถขี่ชิดซ้ายได้ เพราะต้องหลีกเลี่ยงฝาท่อหรือร่องอันตรายบนผิวถนน พื้นผิวพวกนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อรถยนต์ แต่เป็นมหาภัยแก่จักรยาน ทำให้ล้มได้ง่ายๆ ช่วยเห็นใจและใจเย็นรอหน่อยนะคุณพี่ คิดเสียว่าการมีจักรยานหนึ่งคันบนถนน ทำให้รถยนต์บนถนนน้อยลงไปหนึ่งคัน กินที่น้อยกว่ากันเยอะ และเมื่อพ้นอุปสรรคตรงนั้น เดี๋ยวจักรยานก็จะชิดซ้ายหลีกทางให้คุณวิ่งสบายแล้ว (แต่อย่าลืมกติกาข้อหนึ่งก็แล้วกัน)

    แปด—ไม่ขายของหรือตั้งสิ่งกีดขวางทางจักรยาน

    เก้า—คนข้ามถนนอย่าใจลอย ดูดีๆ ก่อนก้าวลงถนน จักรยานไม่มีเสียง คุณชนจักรยาน คุณอาจจะแค่เจ็บ แต่เมื่อจักรยานโดนคุณชนแล้วล้มบนถนนที่มีรถวิ่ง อาจทำให้ผู้ขี่ตายได้ง่ายๆ ผู้เขียนเคยโดนมาแล้ว ทิ้งฟันหน้าหนึ่งซี่ไว้บนถนนที่ลอนดอน และในกรุงเทพฯ ก็เคยเช่นกัน โชคดีที่แค่เข่าถลอก

    สิบ—จักรยานวิ่งบนทางเท้าได้และใช้ทางม้าลายข้ามถนนได้ แต่ต้องเคารพสิทธิคนเดินเป็นอันดับหนึ่ง

    แน่นอนว่าจักรยานก็ควรปฏิบัติตามกฎจราจรเช่นเดียวกับพาหนะอื่นๆ รู้จักหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย และอย่าลืมติดไฟรอบตัวให้สว่างเพื่อให้คนอื่นเห็นเวลาปั่นตอนกลางคืน เพราะต้องเข้าใจว่าคนขับรถทรงสูงๆ อย่างรถเมล์หรือรถบรรทุก จะมีมุมอับที่ทำให้มองไม่เห็นวัตถุเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ทางที่ดีก็อย่าเข้าไปประชิด

    ทั้งหมดนี้คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งทำได้ไม่ยากถ้าลองหาประสบการณ์ร่วมกัน คนขี่จักรยานลองกลับไปขึ้นรถเมล์ และคนขับรถยนต์ลองหาโอกาสขี่จักรยาน

    โลกทัศน์จะมีหลากสีได้ด้วยมุมมองที่หลากหลาย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in