คุณๆ ทั้งหลายคงคิดไม่ถึงใช่ไหมว่า ตัวละครจากการ์ตูนดิสนีย์จะมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวละครในวรรณคดีไทยได้ วันนี้เราลองจับคู่ตัวละครข้ามชาติ ข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรม ซึ่งมีมุมมอง ความคิดจิตใจ และการกระทำที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันมาเล่าให้ฟัง ตามไปดูตัวละคร 5 คู่ที่มีสายใยผูกพันกันได้เลยค่า
ข้อเขียนนี้เป็นคอนเทนต์เชิงไอเดียที่ต่อยอดจากการเรียนวรรณคดีไทยซึ่งเป็นการตีความของผู้เขียน ที่จริงแล้วยังมีมิติอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงตัวละครจากการ์ตูนดิสนีย์และวรรณคดีไทยเข้าด้วยกัน และเราก็อยากชวนทุกคนมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ ว่ามีตัวละครคู่ไหนกันอีกบ้างที่มี “สายใยผูกกัน” ^^ มาแชร์ไว้ในคอมเม้นท์ใต้โพสต์กันได้เลย (บ.ก.)
จาฟาร์ X นนทก
หลงได้หลงดี รู้ตัวอีกทีอาจไม่มีอะไรเหลือ !
ความลุ่มหลงในอำนาจเป็นสิ่งที่ทำให้นนทกต้องตาย เมื่อนนทกได้นิ้วเพชรจากพระอิศวรมาแล้วก็ใช้อำนาจในทางที่ผิด คือใช้นิ้วเพชรไปชี้ตายแก้แค้นเทวดาตนอื่น ทำให้สวรรค์ปั่นป่วน นทกมีความคล้ายคลึงกับละครฝั่งดิสนีย์คือ จาฟาร์ ตัวร้ายจากเรื่องอะลาดิน เมื่อจาฟาร์ได้ตะเกียงวิเศษมาครอบครอง ก็ใช้พรในทางผิดเช่นกันคือขอพรให้ตนเองกลายเป็นสุลต่านและพ่อมด ใช้ฤทธิ์ทำร้ายอะลาดิน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย
ทั้งจาฟาร์และนนทกยังหลงใหลความงามของสตรี ขณะที่นนทกหลงความงามของนางสุวรรณอัปสรซึ่งเป็นพระนารายณ์แปลงมา จาฟาร์ก็หลงเจ้าหญิงจัสมินหัวปักหัวปำ
นนทกหลงกลพระนารายณ์ที่แปลงเป็นนางสุวรรณอัปสร แล้วรำตามนางจนถึงท่านาคาม้วนหางซึ่งเป็นท่าที่ชี้นิ้วเพชรเข้าหาตัวเอง พระนารายณ์จึงปราบนนทกได้สำเร็จ ขณะที่จาฟาร์ก็หลงกลอะลาดิน เมื่ออะลาดินรู้ว่าจาฟาร์หลงอำนาจ ก็เลยหลอกให้จาฟาร์อยากเป็นยักษ์ที่มีอำนาจที่สุดในโลก (ในตอนนั้นจีนี่มีอำนาจสุด) จาฟาร์เลยขอพรข้อสุดท้ายให้กลายเป็นยักษ์ที่มีอำนาจมากสุด แต่ลืมไปว่าเมื่อเป็นยักษ์ต้องมีตะเกียงประจำตัว อะลาดินก็เลยทำให้ยักษ์จาฟาร์ต้องเข้าไปอยู่ในตะเกียงตลอดไป และนั่นก็เป็นจุดจบของจาฟาร์
แอเรียล X นางจันทวดี
ชีวิตรักๆ ที่ไม่ได้ลงจบด้วยการอยู่ด้วยกัน
เมื่อพูดถึงนางเงือกในการ์ตูนดิสนีย์ คงหนีไม่พ้น “แอเรียล” เจ้าหญิงเงือกคนสุดท้องผู้มีเสียงอันไพเราะที่ไปหลงรักเจ้าชายรูปงาม จึงยอมแลกเสียงของตัวเองให้ได้ขาแบบมนุษย์เพื่อขึ้นบกไปหาเจ้าชาย เนื้อเรื่องตามต้นฉบับไม่ได้ลงจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง แอเรียลไม่สมหวังในความรักและต้องสลายกลายเป็นฟองอากาศตามพันธสัญญา เมื่อย้อนกลับมาดูนางเงือกในวรรณคดีไทย ก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “นางจันทวดี” ในเรื่องพระอภัยมณี นางเป็นภรรยาของพระอภัยมณีและให้กำเนิดบุตรชายนามว่าสุดสาคร แต่หลังจากพระอภัยมณีเดินทางออกจากเกาะแก้วพิสดาร ก็ไม่เคยกลับมาหานางอีกเลย ทั้งแอเรียลและนางจันทวดีล้วนทุ่มเทให้กับความรัก คนหนึ่งยอมแลกกล่องเสียงของตัวเองเพื่อให้มีโอกาสได้เจอคนรักอีกครั้ง อีกคนเสียพ่อแม่ไปเพราะบุญคุณต้องตอบแทน และต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ดูแลลูกชายอย่างสุดสาครให้เติบโตมาเพียงลำพังโดยความอุปถัมภ์ของพระฤาษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร
ทั้งตัวละครแอเรียลและนางเงือกชวนให้เราต้องคิดดีๆ ว่าจุดลงเอยเรื่องรัก ก็ไม่ได้ลงจบด้วยความสมบูรณ์แบบแบบเรื่องโรแมนซ์เสมอไป บางทีก็ต้องผิดหวัง ต้องเสียสละตัวเอง และบางทีก็อาจจะต้องใช้ชีวิตแบบครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูก
เบลล์ x รจนา
จงยืนหยัดที่จะเรารักเขาจากข้างใน ไม่ใช่ภายนอก
หากเราจะคบใครสักคน แน่นอนว่าหน้าตาเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะหลงใหล แต่!!... อย่าปล่อยให้ความหล่อสวยเพียงอย่างเดียวมาตัดสินคนได้ มาดูตัวอย่างนางเอก 2 คน 2 ชาติ 2 styles คนแรกคือ “รจนา” ซึ่งเห็นรูปจริงของเจ้าเงาะบ้าใบ้เป็นทอง เลยตัดสินใจเสี่ยงมาลัยให้ได้เจ้าเงาะเป็นคู่ครอง ท้าวสามนต์โกรธนางรจนามากเลยเนรเทศนางและเจ้าเงาะไปอยู่ที่กระท่อมปลายนา ทั้งสองผ่านความยากลำบากมาด้วยกัน สุดท้าย ความจริงก็ปรากฏว่าเจ้าเงาะ รูปงาม รวยยศ และลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ส่วน “เบลล์” นั้น แม้จะมีผู้ชายหล่อ รวย มาชอบพอ แต่นางก็ไม่ยอมแต่งงานด้วย จนนางได้พบกับเจ้าชายอสูรและโดนขังไว้ในปราสาทของเขาเพื่อชดใช้ความผิดของพ่อ แม้นางจะไม่เต็มใจนักในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป อสูรที่ดุร้ายก็กลับเผยความดีที่ทำให้เบลล์หลงรัก เธอไม่อายคนอื่นๆ ที่จะปกป้องอสูรที่หน้าตาดุร้ายตนนี้ เมื่อคำสาปคลี่คลาย อสูรก็กลายเป็นเจ้าชายรูปงาม
ทั้งรจนาจากสังข์ทอง และ เบลล์จากเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร เสนอแนวคิดเรื่องการเลือกคู่ครองว่าให้มองจากเนื้อแท้ เชื่อในสิ่งที่เราสัมผัสได้จากข้างใน รูปทองที่รจนามองเห็นอาจตีความได้ว่าเป็นความดี นิสัยใจคอ เนื้อแท้ของพระสังข์ที่คนอื่นไม่อาจมองเห็นเพราะตัดสินจากรูปลักษณ์เจ้าเงาะบ้าใบ้จากภายนอก ขณะที่เบลล์เองก็เข้าไปสัมผัสถึงข้างในของเจ้าชาย ทั้งที่คนอื่นได้แต่กลัวรูปลักษณ์และตัดสินเจ้าชายอสูรจากภายนอก ทั้งสองเป็นตัวละครผู้หญิงที่มองโลกอย่างสมัยใหม่ ทำตามความคิดและการตัดสินใจของตนเองในการเลือกคู่ครอง นับได้ว่าเป็นตัวละครที่ฉลาด กล้าหาญและมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไป
มู่หลาน X ละเวงวัณฬา
เสน่ห์ของผู้หญิงอยู่ที่ความแกร่งกล้าสามารถ
ผู้หญิงมักถูกกำหนด หรือไม่ก็ถูกคาดหวังว่าต้องเป็นกุลสตรี เก่งงานบ้านงานเรือน เป็นช้างเท้าหลัง แตกต่างจากตัวละครหญิงที่เราจะเสนอ นั่นคือ “มู่หลาน” และ “ละเวงวัณฬา”
นางละเวงเป็นตัวละครหญิงที่แตกต่างจากในอุดมคติ ไม่ใช่กุลสตรีที่อยู่แต่ในเรือน แต่กล้าหาญ ฉลาด เจ้าเล่ห์ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี เก่งการรบในเชิงกลยุทธิ์ และมีภาวะผู้นำ เมื่อเทียบกับมู่หลานตัวละครจากฝั่งดิสนีย์แล้ว ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ มู่หลานเป็นสตรีที่ปลอมตัวเป็นชายไปออกรบแทนบิดาด้วยความกล้าหาญ สามารถใช้ความฉลาดหลักแหลมเอาชนะศึกของทัพฮั่นได้ ตัวละครทั้งสองมีความรักต่อคนในครอบครัวและต่อบ้านเมือง แม้จะไม่ได้เรียบร้อย อ่อนหวานตามขนบของกุลสตรีในเรือน แต่ก็มีความกล้าหาญ แกร่งกล้า ซึ่งอาจนับเป็นเสน่ห์ในอีกแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับภาพของความเรียบร้อยราวผ้าพับไว้เสมอไป
เจ้าหญิงออโรร่า x ลำหับ
เสียงเพลงและธรรมชาติสื่อรัก
เมื่อพูดถึงคำว่า “นางเอก” คนส่วนใหญ่คงนึกถึงผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม เป็นกุลสตรี งดงามทั้งรูปโฉมและกิริยามารยาท วันนี้เราขอเสนอแง่มุมเพื่อขยายคำว่า “นางเอก” ว่ายังมีนางเอกจากวรรณคดีไทยและการ์ตูนดิสนีย์สายรักเสียงเพลงและธรรมชาติอย่าง “นางลำหับ” จากเรื่อง “เงาะป่า” และ “เจ้าหญิงออโรร่า” ในเรื่อง “เจ้าหญิงนิทรา” ด้วยนะ เราจะเห็นว่าทั้งสองตัวละครมักจะมีซีนร้องเพลง ชมธรรมชาติ ทั้งชมนก ชมปลา ชมไม้ เล่นกับสัตว์ต่างๆในป่าอย่างเพลิดเพลินปรากฏหลายครั้งทั้งในตัวบทวรรณคดีและในการ์ตูน
พอได้ดูซีนนี้ที่เจ้าหญิงออโรราร้องเพลงขับลำนำชมนกชมไม้ อยู่ดีๆ เจ้าชายก็โผล่เข้ามาร้องเพลงด้วยแล้ว ก็อดคิดถึงลำหับในเรื่องเงาะป่าไม่ได้ ขับเพลงชมธรรมชาติไป ซมพลาพระเอกคนแอบรักของเราฟังไปเขินไป (ขณะที่เจ้าเด็กไม้ไผ่กับคนังฟังไปก็ตั้งท่าจะหลับลูกเดียว) ความที่คัดมานี้เป็นเนื้อเพลงที่ลำหับร้อง จะเห็นว่ามี “ความนัย” แฝงไว้ไม่ต่างจากเพลงที่เจ้าหญิงออโรล่าร้องเลยนะคะ (คริๆ) ฝากไปฟังเพลงในคลิปด้วยน้า แล้วจะเห็นว่า “สายใยผูกกัน” ระหว่างวรรณคดีไทยและการ์ตูนดิสนีย์มีจริง!
๏ ยามเช้า อุระเราชื่นแช่มแจ่มใส
สู้บุกป่ามาดมชมดอกไม้ ข้าขอบใจมาลีที่เบิกบาน
ล้วนอารีมิให้เรามาเก้อ เผยเผยอกลีบประทิ่นกลิ่นหอมหวาน
สายหยุดดกย้อยห้อยพวงยาน กลิ่นทราบซ่านนาสาดอกน่าเชย
มลิวันพันกอพฤกษาดาด เหมือนผ้าลาดขาวลออหนอน้องเอ๋ย
รศคนธ์ขึ้นเปนดงอย่าหลงเลย กำลังเผยกลีบเกสรสลอนชู
โน่นแน่อุ๊ยสารภีไม่มีใบ เหมือนต้นไม้ทองตั้งอยู่ทั้งคู่
แมลงล้อมตอมว่อนเสียงหวี่วู ไม่มีผู้ช่วยสอยน้อยใจเอย
.
สร้างสรรค์เนื้อหาโดย กวินนา กากแก้ว , ฐิติกมล แก้วเขียว, ปิยะดา เชื้อจีน, มธุรดา สุทธมนัสวงษ์, อาทิตยา อุตตมานุรักษ์, อชิรญาณ์ ลิ่วเจริญศักดิ์กูล นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
.
วาดภาพประกอบโดย กานดารัตน์ ทองอ่อน นิสิตภาควิชาภาษาไทย ในโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย
.
บรรณาธิกรต้นฉบับ หัตถกาญจน์ อารีศิลป
.
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้างผลงาน
ผลงานสืบเนื่องจาก project “วรรณคดีไทยในสื่อและสังคมร่วมสมัย”
รายวิชา วรรณคดีไทย ปีการศึกษา 2560
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in