คำนิยม: สายตาพิเศษ
ชื่อหนังสือ เมืองที่มองไม่เห็น ประจวบเหมาะกับความรู้สึกที่ผมมีต่อพี่อ้อย—สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว พอดิบพอดี
ตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน, ผมรู้สึกว่าความพิเศษของพี่อ้อยอยู่ที่ ‘สายตา’ พี่อ้อยสามารถมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เป็นสายตาที่เฉียบคม ลุ่มลึก และ (สำหรับผมเอง) น่ากลัวหน่อยๆ เพราะเมื่ออยู่ต่อหน้า ก็คล้ายกับว่าเราจะหลบหรือซ่อนอะไรจากพี่อ้อยไม่ได้เลย ตอนเจอกันครั้งแรกๆ พี่อ้อยมองเพียงปราดเดียวก็อธิบายตัวผมได้ตรงเผงจนทำให้หวั่นใจ เป็นสายตาราวกับมองทะลุทุกอย่างและทุกคนเข้าไปจนถึงแก่น
เมื่อเราเสพสื่ออย่างเดียวกัน บางคนอาจมองสื่อนั้นในเชิงความบันเทิงหรือพิจารณาที่แก่นเรื่อง แต่สายตาของพี่อ้อยนั้นมองแตกต่างออกไป ในขณะที่เรากำลังพูดคุยกันถึงความสมจริงของภาพยนตร์ไซไฟ พี่อ้อยพิจารณาความสมจริงของภาพยนตร์เรื่องนั้นด้วยการมีหรือไม่มีอยู่ของ Algae ในขณะที่พวกเราเล่นบอร์ดเกมอย่างสนุกสนาน พี่อ้อยก็เพลิดเพลินไปกับการพิจารณาความถูกต้องของพันธุ์นกที่วาดอยู่บนกระดาน
จะให้ทำเป็นมองไม่เห็นก็คงไม่ได้ เพราะธรรมชาติคือชีวิตของเธอ
ความรู้สึกเช่นนั้นมีอยู่ครบถ้วนใน
CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น พี่อ้อยชี้ให้เรามองดูรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวที่ไม่ ‘เล็กน้อย’ อย่างขนาด เธอพาไปสำรวจประเด็นที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่มาก่อน—หรือถ้าให้ใจร้ายไปกว่านั้น ก็เป็นประเด็นที่เรารู้ว่ามีอยู่แต่ไม่เคยสนใจหรือเห็นค่าความสำคัญของมัน เป็นงานเขียนที่เฉียบขาดและแม่นยำ พี่อ้อยถักทอองค์ความรู้ทั้งเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ สานเป็นเรื่องราวเดียวอย่างไร้รอยต่อ
คุณจะทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อรู้เรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง
CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น เป็นการรวบรวมงานเขียนที่เหมือนกับรถไฟเหาะ บางตอนทำให้คุณตาสว่าง บางตอนทำให้ตัวเบา บางตอนทำให้รู้สึกหนักอึ้ง และที่สำคัญที่สุด บางตอนทำให้เรารู้สึกตัวลีบ—สำคัญตนน้อยลง ให้ความสำคัญกับโลกรอบข้าง และ ‘มองเห็น’ มันมากกว่าเดิม
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
บรรณาธิการบริหาร The MATTER
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in