เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Thaiฤทธิ์อ่าน-คิด-เขียน
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง "คอยศิวะ" (Waiting For Shiva)
  • (ตามไปติดตาม creative content ได้ที่ เพจ "อ่าน-คิด-เขียน"  https://www.facebook.com/arts.readthinkwrite/ นะคะ)

    #Thaiฤทธิ์ #นนทก #รามเกียรติ์

    “เราลองไปทางนู้นดูเถอะ”
    “ไม่ได้...เราต้องขึ้นไปหาพระศิวะก่อน”
    .
    นนทกเป็นผู้ร้ายของรามเกียรติ์หรือเป็นเพียงปัจเจกชนผู้ถูกลดทอนคุณค่าให้กลายเป็นเพียงวัตถุ? แท้ที่จริงแล้วมีสถานการณ์หรือธรรมชาติใดที่บีบบังคับให้นนทกต้องจนมุม สูญเสียเสรีภาพ อำนาจ และความเป็นปัจเจก? เพราะเหตุใดนนทกจึงจำยอมรับใช้เทพเจ้าผู้อยู่เหนือกว่ามาตลอดโดยไร้เงื่อนไขใดๆ เป็นเวลาโกฏิปี? นี่คือคำถามซึ่งเป็นแรงผลักให้เกิดการสร้างสรรค์หนังสั้นเรื่อง "คอยศิวะ" นี้ขึ้น
    .
    หากพิจารณาด้วยมุมมองของนักปรัชญาตะวันตก นนทกอาจเปลี่ยนจากเดิมที่เป็น “ยักษ์ผู้ตกอยู่ในความหลง” ผู้เต็มไปด้วยความไร้ปัญญาดังที่สอนไว้ในคาบเรียน กลายมาเป็น “ปัจเจกผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพ” ความหลงที่เกิดขึ้นเป็นอัตตาของนนทกอาจมิได้เกิดจากภายในจิตนนทกเอง แต่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมบังคับ ภาวะของนนทกในหนังสั้นเรื่องนี้จึงอาจกลายเป็นภาพสะท้อนอันลึกซึ้งของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งการให้คุณค่าและการส่งเสริมให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตในฐานะปัจเจก อาจมิได้สำคัญมากพอเท่ากับการส่งเสริมให้คนเราจำต้องยอมก้มหน้ารับชะตาที่เป็นอยู่ในฐานะผู้สัตย์ซื่อต่อหน้าที่ตน
    .
    หนังสั้นเรื่องนี้สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องคอยโกโดต์ (Waiting for Godot) ใช้การพูดคุยระหว่าง “จิตของนนทก” ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นในหน้าที่ อีกฝ่ายตระหนักรู้ถึงภาวะไร้คุณค่า ไร้ความสามารถ และไร้อำนาจของตนเอง การสร้างตัวละครนนทกให้มีการถกเถียงกันนั้น จำลองจากลักษณะทางงานเขียนปรัชญาตะวันตกซึ่งมีทั้งฝ่ายอ้าง (argument) และฝ่ายค้าน (counterargument) สอดรับกับบทละครเรื่องคอยโกโดต์ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกันไปในทุกๆ เรื่อง









    อ้างอิง
    เบกเกตต์ เขียน, และ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง แปล. (2539). คอยโกโดต์. กรุงเทพฯ: มติชน.
    นีทเช่ เขียน, และ มนตรี ภู่มี แปล. (2546). คือพจนาซาราทุสตรา = Thus spoke Zarathustra : a book for all and none. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. (2553). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต.
    .
    ผลงานจากนิสิตอักษรจุฬาฯ
    ทีม "ระฆังดังเพราะคนตี"
    นักแสดง : ณัฐดนัย พวงทอง, กฤษณะ ศรีอาภากุล
    กำกับ : ธฤต สิทธิพรพันธ์
    เขียนบท : บวรศักดิ์ วรรณธนศิลป์, ธีร์ธวัช อยู่ยงชื่น, กฤษณะ ศรีอาภากุล, ธฤต สิทธิพรพันธ์
    ตัดต่อ: อนวัช อรรถจินดา
    บรรณาธิกรต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    .
    **ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้างผลงาน** เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
    .
    ผลงานในคอลัมน์ #Thaiฤทธิ์ ซึ่งรวบรวมผลงานเชิงสร้างสรรค์หรือ creative content เกี่ยวกับวรรณคดีไทยโดยนิสิตอักษรฯ จุฬาฯ ลืมไปเลยว่า วรรณคดีไทย (Thai Literature) เป็นเรื่องพ้นสมัย เพราะผลงานของคนอักษรฯ เลือดใหม่เหล่านี้จะทำให้คุณรู้ว่า วรรณคดีไทยมี “อิทธิฤทธิ์” ปานใดในโลกยุคดิจิทัล ที่ content creation มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด








เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in