โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้บางโรคก็ยากจะหาคำอธิบายและที่มาที่ไปได้ โรคเต้นรำไม่หยุดที่เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 ในเมืองสตราสบูร์ก แคว้นอัลซาส (Strasbourg, Alsace) ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire ปัจจุบันอยู่ในประเทศฝรั่งเศส) เป็นโรคหนึ่งที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนทุกวันนี้ว่า เกิดขึ้นมาได้อย่างไรและมีสาเหตุมาจากอะไร
เหตุการณ์ประหลาดนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1518 เมื่อนางทรอฟเฟีย (Frau Troffea) เต้นรำไปตามถนนในเมืองอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้และเต้นไม่ยอมหยุด แม้ว่าสามีของเธอจะบอกให้พอได้แล้ว เธอก็ยังเต้นรำต่อไปจนกระทั่งหมดแรง แต่เช้าวันรุ่งขึ้น เธอก็ลุกขึ้นมาเต้นรำต่อไปอีก แม้ว่าเท้าจะเริ่มบวมเพราะการเต้นรำ เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ถึงหกวัน และเรียกผู้คนในเมืองให้มามุงดูเหตุพิสดารที่เกิดขึ้น
ทางการสตราสบูร์กเห็นท่าไม่ดีจึงนำตัวนางทรอฟเฟียส่งตัวไปรักษาที่วิหารนักบุญไวทัส (Saint Vitus) เนื่องจากชาวเมืองเชื่อกันว่า เธอถูกคำสาปของนักบุญไวทัสซึ่งเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนาและเป็นนักบุญอุปถัมภ์การเต้นรำและการแสดง แต่เมื่อเธอพ้นจากเมืองไปแล้ว คนอื่น ๆ ที่เคยมามุงดูนางทรอฟเฟียเต้นรำไม่รู้จบก็เริ่มต้นเต้นรำอย่างที่เธอทำบ้างโดยไม่รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร แต่เมื่อดูจากอาการของคนที่เต้นรำเพราะโรคระบาดดังกล่าวแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เท่าไหร่ ในทางตรงข้าม พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ เพราะอยากหยุดเต้นแต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
หลายสัปดาห์ผ่านไป คนเพิ่มจำนวนเป็นหลายสิบ และเมื่อผ่านไปเดือนหนึ่ง คนที่เป็นเหยื่อของโรคเต้นรำไม่รู้จบนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่องและนับได้ถึงสี่ร้อยคน พยายามจัดสภาพเมืองให้เหมาะสมกับการเต้นรำ มีการจ้างนักดนตรีนักร้องมาบรรเลงเพลงเปลี่ยนโรงนาเป็นสถานที่เต้นรำ และถ้าใครไม่ไหวจริง ๆ ก็มีการจ้างผู้ชายที่มีความแข็งแรงมากพอจำนวนหนึ่งมาคอยเฝ้าดูและคอยล็อกตัวเอาไว้ให้หยุด แต่การแก้ปัญหาที่ว่าก็ดูเหมือนไม่ได้ผลนัก
เนื่องจากเหตุเกิดในช่วงฤดูร้อน จึงมีคนที่เต้นรำจนเป็นลม ล้มป่วยเพราะขาดน้ำและอาหาร บางคนถึงกับเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน โรคนี้ก็ค่อย ๆ หายไป โดยทิ้งปริศนาเอาไว้เช่นเดียวกับตอนเกิดเหตุว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โรคเต้นรำที่ระบาดไปทั้งเมืองนี้ยุติลง
มีคนพยายามคิดหาเหตุผลและทฤษฎีหลายอย่างมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คำสาปนักบุญไวทัสเป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเชื่อ ส่วนทางการคิดว่าอาการประหลาดเหล่านี้น่าจะมีสาเหตุมาจาก ‘เลือดได้รับความร้อนมากเกินไป’ ทำให้คนแสดงอาการแปลก ๆ ออกมาอย่างเช่นการเต้นรำ
อีกทฤษฎีหนึ่งที่มีคนอธิบายเอาไว้คือ ชาวบ้านอาจติดโรคจากเชื้อราที่ติดอยู่ตามข้าวไรย์ที่ปลูกไว้ เมื่อนำมาทำอาหารหรือเครื่องดื่มก็รับราที่ติดอยู่ตามก้านและเมล็ดข้าวไรย์เข้าไปในร่างกาย ราดังกล่าวอาจมีฤทธิ์หลอนประสาททำให้คนแสดงอาการต่าง ๆ ออกมารวมถึงเคลื่อนไหวร่างกายไปมาจนดูคล้ายกับว่าคนเหล่านั้นกำลังเต้นรำอยู่แบบควบคุมตัวเองไม่ได้
นอกจากเรื่องโรคแล้ว ยังมีคำอธิบายของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ว่า อาการของชาวเมืองที่ทยอยกันออกมาเคลื่อนไหวหรือเต้นรำกันเป็นหมู่คณะดังกล่าวอาจเกิดมาจากอาการทางจิตหรือความเครียดอันเนื่องมาจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ปี 1517 เป็นช่วงปีที่เลวร้ายมาก เกิดภาวะอดอยาก ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ และมีโรคติดต่ออื่น ๆ เช่น ซิฟิลิสและไข้ทรพิษระบาดในหลายสถานที่ ผลสืบเนื่องจากการเผชิญชีวิตที่ยากลำบากทำให้ชาวเมืองเกิดความเครียดจนแสดงออกมาในรูปของอาการทางร่างกาย หรือเมื่อหาสาเหตุของความทุกข์ยากไม่ได้ก็ต้องหาผู้รับผิดชอบโดยการให้เหตุผลว่าพระเจ้าเกิดความไม่พอใจจึงบันดาลให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ เพราะการเต้นรำที่สตราสบูร์กไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น แต่เคยมีปรากฏการณ์เต้นรำโดยไม่รู้สาเหตุในลักษณะเดียวกันนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1374 ในบริเวณเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำไรน์ (Rhine) มาก่อนหน้านี้ และหลังจากเกิดโรคเต้นรำแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ที่เกิดขึ้นในปี 1518 แล้ว ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย จึงนับได้ว่าโรคเต้นรำระบาดในสตราสบูร์กเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ทำให้เกิดโรคเต้นรำไม่หยุดในปี 1518 นี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังหาพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์ และในศาสตร์สาขาอื่น ๆ มาอธิบายไม่ได้ และยังคงเป็นปริศนาต่อไป
----------------------------------
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in