เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Thaiฤทธิ์อ่าน-คิด-เขียน
มิสวรรณคดีไทย...ก้าวไกลสู่เวทีโลก
  • จะเป็นอย่างไรกันนะ หากนางในวรรณคดีไทยตัว top ออกมาโลดแล่นอยู่ในเวทีการประกวดนางงามในโลกแห่งความเป็นจริง วันนี้ #Thaiฤทธิ์ จะพาทุกคนไปพบกับ นางละเวงวัณฬา นางมัทนา นางวันทอง นางอุษา และนางสาวิตรี ไปฟังการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้ายของ “มิสวรรณคดีไทย” เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมกัน รักใคร โหวตใคร ก็อย่าลืมชูป้ายไฟไปแรงๆ หรือคอมเมนต์ให้กำลังใจมิสวรรณคดีไทยที่ใต้โพสต์นี้ได้เลยนะคะ  

    (ตามไปติดตาม creative content ได้ที่ เพจ "อ่าน-คิด-เขียน"  https://www.facebook.com/arts.readthinkwrite/ นะคะ)




    [1] นางละเวงวัณฬา 


    คำถาม : ในสังคมปัจจุบันนี้ ผู้หญิงเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมากขึ้นทั้งในโลกการเมืองและเศรษฐกิจ คุณคิดเห็นอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้

    คำตอบ : ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเปลี่ยนแปลงนี้ค่ะ ดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงมีศักยภาพเท่าเทียมกับผู้ชาย ในอดีตสังคมเราเชื่อว่า ‘ผู้หญิง ต้องเป็นช้างเท้าหลัง’ แต่ดิฉันขอเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเราก็สามารถเป็นผู้นำเหมือนผู้ชายได้ ในอดีตของดิฉัน หลังจากที่เสียพ่อและพี่ชายไป ดิฉันต้องขึ้นมาเป็นผู้ปกครองเมือง แม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าผู้หญิงทำไม่ได้ แต่ดิฉันก็ทุ่มเทใช้ความสามารถทั้งหมดที่มี ศึกษาตำรา เรียนรู้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อวางแผนนำทัพออกทำศึก เมื่อตอนต้องสู้รบกับเมืองผลึก ดิฉันก็พยายามอย่างถึงที่สุด ดิฉันเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงทุกคนมีความสามารถแตกต่างกันในแบบของตนเอง และสมควรที่จะได้รับโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้นในสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่งเป็นผู้บริหารของบริษัท แต่ก็ยังมีอุปสรรคหลายอย่างในสังคมที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำและก้าวออกมาสู่พื้นที่ทางสังคมได้ ดิฉันอยากให้ผู้หญิงทุกคนเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง และช่วยกันทำให้เกิดแรงผลักดันทางสังคมมากขึ้น ดิฉันขอเป็นตัวแทนของผู้หญิงทุกคน ที่จะทำให้สังคมเห็นว่า ผู้หญิงก็เป็นเพศที่สามารถมีบทบาทเป็นผู้นำได้เท่ากับผู้ชาย วันหนึ่งที่โลกยอมเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางสังคมเสมอชายในทุก ๆ ด้าน ย่อมจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น ขอบคุณค่ะ





    [2] นางมัทนา

    คำถาม : คุณคิดว่า ปัญหาสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเป็นปัญหาที่คุณต้องการจะแก้ไขมากที่สุดคืออะไร เพราะเหตุใด

    คำตอบ : สำหรับปัญหาสังคมที่ดิฉันคิดว่าไม่เคยเลือนหายไปก็คือ ปัญหาเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” (Gender equality) ค่ะ ดิฉันเคยได้ประสบปัญหานี้ในอดีต ทั้งถูกละเมิดสิทธิ ลิดรอนเสรีภาพ และถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการพยายามแสดงอำนาจของบุรุษ ในตอนนั้น สตรียังไม่มีบทบาททางการเมือง สังคม หรือแม้กระทั่งการเลือกคู่ชีวิต ซ้ำร้าย ยังต้องอยู่ใต้อาณัติของบุรุษเกือบทั้งชีวิตค่ะ มีบุรุษผู้หนึ่ง พยายามขอให้ดิฉันไปเป็นภรรยาของเขา แต่เมื่อดิฉันปฏิเสธไปหลายต่อหลายครั้ง เขาก็ยิ่งไม่พอใจ เขาใช้อำนาจรังแกดิฉัน เปลี่ยนให้ดิฉันกลายเป็นวัตถุสิ่งของที่ไม่แม้แต่จะมีสิทธิเสรีภาพในการครองชีวิตของตนเอง คุณคงเคยทราบเรื่องของดิฉันผ่านตำนานดอกกุหลาบมาบ้างใช่ไหมคะ ดิฉันคิดว่า ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากค่านิยมและจารีตในอดีต แม้ในปัจจุบันบางประเทศจะเปิดพื้นที่ให้สตรีมีบทบาทในสังคมมากขึ้น และพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เราก็ยังคงเห็นข่าวความรุนแรงทางเพศ (Sexual assault) อยู่ทั่วทุกมุมของสังคม ดิฉันจึงขอเป็นกระบอกเสียงให้กับสุภาพสตรีท่านอื่น รวมถึงเพื่อนๆ กลุ่มหลากลายทางเพศทุกคนที่ยังคงต้องอดทนต่อสู้กับความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่ ไม่ว่าเป็นในพื้นที่ทำงาน พื้นที่ทางสังคม หรือในพื้นที่ครอบครัว อยากให้เราทุกคนมาช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนให้สังคมยอมรับว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม เราเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคน ขอบคุณค่ะ 




    [3นางวันทอง

    คำถาม : คุณคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการเกิดเป็นสตรีคืออะไร

    คำตอบ : ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการเกิดเป็นสตรี คือการที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการวางกรอบของการเป็นสตรีที่ดีไว้อย่างเข้มงวด บทบาททางเพศหรือ gender role ของสตรีที่กำหนดแนวทางปฏิบัติของเรา ไม่ว่าเป็นเรื่อง ห้ามชิงสุกก่อนห่าม ต้องหมั่นทำงานบ้านงานเรือนตามหน้าที่ภรรยา ต้องสุภาพเรียบร้อยทั้งวาจากิริยา รวมถึงต้องมีคู่ครองเพียงคนเดียวนั้น ยังเป็นกรอบอันแน่นหนาที่ตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน แม้ว่าเราจะก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ในศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม ทุกท่านคงทราบดีว่าดิฉันเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกกล่าวหาว่า “สองใจ” ผู้คนด่วนสรุปและตัดสินดิฉันทั้ง ๆ ที่รู้เรื่องราวเพียงผิวเผิน โดยไม่มองให้ลึกซึ่งเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวที่ดิฉันประสบจริงๆ เมื่อดิฉันประพฤติตนแตกต่างไปจากกรอบของสตรีที่ดีตามค่านิยมในยุคสมัยนั้น ความผิดทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ดิฉันทั้งสิ้น ขณะที่เป็นความชอบธรรมของผู้ชายที่จะสามารถมีคู่ครองหลายคนได้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่ายินดี ที่หลายๆ คนในปัจจุบัน แสดงความเข้าอกเข้าใจดิฉันมากขึ้น ดิฉันรู้สึกขอบคุณที่หลายคนพยายามแก้ต่างให้กับป้ายที่ติดตัวดิฉันไว้อย่างแน่นหนา ท้ายสุดนี้ ดิฉันขอยืนยันว่า แม้ว่ากรอบปฏิบัติของสตรีจะเป็นปัญหาสำคัญที่ดิฉันประสบ แต่ดิฉันก็คิดว่า เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ล้วนต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการวางกรอบความประพฤติไว้อย่างเข้มข้น ดิฉันหวังว่าเราจะก้าวข้ามกรอบเหล่านี้ และใช้ชีวิตได้อย่างมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาค ขอบคุณค่ะ





    [4] นางอุษา

    คำถาม : ในฐานะที่คุณเป็นสตรีแนวหน้าของสังคม คุณคิดว่า คุณค่าของสตรีอยู่ที่สิ่งใด

    คำตอบ : ดิฉันคิดว่า คุณค่าของสตรีอยู่ที่ความกล้าหาญที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการและยอมรับผลที่จะตามมาจากการเลือกนั้น ทุกท่านคงทราบเรื่องราวของดิฉันดีว่า ดิฉันกล้าเลือกคู่ครองด้วยตัวเอง แม้ว่าครอบครัวจะสร้างบรรทัดฐานของ “ชายที่เหมาะสม” ไว้แล้วและไม่เห็นด้วยกับคู่ครองและการแต่งงานที่ดิฉันเลือกก็ตาม ดิฉันปฏิเสธวัฒนธรรมคลุมถุงชน แม้การเลือกของดิฉันจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่กับครอบครัว โดยเฉพาะกับคุณพ่อ แต่ดิฉันกล้าก็กล้าที่จะยืนหยัดและเผชิญความยากลำบากที่ตามมาในภายหลังด้วยความเต็มใจ จวบจนภายหลัง ดิฉันก็สามารถกลับมายืนหยัดในฐานะสตรีแนวหน้าที่มีภาวะผู้นำสูงได้ดังเดิม จากประสบการณ์ในชีวิตของดิฉัน ดิฉันคิดว่า ผู้หญิงสามารถเลือกเส้นทางของตัวเองได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ และนี่คือ “คุณค่า” ที่เราทุกคนสร้างได้ ไม่เฉพาะเพศหญิง เพราะเราทุกคนสามารถมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการโดยไม่ถูกตีกรอบ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนอื่นตามอุดมคติ แต่เราควรเป็นเรา การทำตามเจตจำนงเสรีต่างหากที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ มิใช่การเดินตามผู้อื่นหรือทำตามแบบแผนที่มีมาหรือทำตามความคาดหวังของใครซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเรา ขอบคุณค่ะ




    [5] นางสาวิตรี 

    คำถาม : มีหลายคนที่ยังคิดว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือจากผู้ชายเพื่อให้พวกเธอประสบความสำเร็จได้ หากคุณสามารถสื่อสารกับคนที่คิดแบบนั้นได้ คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขา

    คำตอบ : ดิฉันเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะเป็นเพศใด เป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เราทุกคนย่อมต้องการการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้กิจต่างๆ สำเร็จลุล่วงทั้งนั้น การช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนกันและกันจึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือความอ่ออนแอของผู้ได้รับความช่วยเหลือค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เรายินดีที่จะช่วยเหลือกันและกันเพื่อจุดหมายใด ซึ่งอาจเป็นความสำเร็จใดๆ ก็ได้ทั้งที่เป็นเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายส่วนรวม ทุกท่านคงทราบดีว่า ดิฉันเคยได้ช่วยชีวิตของคนที่รักเอาไว้ได้ ดิฉันใช้ความพยายามอย่างสูงในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ จนสำเร็จ ดิฉันเองไม่เคยคิดว่าการช่วยชีวิตสามีไว้ได้ เป็นเพราะสามีอ่อนแอ หรือดิฉันแข็งแกร่งกว่าแต่อย่างใด เพราะดิฉันมีเป้าหมายที่ต้องมุ่งทำให้สำเร็จเพราะอยากใช้ชีวิตร่วมกับเขา ดิฉันจึงอยากจะบอกว่า เราทุกคนควรต้องคิดให้ดีทุกครั้งเมื่อจะแปะป้ายใครว่าเป็นคนที่อ่อนแอ เพราะทุกคนล้วนมีศักยภาพในตัวเอง หากตั้งใจลงมือปฏิบัติสิ่งใดด้วยความมุ่งมั่น เข้มแข็ง และไม่ย่อท้อ โดยใช้สติปัญญา ก็ย่อมไม่พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ คุณค่าของคนเราไม่ได้วัดกันที่เพศกำเนิด ขอบคุณค่ะ


    คำอธิบายการสร้างงาน:                                                  กว่าจะเป็นผลงาน “มิสวรรณคดีไทยก้าวไกลสู่เวทีโลก”

    ผลงานชิ้นนี้เริ่มต้นที่พวกเราเห็นตรงกันว่า อยากนำ “คติหญิงไทยโบราณ” มาปรับให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน โดยการนำนางในวรรณคดีไทย มาสร้างเป็นผู้เข้าประกวดนางงามบนเวทีระดับโลกที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นปัจจุบัน วัตถุประสงค์การทำงานชิ้นนี้คือ ต้องการแสดงให้เห็นปัญหาของสตรี ความไม่เท่าเทียม ความคาดหวังจากสังคมที่มีต่อผู้หญิงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราย้อนมองสังคมในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาเหล่านี้อาจจะมิได้ร้ายแรงเท่าในอดีต แต่ก็ยังคงมีบางพื้นที่ในสังคมที่ค่านิยมแบบเดิม ยังคอยจำกัดสิทธิสตรีไว้ 

    พวกเราตั้งใจเลือกใช้ “การประกวดนางงาม” เพราะเป็นการรวมกลุ่มกันของสตรีเพื่อแสดงทัศนคติผ่านการตอบคำถามอย่างชาญฉลาด ในการออกแบบคำถามที่จะหยิบยกมาถามนางงามในโลกวรรณคดี หรือ “มิสวรรณคดีไทย” ทั้ง 5 คนนี้ จะเน้นไปที่ประเด็นปัญหาสำคัญที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพศวิถี เป็นต้น ใ นขณะเดียวกัน ก็จะเสริม “คุณค่า” ของมิสวรรณคดีแต่ละครในการตอบคำถามด้วย เช่น มีความกล้าหาญ มีความเฉลียวฉลาด มีความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของตัวละครนางในวรรณคดีไทย 
      
    อีกเหตุผลสำคัญที่เลือกเวทีนางงามให้เป็นเสมือนฉากในการนำเสนอ เพราะปัจจุบันนี้ การประกวดนางงามไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในเพศหญิงเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้เพศที่สาม (LGBTQ) ได้มีโอกาสเข้าร่วมด้วย นี้ยิ่งช่วยเน้นย้ำ “ความเสมอภาค” ของบุคคลที่ไร้ข้อจำกัดทางเพศ ดังนี้แล้ว เวทีนางงามจึงกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างไม่เฉพาะทางการแสดงความคิด การแสดงออกถึงความงาม และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสตรีเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความเสมอภาคที่ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ “โอกาส” เข้าร่วมประกวด เปรียบเสมือน “พื้นที่ในสังคม” ที่สมควรมอบโอกาสให้ทุก ๆ เพศ ทุก ๆ วัย ไม่วัดค่าของคนที่เพศภาพ แต่วัดกันที่ ทัศนคติ ความสามารถ และคุณค่า ของแต่ละบุคคลมากกว่า   
    .
    สร้างสรรค์เนื้อหาโดย ทีม “มิสวรรณคดีไทยก้าวไกลสู่เวทีโลก”
    ประกอบด้วย จักรภัทร ทรัพย์วิริยะกุล , ฑิตยา หงส์เงิน, พัชรพิมล นิตินิยม, ภูวนาท ยะสาร, รมย์วินท์ พันธรักษ์, สิรภัทร์ มะเริงสิทธิ์ นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 1
    .
    วาดภาพประกอบโดย สุชาดา แหวนจีน
    .
    บรรณาธิกรต้นฉบับ หัตถกาญจน์ อารีศิลป

    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้าง
    ผลงานสืบเนื่องจากโปรเจ็ค #Thaiฤทธิ์ “วรรณคดีไทยในสื่อและสังคมร่วมสมัย” 
    รายวิชา วรรณคดีไทย ปีการศึกษา 2562

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in