เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กสมัยนี้โตไวเนอะKyokung Worawut K
การศึกษา (New beginning 1)
  • น้องฉันเรียนมัธยมโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าหลายโรงเรียนย่านใจกลางเมือง ฉันอัศจรรย์ใจกับตารางเรียนของน้องมาก เพราะนอกจากมันจะมีเพียงวันละ 7 วิชาเท่ากับโรงเรียนมัธยมในอเมริกาแล้ว มันยังมีวิชาภาษาจีนและยูโดให้เรียนกันตั้งแต่ม.1 อีกด้วย


    บางโรงเรียนมีการเรียนการสอนภาษาจีนตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ ในขณะที่บางโรงเรียนต่างจังหวัดมีเพียงสายวิทย์กับสายศิลป์ ไม่ได้แยกลงไปว่ามีศิลป์อะไรบ้าง เพราะไม่มีบุคลากรในการสอนภาษาต่างประเทศเพียงพอ

    เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ฉันเคยสอบถามโรงเรียนดังหลายแห่ง ว่ารับสมัครครูสอนการแสดงไหม ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง หนึ่งในคุณสมบัติที่ว่าก็คือต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งนอกจากสาขาศิลปะการแสดงศึกษาในมศว ซึ่งเป็นสายตรงของครูสอนการแสดงแล้ว ฉันไม่เห็นว่าจะมีสถาบันไหนอีกที่จะผลิตครูสอนการแสดงที่จบมาพร้อมใบประกอบวิชาชีพได้ ถือว่าเป็นการจำกัดการว่าจ้างงานอย่างมาก และอีกอย่าง น้อยคนนักที่จะเห็นว่าการแสดงเป็นสิ่งที่เด็กมัธยมจำเป็นต้องเรียน เพราะผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาหลายคนยังคิดว่าการแสดงเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ มีน้อยสถานศึกษาที่จะรับผู้ที่จบสายการแสดงโดยตรงเป็นครูก่อนแล้วจึงส่งไปสอบใบประกอบวิชาชีพภายหลัง เว้นแต่ว่าถ้าคนที่ชักชวนมาสอนเป็นคนรู้จัก เรียกได้ว่าบ้านนี้เมืองนี้เส้นสายสำคัญทุกอาชีพ และใบประกอบวิชาชีพยังสำคัญต่อการเป็นครูในโรงเรียน ทำราวกับเป็นเครื่องรับประกันว่าครูที่มีมัน จะมีความชอบธรรมและเที่ยงตรงในการตัดสินชีวิตคนด้วยคะแนน และไม่มีวันทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคนของเด็กอย่างนั้นแหละ ทั้งที่จริง ใจคนเรายากแท้หยั่งถึง ถึงได้มีข่าวครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กหรือขโมยผลงานสร้างสรรค์ของเด็กมาเป็นของตนอยู่เนืองๆไง ถ้าไม่เชื่อลอง search คำว่า "ครูขโมยผลงานนักเรียน" ใน google ดูก็ได้

    ยูโดก็ด้วย ถ้าโรงเรียนไหนค่อนข้างมีชื่อเสียงในกีฬาประเภทนี้ แสดงว่าโรงเรียนนั้นต้องมีบุคลากรที่อย่างน้อยก็พอสอนได้ เพราะคนที่เก่งฉกาจเขาก็ไปเป็นนักกีฬากันหมด ไม่มาเป็นครูหรอก ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องวัย หรือขาดโอกาสบางอย่างไป เพื่อนฉันคนหนึ่งที่อยู่โรงเรียนคุณหนูผู้ดีอีลีทชน บอกว่าที่โรงเรียนของเขาไม่มีเรียนยูโด และเขาก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองพลาดอะไร เพราะไม่ได้ชอบวิชาพละอยู่แล้ว แต่มันเป็นวิชาบังคับของการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลก ยกเว้น high school of performing arts บางแห่งในอเมริกาที่ถือว่าการเต้นเป็นการออกกำลังกายอยู่แล้ว


    สมัยที่ฉันเรียนยูโด ทีแรกต้องหัดตบเบาะก่อน ซึ่งฉันก็เข้าใจว่ามันเป็นการซ้อมเซฟตัวเองให้เจ็บน้อยลงเมื่อถูกคู่ต่อสู้ทุ่มในการแข่งขัน แต่ถ้าเอาไปใช้ในชีวิตจริงล่ะ ถ้าเราถูกคนร้ายจับทุ่มลงบนกองไฟหรือเศษกระจก เรามิต้องตบพื้นจนมือแหลกแขนไหม้กันไปข้างหรือ แล้วพอจะสอบเก็บคะแนนท่าทุ่มที่ถูกวิธี ต่อให้เพื่อนที่คุณจับทุ่มตัวหนายิ่งกว่าท่อพีวีซีห่อปูนซีเมน เราก็จะทุ่มเพื่อนได้อย่างงดงาม เพราะเรานัดแนะกันมาก่อน จะได้สอบผ่านง่ายๆ แต่ถ้าในการแข่งขันหรือในชีวิตจริง คนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาจะบอกคนร้ายก่อนจับทุ่มว่าให้ช่วยเด้งตัวลงไปกองกับพื้นได้เหรอ?


    อ่านถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าฉันกำลังดูถูกวิชาพละนะ กลับกันเสียอีก วิชาพละไม่ว่าจะเรียนจะสอนกีฬาอะไรมันก็มีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะนอกจากจะเสริมสร้างสุขภาพจากการออกกำลังกายแล้ว ยังทำให้เด็กได้ค้นหาตัวเองว่าถนัดกีฬาประเภทใดบ้าง (หรือไม่ถนัดกีฬาเลยก็ไม่แปลก) จากการได้เรียนรู้และทดลองเล่นกีฬาที่แตกต่างกันไปในแต่ละเทอมด้วย จะมีสักกี่วิชาล่ะที่เด็กได้ปฏิบัติจริง?

    ที่มาภาพ UCLA (ถ่ายเมื่อปี 2011), Fame (1980), เด็กใหม่

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in