เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กสมัยนี้โตไวเนอะKyokung Worawut K
การศึกษา (New beginning 5)
  • มันไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ที่รักและหวังดีกับลูก อยากเห็นลูกได้ดี ตัวเองจะได้พลอยสบายไปด้วย โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ลูกรักของเราในวันนี้ มันจะเป็นลูกอัปรีย์ ได้ดีแล้วลืมพ่อแม่รึเปล่า บางรายแทบไม่มีจะแดก แต่ก็ยังเจียดเงินให้ลูกเรียนพิเศษ เด็กหลายคนไม่ชอบ เพราะอยากมีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อความรู้สึกตัวเอง กลับต้องจำใจไปเรียนพิเศษตามที่พ่อแม่ขอร้องแกมบังคับ เพราะถือเป็นการเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หากสอบตกหรือเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ไม่ได้ขึ้นมา จะได้ไม่มีใครตำหนิ เพราะถือว่าได้ทำตามสั่งแล้ว (อย่างน้อยก็ไปสมัครเรียน แต่จะเข้าเรียนหรือไม่ อย่าให้ท่านทราบเชียว)



    พ่อแม่ที่จน ยอมลงทุนระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว ด้วยการให้ลูกเรียนกวดวิชาเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐได้ จะได้ลดภาระค่าเล่าเรียน เพราะถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเป็นไหนๆ แถมยังได้ความภาคภูมิใจที่ลูกได้เป็นหนึ่งในช้างเผือกอีกด้วย พ่อแม่ที่รวยก็เช่นกัน แต่จะเห็นประโยชน์ของการเข้ามหาวิทยาลัยรัฐในแง่ของการมีหน้ามีตาในสังคม มี connection ในการหางานมากกว่า ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือนาดาวบางกอกและ GDH เกือบทั้งบริษัทจบนิเทศจุฬาทั้งนั้น ก็เลยสงสัยว่าจิตใต้สำนึกของพวกเขาคิดว่า ถ้าไม่ใช่พวกเรา แปลว่าไม่เก่งเท่ารึเปล่า แค่เข้าสถาบันเดียวกับเรายังทำไม่ได้ และคิดไปเองว่า เราก็หนึ่งในตองอูนะเว้ย ใครไม่ถึกไม่ทนเท่าเรา ไม่ได้ทำกิจกรรมมากมายหลากหลายแบบที่เราเคยผ่าน แปลว่าไม่เก่ง ไม่ดี ไม่มีความสามารถ เราไม่ต้องการ! ทั้ง ๆ ที่ทุกสถาบันก็มีกิจกรรมมากมายไม่แพ้กัน และจะถึกจะทนหรือไม่มันอยู่ที่คนไม่ใช่ที่สถาบัน (ถ้าลึก ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องดีดดิ้นเดือดร้อน เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิด สมัยก่อนพวกซูโม่สำอางก็ถาปัตย์จุฬาทั้งนั้น ต่อมาก็มีหนังกลิ่นสีและกาวแป้ง อันเต็มไปด้วยเด็กศิลปากร และรายการทีนทอล์คซึ่งอุดมไปด้วยเด็กอินเตอร์โรงเรียนเดียวกัน)



    ไม่จำเป็นต้องให้พ่อแม่หรือใครบังคับ เด็กไทยหลายคนก็สมัครใจจะเรียนกวดวิชาเหมือนกัน ติวนั่นติวนี่กันได้ตลอด จนไม่มีเวลาติ้วนี่ติ้วนั่นแล้ว ประมาณว่า ลองทำกิจกรรมนอกหลักสูตรให้หลากหลายเข้าไว้เพื่อค้นหาความชอบและความถนัดของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ผิด คิดได้อย่างนี้ดีออกด้วยซ้ำ เวลาใครถาม “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” จะได้ตอบถูก แม้ว่าพอใกล้จะเรียนจบจริงๆ คำถามจะเปลี่ยนเป็นแค่ว่า “เรียนจบกูจะเอาอะไรแดกวะ” ก็ตาม และคำตอบของคำถามนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปจากตอนเด็ก เหลือแค่เพียง ทำงานอะไรก็ได้ ขอให้สบายๆ เจ้านายไม่เรื่องมาก ลูกค้าไม่งี่เง่า ซึ่งจะเจอไหมก็ไม่รู้ แล้วถ้าโชคดีได้เจอสมใจนึกบางลำพู มันจะใช่สิ่งที่เราต้องการจริงหรือ จะไม่เบื่อแย่เหรอที่ไม่มีอะไรหวือหวาท้าทายสักวัน คนเรามักได้คืบจะเอาศอก ไม่เห็นค่าในสิ่งที่ตัวเองมีหรอก อยากได้ความก้าวหน้า ไขว่คว้างานในฝัน กลายเป็น dilemma หนีเสือปะจระเข้ ทำไปเครียดไป ถ้าไม่ฝันอะไรเกินจริงจนสุดโต่ง ก็คง play safe ทำตามคนหมู่มาก ซึ่งไม่ผิดไง ชีวิตเรา เอาให้รอด อยากเป็นเด็กแนว นอกกรอบ ก็ต้องรู้ก่อนว่ากรอบมันคืออะไร ไม่ใช่มั่นหน้าว่าเก่ง ทำตัวแรงไม่ถูกที่ถูกเวลา แล้วอ้างว่าเป็นคนพูดตรง จริงใจ หรือสักแต่ว่าใจรัก พากเพียรแล้วไปตายเอาดาบหน้า อย่าลืมว่าคุณไม่ใช่ “สิงโต นำโชค” ที่ลาออกจากงานโรงกลึงไปเดินสมัครเป็นนักร้องตามร้านอาหารแล้วดันโชคดีมีชื่อเสียงเงินทองอย่างในทุกวันนี้นะ



    ก็แปลกดีที่คนไทยลงทุนมหาศาลไปกับการส่งลูกเรียนอนุบาลจนจบปริญญา ค่ากวดวิชา ค่าเครื่องแบบ เครื่องไม้ เครื่องมือ เป็นแสนๆ ยังไม่สาแก่ใจพอ ต้องเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือแผ่นกระดาษไม่กี่ใบกันอย่างเอิกเกริก ด้วยค่าแต่งหน้าทำผมบัณฑิต ขนญาติโยมเพื่อนฝูงคอมโบเซ็ต ถ่ายภาพเป็นที่ระทึกทุกรูขุมขน เข้าใจว่าคงอยากจะขอเป็นพระเอกนางเอกสักวันในชีวิต เพราะไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้มีรูปงานแต่งสวย ๆ ไหม โดยที่ลึก ๆ แล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่า เงินที่ได้จากการทำงานตลอดชีวิตจะใช้คืนพ่อแม่ได้หมดรึเปล่า





    จบปริญญาไม่จำเป็นว่าจะเก่งฉกาจกว่าจบวิชาชีพเฉพาะทางหรือไม่จบอะไรเลยก็ได้ educate กับ graduate มันไม่เหมือนกัน คนที่เรียนหนังสือแต่ไม่มีการศึกษาก็มีให้เห็นกันถมไป


    In Loving Memory | เนื้อหาไม่เกี่ยวข้อง แต่เราใส่ภาพและเสียงเพื่อระลึกถึงแตงโม

    เพิ่มเติมอรรถรสได้ที่ 1 2 3 4

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in