เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สัพเพเหระSaGaZenJi
มหา'ลัย....ชีวิต 4 ปีที่เดินไม่ง่าย
  • “พี่ ๆ ผมเรียนโทอะไรดี”
    “พี่ ๆ ผมลงวิชาเลือกตัวไหนดี”

           คำถามเหล่านี้ ผมเชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยถามหรือเคยถูกถามไม่มากก็น้อย แม้ตัวตัวผมเองตอนยังใช้ชีวิตเป็นนิสิตอยู่ก็มีคำถามแบบนี้เหมือนกัน นอกจากการเรียนแล้ว ชีวิตในวัยมหาลัยยังต้องตอบคำถามอื่น ๆ อีกมายมาย เช่น

    “จะเป็นอะไรดี?”
    “จบไปทำอะไร?”  

    อันที่จริงผมคิดว่าคำถามเหล่านี้คงผุดขึ้นในหัวทุกคนอยู่แล้ว...โดยเฉพาะยิ่งปีสูงขึ้นคำถามเหล่านี้ก็ยิ่งถี่และต้องการความชัดเจนมากขึ้น

           ในทัศนคติของผม...ชีวิตในรั้วมหาลัยเป็น 4 ปีที่ไม่ง่ายและเป็น 4 ปีที่หากมีโอกาส ผมอยากจะบอกว่ากรุณาก้าวเดินบนเส้นทางสุดท้ายนี้ดี ๆ ... ในแวดวงและสังคมที่ผมอยู่นั้น ผมได้สัมผัสกับคนหลาย ๆ ประเภท ทั้งคนที่ใช้ชีวิตมหาลัย 4 ปีนี้คุ้มเกินคุ้มและคนที่สุดท้ายโอดครวญว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ (ซึ่งผมเองก็ยังรู้สึกว่าตัวเองจัดอยู่ในคนประเภทหลัง) ชีวิตมหาลัยไม่ง่ายด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา ผมอยากเล่าเรื่องราวในฐานะคนผ่านช่วงชีวิตนี้มาแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยากจะแบ่งปันความคิด (ที่คิดได้) ไว้ให้เหล่ารุ่นน้องที่กำลังใช้ชีวิตในโค้งสุดท้ายของการศึกษา เผื่อว่าประสบการณ์ที่ผมมีจะช่วยให้ผู้ที่อ่านอยู่ในขณะนี้ใช้ชีวิต 4 ปีนี้รอบคอบขึ้น
  • มหาลัยเป็นชีวิตที่ควรเริ่มถามถึงหนทางของตัวเองในอนาคต

            ชีวิตในรั้วมหาลัย 4 ปี สำหรับผมเป็นชีวิตล็อตสุดท้ายที่เราสามารถสร้างข้อแม้เพื่อผัดวันประกันพรุ่งให้กับตัวเอง เรามักเลี่ยงที่จะตอบคำถามที่ควรถามกับตัวเองอยู่เสมอ ๆ เช่น “เราชอบอะไร” หรือ “เราอยากเป็นอะไร” จริง ๆ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเคยผ่านความคิดลักษณะนี้มาบ้างแต่เรามักอ้างว่ามันยังไม่ใช่ที่ที่ใช่และเวลาที่ถูกที่เราต้องมาคิดเรื่องนี้ ง่าย ๆ ว่า “มันยังไม่ถึงเวลา” แต่ผมชวนมองอย่างนี้ว่า ในชีวิตมหาลัยความคิดประเภทประวิงเวลาในการตอบคำถามสำคัญ ๆ แบบนี้ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

           ผมอยากแนะนำน้อง ๆ ปี 1 ปี 2 ที่เพิ่งเข้ามาเสียด้วยซ้ำว่าให้คิดถึงอนาคตของตัวเองได้แล้ว ส่วนใหญ่คิดเรื่องนี้กันตอนปี 3 ปี 4 สำหรับผมมันก็ไม่ได้สายไปนะแต่ผมเองเป็นพวก panic สุดฤทธิ์หากเวลารัดตัวจนเกินไปแล้วต้องมาตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ กับชีวิต เลยคิดว่าถ้าเราค่อย ๆ สำรวจตัวเอง ค่อย ๆ หาตัวเองตั้งแต่ปี 1 มันจะดีกว่ามาก แน่นอนว่าคำถามต่อมาคือ แล้วจะให้คิดยังไง ? ตรงนี่ล่ะคือสิ่งที่ผมอยากเล่า....


    เวลาเรียนเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องหนึ่งมันเป็นไปได้ยากที่เราจะชอบทุกส่วนของเรื่องนั้น
    แต่การไม่ชอบส่วนใดส่วนหนึงเพียงบางส่วนก็ไม่ได้หมายความว่าเราไปทางนั้นไม่ได้ 


           ผมอยากให้ตั้งสติจากข้อเท็จจริงข้อนี้ก่อน จากนั้นถามตัวเองว่าคณะที่เราเข้ามาหรือสิ่งที่เรียนอยู่เราเองจะ "อยู่กับมันได้ไหม" ถ้าต้องอ่านหนังสือหรือค้นข้อมูลในเรื่องพวกนั้นเป็นวัน ๆ จะทำมันได้ไหม? ถ้าใจคุณตอบ "ใช่" ยินดีด้วยครับ อย่างน้อยคุณก็รู้ว่าคุณชอบอะไร ทางของคุณสดใสขึ้นอีกเยอะ แต่ถ้าได้คำตอบว่า "ไม่" ผมก็ยังคงแสดงความยินดีกับคุณอยู่ อย่างน้อยคุณก็ตัดสินใจได้แล้วว่ามันไม่ใช่สิ่งที่คุณปราถนา ในเชิงรายละเอียดเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่าใช่ หรือ ไม่ใช่จริง ๆ ผมขอให้ไกด์ไลน์ไว้แบบนี้ครับ

    1. เปิดดูรายวิชาเลยครับ ดูว่าทั้ง 4 ปี ต้องเรียนอะไร ตัดสินเอาจากชื่อวิชากับข้อความที่บอกว่าวิชานั้นจะสอนอะไรเอาก่อน ถ้าในปีหน้า หน้าหน้า หรือ หน้าหน้าหน้า มีชื่อวิชาที่ทำให้คุณใจชื่นขึ้นบ้างก็รอดตัวไป

    2. มีความเป็นไปได้อย่างอื่นไหมที่เราจะโทอย่างอื่น ที่ที่เรียนอยู่สามารถเลือกสาขาวิชาโทที่เราชอบได้ไหม? ถ้าทำได้ผมแนะนำให้ทำครับ (อันนี้เหมาะสำหรับคนที่รู้ว่าไม่ชอบแต่ไม่อยากซิ่ว หรือพอทน) วิชาโทมีฟังชั่นหลายอย่างแต่ในหัวข้อนี้ผมขอใช้มันในฐานะฟังชั่นดามใจคนถูกวิชาคณะทำร้ายแล้วกัน 

    3. ถ้าวิชาภายภาคหน้าก็ไม่เวิร์ค โทก็ไม่ดี ซิ่วครับ ถ้าคุณอยู่ปี 1 ผมแนะนำ (คนรู้จักบางคนของผมยังซิ่วมาตอนปี 3 เลย) อยากให้มองว่าชีวิตมหาลัยคือแบบฝึกหัดสุดท้ายแล้วที่จะได้ฝึกในสิ่งที่เลือกเพื่อเผชิญกับโลกข้างนอก คุณจะทนเรียนในสาขาที่ไม่ชอบเพื่อสุดท้ายทำงานที่ไม่ใช่ไปทำไม บางคนแย่กว่าตรงต้องหันมาทำในสิ่งที่เรียน (ซึ่งไม่ชอบ) เพราะไปทางอื่นไม่ได้ อย่าให้ชีวิตคุณต้องเจอเรื่องพวกนี้เลย ถ้าคุณติดตรงสังคมที่อยู่มันดีมากหรือไม่อยากไปจากเพื่อน ผมจะบอกว่า ถ้ามันดีจริงถึงคุณไป คุณ (และเพื่อน) ก็หาทางมาเจอกันได้อยู่ดี แต่ถ้าสุดท้ายแล้วคุณตอบไม่ได้ว่าคุณชอบมันหรือไม่....ในกรณีแบบนี้ผมว่ามันน่ากลัวกว่าการที่คุณรู้ว่าคุณต้องการหรือไม่ต้องการอะไรด้วยซ้ำซึ่งทางออกของเรื่องนี้คือการย้อนกลับไปคิดถึงความชอบของตัวเองในชีวิต

           อันที่จริงผมอยากบอกว่าความชอบของบางคน มันก็ไม่ได้เป็นคอร์สบรรจุในมหาลัยหรอก ในกรณีที่คุณรู้ว่าคุณชอบอะไรแต่มหาลัยไม่เปิดสอน ผมแนะนำว่าเลือกเรียนในสิ่งที่จะช่วยให้คุณไปอยู่ที่ชอบ ๆ ได้ หรือช่วยเสริมสิ่งที่ชอบซึ่งคุณจะทำในอนาคต เช่น คุณรู้ว่าคุณชอบทำอาหารมากแต่มหาลัยที่เข้ามาไม่มีหลักสูตรด้านนี้เลย คุณลองดูพวกการตลาดหรือบริหารธุรกิจซึ่งคุณอาจจะได้ประโยชน์จากมันหากคุณได้เปิดร้านอาหารที่คุณชอบหรือเรียนคอร์สจำพวก Human Resource Management ดู เป็นต้น

           คนที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตส่วนมากเขาตอบตัวเองได้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไรดังนั้นถ้าคุณตอบไม่ได้ ผมแนะนำว่าควรรีบหาโอกาสให้ตัวเองเพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้ บางครั้งคุณแค่เจออะไรมาไม่สุดพอที่จะฟันธงหรือเปล่า? ถ้าใช่ รีบไปหาและทำให้สุดซะ กิจกรรมต่าง ๆ ก็ช่วยคุณได้ เพื่อน ตัววิชา หรือแม้กระทั้งสังคมที่อยู่ ถามใจตัวเองดูดี ๆ ครับ

  • มหาลัยเป็นที่ที่ไม่ควรมาเล่น ๆ 

           ใช่ครับ...มันไม่ใช่สนามเด็กเล่น ทุกอย่างที่คุณเลือก ทุกอย่างที่คุณตัดสินใจในช่วงนี้ส่งผลต่ออนาคตอีกหลาย ๆ อย่างได้เป็นสิบ ๆ ปี ผมเห็นหลาย ๆ คนจะเลือกวิชาตามเพื่อนบ้างล่ะ หรือลงมั่ว ๆ บ้าง ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้แนะนำเลยว่า “หยุดการกระทำแบบนั้น” เถอะครับ ผมคงไม่แย้งว่าการลงตามเพื่อนไม่มีข้อดีเลย ผมแค่อยากเสนอว่าการลงวิชาในมหาลัย ส่วนหนึ่งมันกำหนดชีวิตของคุณ ที่จริง การลงวิชาตามเพื่อน (ไปก่อน) คือหลักฐานชิ้นหนึ่งที่สะท้อนว่าตัวคุณเองยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าคุณเข้าข่ายลักษณะนี้ ผมอยากให้ลองกลับไปคิดถึงสิ่งที่ผมพูดไปข้างต้น แต่ใครที่รู้อยู่แล้วว่าอยากทำอะไร ผมแนะนำให้ลงวิชาที่ทำให้คุณไปถึงฝันคุณได้

          ผมมีเกณฑ์ในการเลือกวิชาต่าง ๆ นอกเหนือจากวิชาคณะแค่เกณฑ์เดียวคือ ผมชอบมันหรือเปล่า ? ถ้าชอบผมก็ลง ถ้าไม่ชอบผมก็ไม่ลง ถ้าไม่รู้ ผมลงแล้วตัดสินใจว่าจะถอนดีไหม ลงวิชาตัวที่ทำให้ชีวิตคุณมีทางเลือกมากขึ้นดูก็ได้ครับ ผมแนะนำว่าถ้าในมหาลัยของคุณมีวิชาภาษาที่สามให้เลือกเรียน แล้วคุณเองพอเรียนได้ เอาดีได้ ก็ควรเอาดีไปเลยสักหนึ่งภาษา ผมคิดว่าภาษามันเปิดทางอะไรอีกมากมายให้กับชีวิต ไม่มากก็น้อยอาจจะช่วยให้คุณทำตามฝันที่คุณวาดไว้ได้ 

    คนที่ก้าวหน้าในชีวิต เขาไม่ได้คิดเล่น ๆ ในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่แต่เขาเห็นแล้วว่ามันจะส่งผลอะไรต่อตัวเขาบ้างในอนาคต

  • มหาลัยเป็นที่ที่ควรคว้าทุกโอกาสที่เป็นไปได้

           อย่าอิดออดที่จะหาโอกาสให้กับตัวเองในโค้งสุดท้ายของการศึกษา มหาลัยมีแหล่งทุนแลกเปลี่ยน แหล่งทุนการศึกษา แหล่งกิจกรรมที่เปิดโลกเยอะแยะมากมาย ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะเรื่องทุนการศึกษาในระดับที่สูงกว่า ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนอยากได้ทุนเรียนต่อ แต่ถ้าคุณไม่แม้แต่จะกระตือรือร้นหาว่ามีทุนอะไรบ้าง โอกาสเหล่านั้นก็ไม่มีทางเป็นของคุณ มหาลัย (อย่างจุฬาฯ) มักมีเว็บหรือแหล่งของข้อมูลทุนอยู่ (www.inter.chula.ac.th - สำหรับจุฬา) ลองขวนขวายดูบ้าง ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าโอกาสไม่ได้มาหาเรา แต่เราต่างหากที่ต้องไล่ตามหามัน

           นอกจากโอกาสทางการศึกษาแล้ว โอกาสในการได้เจอคนใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมเข้าใจว่าเด็ก ๆ รุ่นต่อจากผมเดี๋ยวนี้ รู้จักคำว่า “Connection” แล้ว และบางคนอาจใส่ใจเรื่องนี้ก่อนผมเสียด้วยซ้ำ ผมกล้าพูดในฐานะคน (เพิ่ง) ทำงานไว้เลยว่ามันสำคัญไม่แพ้การหาทุน คุณควรหาโอกาสสร้างเครือข่ายกับคนอื่น ๆ ในทุก ๆ ระดับ ไล่ไปตั้งแต่ อาจารย์ รุ่นพี่ พี่กิจการนิสิตที่คณะ แม้แต่กระทั้งรุ่นน้องหรือคนต่างคณะก็ควรรู้จักไว้บ้าง สิ่งนี้จะช่วยให้คุณมีต้นทุนทางสังคม สำหรับผม การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับคณะ หรือมหาลัยเป็นทางลัดที่ง่ายที่สุดในการสร้างทุนเหล่านี้ การมีสายสัมพันธ์ที่หลากหลายและแน่นแฟ้นเพียงพอทำให้อนาคตในโลกกว้างที่คุณต้องเผชิญมีทางเลือกในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้มากขึ้น เชื่อผมเถอะ ทุกคนข้าง ๆ คุณไม่มากก็น้อยมีโอกาสที่จะร่วมงานหรือพบป่ะกับคุณอีกหลายครั้งในอนาคต ทำไมคุณจะไม่สร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัวคุณไว้ล่ะ?

    มหาลัยเป็นห้อง “ทดลอง” ห้องสุดท้ายที่คุณจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาด

          ควรเห็นค่าของประเด็นนี้ไว้มาก ๆ เพราะเมื่อคุณจบไป หากคุณทำพลาดนั่นคือพลาด คุณไม่มีโอกาสแก้ตัวเป็นครั้งที่สอง ถ้าคุณคิดจะสร้างสรรค์อะไร อยากท้าทายตัวเองในเรื่องไหน อยากลองอะไร จงอย่ารีรอที่จะทำ ถึงแม้มันอาจจะผิดพลาดบ่อยหรือล้มไม่เป็นท่า แต่คุณยังมีโอกาสได้เรียนรู้จากความล้มเหลวเหล่านั้นโดยไม่มีใครมาด่าหรือว่าคุณ อย่างที่โฆษณาบรีสพยายามบอกเราเสมอว่า "ยิ่งเลอะยิ่งเยอะประสบการณ์"

    มหาลัยเป็นที่ท้าย ๆ ที่คุณจะใช้ยืนยันความฝันของคุณ

           ชีวิตมีความหมายขึ้นมาอีกเยอะถ้าคุณเจอเป้าหมายให้ตัวเอง ในความคิดของผม คนเราย่อมมีฝันกันอยู่แล้ว บางคนอาจมีตั้งแต่เด็ก ๆ ความฝันของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามความจริงที่โหดร้ายของโลกนี้ บางคนที่มุ่งมั่นดีก็ปักหมุดความฝันได้ตั้งแต่แบเบาะและยึดมั่นมาจนถึงตอนนี้ ได้ใช้ชีวิตมหาลัยเพื่อความฝันนั้นอย่างคุ้มค่าทุกเม็ด แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังยืนยันความฝันตัวเองไม่ได้เสียที ถามตัวเองดู (โดยไม่เอาคนอื่นมาคิด) ว่า 

    1. เราไม่ชัดเจนพอเหรอ? - จริง ๆ คำถามนี้คุณน่าจะตอบได้ดีที่สุด โปรดเชื่อมั่นในตัวเองซะ ถ้าคุณเองยังไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้วใครจะเชื่อมั่นในตัวคุณ ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าชีวิตเกิดมาแค่ครั้งเดียว ถึงฝันคุณจะถูกคนอื่นมองว่าเล็กหรือไร้ค่า มันไม่สำคัญเท่าคุณมองว่าความฝันคุณเองเป็นอย่างไร 

    2. เราจะทำมันเป็นจริงได้เหรอ? - นี่ก็เป็นอีกคำถามที่ผมอยากช่วยตอบว่า ไม่มีความฝันไหนเป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น อย่างน้อยคุณควรลองที่จะเดินไปทางนั้นเสียก่อน อย่าเอาแต่บั่นทอนกำลังใจตัวเองหรือกลัวตัวเองว่าจะทำไม่ได้ คุณรักความฝันคุณมากไหม  ถ้ารักก็ต้องเสี่ยง

           ทั้งหมดที่ผมว่ามานี้พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าชีวิตมหาลัยเป็นเวลา 4 ปีที่ไม่ง่าย เป็น 4 ปีที่คุณควรต้องตอบตัวเองในหลาย ๆ คำถาม คิดถึงตัวเองให้รอบด้านมากขึ้นและใช้ชีวิตเพื่อทำให้อนาคตคุณมีความหมายที่สุดเท่าที่ทำได้ ทุ่มให้การเรียน สนุกกับชีวิต และบ้าบอกับเพื่อนฝูง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังโดยหวังว่ามันจะช่วยให้ใครบางคนรู้ว่าต้องเตรียมตัวกับชีวิตที่ไม่ง่ายนี่ยังไง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in