Pride Month: LGBTQI+ มีพื้นที่แค่ไหนในสังคม โดย NITIHUB วันที่ 10 มิถุนายน 2564
Moderator: คุณเอ๋ย
Speakers: คุณศิริศักดิ์ คุณธัญวัฒน์ อ. เคท อ. มาตาลักษณ์ อ. อัครวัฒน์
-------------------------------------
กฎหมายเกี่ยวกับ LGBTQI+ : พ.ร.บ. รับรองเพศ พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
อ. มาตาลักษณ์ เรามีสิทธิที่รักและเรามีสิทธิที่จะถูกรัก เงื่อนไขของกฎหมายความเข้ามาเกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น เราผลักดันกฎหมายที่จะมีคู่ครองอย่างเสรีมานานแล้ว แต่มนุษย์มาตีกรอบว่ามีแค่เพศชาย-หญิงเท่านั้น ในทางชีววิทยาอาจไม่ได้มีแค่สองเพศ แต่ในทางกฎหมายจำเป็นต้องกำหนดกรอบเลยกำหนดให้มีแค่เพศตามเพศกำเนิดสองเพศเท่านั้น เพศมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดช่วงเวลา เราพยายามทำ พรบ ความเท่าเทียมทางเพศขึ้นมา แต่ พรบ. นี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างเท่าเทียม เราคิดไกลไปกว่านั้นคือ สิทธิในการเลือกใช้ชีวิต สังคมอาจเป็นกรอบกติกาอย่างหนึ่งให้เราร่วมกันได้อย่างเรียบร้อย แต่อาจไม่ได้เป็นคำตอบหรือความสุขของทุกคน
เราได้ทำการวิจัยและยกร่างกฎหมายการรับรองสถานะทางเพศ ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่มีการรับรองเพศ และมีการกีดกันในเรื่องเพศพอสมควร เราได้ศึกษากฎหมายใน 4 ทวีป เช่น us uk can aus nz jpn เป็นต้น เราพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์รับรองเพศและหาทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย เราต้องการให้คนไทยได้เลือกชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม และรักษาสมดุลกับประชากรหลักและคนที่ต้องได้รับการส่งเสริมโอกาส ทั้งด้านเอกสาร รวมไปถึงการสมรส ทำให้คนสามารถเลือกเพศที่ต้องการได้และได้สิทธิตามเพศที่เลือกด้วย ซึ่งต้องการความเข้าใจของผู้ใช้กฎหมายด้วย สถานะปัจจุบันของร่างกฎหมายนี้คือรอให้หยิบขึ้นมาปัดฝุ่น
อ. อัครวัฒน์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ พรบ คู่ชีวิต โดยรับงานจาก UNDP โดยเปรียบเทียบ กม. ประมาณ 15 ประเทศ และหาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม จนออกมาเป็นร่างอัมพวาที่ดีในระดับหนึ่ง เช่น หลักบางอย่างของสามีภรรยาก็เอามาใช้กับคู่ชีวิตด้วย และสิทธิต่างๆ ที่ตามมาจากเรื่องการใช้ชีวิตครอบครัว เช่น นิติกรรมสัญญา สิทธิที่ได้จากการสมรส แต่งานนี้เป็นการทำงานกลุ่มและพยายามหาจุดสมดุล มันก็จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านเข้าไปในสภาแล้ว ก็มีความพยายามที่จะทำให้ดีกว่า ปพพ. แต่มันมี factor หลายอย่างที่จะให้กฎหมายที่เราคิดว่ามันดีมาก ๆ สามารถบังคับใช้ได้จริง ก็ต้องฝากคนทำงานด้านสิทธิว่าอย่าเพิ่งหมดพลัง เนื้อหาบางส่วนอาจยังไม่เต็มร้อย แต่เราก็มีกระบวนการบางอย่างที่ปรับมันให้ดีขึ้นได้ เช่น ร้องศาล รธน. ในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้แก้ไขเป็นส่วน ๆ ไป ตอนนี้เราก็พยายามผลักให้เต็มที่ก่อน และถ้าไม่ได้ ก็ต้องหากระบวนการต่าง ๆ ให้มันสมบูรณ์
ในเรื่องการรับรองเพศ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามันจะกระทบกฎหมายทั้งหมด เช่น การจดทะเบียนสมรส การทำสัญญา ภาษี ประกันชีวิต ต้องทำความเข้าใจแบบนี้ว่า เราแก้แค่จุดเดียว ถ้า พรบ. คู่ชีวิตจะไปต่อกับกฎหมายชนิดอื่น เราต้องไปดูในกฎหมายเฉพาะเรื่องนั้น ในการปรับปรุงกฎหมายเรื่องหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายหลายระบบจะต้องดูเป็นขั้นตอนไป ดังนั้น ต้องมีกระบวนการที่จะทำงานร่วมกันอีกมา คิดว่าตอนนี้ออกมารูปแบบไหนก็ให้มันออกมาเถอะ แล้วค่อยผลักให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้วหาวิธีแก้กันต่อไป เช่น นิติฐานะตามกฎหมายเอกชนหรือมหาชน มีอีกหลายประเด็นแต่ขอเก็บไว้ตอนตอบคำถามก็แล้วกัน ขอให้ร่วมกันผลักต่อไปให้ถึงที่สุด แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ ก็จะทำให้มันดีขึ้นต่อไปได้
คุณธัญวัฒน์ มีโอกาสได้พูดเรื่อง พรบ สมรสเท่าเทียมมาหลายครั้ง ตามหน้าสื่อที่เห็นว่าไม่เอา พรบ. คู่ชีวิต หรือ เรื่องสมรสเท่าเทียมที่มันอาจจะดูขัดแย้งกัน แต่จริง ๆ เข้าใจความพยายามในการผลักดันของคนที่ทำงาน สิทธิ์ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการเป็น 3 ประเด็นที่สำคัญ และมีสาระสำคัญในการขอแก้ไข ปพพ. ว่าด้วยครอบครัวทำให้ผู้ที่มีเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ และถ้าเปลี่ยน ปพพ. ก็จะมีผลต่อกฎหมายอื่นด้วย กฎหมายที่ยื่นไปเราเคารพทุกเพศ เช่น คำว่าบิดามารดาเราก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะศึกษามาแล้วว่าจะกระทบกับชายหญิง เช่น สิทธิการรับรองบุตร การลาคลอด สวัสดิการที่เกี่ยวกับการให้กำเนิด ที่ไม่เปลี่ยนเพราะ lbgt สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ การแก้ไขชายหญิงเป็นบุคคคลก็ส่งผลต่อสถานะทางเพศแล้ว บางอย่างแก้ไปก็ไม่ส่งผล มันก็เสมอภาคอยู่แล้ว
ตอนนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมน่าจะเข้าที่ประชุมสภาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพราะอยู่ในเรื่องค้างพิจารณา จากปฐกถาของ อ. วิทิต มันตาภรณ์ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านและมีการถูกตัดสิทธิทำให้มีคนน้อยคน เราได้คุยกับทุกพรรค แม้ว่าจะเป็นพรรคที่ด่าพรรคก้าวไกลมาก่อน เพื่อชี้ให้เขาเห็นว่าเรื่อง lgbt ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของทุกพรรค จะยื่นร่างอื่นมาประกบก็ได้ ขอให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ เพราะทุกพรรคก็มี lgbt สิ่งที่ต้องให้ทุกคนเห็นคือการอภิปราย ถ้าพรรคไหนปัดให้ตกไปก็จะส่งผลกระทบต่อพรรคเขาโดยตรง เขามีราคาที่ต้องจ่าย คู่ชีวิตที่ อ. โจ้ได้พูดไป อัมพวาโมเดลเรียกได้ว่าเป็นร่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่พอปรับไปปรับมา สิทธิบางอย่างมันหายไปเยอะมาก กระแสไม่เอา พรบ. คู่ชีวิตก็เลยมา ตอนนี้ พรบ. คู่ชีวิตก็นิ่ง ๆ เชื่อว่ามีการทำร่างมาประกบ หรือร่างของพรรคก้าวไกลอาจจะออกมาเหลือแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องผลักดันกันต่อไป
มีการทำกฎหมายเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ และเรื่องของ GENDER X ซึ่งจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณที่ตอบสนองต่ออัตลักษณ์ทางเพศหรือ gender responsive budgeting เช่น สวัสดิการที่เหมาะสม หรือเรื่องเพศวิถีที่มีความเหลื่อมล้ำ เช่น ดาราชายที่เล่นกล้ามกับเกย์ที่เล่นกล้ามมีค่าตัวที่ต่างกัน และนำไปสู่เรื่องของคำนำหน้า เช่น บางคนต้องการใช้คำนำหน้านามตามเพศวิถีหรือไม่ระบุ ซึ่งจะส่งผลต่อสิทธิที่จะได้ทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ
คุณศิริศักดิ์ พื้นที่ของไทยเป็นการยอมรับแค่เปลือกนอก คือ ยอมรับในเรื่องการแสดงออก แต่ในเรื่องของการรับรองคุณภาพชีวิตในเชิงกฎหมายยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น กฎหมาย การไม่ยอมรับบริจาคเลือด การไม่รับเข้าทำงาน หรือการศึกษาที่มีการลงโทษหรือไล่ออก การบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิด หรือข้อจำกัดในการแต่งกายตามเพศสภาพ เป็นต้น ผู้บริหารไม่เข้าใจในเรื่องของความลื่นไหลทางเพศ หรือในภาคธุรกิจ ไม่ใช่แค่ในบริษัทเล็ก ๆ อย่างเช่น ซัมซุง คิวท์เพรส โอเรียนทอลพรินเซส ที่ไม่รับพนักงานหญิงข้ามเพศเป็นพนักงานเคาน์เตอร์แบรนด์ เป็นต้น หรือเรื่องของฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศในเรือนจำที่จะต้องได้รับฮอร์โมนทำนองเดียวกับยาประจำ ไม่ใช่เรื่องของความสวยงามแต่เป็นเรื่องของสุขภาพ และในปัจจุบันก็ยังมีการยกเว้นในเรื่องความมั่นคงและศาสนา ทำให้ไม่เท่าเทียมกันอยู่ดี และมักจะมีการยัดเยียดให้ไปอยู่ในพื้นที่บางพื้นที่ ไม่ยอมให้อยู่ในที่สาธารณะ หรือการล่วงละเมิดทางเพศ การ bully ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยเราหลงผิด เพราะไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีกฎหมายลงโทษ lgbt และมีการสร้างวาทกรรมที่กดทับ เช่น เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี ซึ่งเป็นคำพูดที่มันตลกมาก เพราะทุกคนไม่ว่าเป็นเพศไหนก็ควรต้องเป็นคนดี ต่อให้เราทำดีแค่ไหน กฎหมายก็ไม่ออกมาอยู่ดี ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกด่าอยู่ทุกวัน ยอมรับแต่มีเงื่อนไข และมีคำว่าแต่ไปเรื่อย ๆ
อ. เคท ต้องเข้าใจว่าการยอมรับมีลักษณะที่หลากหลาย เมื่อมีเรื่องเพศสภาพไปผูกกับการยอมรับก็มีผลอย่างมากและนำไปสู่เรื่องการเลือกปฏิบัติ เรื่องชนชั้นก็มีส่วนพิจารณา ยิ่งมีเรื่องเพศสภาพเข้ามา ก็จะยิ่งถูกลดทอนไปอีก คนที่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งคือคนที่มีระดับเศรษฐสังคมที่ดี ในขณะที่ lgbt บางกลุ่มเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามหรือเป็นคนที่คนอื่นมองไม่เห็น หรือเป็นการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข มีระเบียบอะไรหลายอย่างเป็นอุปสรรค เช่น ในระบบการศึกษาเองก็มีระเบียบที่ทำให้คนที่เป็น lgbt ไม่ได้รับโอกาสที่ควรจะได้รับแบบชายหญิงทั่วไปได้รับ สิ่งหนึ่งที่อยากจะชวนตั้งคำถาม คือ ข้อท้าทายหนึ่งคือสิ่งที่เราทำกันอยู่เป็นการเรียกร้องกันมากเกินไปหรือเปล่า
การทำความเข้าใจแบบเคสบายเคสก็เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่มีสิทธิบางอย่างที่คนทั่วไปได้รับ ทำไมเราถึงไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับข้อกำหนดที่มีอยู่ ซึ่งมันก็ควรมีกฎหมายเข้ามาปกป้องคุ้มครองเราในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศหรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนที่มีชีวิตอยู่ แล้วคนที่จะได้ประโยชน์มีอยู่เท่าไหร่ อย่างที่ อ. วิทิตบอกว่ามันต้องใช้เวลา มันต้องรอ เราเป็น activist เราก็รู้สึกว่ามันรอไม่ได้ เพราะผ่านมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนถึงตอนนี้ แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือคนมีอำนาจ ทำไมไม่คิดแก้ไขหรือมองว่าเป็นเรื่องลำดับรอง ทำไมไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา อุปสรรคเป็นเรื่องของทัศนคติที่ทำให้มันขับเคลื่อนไม่ได้
อ. มาตาลักษณ์ สังคมไทยมีการยอมรับแบบมีเงื่อนไข ทำให้การให้สิทธิคนอื่นแบบมีเงื่อนไข และติดกรอบกับมายาคติหญิงชาย ภาษาอาจจะมีเพศ แต่ความรักไม่มีเพศ เราเอาหลักคิดมาจากไหนว่าต้องเป็นผู้หญิงกับผู้ชายถึงจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งออกมาให้ดี แต่คำว่าดีมันก็ไม่มีคำนิยาม ความเชื่อหรือทัศนคติเหล่านี้มันสอนกันไม่ได้ เราเคยเชื่อว่าครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน เด็กจะมีปัญหา แต่เราได้เรียนรู้ว่า เด็กที่มีแต่พ่อหรือแม่เขาก็เติบโตได้อย่างสวยงามตามแบบของเขา การเป็นพ่อหรือแม่ไม่ใช่เรื่องเพศแต่เป็นบทบาท เด็กแต่ละคนเหมือนต้นไม้ ถ้าเราดูไม่ออกว่าเขาเป็นต้นอะไร เราก็จะไม่รู้ว่าจะเลี้ยงเขาให้เติบโตเป็นอย่างไร เราคิดเอาเองว่าจะต้องเติบโตมาแบบนั้นแบบนี้ พอเราพูดให้แคบลง ในกฎหมายครอบครัว เวลาเราพูดถึงครอบครัวที่มีชายหญิงนั่นก็เป็นเรื่องโบราณนานมา แต่การเรียนรู้ทำให้เรารู้ว่า การเลี้ยงดูไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศโดยกำเนิด เด็กที่เติบโตมาด้วยความรักความเข้าใจของครอบคัว โตมาโดยการชี้แนะไม่ใช่ชี้นำต่างหาก การรับบุตรบุญธรรมในหลายประเทศก็ไม่ได้กำหนนดในเรื่องเพศกำเนิด กฎหมายของไทยอาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่หย่าร้างกัน มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง แต่กฎหมายไม่ให้อำนาจปกครองกับพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง แล้วเขาจะแสดงบทบาทตมกฎหมายของตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เขาก็ช่วยเลี้ยงมา เพราะอย่างนี้การรับบุตรบุญธรรมจึงไม่ควรเอาเรื่องเพศมาพิจารณา
คุณศิริศักดิ์ ทำไมต้องทำแคมเปญในเรื่องสิทธิในการบวชของ lgbt เพราะทุกวันนี้ทำเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิที่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็โผล่มาแล้วทำเลย เป็นความตั้งใจในการผลักดันการยอมรับในเพศสภาพมาอยู่แล้ว และซีรี่ส์เกี่ยวกับชุดต่าง ๆ ก็ทำมาแล้วเพื่อสื่อให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ คนต้องเห็นทันทีว่าเข้าใจได้เลยว่ามารณรงค์เรื่อง lgbt เลยต้องมีสีรุ้งมาประกอบ ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เราได้ยินมานานแล้วว่า กะเทยบวชไม่ได้ เกย์บวชไม่ได้ ทำให้ lbgt ไม่สามารถบวชได้ ได้รับเคสจากลูกสาวที่ไม่ได้แต่งหญิงแต่บวชไม่ได้ แต่พระรู้ว่าเขาชอบผู้ชายเลยบอกว่าบวชไม่ได้ และไม่ใช่เคสนี้แค่เคสเดียว การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศมันยังมีอยู่ เลยออกมาเป็นแคมเปญว่าทุกเพศต้องบวชได้ เพราะเราใช้ศรัทธาในการบวช ไม่ใช่ใช้อวัยวะเพศในการบวช ซึ่งไม่ใช่ว่าบวชแล้วจะต้องไปทำตามอำเภอใจหรือพิเศษกว่าคนอื่น ใครทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด แล้วที่มีคนถามว่าทำไมต้องมายุ่งกับเรื่องศาสนา แต่เราก็เห็นแล้วว่า เราถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งศาสนาด้วย มีการกดทับมาหลายร้อยปี มีการบอกว่าการรักเพศเดียวกันเป็นบาป การสมสู่ในเพศเดียวกันเลวยิ่งกว่าหมา แล้วจะไม่ให้ทำแคมเปญได้ยังไง หรือเหตุผลที่ไม่ให้บัณเฑาะว์บวชเพราะทำผิดไปเสพกาม นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเหมารวมทุกคน คำถามคือเวลามีข่าวพระผู้ชายมีอะไรกับสีกา ทำไมไม่ห้ามไม่ให้ผู้ชายบวชบ้าง ทำให้ lgbt ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ก่อนที่จะทำก็ถามพระมาแล้วว่าทำได้หรือเปล่า ที่ทำก็ไม่ได้ทำเพื่อหาผลประโยชน์ ไม่ได้แตกต่างจากนักแสดงที่เล่นบทพระ แต่ทำเพื่อรณรงค์ให้สังคมตื่นรู้ เมื่อคนบัญญัติคำสอนขึ้น คนก็ควรจะวิพากษ์วิจารณ์หรือปรับเปลี่ยนสิ่งนั้นได้เช่นกัน
คุณธัญวัฒน์ Gender blindness ในกฎหมายอาจส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างร้ายแรงได้ การให้สิทธิคนบางกลุ่มและจำกัดสิทธิคนบางกลุ่มไม่ใช่เรื่องการเลือกปฏิบัติ เช่น การห้ามคนตาบอดไม่ให้ขับรถก็เพื่อป้องกันอันตราย แต่รัฐก็ต้องออกมาตรการอื่นให้เขามีเสรีภาพในการเดินทาง
Gender blindness จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจ เช่น รัฐเยียวยาทุกคน ให้ชายหญิงให้คนละ 5,000 บาท แต่รัฐไม่ได้ดูพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศ ผู้ชายใช้จ่ายเรื่องรถ เกม เบียร์ ในขณะที่ผู้หญิงเลือกจะซื้อผ้าอ้อมลูก นม และถั่วให้ผัวแกล้มเบียร์ ซึ่งตรงนี้การใช้เงินนั้นไม่ใช่ของผู้หญิงเลย เพราะสองอย่างแรกเป็นของทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต กว่าจะมาถึงการใช้เงินเพื่อตัวเองจึงใช้เวลานานกว่าผู้ชาย การให้เท่ากันอาจทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม และรัฐไม่ได้ให้คุณค่ากับบทบาทของผู้หญิงในฐานะเมียและแม่ ผู้หญิงอาจต้องออกมาเลี้ยงลูก ทำอาหาร ทำงานบ้าน แล้วมันส่งผลทำให้อัตราการเกิดลดลง
ต้องขออนุญาตว่าในกรณีนี้จะพูดในแง่ที่แย่ที่สุดเพื่อที่เราจะได้จัดสรรงบประมาณได้ครอบคลุม อย่างกลุ่ม lgbt กลุ่มทรานส์มีต้นทุนเพศในเรื่องฮอร์โมน เวลาถูกเลือกปฏิบัติและมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ทำให้กลุ่มนี้บางคนต้องขายบริการทางเพศซึ่งไม่ใช่ทางเลือกอย่างเต็มใจแต่เป็นทางรอด เราจึงต้องตั้งคำถามกับรัฐ หรือเวลากลุ่มทรานส์แต่งตัวแต่งหน้าอาจจะต้องใช้มากกว่าผู้หญิงแต่กำเนิด และทำให้เขาสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่ต้นทุนทางเพศให้กับเพศอื่น ๆ ต่อไปได้ ถ้าทรานส์ต่อสู้ในเรื่องฮอร์โมนได้ว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย มันอาจจะเกิดเงินเฟ้อนิดหน่อย และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ เราควรมีเงินทุนสำหรับทรานส์หรือไม่ เราควรสนับสนุนให้คนที่ถูกเลือกปฏิบัติสามารถเป็นผู้ประกอบการได้หรือไม่ และที่เขามีบทบาทในการคิดสร้างสรรค์ก็จะส่งผลบวก ถ้าเรามองพฤติกรรมทางเพศให้ออก ไม่มืดบอดทางมิติเพศก็จะทำให้เกิดผลบวกในหลายด้าน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ
อ. อัครวัฒน์ การถูกเลือกปฏิบัติในการปฏิเสธเข้ารับทำงานอาจจะเกิดใน 3 ลักษณะ คือ คำสั่งทางปกครอง ผลจากระเบียบลำดับรอง และผลจากกฎหมายระดับ พรบ. แต่ละอย่างก็จะมีวิธีการเยียวยาต่างกัน เช่น อุทธรณ์ ฟ้องศาลปกครอง ฟ้องศาล รธน. ก็ต้องดูว่าเคสที่เกิดขึ้นเป็นกรณีแบบไหน
มีกรณีที่มีการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องใหญ่มาก และมีอุปสรรคในการถ่ายทอดวิธีคิดนี้เข้าสู่ระบบกฎหมายด้วย คำว่า discrimination มันหมายความว่ามีการแสดงออกอย่างชัดแจ้งหรือไม่ชัดแจ้งที่ปฏิบัติต่อคนสองกลุ่มหรือกลุ่มต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน โดยอาจมีการทำต่อร่างกาย วาจา หรืออารมณ์ อะไรที่เป็น indirect discrimination ในบางทีคนที่โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังโดนอยู่ เช่น การนิ่งเฉยไม่พูดด้วย การถูกตะโกนใส่ อาจจะต้องจัดเวทีต่างหากเพื่อพูดคุยในรายละเอียด
ใครมีปัญหาเหล่านี้ สามารถส่งไปที่เพจ NITIHUB ได้
การเลือกปฏิบัติในสถานศึกษา
อ. เคท ในระดับมหาวิทยาลัย เคสที่เป็นการเลือกปฏิบัติชัดเจนมักจะมีการเสนอให้มีการไกล่เกลี่ย ไม่มีการลงโทษอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งการเลือกปฏิบัติหรือการ abuse เหล่านี้มีหลายระดับมาก คำแนะนำคือ คุณต้องรวบรวมกำลังใจ หลายคนมองว่าไม่เป็นไร ซึ่งมันน่าเสียดาย คุณไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับคนอื่นอีกล่ะ บางคนอาจมีเพื่อนน้องหรือมีการสนับสนุนน้อย ทำให้การที่เขาต้องสู้ด้วยตนเองทำให้เขาตัดสินใจที่จะหยุด ความจริงแล้ว ในมหาวิทยาลัยมีคนรอช่วยเหลืออยู่ ใน มธ. การเหยียดหยามเพศสภาพนี่ก็ทำไม่ได้แล้ว
อ. อัครวัฒน์ คนมองว่าเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่หาทางเยียวยา แต่เรื่องถ้ามันเกิดใหญ่ขึ้นมาจะเยียวยายาก นอกจากในมหาวิทยาลัย เรื่องที่ชัดแจ้ง ให้รวบรวมพยานหลักฐานเอาไว้ บางเรื่องที่ไม่ชัดแจ้ง เราก็อาจจะต้องรอให้เขาทำซ้ำเป็น loop ให้ชัดเจน สิ่งที่สำคัญมากคือข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
อ. เคท แม้ว่าช่วงหลังจะมีมหาวิทยาลัยที่ให้แต่งกายข้ามเพศได้ แต่คำถามของเราคือ ทำไมเราต้องมาอนุญาตกัน ทั้งที่มันไม่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา การกีดกันมันทำให้คนไม่อยากมาเรียนมากกว่า
อ. อัครวัฒน์ การทรีตคนในที่ทำงานก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้คนมีกำลังใจทำงาน
คุณศิริศักดิ์ ทำไมเราต้องมาช่วยเหลือเขาแบบ case by case ทำไมรัฐไม่หาทางทำอะไรให้ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการหรือกฎหมายสำหรับทุกกรณี จบจากรับไม่รับแล้ว ไปถึงการทำงานก็จะมีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน เช่น การโดนแซวลักษณะทางร่างกาย การใช้ห้องน้ำ การคุกคามทางเพศ เป็นเรื่องที่เราต้องมาพูดกันในสังคมด้วย
คุณเอ๋ย ในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง อ. มาตาลักษณ์เคยบอกว่า "ความรักไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม แต่เป็นเรื่องของเสรีภาพ" กฎหมายควรเข้าไปครอบคลุมความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน
อ. มาตาลักษณ์ ถ้าเราสามารถมีการรับรองสถานะให้อยู่กินกันได้ การแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายต่อไปอยากให้ลองไปพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้ด้วย
ประการแรก คือ สิทธิในทางกฎหมาย อยากฝากมองเรื่องสิทธิในทางกฎหมายอาญา อย่าง hate crime hate speech sexual harassment และสิทธิในทางกฎหมายแพ่งที่ไม่ให้สิทธิกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรส เช่น เรื่องหนี้ การกู้ยืม การให้สิทธิในประกันชีวิต หรือเรื่องละเมิด คู่ชีวิตไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าทำศพอื่น ๆ ได้ หรือการฟ้องคดีแทน ซึ่งคู่ชีวิตทำแทนไม่ได้ และกฎหมายมรดกรองรับเฉพาะแค่คู่สมรสเท่านั้น
ประการที่สอง คือ ความเป็นข้าราชการที่ขาดสิทธิหลายอย่าง เช่น ที่พักอาศัย ค่ารักษาพยาบาล กฎหมายยิบย่อยเหล่านี้ไม่ได้พูดถึงคู่ชีวิต อาจจะต้องตามดูด้วย และ
ประการที่สาม มีด้วยกัน 4 เรื่อง คือ
1) การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในฐานะคู่ชีวิต เช่น การให้ความยินยอมในเรื่องการผ่าตัด การรักษาในกรณีฉุกเฉิน สิทธิลาคลอด
2) ภาษี เช่น การหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ในฐานะคู่ชีวิต
3) สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในบริการสาธารณะ เช่น ฟิตเนส ที่ให้เฉพาะครอบครัวที่เป็นคู่สมรส และ
4) เรื่องพื้นที่ในสังคมโดยเฉพาะในสื่อ เราเห็นการแสดงออกในสื่อต่าง ๆ ในเชิงบุลลี่ที่ทำให้เกิดการผลิตซ้ำ ถ้าสื่อใช้ความระมัดระวังได้จะเป็นสิ่งที่ดี และสื่อก็ได้สร้างภาพความคาดหวังของบทบาทความเป็นชายหญิงเอาไว้ ถึงจะมี พรบ. คู่ชีวิต แต่ถ้าเราไม่ดูสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นมา มีกฎหมายออกมามันก็ไม่ช่วยอะไร ถ้าเราช่วยกัน มันก็จะมีประสิทธิภาพกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ
จบ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in