อย่างที่ได้กล่าวไปในส่วนต้นว่า จุดประสงค์ในการเขียนโครงร่างวิจัยคือ การซื้อใจผู้อ่าน ทำให้คนอ่านเห็นว่าหัวข้อที่เราอยากทำสำคัญและเป็นไปได้ การเขียนโครงร่างวิจัยจึงต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เงื่อนไขที่ทำให้เราต้องเขียนครับ
ส่วนกรณีที่เขียนเพื่อทำวิทยานิพนธ์ คุณควรคิดหัวข้อวิจัยจากความสนใจของคุณ ทั้งนี้ความสนใจดังกล่าว ควรคำนึงถึงความเฉพาะทางของอ.ในภาควิชาหรือคณะที่คุณกำลังศึกษาด้วย เนื่องจากหากไม่มีอ.ท่านใดเชี่ยวชาญในประเด็นที่คุณอยากทำ โอกาสในการโดนเปลี่ยนหัวข้อ รวมถึงดัดแปลงส่วนต่าง ๆ ในงานวิจัยจะเยอะมาก ดังนั้นควรคำนึงถึงเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ
องค์ประกอบของโครงร่างวิจัย
โครงร่างวิจัยมีองค์ประกอบเหมือนกับการเขียน essay แนววิชาการทั่ว ๆ ไป นอกจากชื่อเรื่องแล้ว ประกอบหลัก ๆ ในส่วนเนื้อหาประกอบไปด้วย
หัวเรื่อง - เป็นส่วนที่ให้ภาพกับผู้อ่านว่างานที่เราจะเขียนเกี่ยวกับอะไร โดยทั่วไปการตั้งหัวเรื่องในงานเขียนโดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์จะนำเอาตัวแปรต้นและตัวแปรตามมาคิดเป็นชื่อ บางครั้งอาจนำเอาทฤษฎีหรือกรอบแนวคิดที่ใช้มาสร้างเป็นหัวเรื่องรอง (subtitle) ด้วย เช่น "คุก" ที่ดัดสันดานหรือกรงขังชั่วคราว: มุมมองต่อความสำเร็จของเรือนจำในการลดโอกาสการเกิดอาชกรรมซ้ำซ้อน เป็นต้นครับ จากหัวเรื่องที่ผมให้ไว้เป็นตัวอย่าง ผู้อ่านจะทราบอย่างชัดเจนว่าผมสนใจศึกษาประเด็นเกี่ยวกับเรือนจำ โดยอยากรู้ว่า เรือนจำทำหน้าที่เป็นอะไรกันแน่ แล้วเรือนจำเช่นนี้ช่วยให้ปัญหาเกี่ยวกับการเกิดอาชญากรรมซ้ำซ้อนลดลงขนาดไหน มีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร
การตั้งชื่อหัวเรื่องที่กระชับและได้ใจความเป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ในการเขียนโครงร่างการวิจัยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเขียนส่งขอทุน หากทุนนั้นมีผู้ส่งจำนวนมาก การคัดออกรอบแรกจะทำตั้งแต่การอ่านชื่อหัวข้อแล้วครับ ใครที่คิดชื่อหัวไม่กระชับ อ่านแล้วยยังจับไม่ได้ว่าอยากศึกษาอะไร ก็อาจจะถูกคัดออกแต่แรกโดยที่กรรมการไม่อ่านเนื้อหาข้างในด้วยซ้ำ คำแนะนำสำหรับผมคือ หากคุณไม่ได้มีหัวข้อและเตรียมความพร้อมมามาก ๆ ยังไม่เห็นภาพชัดว่าตนเองจะสร้างงานไปในทิศทางไหน ส่วนนี้เว้นไว้ก่อนก็ได้ครับ ค่อยมาเขียนหลังจากที่เขียนส่วนอื่นไปแล้ว ตอนนั้นคุณอาจจะคิดออกว่าจะต้องตั้งชื่อว่าอะไร ให้ตรงกับงานที่คุณเขียน
ความนำ - คือส่วนของโครงร่างการวิจัยที่แจกจงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของงานวิจัย ระบุความสำคัญของการวิจัย รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนโครงร่างใช้ในการถกแนวคิด หรือตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยครับ ในส่วนท้ายของความนำผู้เขียนควรระบุ คำถามวิจัย และสมมติฐานการวิจัยด้วยครับ การเขียนความนำที่ดี จึงต้องมีการวางแผน จากประสบการณ์ของผม ผมจะเริ่มด้วยการระบุแกนหลัก กล่าวคือ ใจความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้นั่นเองครับ แกนหลักที่ดีอาจเริ่มด้วยการเขียนข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตามในการศึกษาของเราก่อน เช่น งานเขียนชิ้นนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าภาษากับสังคมมีความสัมพันธ์กัน
หลังจากนั้น ผู้เขียนโครงร่างวิจัยต้องทำการทบทวนวรรณกรรม เพื่อหาข้อมูลมาเติมให้ข้อความนี้ดูมีชั้นเชิงและหนักแน่นมากขึ้นครับ อาจทำโดยการหาสถิติมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่เขียนลงไปหรืองานวิจัยที่กล่าวถึงประเด็นใกล้ ๆ กันนี้ สมมติว่าผมได้ทบทวนวรรรกรรมแล้ว พบว่ามีงานน้อยชิ้นที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับสังคม ผมก็อาจนำข้อมูลนี้มาเขียนเติมลงไป เช่น วรรณกรรมและงานเขียนทางสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ (อ้างงานที่กล่าวเช่นนี้ 2-3 งาน) เห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างมาก ทว่ามีงานวิจัยเพียงบางส่วนที่สะท้อนว่าปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น ภาษาก็มีความสัมพันธ์กับสังคมเช่นกัน งานเขียนขิ้นนี้จึงต้องการสะท้อนให้เห็นว่าภาษากับสังคมมีความสัมพันธ์กัน เป็นไงครับ ดูหนักแน่นขึ้นมาบ้างหรือเปล่า
หลังจากระบุแกนหลักแล้ว สิ่งถัดมาที่ผู้เขียนโครงร่าววิจัยต้องคำนึงคือ การเขียนที่มาและความสำคัญครับ ส่วนนี้เป็นส่วนที่แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดงานนี้ และงานนี้สำคัญอย่างไร (ในกรณีที่ขอทุน ส่วนนี้สำคัญมาก ๆ นะครับ) จริงๆ ส่วนนี้สามารถเขียนได้หลายแบบ อาจจะเขียนเรียงมาเป็น time line แล้วชี้ช่องโหว่ของงานก่อนหน้านี้ เพื่อสนับสนุนว่า ทำไมเราถึงอยากทำเรื่องนี้ แบบนี้จะใช้ได้ดี หากหัวข้อที่ศึกษามีการศึกษามาก่อนแล้วมากพอสมควรครับ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเริ่มที่ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการเล่าเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของการวิจัยครับ
ในส่วนสุดท้ายของความนำผู้เขียนควรแจงคำถามวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย และสมมติฐานในแต่ละวัตถุประสงค์ ถือป็นส่วนสำคัญที่สุดของความนำเนื่องจากส่วนนี้เป็นส่วนกำหนดการทบทวนวรรณกรรมและกำหนดระเบียบวิธีวิจัยเลยครับ จึงเป็นส่วนที่เขียนออกมายากที่สุดเช่นกันเนื่องจากผู้เขียนต้องทราบเป็นอย่างดีว่าตนจะเขียนอะไร โดยทั่วไปสิ่งที่นำมาใส่ในส่วนนี้จะได้จากการทบทวนวรรณกรรม หรือการเรียน หรือความรู้สั่งสมก่อนหน้านี้ คำถามวิจัยของานวิจัยหนึ่งเรื่องควรมีไมเกิน 3 คำถามครับ โดยคำถามดังกล่าวควรมีความต่อเนื่องกัน ไม่ใช่เป็นประเด็นแยกขาดจากกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้งานเราเขียนยากและเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ (เชื่อผมครับ กว่าจะตอบได้แต่ละคำถามก็กินเวลาเป็นครึ่งปีเข้าไปแล้ว) เมื่อคำถามวิจัยชัดเจนแล้ว การคิดวัตถุประสงค์ก็ไม่ยากครับ เนื่องจากวัตถุประสงค์จะล้อกับคำถามวิจัยเสมอ การตั้งวัตถุประสงค์ก่อนได้คำถามวิจัยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องครับ ในกรณีที่เขียนเพื่อทำวิทยานิพนธ์ควรเขียนสมมติฐานของวัตถุประสงค์แต่ละข้อไว้ด้วยครับว่าแนวโน้มของคำตอบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แน่นอนว่าการคิดแนวโน้มได้ก็ต้องอาศัยการทบทวนวรรณกรรมที่พอเพียงเช่นกันครับ หากผลที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับสมมติฐาน ไม่ต้องซีเรียสครับ เป็นเรื่องดีเสียอีกที่เราจะมีอะไรให้ถกในส่วนแปรผล การปรับเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทำให้ผลออกมาตรงกับสมมติฐานเป็นเรื่องที่ผิดนะครับ อย่าทำแบบนั้นเด็ดขาด
จนถึงตรงนี้ผมว่า ผู้อ่านคงตระหนักแล้วว่า แค่ส่วนเริ่มต้นของโครงร่างก็ดูหนักหนาและกินเวลาเอาเรื่องเหมือนกัน ใช่ครับ มันเป็นเช่นนั้น กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จวันเดียวฉันท์ใด โครงร่างวิจัยก็เขียนภายในหนึ่งวันไม่ได้ฉันท์นั้นครับ ต้องอาศัยการอ่าน วางแผน เรียบเรียงและตกผลึกมาแล้วประมาณหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นเดือน ๆ ดังนั้นใครที่คิดจะทำ study plan เพื่อขอทุน หรือใกล้จบ course work พวกคุณควรเริ่มแล้วครับ
การทบทวนวรรณกรรม - การทบทวนวรรณกรรมคือ การอ่านหนังสือครับ เป็นส่วนที่ต้องใช้เวลามากที่สุดในการทำโครงร่าง โครงร่างดีหรือไม่ดีวัดกันที่ส่วนนี้เลยครับ งานจะดีได้ผู้เขียนโครงร่างต้องอ่านงานด้านที่อยากทำวิจัยมาดีมากพอ ข้อมูลจากการทบทวนเหล่านี้จำเป็นกับการเขียนเนื้อหาในโครงร่างส่วนต่าง ๆ อยู่พอสมควรเลยครับ สิ่งที่ผมพอจะแนะนำได้คือ การทบทวนวรรณกรรมควรเริ่มจากการคิดถึงประเด็นในหัวข้อของเราก่อน เช่น ผมทำเรื่อง คุกกับการลดปัญหาการเกิดอาชญากรซ้ำซ้อน ผมมีสองประเด็นที่ต้องไปอ่านหนังสือแล้วครับ นั่นคือ ต้องอ่านหนังสือที่ตีแผ่เกี่ยวกับคุก และอ่านหนังสือที่พูดถึงการเกิดอาชญากรรมซ้ำซ้อน เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ข้อมูลในหัวเราจะเยอะขึ้นตามมาด้วย บางทีอ่าน ๆ ไป อาจจะได้หัวข้อที่อยากทำมากกว่า ก็สามารถเปลี่ยนหัวข้อได้ตอนนี้นะครับ แต่ไม่ควรสนใจทุกอย่าง พยายามโฟกัสอยู่ที่ประเด็นที่เราจะทำ หากไม่ทำเช่นนี้แล้วอ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นการอ่านแบบไม่มีวันจบครับ ในขณะอ่านงานต่าง ๆ ควรสร้าง template เอาไว้ใช้กรอกข้อมูลเพื่อทำให้ข้อมูลที่อุตสาห์อ่านมาเก็บเป็นระเบียบครับ โดย template จะมีหน้าตาประมาณนี้ครับ ระเบียบวิธีวิจัย - ส่วนนี้เป็นส่วนที่ผู้เขียนต้องระบุ กลุ่มตัวอย่างที่จะเก็บข้อมูล แจกแจงรายละเอียดของเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บ รวมถึงกรอบหรือวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ข้อมูลในส่วนนี้ก็ได้จากการทบทวนวรรณกรรมอีกเช่นเคยครับ ในงานวิจัยหรือหนังสือที่เราอ่านเพื่อมาเขียนสองส่วนแรก มักจะมีข้อมูลว่าผู้วิจัยคนนั้นใช้วิธีการอะไรในการเก็บข้อมูล แล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผู้เขียนโครงร่างจำเป็นต้องอ่านส่วนนี้เพื่อหาไอเดียนำมาเขียนระเบียบวิธีวิจัยของตนเองเช่นกันครับ ในกรณีที่เขียนเป็น study plan เพื่อขอทุน ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องละเอียดมาก อาจจะเขียนแค่ว่าใช้การวิจัยประเภทใด โดยมองผ่านกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีแบบไหนก็พอครับ แต่หากเป็นการเขียนเพื่อทำวิทยานิพนธ์ นอกจากต้องแจงข้อมูลแบบข้างต้นแล้ว ผู้เขียนต้องอธิบายเครื่องมือที่จะใช้เก็บข้อมูล (สัมภาษณ์ / แบบสอบถาม) วิธีการที่จะเก็บ (เก็บที่ไหน กับใคร อย่างไร) ด้วย หากมหาลัยที่เรียนอยู่ บังคับให้ส่งจริยรรมการวิจัย ผมแนะนำว่าคิดเผื่อเรื่องการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่าง การพิทักษ์สิทธิ์ผู้ให้ข้อมูล รวมถึงการดำเนินการแก้ไขหากเกิดปัญหาขึ้นไว้เลยครับ ถึงแม้ส่วนนี้จะไม่อยู่ในโครงร่างวิจัยก็ตาม แต่จำเป็นต้องใส่ในเอกสารเพื่อขอรับรองจริยธรรมการวิจัยครับ
หากคุณไม่มีพื้นในการวิจัยมาเลย ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมพูดมันคืออะไร ผมแนะนำให้ไปศึกษาระเบียบวิธีวิทยาวิจัยก่อนนะครับ หนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่เยอะมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมให้หนังสือที่ผมคิดว่าดีและเหมาะกับคนที่ไม่มีพื้นไว้สักสองสามเล่มข้างล่างนี้แล้วกันครับ
จนถึงตรงนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ หากใครตาลาย หรือล้า ๆ ผมแนะนำให้พักก่อนได่เลยครับ ส่วนเกี่ยวกับโครงร่างการวิจัยหลัก ๆ จบลงแล้ว ส่วนสุดท้ายเป็นสาระเสริมในการเขียนโครงร่างแล้วครับ ซึ่งผมจะพูดถึงการทำ แผนการทำวิจัย (chronogram) และการอ้างอิง (reference) ครับ
คือตารางเวลาในการวิจัยครับ ซึ่งจะทำเป็นช่องตามนี้
โดยในช่องแรก จะเป็นกิจกรรมวิจัยขั้นต่าง ๆ ของเราครับ เช่น ทบทวนวรรณกรรม เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แปรผล เป็นต้น ในขณะที่ช่องถัด ๆ มาเป็นเดือนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่เรามีเพื่อทำวิจัย ซึ่งในกรณีเขียนเป็น study plan หากจำนวนหน้าเหลือก็สามารถใส่เพิ่มเข้าไปได้นะครับ แต่ถ้าไม่มีที่พอแล้วส่วนนี้ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น อาจจะไม่ต้องถึงขั้นทำเป็นตารางตามตัวอย่าง แต่เขียนบรรยายเอาก็ได้ครับ
การอ้างอิงคือ การใส่แหล่งข้อมูลที่เราได้ทำการค้นคว้ามาครับ ถือเป็นการให้เกียรติคนที่ผลิตความรู้เหล่านั้น และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรา (ว่าเราไม่ได้คิดเองลอย ๆ แต่มีคนคิดคล้าย ๆ กัน หรือสนับสนุนความคิดเราอยู่ด้วย) ปกติในแต่ละศาสตร์จะกำหนดแบบการอ้างอิงต่างกัน อย่างในทางสังคมศาสตร์ แบบการอ้างอิงที่เป็นที่ยอมรับกว้างหน่อยคือ แบบ APA ซึ่งตอนนี้ไปถึง edition 7 กันแล้ว ทว่าในทางมนุษยศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์อาจใช้แบบอ้างอิงอื่นซึ่งต่างจากนี้ก็ได้เช่น อาจใช้การอ้างอิงแบบ Chicago style หรือ MLA เป็นต้นครับ เรื่องว่าจะเขียนตามแบบเหล่านี้อย่างไร สามารถค้นหาได้จากอินเตอร์เน็ตเลย รวมถึงลิงก์ที่ผมให้ไว้แล้วครับ พิมพ์เข้าไปใน Google ก็เจอเลย อีกวิธีหนึ่งคือ ดูจากเว็บไซต์บัณฑิตวิทยาลัยของมหาลัยที่คุณเรียนอยู่ครับ ในเว็บไซต์เหล่านั้นมักจะมีให้ดาวน์โหลดเอกสารเกี่ยวกับแบบในการอ้างอิงอยู่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in