เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Miscellaneapiyarak_s
Do You Hear What I Hear?: เคยได้ยินเพลงคริสต์มาสเหล่านี้กันบ้างไหม
  • ถ้าให้พูดชื่อเพลงคริสต์มาสที่ได้ยินกันบ่อยๆ สักสามชื่อ หลายคนคงจะคิดถึงเพลง Jingle Bells ที่มีเสียงกระพรวนกรุ๋งกริ๋งประกอบ หรือไม่ก็ All I Want for Christmas is You ของมารายห์ แครี่ที่กลายเป็นเพลงฮิตตั้งแต่ปล่อยอัลบั้มเพลงคริสต์มาสออกมา แต่โดยภาพรวมแล้ว เพลงคริสต์มาสที่เราได้ยินตามห้าง ตามงานต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันก็มักจะให้บรรยากาศของความรื่นเริงบันเทิงใจ ความสดใสที่มาพร้อมกับแสงสีเสียงแบบชุดใหญ่ไฟกะพริบ (ความหมายตามตัวอักษร) และสำหรับบางคนก็เป็นความรำคาญมากกว่าสำราญ เพราะต้องฟังเพลงสุดแสนลั้นลาในโทนเดียวกันทั้งวัน และในต่างประเทศก็อาจจะต้องฟังกันเป็นเดือน ๆ (มีงานวิจัยว่า การโดนเพลงคริสต์มาสกรอกหูนาน ๆ ไม่ดีต่อสุขภาพจิตด้วย

    สำหรับเราที่เคยเรียนโรงเรียนคริสต์มาก่อนและได้ยินเพลงคริสต์มาสจริงจังเป็นครั้งแรกก็โรงเรียนนี่แหละ ก็ยังชอบเพลงคริสต์มาสอยู่ดี (ตราบใดที่ไม่ต้องฟังซ้ำไปมาทั้งวัน ฮา) และเพลงส่วนใหญ่ที่ได้ฟังกับร้องกันที่โรงเรียนมักจะเป็นเพลงคริสต์มาสแบบ traditional หรือเป็นเพลงที่เป็นการระลึกถึงการถือกำเนิดของพระเยซู เช่น Silent Night, Holy Night หรือ Joy to the World อะไรแบบนั้นมากกว่า นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชอบฟังเพลงคริสต์มาสแบบดั้งเดิมมากกว่าเพลงคริสต์มาสสมัยใหม่ 

    เพราะชอบเพลงคริสต์มาสแบบดั้งเดิมกับเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาจริงจังเป็นทุนเดิมก็เลยลองหาเพลงคริสต์มาสยุคเก่าฟังไปเรื่อย ๆ และพบว่า เพลงคริสต์มาสแบบดั้งเดิมมีมากมายและหลายเพลงก็น่าสนใจดี เพราะบางเพลงก็ไม่ได้พูดถึงความยินดีที่พระเยซูถือกำเนิดอย่างเดียว แต่พูดถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประสูติกาลของพระเยซูด้วย เช่น เหตุการณ์ที่เทวทูตมาแจ้งข่าวแก่พระแม่มารี เหตุการณ์สังหารหมู่เด็กทารกเมื่อกษัตริย์เฮรอดรู้ข่าวการถือกำเนิดของพระเยซู เป็นต้น 

    ความเห่อคริสต์มาสของคนในศตวรรษที่ 19 นี่ละค่ะ ทำให้เพลงคริสต์มาสกลายเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง


    ส่วนตัวชอบเพลงคริสต์มาสอะไรแบบนี้นี่ละค่ะ ไม่รู้ว่ามีใครเคยฟังหรือชอบเพลง traditional / folk รวมไปถึงเพลงคริสต์มาสยุคเก่ามาก ๆ อย่างเพลงภาษาลาตินที่ย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 14-15 กันบ้างหรือเปล่า ถ้าใครเบื่อเพลงคริสต์มาสลั้นลา ก็อยากชวนมาลองฟังเพลงคริสต์มาสที่ให้ความสงบ (หรืออาจจะง่วง) ที่เราชอบเปิดฟังบ่อย ๆ ช่วงคริสต์มาสเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศกันค่ะ



    Veni redemptor gentium (Come, Redeemer of the nations)

    Latin

    Veni, redemptor gentium;
    ostende partum Virginis;
    miretur omne saeculum:
    talis decet partus Deum.


    English Translation 

    Come, Redeemer of the nations;
    show forth the Virgin birth;
    let every age marvel:
    such a birth befits God.


    เป็นเพลงเก่าแก่ที่สืบย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 4 กัน เป็น advent song มากกว่าเพลงคริสต์มาส เพราะเป็นเพลงสำหรับช่วง Advent หรือช่วงเวลาเตรียมการมาถึงของพระคริสตเจ้า อยู่ในช่วงวันที่ 12-24 ธันวาคม แต่งโดย Saint Ambrose แห่งมิลาน 


    เพื่อให้ได้บรรยากาศ เลยเอาเวอร์ชั่นของบาทหลวงจริง ๆ มาให้ฟังกัน



    Gabriel's Message

    The angel Gabriel from heaven came,
    his wings as drifted snow, his eyes as flame;
    "All hail", said he, "thou lowly maiden Mary,
    most highly favoured lady." Gloria.


    เพลงนี้มีอีกชื่อว่า "The angel Gabriel from heaven came"  จริง ๆ จัดว่าเป็น advent song ก็ได้ เพราะพูดถึงเหตุการณ์ก่อนคริสตสมภพ คือ กล่าวถึงอัครทูตสวรรค์กาเบรียลที่มาปรากฏให้หญิงพรหมจรรย์ชื่อมารีเห็น และบอกข่าวแก่นางว่า นางจะตั้งครรภ์บุตรของพระเป็นเจ้า  

    ถึงจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ความจริงแล้ว เพลงนี้แปลมาจากเพลงของแคว้นบาสก์ (Basque) ในสเปน คือ Birjina gaztetto bat zegoen ผู้แปลคือ Sabine Baring-Gould ซึ่งเคยใช้ชีวิตในแคว้นบาสก์ และโน้ตเพลงนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 

    ถ้าใครนิยมฟังเพลง folk / traditional / New Age อาจจะเคยได้ยินกันมาแล้วก็ได้ เพราะเพลง Gabriel's Message มีนักร้องสายนี้หยิบมาร้องเยอะอยู่เหมือนกัน และหลายคนก็เป็นที่รู้จักกันดี เช่น Sting กับ Hayley Westenra เป็นต้น

    เพราะมีหลายเวอร์ชั่น เลยเอามาให้ฟังเยอะหน่อย ฮา


    เอาเวอร์ชั่นของ Claudio Baglioni ให้ฟังกันก่อน เพราะมีทั้งภาษาดั้งเดิม คือ ภาษาบาสก์และภาษาอังกฤษอยู่ด้วยกัน 




    อีกเวอร์ชั่นให้ฟังของ STING ละกันค่ะ





    มีของแถมเล็กน้อย คือ เพลง Virgin Mary เพลงเปิดคอนเสิร์ต MDNA ของมาดอนน่า (แสดงโดย Kalakan Trio) เมื่อปี 2007 เอาบางส่วนของ Birjina Gaztetto Bat Zegoen ไปใช้ด้วย (นาทีที่ 4 กว่าๆ)





    Gaudete 

    Latin

    Gaudete, gaudete!
    Christus est natus
    Ex Maria virgine,
    gaudete!


    English Translation

    Rejoice, rejoice!
    Christ has born
    (Out) Of the Virgin Mary –
    Rejoice!


    เพลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเพลงคริสต์มาสแบบเก่าที่เป็น sacred carol กับ traditional เลยก็ว่าได้ เพราะฟังเพลงแบบแรนดอมไปเรื่อย ๆ แล้วก็มาสะดุดหูกับเพลงนี้ของ Madiaeval Baebes เข้า แล้วก็ลองตามหาคำแปลดู และพบว่า มันเป็นเพลงคริสต์มาส!! 

    Gaudete หรือ Rejoice เป็นเพลงเก่าที่ย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 ตีพิมพ์ครั้งแรกใน  Piae Cantiones หรือรวมเพลงสรรเสริญของทางสวีเดน/ฟินแลนด์ มีการปรับการเรียบเรียงเสียงประสานมาเรื่อย ๆ ดั้งเดิมจริง ๆ ก็เป็นเพลงสรรเสริญที่ร้องในโอกาสทั่วไป แต่เพราะมีการพูดถึงพระแม่มารีกับการกำเนิดของพระเยซู เข้า theme คริสต์มาสก็เลยนิยมเอามาร้องในช่วงคริสต์มาสกัน


    ไหน ๆ ก็พูดถึง Madiaeval Baebes ซึ่งเป็นวงประสานเสียงหญิงล้วนที่มี theme เพลงแบบยุคกลางของยุโรป ก็ให้ฟังเวอร์ชั่นนี้ก่อนละกันค่ะ 





    ส่วนเวอร์ชั่นนี้เป็นของ Steely Pan วงโฟล์คที่ส่งเพลง Gaudete ติด top 50 เพลงยุคปัจจุบันเมื่อปี 1972 เป็นครั้งแรก 




    The Holly and the Ivy

    The holly and the ivy,
    When they are both full grown,
    Of all the trees that are in the wood,
    The holly bears the crown.
    The rising of the sun
    And the running of the deer,
    The playing of the merry organ,
    Sweet singing in the choir.


    เป็นเพลง traditional Christmas folk ของอังกฤษ ในช่วงต้นศตรรษที่ 19 เนื้อเพลงหลัก ๆ พูดถึงต้นฮอลลี่และไอวี่ โดยเฉพาะต้นฮอลลี่ที่ออกดอกสีขาว อ่อนหวานเหมือนทารกน้อยของพระแม่มารี ออกผลสีแดงเหมือนเลือดของเด็กน้อยที่จะเติบโตเป็นพระผู้ไถ่ มีเปลือกรสขมเหมือนความขมขื่นที่บุตรของมารีจะต้องรับยามไถ่บาปแทนผู้คน และมีหนามที่ลำต้นเป็นเหมือนมงกุฏหนามที่สวมบนศีรษะของพระเยซู 


    มีที่ชอบหลายเวอร์ชั่นมาก เอาเวอร์ชั่นที่มีจังหวะกับทำนองที่ใกล้เคียงกับ traditional สุดก่อนละกัน เป็นของ The Priests เป็นวงบาทหลวงจริง ๆ เรียกว่าเป็น Il Divo สายศาสนาก็ได้ค่ะ 





    เวอร์ชั่นของ Loreena McKennitt ก็จะหลอน ๆ หน่อย และให้ความรู้สึกเย็น ๆ ดีค่ะ









    Coventry Carol

    Herod the king, in his raging,
    Chargèd he hath this day
    His men of might in his own sight
    All young children to slay.


    เป็นเพลงคริสต์มาสสมัยศตวรรตที่ 16 (แต่บางแหล่งก็บอกว่าศตวรรษที่ 14) ที่พูดประเด็นโหดเอาเรื่องเลย เพราะพูดถึงเหตุการณ์ที่เรียกว่า the massacre of the innocents หรือ การประหารทารกผู้วิมล คือ การสังหารหมู่เด็กทารกเพศชายที่อายุต่ำกว่าสองขวบของครอบครัวชาวยิวทั้งหมดในเมืองเบธเลเฮมที่เกิดในช่วงที่พระเยซูกำเนิด เพราะกษัตริย์เฮรอดไม่ประสงค์กษัตริย์ชาวยิวมาชิงราชบัลลังก์ (แต่เหตุการณ์นี้ก็ปรากฏในไบเบิลเท่านั้น ยังไม่พบ account อื่น ๆ ในทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน) 

    เพลงนี้มีความเท่ในตัวเองหลายอย่าง คือ เป็นเพลงที่ปรากฏอยู่ในละครที่นำเรื่องราวในไบเบิลมาแสดง (Mystery Play -- ไม่ใช่ละครเวทีแนวลึกลับสืบสวนนะคะ) ของ Coventry ชื่อเรื่องว่า the Shearmen and Tailors' Pageant แต่ต้นฉบับเรื่องนี้ก็สูญไปในกองไฟเรียบร้อยแล้ว ที่เราชอบอีกอย่างคือ เนื้อเพลงบางช่วงและทำนองของเพลงนี้จะคล้ายกับเพลงกล่อมเด็ก หรือ lullaby ด้วย


    ฟังเวอร์ชั่น traditional กันก่อน เป็นของ Westminster Cathedral Choir






    ส่วนนี่เป็นเวอร์ชั่นของ Pentatonix ที่นักฟังเพลงจาก youtube คงรู้จักวงนี้กันดี เป็นเวอร์ชั่นลั้นลานิดนึงนะคะ ฮา







    Down in Yon Forest

    Down in yon forest there stands a hall:
    The bells of Paradise I heard them ring:
    It's covered all over with purple and pall
    And I love my Lord Jesus above anything.

    In that hall there stands a bed:
    The bells of Paradise I heard them ring:
    It's covered all over with scarlet so red:
    And I love my Lord Jesus above anything.


    หารายละเอียดเกี่ยวกับเพลงนี้ได้ไม่เยอะ รู้แค่เป็น traditional British carol ที่น่าจะแต่งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14-16 อารมณ์เพลงคล้าย ๆ กับ The Holly and The Ivy แต่มีความแอบสแตรคท์และดาร์ก กว่าเล็กน้อย พูดถึงการถือกำเนิดของพระเยซูและชะตาของการเป็นผู้ไถ่บาป โดยพูดถึงดอกไม้ที่ผลิบานและต้นไม้ที่มีหนาม กับสายน้ำที่สายหนึ่งเป็นน้ำธรรมดาและอีกสายหนึ่งที่ไหลมาเป็นเลือด 


    เพลงนี้มีนักร้องเพลง folk ดังๆ เอาไปทำเยอะอยู่เหมือนกัน เช่น Joan Baez กับ Bruce Cockeburn แต่เลือกเอาแนว Celtic ของ Rhiannon Giddens ให้ฟังละกัน 





    Here We Come A-wassailing

    Here we come a-wassailing
    Among the leaves so green;
    Here we come a-wand'ring
    So fair to be seen.

    Love and joy come to you,
    And to you your wassail too;
    And God bless you and send you a Happy New Year
    And God send you a Happy New Year.

    พูดถึงเพลงคริสต์มาสแล้วไม่พูดถึงการตระเวนไปร้องเพลงตามบ้านหรือ caroling ก็คงกระไรอยู่ ในเพลงนี้ การ wassailing ก็คือการไป caroling ในภาษาเก่านั่นเองค่ะ และเพลงสมัยศตวรรษที่ 19 เพลงนี้ ก็พูดถึงการที่กลุ่มนัก wassailing ไปหาผู้คนตามบ้าน ร้องเพลง เสนอเครื่องดื่มอวยพรให้และแลกกับอาหารหรือของขวัญที่เจ้าบ้านจะตอบแทนให้ 


    เวอร์ชั่นของ The Watersons ฟังโบราณดี และเราชอบเวอร์ชั่นนี้ด้วยค่ะ เพราะเหมือนพากันไปเดินร้องเพลงที่บ้านคนจริง ๆ แบบไม่มีดนตรีประกอบเลย




    ส่วนเวอร์ชั่นที่ป็อปขึ้นมาอีกหน่อยก็ต้องยกให้ Celtic Woman 





    และส่งท้ายกันด้วยเพลงคริสต์มาสชื่อเดียวกับชื่อเรื่องนี้ค่ะ 



    Do You Hear What I Hear? 

    Said the little lamb to the Shepard boy
    Do you hear what I hear
    Ringing through the sky Shepard boy
    Do you hear what I hear

    A song, a song
    High above the trees
    With a voice as big as the sea
    With a voice as big as the sea

    เป็นเพลงคริสต์มาสยุคใหม่ที่เขียนขึ้นในปี 1962 นี่เอง โดยคู่สามีภรรยา (ณ ขณะนั้น) คือ Noel Regney กับ Gloria Shayne Baker ซึ่งตอนแรก ๆ Regney ก็ลังเลอยู่เหมือนกันเมื่อมีบริษัทเพลงมาขอให้แต่งเพลงคริสต์มาส เพราะช่วงนั้นมีการเอาเพลงคริสต์มาสมาทำการตลาดเยอะมากจนเกือบจะลืม ๆ ไปแล้วว่าคริสต์มาสมีเนื้อแท้คืออะไร 

    สุดท้ายแล้ว  Regney ก็แต่งเนื้อเพลงออกมาจนได้ หลังจากได้ยินเห็นรอยยิ้มของเด็กน้อยในรถเข็นที่แม่เข็นผ่านไป บวกกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีความตึงเครียดจากวิกฤติการณ์ขีปณาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis หรือ October Crisis) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น และเกือบจะขยับไปเป็นสงครามระเบิดนิวเคลียร์อยู่แล้ว พอเห็นความใสบริสุทธิ์เหมือนเทวดาตัวน้อย ๆ ที่ผ่านหน้าไปแบบนี้เข้า ก็เลยปิ๊งไอเดียและได้เนื้อเพลงท่อนแรกออกมาเป็น "Said the night wind to the little lamb …" และมีข้อความที่บอกแก่ทุกคนผ่านเพลงนี้ว่า "Pray for peace people everywhere" ส่วนทำนองของเพลงนี้ Gloria เป็นคนแต่ง 


    ส่งท้ายกันด้วย Do You Hear What I Hear? เวอร์ชั่นของ Pink Martini ก็แล้วกันนะคะ (จริง ๆ มีเวอร์ชั่นที่ล้ำมาก ๆ ของ Sufjan Stevens ด้วย แต่จะลุกขึ้นเต้นมากกว่า ฮา)





    Happy Christmas and Happy New Year และ May the peace and the force be with us all ค่ะ :) 





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in