เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สัพเพเหระSaGaZenJi
รีวิว: การเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ ฬ
  •       ตอนไปค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์เมื่อเดือนก่อน ผมมีโอกาสได้เป็น co-speaker ร่วมกับอ.ที่ภาควิชา พูดให้น้อง ๆ ที่ค่ายฟังเกี่ยวกับเรื่องสื่อใหม่ (New media) ได้รับ feed back จากน้อง ๆ ที่ทำค่ายว่า หลังจากผมกับอ.พูดจบ มีน้อง ๆ สนใจว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคืออะไร หรือเรียนเกี่ยวกับอะไร กันประมาณหนึ่ง ผนวกกับพักหลัง ๆ มานี้ ผมรู้สึกว่าสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เลยอยากทำรีวิวเกี่ยวกับสิ่งที่จะพบเจอหากเลือกเข้ามาเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่จุฬาฯ เอาไว้ เผื่อมีคนสนใจอยากเข้าหรือหาข้อมูลเตรียมตัดสินใจเลือกครับ แต่ขอออกตัวไว้ก่อนว่า ที่ผมจะเล่าเป็นประสบการณ์สมัยผมเรียน รวมกับที่ทำงานอยู่กับภาควิชาในฐานะผู้ช่วยอาจารย์ ซึ่งเป็นมุมหนึ่งเท่านั้นครับ

           สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับสังคม และประเด็นต่าง ๆ ที่มีความข้องเกี่ยวกับสังคมครับ โดยสาขานี้เน้นทำความเข้าใจเหตุและผลของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ การยิงกราด ปัญหา PM 2.5 ความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจและการเมือง ประเด็นเหล่านี้ประเด็นที่สังคมวิทยาสนใจไม่แพ้ เศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เลยครับ นอกจากนี้สาขานี้เองยังศึกษาสิ่งที่สังคมศาสตร์สาขาอื่นอาจไม่ได้เน้นหนัก อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ทางการสื่อสาร ดนตรี ศิลปะ ภาษา เพื่อนำมาใช้อธิบายสังคมครับ

          ที่จุฬาฯ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเปิดสอนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ครับ เป็นหนึ่งในสี่ภาควิชาของคณะนี้ โดยในปี 1 และ ปี 2 จะเป็นการเรียนรวมกับภาควิชาอื่น ๆ อีกสามภาควิชา วิชาบังคับที่ต้องเจอใน 2 ปีแรก หลัก ๆ ที่ผมจะเสนอมีดังนี้ครับ *

    • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง - วิชานี้เป็นเหมือนวิชาปรับพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ของเด็กปีหนึ่ง ใครมีพื้นเพมากน้อยมาจากไหนก็จะจูนให้เข้าใจกันที่วิชานี้ครับ เนื้อหาโดยคร่าวๆ แบ่งออกเป็นสองพาร์ทใหญ่ ๆ ครึ่งแรกเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับระบบการเมืองและนโยบายทางการเมืองครับ โดยจะได้เรียนเกี่ยวกับแนวคิดระบบการเมือง รวมถึงองค์ประกอบภายในตัวระบบ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองและการออกนโยบายครับ ในขณะที่ครึ่งหลังเป็นเรื่องเกี่ยวกับ รัฐ ระบบการเลือกตั้ง อำนาจ และภาวะทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับรัฐครับ ในส่วนนี้จะเป็นการสำรวจเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐ และมิติของอำนาจว่าเป็นอย่างไร รวมถึงชวนมองระบบการเลือกตั้ง พาไปทำความเข้าใจระบบการเลือกตั้งรูปแบบต่างๆ และอิทธิพลของรูปแบบเหล่านี้ต่อผลของการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นต้นครับ วิชานี้ก็เหมือนกับวิชาอื่น ๆ ทั้งหมดของคณะ ข้อสอบเป็นข้อสอบเขียนครับ คนที่สนใจเข้าคณะนี้อาจจะต้องฝึกเขียน ฝึกเสนอไอเดียผ่านการจรดปลายปากกากันมาหน่อย เป็นทักษะสำคัญ สกิลหนึ่งเลยครับ

    • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา - เป็นวิชาภาคตัวแรกเลยครับ ได้เรียนกันตั้งแต่ปีหนึ่ง วิชานี้ ณ ปัจจุบัน (ปี 2020) เป็น team teaching ครับ กล่าวคือมีอาจารย์จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหลาย ๆ คนมาช่วยกันสอนโดยจะเวียนสอนกันคนละ 1-2 สัปดาห์ครับ เนื้อหาหลัก ๆ ของวิชานี้คือ การพาผู้เรียนไปทำความรู้จักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งในมิติของความคิด อาทิ ศาสตร์นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ศึกษาอะไรบ้าง มองโลกยังไง ไปจนถึงให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะในการวิจัยเบื้องต้น (เป็นจุดเด่นของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเลยครับ เรามีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการวิจัยสังคมหลาย ๆ แขนงอยู่เยอะมาก)

    • เศรษฐศาสตร์ - ที่คณะนี้ พูดได้เต็มปากว่าเข้มข้นมากเลยครับ เนื่องจากเรียนแยกเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค (ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมถึงศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ในแต่ละชนิดตลาด) และเศรษฐศาสตร์มหัพภาค (ศึกษาระบบเศรษฐกิจ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่น เงินเฟ้อ เงินฝืด รวมถึงทำความเข้าใจนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยครับ) ซึ่งวิชานี้จะแบ่งเรียนเป็นสองตอนเรียน (Section) ซึ่งในแต่ละตอนเรียนจะประกอบไปด้วยสองภาควิชาเรียนร่วมกันครับ อาจารย์ผู้สอนมาจากคณะเศรษฐศาสตร์โดยตรง ซึ่งถือเป็นข้อดีมาก ๆ เนื่องจากช่วยในการตัดสินใจในการเลือกเรียนวิชาโทได้เป็นอย่างดี (คณะรัฐศาสตร์เปิดโอกาสให้นิสิตในคณะสามารถเรียนวิชาโท (Minor) เศรษฐศาสตร์ได้)

    • ตรรกะวิทยาและการค้นคว้าทางสังคมศาสตร์ - วิชานี้เป็นวิชาทางทักษะครับ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิชาต่างๆ จะแบ่งออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือ วิชาการ และวิชาทักษะ ซึ่งวิชาทักษะที่ว่า คือทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการเรียนวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น การสืบค้นข้อมูล ทักษะการเขียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสรุปความ การย่อความ การเขียนรายงานทางวิชาการ เป็นต้นครับ สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุให้เรียนในวิชานี้ทั้งสิ้น ดังนั้นคนที่พื้นฐานการเขียนไม่ดี หรือไม่เคยเรียนเรื่องการอ้างอิงข้อมูลอะไรมาเลย สบายใจได้ครับ จะได้เรียนพร้อมๆ กับทุกคนในวิชานี้ ซึ่งจะสอนโดยอาจารย์ที่ปรึกษา (คล้ายๆ อ.ประจำชั้นครับ ที่จะดูแลเราไปตลอดสี่ปี ถ้าจะถอนรายวิชา หรือทำเรื่องเปลี่ยนวิชาโทก็ต้องมาล่าลายเซ็นกับอ.คนนี้แหละครับ) และอ.ท่านอื่น ๆ ครับ

           นอกจากวิชาที่ผมให้รายละเอียดเป็นพิเศษเหล่านี้ ก็ยังมีอีกหลายวิชาเลยครับ เช่น ภาษาอังกฤษ (มียาวยันปี 2 เทอม 2 เลยครับ) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย การเมืองการปกครองของไทย ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การวิจัยและสถิติเบื้องต้นทางสังคมศาสตร์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเข้ามาด้วยการเลือกภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็จริง แต่สองปีแรก จะได้เรียนเนื้อหาสาระทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และทักษะจำเป็นต่างๆ อีกด้วยครับ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ จุฬา ทำให้คนเรียนภาคนี้มีความรู้ทางการเมือง และเศรษฐกิจไปคุยกับคนจากสายสังคมอื่น ๆ ด้วย

           พบจบปี 2 ขึ้นปี 3 ชีวิตการเรียนที่แท้จริงเพิ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงนี้เองครับ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า "เข้าภาค" เป็นช่วงที่ใครเลือกเรียนสาขาอะไรตอนสมัคร admission เข้ามาก็ไปตามทางของตัวเอง ในหลักสูตรปัจจุบัน (ปรับปรุง พ.ศ. 2561) เมื่อเข้าภาคมาตอนปีสาม นิสิตภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจำเป็นต้องเลือกวิชาเอก 1 ตัวจาก 2 ตัวได้แก่ เอกสังคมวิทยาและเอกมานุษยวิทยาครับ (ในใบจบจะขึ้นเอกตามที่เลือกไว้) พอมาถึงตรงนี้ เลยอยากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาให้ฟังกันเล็กน้อยครับ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอันที่จริงอยู่บนเหรียญเดียวกัน กล่าวคือ สาระต่าง ๆ ของสองแขนงนี้เหมือนกันครับ เราสนใจประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน สิ่งที่ดูจะต่างมากที่สุดเห็นจะเป็นวิธีในการศึกษา และขนบในการเขียนงาน โดยสังคมวิทยาเป็นสายเน้นอ่าน เน้นศึกษาแนวคิด ทฤษฎีเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ส่วนมานุษยวิทยาเน้นศึกษาจากการลงไปคลุกคลีตีโมงกับประเด็นเหล่านั้นโดยตรง บันทึกข้อมูลแล้วค่อยสรุปเป็นภาพกว้างของเรื่องราวที่เกิดขึ้น จนพูดได้ว่าสองแขนงนี้ก็คือเหรียญที่มีสองด้านนั่นเองครับ ใครมีจริตค่อนไปทางไหน ก็ลองใช้เกณฑ์นี้ในการเลือกเอกดูครับ (อันที่จริงเท่าที่ผมทราบมา หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565 จะไม่มีการแบ่งเอกแบบนี้แล้วครับ เนื่องจากในปัจจุบันเส้นแบ่งก็เลือนลางลงเต็มที) 

           วิชาในปี 3 ค่อนข้างโหด แบ่งออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือ วิชาทางทฤษฎี (ทฤษฎีสังคมวิทยา ทฤษฎีมานุษยวิทยา อาชญาวิทยาเบื้องต้น) กับวิชาวิจัย (การวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติเพื่อการวิจัย เป็นต้น) ในปีนี้นิสิตในภาควิชาจะได้เรียนเกี่ยวกับแนวคิดที่พูดถึงสังคมอย่างเต็มที่ วิชาแขนงทฤษฎีต่าง ๆ จะเจาะไปที่ภาพของสังคมว่าคืออะไร เป็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคม เช่น วัฒนธรรม สถาบันทางสังคมต่างๆ นอกจากนี้ยังสอนให้เชื่อมโยงเอาความรู้เหล่านี้มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในส้งคม รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง พฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ทุกวันนี้อันเป็นผลมาจากอินเตอร์เน็ต และโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ผมขอยกตัวอย่างแนวคิดหนึ่งให้ขบคิดเล่นๆ จะได้เห็นภาพแล้วกันครับ มีนักคิดคนหนึ่งเสนอว่า การมีปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมเหมือนการแสดงละคร มีหน้าฉาก มีหลังฉาก ในอดีตเรามีบ้าน หรือพื้นที่ส่วนตัวให้เราเป็นตัวเองหลังม่านแสดง แต่การเข้ามาของอินเตอร์เน็ต การตรวจสบของรัฐ ทำให้พื้นที่เหล่านี้หายไป แบบนี้เราต้องแสดงละครตลอดเวลาหรือเปล่า? ถ้าเป็นแบบนั้น การไม่มีหลังฉากให้พักเหนื่อย นำไปสู่ปัญหาสังคมเช่น ภาวะซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตายที่สูงได้หรือไม่? เป็นต้นครับ

           นอกจากเนื้อหาในเชิงแนวคิดต่าง ๆ แล้ว ในปีสาม นิสิตภาคนี้ต้องเรียนในรายวิชาที่เกี่ยวกับการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ด้วยครับ ซึ่งในหมวดจะสอนเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำวิจัย ตัั้งแต่แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัย ไปจนถึงขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การตั้งสมมติฐาน การเลือกกลุ่มตัวอย่าง เทคนิกการเก็บข้อมูล ซึ่งไม่ได้เรียนเฉพาะเทคนิกในเชิงสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่ที่นี่มีสอนเทคนิกการเก็บข้อมูลในเชิงการตลาดด้วยนะครับ วิชาเหล่านี้ืเป็นวิชาทักษะที่ทำให้คนที่จบจากภาควิชานี้ได้เปรียบมากๆ ในการทำงานด้านวิจัย ซึ่งถือเป็นทางเลือกอาชีพหนึ่งหลังเรียนจบ (เงินไม่น้อยนะครับ) 

           พอขึ้นปี 4 โค้งสุดท้ายของการเรียน จะไม่เรียนแบบอ.สอนอยู่ฝ่ายเดียวแล้วครับ แต่จะเป็นการเรียนแบบนิสิตต้องมาถกเถียงกับอ. ออกแนวห้องเล็ก ๆ ล้อมโต๊ะคุยกัน รวมถึงให้นิสิตออกไปปฏิบัติการภาคสนาม ลงพื้นที่หาข้อมูล นำข้อมูลที่ได้จัดเป็นงานต่าง ๆ ที่เชิญบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมฟัง (พวกนี้อยู่ในรายวิชาสัมมนาประเด็นสังคมร่วมสมัย ซึ่งจะแบ่งตอนเรียนออกเป็นหลานตอนเรียน รับตอนเรียนละไม่เกิน 15 คน เพื่อให้มีขนาดที่พอจะเกิดภาพตามที่ผมว่ามาข้างบนได้ครับ)

          เป็นอย่างไรบ้างครับกับเส้นทางการเรียนของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่จุฬาฯ หวังว่าพออ่านรีวิวการเรียนในภาควิชานี้ไปแล้ว จะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น ว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเรียนเกี่ยวกับอะไรไม่มากก็น้อยนะครับ ใครที่สนใจเหตุและผลของการเกิดประเด็นต่างๆ ในสังคม สนใจทำความเข้าใจเงื่อนไขและสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สังคม ภาควิชานี้มีแนวคิด และรอให้คุณชวนเข้ามาถกอยู่นะครับ

          ในส่วนของเกณฑ์คะแนนการ admission เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ผมขอไม่พูดถึงในการรีวิวครั้งนี้นะครับ ใครที่สนใจจะเข้าลองไปดูเกณฑ์ต่าง ๆ จากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูครับ


           
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in