เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatbeseenhoramiji
Peek: Call Me By Your Name ความทรงจำในค่ำฤดูร้อน
  • ไม่พูดพร่ำทำเพลงอะไรละนะ

    ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงน่าดู มาดูกัน :)


    PART I Call Me By Your Name เป็นหนังอะไร?

    Call Me By Your Name เป็นภาพยนตร์รัก โดยผู้กำกับ ลูกา กัวดาญีโน สร้างมาจากหนังสือนิยายชื่อเดียวกัน โดยผู้เขียน André Aciman ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวรักครั้งแรกของเอลิโอ เด็กหนุ่มวัยสิบเจ็ดปี กับโอลิเวอร์ แขกของพ่อที่มาพักบ้านเขาในหน้าร้อนปีหนึ่ง และต้องบอกเลยว่านี่เป็นเรื่องราวความรักที่งดงามสมจริงที่สุดเท่าที่เคยอ่านมาในชีวิต

    อ่านรีวิวหนังสือได้ที่นี่ Review: Call Me By Your Name (Book)
    หรือซื้อหนังสือมาอ่านเองก็ได้ แนะนำเลย

    ปกหนังสือฉบับใช้ภาพจากภาพยนตร์
    (แนะนำว่าถ้าอ่านฉบับอังกฤษได้ก็ดี ภาษาไม่ยากมาก มันดีมาก)
    ปกหนังสือฉบับภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์ Classact Publishing
    (เห็นรีวิวมาว่าแปลไม่ดีเท่าไร ยังไงก็เชียร์เวอร์ชั่นอังกฤษนะ)

    และแม้ว่า Call Me By Your Name จะเป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของชายสองคน แต่เราจะไม่เรียกว่านี่เป็นหนังเกย์เสียทีเดียว ไม่ใช่เพราะเกย์เป็นคำเชิงลบหรืออะไร แต่การเหมาว่าชายที่รักชายทุกคนเป็นเกย์ มันก็คือการเหมารวมด้วย stereotype และไปลบอัตลักษณ์ของกลุ่มคนอื่นที่อาจชอบเพศเดียวกันด้วย อย่างเช่นไบเซ็กชวล ให้เหลือแต่ว่าก็เป็นเกย์เหมือนกันแหละ (ซึ่งในทางเทคนิคเขาไม่ใช่) สำหรับหนัง Coming of Age เรื่องนี้ที่ตัวเอกอย่างเอลิโอยังอยู่ในวัยค้นหาตัวเอง และได้ลองมีประสบการณ์ทางเพศทั้งกับหญิงและชาย เพียงแต่รักแรกที่ลึกซึ้งของเขาเป็นผู้ชาย การนิยามว่านี่เป็นหนังเกย์จึงออกจะสะเพร่าและไม่ใส่ใจไปหน่อยหนึ่ง

    นี่เลยพูดอยู่เสมอว่าเราไม่ควรแบ่งหมวดหนังด้วยเพศของตัวละคร หนังรักก็คือหนังรัก ไม่ว่าตัวละครหลักจะเป็นเพศไหนมันก็คือหนังรัก ถ้าเราจัดหนังของผู้ชายสองคนรักกันว่าเป็นหนังเกย์ และหนังของผู้หญิงสองคนรักกันเป็นหนังเลสเบียน แล้วถ้ามีหนังรักที่เกย์รักกับทรานส์ขึ้นมา เราจะเรียกหนังนั้นว่าอะไรดีล่ะ? (โอเค ในกรณีที่ชัดเจนว่าตัวละครเป็นคู่เกย์ หรือคู่เลสเบียน เราอาจนิยามอย่างนั้นได้ไม่ติดขัด เพื่อให้คนเลือกเสพได้ตามรสนิยม ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ทุกกรณีจะง่ายอย่างนั้น และกับ Call Me By Your Name ตัวผู้กำกับเองก็ไม่ได้นิยามหนังเขาง่าย ๆ แบบนั้นเช่นกัน)


     

    ลูกา กัวดาญีโน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็กล่าวไว้ว่า 


    "ผมมาจากยุโรป หนังของพวกเรามีพื้นเพที่ต่างออกไป หนังอเมริกันมักจะเป็นเรื่องของการจัดประเภท (Genre) คิดค้นประเภท ต้องการแต่จะสร้างประเภทใหม่ๆ ขึ้นมาตีกรอบหนังไม่สิ้นสุด คือเรื่องราวมันก็พัฒนาไปแต่ยังอยู่ในกรอบของประเภทและหมวดหมู่อยู่ดี นอกจากประเภทคลาสสิกอย่างเวสเทิร์น สงคราม ดราม่า นัวร์ สยองขวัญ แฟนตาซี ก็เริ่มมีประเภทมากขึ้นอีกไปจนถึงขั้น หนังอินดี้ หนังเกย์ แล้วในหนังเกย์ก็ยังมีหมวดหมู่ย่อยลงไปอีก พวกนี้มันแปลกมากสำหรับผม ในฐานะคนทำหนัง เพราะผมมาจากพื้นเพที่ต่างกัน และหนังก็คือหนัง ผมดูหนังทั้งสองฝั่งและก็หลงใหลมันทั้งคู่ แต่ผมเป็นคนทำหนังที่มาจากยุโรป เราไม่ต้องการตีกรอบหนังของตัวเอง ผมอยากเล่าเรื่องราวที่ผมรักให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมถึงตัวละครที่ผมหลงรัก...

    [Call Me By Your Name] เป็นหนังเกย์ เพราะมันมีเรื่องเซ็กซ์และประสบการณ์แบบเกย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หนังเกย์เพราะมันเป็นหนังเกี่ยวกับเอลิโอกับโอลิเวอร์ และใครเล่าจะรู้ว่าในอนาคตพวกเขาจะกลายเป็นอะไร ยังไงก็ตาม นี่อาจจะ...เป็นหนังไบเซ็กชวลเรื่องแรกก็ได้ อย่ากีดกันไบเซ็กซวลกันดีกว่านะ"

    (source: CALL ME BY YOUR NAME Press Conference | Festival 2017)

    ส่วนอาร์มี่ แฮมเมอร์ เจ้าของบทโอลิเวอร์ ก็ได้นิยามหนังเรื่องนี้ไว้อย่างงดงามว่า

    "มันเป็นเรื่องราวอันสวยงามของมนุษย์สองคนที่เปิดตัวเอง เปิดใจให้กับความรัก และตกหลุมรักกัน ได้รู้จักความรักเป็นครั้งแรก และอกหักเป็นครั้งแรก และได้เห็นว่ามันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ซับซ้อนวุ่นวายของเราได้ยังไง"


    _____

    All The World Loves Lovers

    นี่เป็นภาพยนตร์รักที่ไม่มีตัวร้ายใด ๆ เพราะลูกาเชื่อว่า โลกชอบเห็นคนรักกัน



    ในงานแถลงข่าว ณ เทศกาลหนังลอนดอน (BFI 2017) มีคนเอ่ยถึงการที่ Call My By Your Name ไม่มีตัวร้าย ไม่มีคนภายนอกมาพูดว่า เฮ้ย ความรักนี้มันผิด หรือมาจับผิดตัดสินอะไร เขาอยากทราบว่าเป็นความต้ั้งใจของกัวดาญีโนเลยหรือเปล่าที่ตัดตรงนั้นออกไป ไม่ต้องมี?

    ซึ่งคำตอบก็คือใช่แหละ คือเรื่องราวก็มาจากในหนังสือ และกัวดาญีโนพยายามที่จะโฟกัสให้หนังอยู่กับตัวเอลิโอและโอลิเวอร์ ในบรรยากาศหน้าร้อนปีนั้นที่อิตาลี แล้วก็ไม่เดินตามขนบของโลกภาพยนตร์ที่ว่าเรื่องราวต้องดำเนินไปแบบนี้ ๆๆ หรือจะต้องมีตัวร้ายมายุ่มย่ามในความสัมพันธ์ มันเป็นแค่เรื่องราวในชีวิตจริงที่เราจะพานพบกับใครที่เข้าใจกัน

    และการที่ครอบครัวของตัวเอกแล้วก็คนอื่นๆ ในเรื่องต่างช่วยโอบอุ้มสนับสนุนความสัมพันธ์นี้ ก็มาจากบทเพลงที่กัวดาญีโนคุ้นเคยมาแต่เด็กอย่าง All The World Loves Lovers ของ Prefab Sprout ซึ่งมีเนื้อร้องว่า 

    All the world loves lovers, all the world loves people in love" 


    เช่นกัน อาร์มี่ แฮมเมอร์ได้กล่าวไว้ในสัมภาษณ์กับ MTV ว่า 

    "ผมชอบองค์ประกอบหนึ่งในหนังตรงที่ ไม่มีใครต้องชดใช้ที่เป็นเกย์ ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีใครป่วย ไม่มีใครมีภรรยาที่ต้องบอกความจริง หรือดราม่ากับครอบครัว มีแต่คนสองคนที่ยอมเปิดตัวเอง รับใครอีกคนเข้ามา และใครคนนั้นก็ตอบรับ และตอบแทนด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สวยงาม"

    (่ฟังอาร์มี่พูดแล้วรู้สึกมีความหวัง รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นอีกแรงกระตุ้นที่ดีให้วงการภาพยนตร์เสนอภาพความสัมพันธ์ LGBTQ+ ในแง่ที่ควรจะเป็นและสอดรับกับโลกจริงๆ สักที สมัยนี้ที่แต่งงานและได้อยู่ด้วยกันก็มีตั้งเท่าไร เราควรมีหนังที่เสนอมุมมองด้านนี้บ้าง ไม่ใช่จะดราม่ารันทดจบไม่สวยกันเสียอย่างเดียว เพราะไม่ว่าคู่รักเพศไหนๆ ก็สมควรที่จะได้รักกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในสังคม จริงไหม) 

    __________

    PART II Call Me By Your Name มีใครแสดงบ้าง?

    เอลิโอ


    เด็กหนุ่มลูกครึ่งอิตาลี-อเมริกัน วัย 17 ปี ซึ่งเป็นผู้บรรยายเรื่องราวในหนังสือ
    หนอนหนังสือ คลั่งไคล้วรรณกรรม เล่นดนตรี แกะเนื้อเพลง อาร์ตตัวพ่อ :)

    รับบทโดย ทิโมธี ชาลาเมต์

    ทำความรู้จักกับหนุ่มน้อยคนนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความของเพื่อนบ้าน นี่เลย:

    โอลิเวอร์


    นักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกัน วัย 24 ปี
    เสน่ห์เหลือร้าย เป็นคนประเภทที่แค่เดินเข้าประตูมาใคร ๆ ก็พากันหลงรัก 

    รับบทโดย อาร์มี่ แฮมเมอร์


    พบกับบทความแนะนำตัวหมอนี่ได้
    เร็ว ๆ นี้


    คุณเพิร์ลแมน


    คุณพ่อของเอลิโอ

    รับบทโดย ไมเคิล สตูห์ลบาร์ก

    เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากนักวิจารณ์ที่ได้ชมหนังต่างเชียร์ให้เขาชิงออสการ์จากบทนี้


    มาร์เซีย


    เด็กสาวที่เอลิโอมีความสัมพันธ์ด้วย

    รับบทโดย เอสเทอร์ การ์เรล

    (รูปนี้หน้าเหวี่ยงมาก ในเรื่องไม่ใช่นางร้ายแต่อย่างใดนะ *ขำ*)
    _____

    การสร้างเคมีระหว่างเอลิโอ-โอลิเวอร์


    แน่นอน ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังรัก สิ่งสำคัญจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเคมีระหว่างคู่รักที่ตัวหนังต้องการนำเสนอ เพื่อให้คนดูเชื่อว่าคนสองคนที่พวกเขาเห็นในจอนั้นรักกันจริง ๆ และตั้งแต่เริ่มต้นออกโปรโมทโดยการฉายตามงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ มาตั้งแต่เมื่อต้นปีจนถึงตอนนี้ ทั้ง Sundance, TIFF, NYFF เสียงร่ำลือของเหล่าผู้ชมที่แสนโชคดีได้ชม Call Me By Your Name กันแล้ว ต่างก็ชื่นชมในเคมีระหว่างอาร์มี่กับทิมมี่ โดยที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต (TIFF 2017) อาร์มี่ได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับในการสร้างเคมีระหว่างเอลิโอกับโอลิเวอร์เอาไว้ว่า

    "มันช่างเป็นประสบการณที่แสนวิเศษและแตกต่างมาก ๆ เราถ่ายทำกันในเมืองเล็กๆ ของอิตาลีชื่อว่า เครมา  และผมกับทิโมธีก็เป็นชาวอเมริกันแค่สองคนที่นั่น ไม่มีใครพูดอังกฤษกันเลย ถ้าสุดสัปดาห์เราอยากทำอะไรก็เลยจะไปทำด้วยกัน เราไปร้านอาหาร เราใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะมาก ถกเถียงเรื่องฉากต่างๆ เราซักซ้อมบทกัน... 

    ...เราถ่ายหนังด้วยกันทั้งวัน แล้วใช้เวลาด้วยกันทั้งคืน เราอยู่ด้วยกันในช่วงวันหยุด มันพัฒนากลายเป็นมิตรภาพที่แท้จริงซึ่งเราก็ยังมีด้วยกันจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นประสบการณ์ที่แสนพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อได้มีร่วมกับคนที่มีพรสวรรค์และเก่งมากสำหรับผม"

    น้องทิมมีการแซวด้วยว่า : มีแต่คำว่าพิเศษเต็มไปหมด ผมชอบนะ XD



    และในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร British GQ เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการสร้างเคมีกับผู้ชายและกับผู้หญิง อาร์มี่ แฮมเมอร์ ก็ตอบว่า "ผมไม่รู้สึกว่ามันแตกต่างอะไรกันนัก การสร้างเคมีกับมนุษย์ก็คือการสร้างเคมีกับมนุษย์ ก็แค่ถ่ายทอดมันออกมา อ่านใจอีกฝ่าย รับความรู้สึกที่อีกฝ่ายพยายามจะสื่อ และปล่อยให้มันมีผลกับตัวเอง มันเป็นเรื่องของการใกล้ชิดกับใครสักคนมาก ๆ จนรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แม้เพียงเล็กน้อย..."

    (ปรบมือให้หน่อย พูดดีเหลือเกิน มันจะต่างอะไรกันล่ะ หญิงหรือชายก็คือมนุษย์อะเนอะ)

    อาร์มี่กับทิมมี่มีความหยอกล้อ สนิทกันนอกจอจริง ๆ

    __________

    PART III Call Me By Your Name ถ่ายทำที่ไหน อย่างไร?

    สถานที่ถ่ายทำ: เมืองเครมา ประเทศอิตาลี


    • ทำไมต้องเครมา?

    ขณะที่เรื่องราวในฉบับนิยายของ Aciman มีฉากหลังเป็นลีกูเรีย แคว้นติดทะเล สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของอิตาลี ลูกากลับเลือกที่จะใช้เมืองเครมา ในแคว้นลอมบาร์เดียที่ซึ่งเขาอาศัยอยู่เป็นสถานที่ถ่ายทำ เป็นบ้านของเอลิโอในภาพยนตร์ เพราะลูกาต้องการบรรยากาศชุ่มชื้นและเอื่อยเฉื่อยของที่นั่น อยากให้เมืองนี้มีชีวิตชีวาบนจอภาพ และสะท้อนความรู้สึกของเขาเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น รวมถึงถ่ายทอดสถานที่สวยงามซึ่งไม่เคยมีใครเห็นบนจอหนังมาก่อน

    เครมาเป็นเมืองที่เดินไปไหนมาไหนได้ มีการใช้รถยนต์เพียงเล็กน้อย และรายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายร้อยปี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ดึงดูดใจสำหรับลูกา เขารู้สึกว่าเครมาเป็นเมืองที่มีมนต์เสน่ห์เหนือกาลเวลา ขณะเดียวกันก็มีหัวใจของความเป็นอิตาลีจริงๆ ไม่ลวงหลอกเหมือนที่หนังฮอลลีวูดหลายๆ เรื่องชอบให้ภาพอิตาลี

    เอลิโอพาโอลิเวอร์ขี่จักรยานในตัวเมืองเครมา

    • สถานที่ถ่ายทำส่งผลต่อการเข้าถึงบทอย่างไรบ้าง? 

    จากงานแถลงข่าวก่อนรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังลอนดอน (BFI 2017) นักแสดงนำของเรื่องได้อธิบายถึงความรู้สึกเกี่ยวกับสถานที่ถ่ายทำในเมืองเครมา ประเทศอิตาลี ว่ามีความหมายกับตนอย่างไรบ้าง

    เอสเทอร์: สำหรับฉัน มาร์เซียเป็นเด็กสาวในท้องถิ่น ฉันจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศนั้น ในความคิดฉันมันเป็นเมืองของฉัน ฉันเลยถือเอาเมืองนั้นเป็นบ้านของฉัน การอยู่ในเมืองที่ถ่ายทำเหมือนเป็นการสะท้อนตัวตนของมาร์เซีย และกลายเป็นมาร์เซีย

    เอลิโอกับมาร์เซีย

    ทิโมธี: สถานที่ถ่ายทำเป็นเหมือนอีกตัวละครหนึ่งของหนัง และอย่างที่เอสเทอร์อธิบายไว้อย่างงดงามว่ามาร์เซียเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เอลิโอใช้เวลาช่วงหน้าร้อนที่นั่น ผมจึงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเช่นกัน ผมไปถึงเมืองเครมาล่วงหน้าราวสองสามสัปดาห์ อยู่และทำงานที่นั่น พออาร์มี่มา ผมก็รู้จักที่ต่าง ๆ ในเมืองแล้วนิดหน่อย เป็นที่เจ๋งๆ ที่ผมชอบไป พอเขามาถึง ความสัมพันธ์เลยก่อตัวขึ้นในลักษณะเดียวกับในหนังสือที่เอลิโอพาโอลิเวอร์ไปชมรอบๆ เมือง ไปรู้จักสถานที่ต่างๆ ประมาณนั้น สถานที่ถ่ายทำเลยแทบจะเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งทั้งในหนังสือและในหนัง

    ทิมมี่กับผู้กำกับลูกาในเมืองเครมา

    อาร์มี่: ผมแค่อยากไปหาพาสต้าอร่อยๆ กิน (ฮาาาาาา) โอลิเวอร์เป็นคนมีวัฒนธรรม แต่อาจไม่ได้เดินทางบ่อยนัก ผมเองก็เพิ่งเคยไปเมืองเครมาเป็นครั้งแรก ประสบการณ์ "ครั้งแรก" ต่างๆ ในเมืองจึงค่อนข้างสมจริงและลึกซึึ้ง การได้ไปเมืองเล็กๆ นี้ ได้ไปชม ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ถ่ายทำมันเป็นครั้งแรกสำหรับผมหมดเลย เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และน่าทึ่ง คล้ายกับภาพฤดูร้อนอันแสนงดงามที่ตัวหนังโอบอุ้มไว้ เว้นแต่ว่าผมได้อยู่ในนั้นจริงๆ ขณะที่ถ่ายทำ
     
    อาร์มี่ แฮมเมอร์ กับลูกสาว ฮาร์เปอร์ ระหว่างถ่ายทำในเมืองเครมา


    บรรยากาศเบื้องหลังการถ่ายทำในเมืองเครมา


    • สำรวจบ้าน 'เพิร์ลแมน'


    กัวดาญีโนเปลี่ยนช่วงเวลาในเรื่องจากปี 1988 ย้อนไปยัง 1983 เขารักเมืองเครมาและเขารู้จักบ้านหลังที่ใช้ถ่ายทำ จริงๆ เขาอยากจะซื้อบ้านหลังนั้นแต่ว่าไม่มีปัญญา-- แต่ลูการู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มีความหมายที่นั่น เลยมาสร้างหนังเสียเลย


    ลูกากับโปรดักชันดีไซเนอร์และนักออกแบบเซ็ตช่วยกันปรับแต่งภายในบ้านให้สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวที่รวมคนฉลาดและหลากหลายเชื้อชาติเข้าด้วยกัน บ้านเพิร์ลแมนรักชีวิตในเมืองเล็กๆ อันห่างไกลซึ่งให้ความรู้สึกใกล้ชิดกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก


    เอลิโอกับโอลิเวอร์(กินข้าว)เอาท์ดอร์กันในสวนอันร่มรื่นของบ้าน :

    • สถานที่ท่องเที่ยวที่ใช้ในภาพยนตร์

    นอกจากบ้านหรูไม่ห่างจากตัวเมืองเครมาที่ใช้เป็นฉากบ้านเพิร์ลแมนแล้ว Call Me By Your Name ยังใช้สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมเป็นฉากสำคัญอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ทะเลสาบการ์ดา ที่ครอบครัวเพิร์ลแมนและโอลิเวอร์ออกทริปเล็กๆ ไปสำรวจไซต์ขุดค้นโบราณวัตถุ

    ตามคลิปจากหนังที่ปล่อยมานี่เลย :


    หรือจะเป็นน้ำตกเซอริโอ นอกเมืองเบอร์กาโม แหล่งน้ำที่สูงที่สุดในอิตาลี ที่ซึ่งเอลิโอกับโอลิเวอร์ได้ไปออกทริปกัน สำหรับคนที่อ่านหนังสือมาแล้วก็จะได้เห็นว่ากัวดาญีโนเปลี่ยนจากความคึกคักในกรุงโรมมาเป็นความสงบส่วนตัวที่เบอร์กาโมนี้ ในทริปสุดท้ายระหว่างสองหนุ่ม เนื่องจากลูกาต้องการให้ทั้งคู่ได้ไปในที่อันไร้สิ่งเบี่ยงเบนความสนใจไปจากรักครั้งแรกของพวกเขา


    ลูกาบอกว่า 

    "พวกเขาไปในที่ที่ไม่ต้องใช้คำพูดใด แค่สื่อสารกับธรรมชาติเท่านั้น เพราะผมคิดว่ามันควรเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะได้ยอมจำนนต่อความใกล้ชิด"

    _____

    การถ่ายทำ: ใช้กล้องตัวเดียว เลนส์ตัวเดียว

    เชื่อไหมล่ะ กับภาพที่สวยขนาดนี้


    ลูกา กัวดาญีโน พูดถึงการคุยงานถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้กับสยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทย ไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Lindsay Online ว่าเขาแค่ต้องการความเรียบง่าย แค่ต้องพาคนดูเข้าไปอยู่ท่ามกลางเรื่องราว ตลอดทั้งเรื่องจึงใช้กล้องเพียงตัวเดียว เลนส์ตัวเดียว ไม่ได้ใช้เทคนิคเข้าไปเสริมเติมแต่งเรื่องราวหรือการแสดงของนักแสดง แค่อยากจดจ่อกับเรื่องราวอย่างลึกซึ้งเท่านั้น

    ลูกา กัวดาญีโน กับคุณสยมภู มุกดีพร้อม ในตำแหน่งผู้กำกับภาพ
    _____

    การซ้อมก่อนถ่ายทำ: ไม่มี ยกเว้นการซ้อมเดียว

    อาร์มี่ แฮมเมอร์ เล่าเป็นเรื่องตลกให้ฟังในทุกครั้งทุกงานที่ Call Me By Your Name ไปโปรโมทเกี่ยวกับการซ้อมฉากหนึ่งฉากนี้ว่า

    "มันเป็นการซ้อมครั้งเดียวที่เราทำกัน เราไปถึงวิลล่าที่ถ่ายทำบ้าน ลูกาพาไปชมรอบๆ แล้วถามขึ้นมาว่า อยากลองซ้อมดูสักหน่อยไหม ทิมมี่กับผมก็แบบ ได้เลย เรามาเพื่อแสดงนี่ มาซ้อมกัน ลูกาก็แบบ... 'ผมไม่ได้วางแผนอะไรไว้ เราน่าจะสุ่มเอาสักฉาก อย่าง เอ่อ ฉากที่ 62 แล้วกัน' พวกเราก็โอเค ฉาก 62 แล้วก็เปิดๆๆ บทไป และฉากนั้นก็เขียนไว้แค่ว่า เอลิโอกับโอลิเวอร์พลอดรักกัน...  

    เราก็แบบ โอ...เค... ลูกาให้เราไปที่สวนหลังบ้าน มีผืนหญ้า เขาบอกว่า 'พวกนายนอนลงไปสิ พร้อมเมื่อไรก็เอาเลยนะ' ทิมมี่กับผมก็นอนลงไป นัวเนียกันนิดหน่อย ยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ ลูกาก็บอกว่า โอเค แล้วเดินจากไปเฉยๆ ทิ้งเราไว้บนหญ้า..."



    __________

    Part IV เกร็ดภาพยนตร์ Call Me By Your Name

    เรื่องราวเล็ก ๆ น้อยๆ ที่น่ารู้ของ Call Me By Your Name จากบทความของ Vogue UKVariety และบทสัมภาษณ์ในงานอื่น ๆ

    • บรรยากาศฤดูร้อนที่เห็นไม่ได้มาง่าย ๆ
      ภาพฤดูร้อนอันแสนเจิดจ้าจรูญจรัสนั้น กัวดาญีโนยกเครดิตให้ความเก่งกาจของคุณสยมภู ผู้กำกับภาพ เพราะความจริงแล้วฝนตกหนักมาก ตกแล้วตกอีก ตกตลอดเวลาที่ถ่ายทำตั้งแต่ต้นจนจบ คุณสยมภูต้องจัดแจงแสงเองทั้งหมด ซึ่งแม้จะประดิษฐ์เอา แต่เขาก็ถ่ายออกมาได้สวยงามมาก ลูกาบอกว่าต้องขอบคุณสติปัญญาอันเฉียบแหลมของชาวไทยคนนี้โดยแท้


    • คุณสยมภูรู้สึกเชื่อมโยงกับนักแสดงมาก ๆ ในระหว่างถ่ายทำ ซึ่งกัวดาญีโนคิดว่าการมีผู้กำกับภาพที่เข้าถึงอารมณ์นักแสดงได้ด้วยเป็นเรื่องสำคัญ และคุณสยมภูเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวขนาดที่ว่าหลังจากถ่ายทำฉาก 'พีช' แล้วถ่ายเทคแรกของการเผชิญหน้ากันระหว่างเอลิโอกับโอลิเวอร์ เขาถึงกับร้องไห้อยู่ที่มุมห้องเงียบๆ คนเดียว


    • ทักษะด้านดนตรีของเอลิโอในหนังนั้นเป็นของแท้ ทิมมี่เล่นเอง ตัวละครเอลิโอเป็นนักเปียโนและมือกีตาร์ที่มีพรสวรรค์ การแปรเพลงของบาคนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทิมมี่มาก เขาต้องฝึกซ้อมกับนักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี โรแบร์โต โซลชี วันละชั่วโมงครึ่งเป็นเดือนกว่าก่อนเริ่มถ่ายทำหนัง


    • ฉากเต้นที่เห็นอาร์มี่กับทิมมี่ดิ้นกันสุดเหวี่ยงถ่ายทำโดยไม่เปิดเพลง อาร์มี่เล่าในการสนทนาเรื่องหนังที่ Times Talks ว่า ฉากเต้นใน Call Me By Your Name เวลาถ่ายนั้นไม่ได้เปิดเพลง ต้องเต้นแบบสนุกสุดชีวิตในความเงียบ ท่ามกลางทีมงานจำนวนมากที่จ้องเขาเต้นด้วยความรู้สึกว่าเมื่อไรจะเสร็จซะที แล้วทุกครั้งที่อาร์มี่รู้สึกว่า ไม่ไหวแล้วโว้ย พอหันไปดูทิมมี่คือน้องยังคงเต้นอย่างมีความสุขเมามันมากอยู่คนเดียว (555555555) ในคลิปสัมภาษณ์มีแซวให้น้องเต้นโชว์ด้วย น้องก็ทำจริง เด็กคนนี้ XD


    • ผู้กำกับกัวดาญีโนรู้จักกับอาร์มี่มานานที่สุดในหมู่นักแสดง CMBYN เช่นกันเรื่องนี้เล่าที่ Times Talks ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกเมื่อปี 2010 ช่วงที่อาร์มี่กำลังถ่าย Social Network ซึ่งเขาเล่นเป็นแฝดวิงเคิลวอสส์ ซึ่งฟ้องมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเกี่ยวกับ Facebook โดยกัวดาญีโนเป็นอีกคนหนึ่งที่ตอนนั้นหลงคิดว่าบทแฝดมีนักแสดงสองคนจริง ๆ (ตอนนั้นคนไม่รู้เยอะมาก อาร์มี่เคยเล่าว่ามีคนดูมาทักว่าพี่ชายคุรไปไหนล่ะ คุณเล่นดีนะ แต่พี่ชายคุณเล่นใหญ่ไปหน่อย อาร์มี่ก็เอออออ เขาคิดว่ามีแฝดจริง ๆ *ขำ*) 

    หลังจากนั้นกัวดาญีโนกับอาร์มี่ก็ได้นัดคุยกัน คุยกัน 4 ชั่วโมงตั้งแต่เรื่องหนัง เพลง วรรณกรรม อาหาร ทุกอย่างจริง ๆ จนอาร์มี่คิดว่ามันสุดยอดมาก ต้องได้เล่นหนังกับลูกาแน่ ปรากฏว่าหลังจากนั้นลูกาเงียบหายไปเลย 6 ปีครึ่ง ถึงค่อยโทรมาชวนเล่น Call Me by Your Name *หัวเราะแรง*

    • ถ่ายฉากเปลือยไปเรื่อย ๆ ก็ชิน ความสนิทสนมจากการแฮงเอาท์ด้วยกันจริง ๆ ในช่วงถ่ายทำทำให้เล่นฉากเลิฟซีนง่ายขึ้น จากบทสัมภาษณ์ของ USA Today อาร์มี่เล่าว่าหลังจากเทคแรก กำแพงก้ละลายหายไปเลย ไปถึงจุดที่ว่าถ่ายฉากที่ต้องเปลือยกายมาสองสามวันต่อกันแล้ว พอสั่งคัท จะมีคนมาถามว่าเอาเสื้อคลุมไหม พวกเขาก็แบบ 'ไม่ต้องละ เดี๋ยวอีกแป๊บก้คงถ่ายอีก' แล้วก็นั่งตัวเปลือยรออยู่ด้วยกันบนเตียงนั่นแหละ


    • นี่อาจเป็นหนังที่ส่วนตัวที่สุดของ กัวดาญีโน เพราะถ่ายทำในแถบที่เขาเติบโตมา ลูกาจึงแชร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับท้องถิ่นให้เหล่านักแสดงมากมาย และยังเลี้ยงมื้อค่ำกับฉายหนังให้ทีมนักแสดงชมตามร้านอาหารในพื้นที่หรือที่บ้านของเขาเองด้วย อาร์มี่จำได้ขึ้นใจถึงสไตล์การกำกับที่แสนจะใกล้ชิดเป็นส่วนตัวของลูกา "ผมไม่เคยทำงานกับผู้กำกับที่รอบรู้เรื่องความรู้สึกขนาดนี้มาก่อน เขารู้ว่าเมื่อไรควรผลักดัน เมื่อไรควรปลอบประโลม หรือตบ หรือจูบ หรือทำอะไรก็ตามเพื่อให้ได้อย่างที่เขาต้องการ เขาต้องการให้ความรักกับนักแสดงทุกคนของเขาจริงๆ"


    • กัวดาญีโนลงไม้ลงมือกับอาร์มี่เพื่อดึงประสิทธิภาพการแสดงออกมา
      ใน Q&A ของ SAG-AFTRA อาร์มี่เล่าว่ามีจุดหนึ่งที่กัวดาญีโนถึงกับลงไม้ลงมือกับตน ไม่รู้เป็นเทคนิคที่เขาใช้เป้นปกติหรือเปล่า

      อาร์มี่: ไม่รู้เพราะเขาท้อใจกับการแสดงที่ไม่มีพลังมากพอของผมหรืออะไร ผมก็ไม่รู้ ทำไมอะ (หันไปถามลูกา) เราสองคนมีความสัมพันธ์ที่งดงามและซับซ้อนมาก

      ลูกา: ผมเพิ่งรู้จากภรรยาเขาทีหลังว่าเขากลับบ้านไปแล้วแบบ... 'ผมจะฆ่าเขา ๆ"

      อาร์มี่: (ขำหน้าแดง) ในฉากน้ำตก เรามีโอกาสแค่เทคเดียวเท่านั้น เพราะมันไม่ใช่น้ำตกจริง แต่เป็นเขื่อนพลังน้ำ ซึ่งปล่อยน้ำลงมาได้ครั้งเดียว เพราะมีค่าใช้จ่ายราว 7,000 ดอลลาร์ประมาณนั้น เราเป็นแค่หนังเล็ก ๆ ก็เลยจ่ายได้ครั้งเดียว

      แล้วตอนที่ซ้อมฉากนั้น ลูกาต้องการสีหน้าแบบนี้ ต้องการให้เปิดตัวเอง ต้องการอารมณ์แบบนี้ ๆ และเดิมพันก็สูงมาก เราต้องเดินขึ้นเขากับอุปกรณ์ทุกอย่างหลายชั่วโมงกว่าจะขึ้นไปถึงจุดนั้น ทุกคนโดนพอยซันไอวี่ ต้นตำแย ฝนก็ตก มันทรมานมาก เป็นวันถ่ายทำที่โหดร้ายสุด ๆ และเพราะเขามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร แต่เหมือนผมจะยังให้ในสิ่งที่เขาต้องการไม่ได้ เขาก็เลยแบบ 'ทำให้ได้สิ!' แล้วก็ ตุ้บ!! ทุบผมด้วยสองมือ แล้วเราก็เหวอไปทั้งคู่ เขาก็หมุนตัวกลับ เดินหนีไปเลย แต่มันก็ได้ผลนะ คิดว่า...

      ลูกา: มันเป็นเทคนิคของบิล ฟรียด์คิน ใน Exorcist บาทหลวงจริง ๆ ที่เล่นเป็นบาทหลวงในเรื่องยังแสดงได้ไม่ถึงพอ ผู้กำกับก็เลยตบหน้าเขาแล้วเดินจากไป พอสั่งแอคชั่น บาทหลวงก็ตัวสั่นเลย ... ผมไม่ได้เชื่อในเทคนิคนั้นหรอก 

      (อ้าว ลุง 555555555555555555555555555555555555555555555555555555)



    • อังเดร อาซีมันปลื้มการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งนี้ เจ้าของบทประพันธ์ Call Me By Your Name ถึงกับบอกว่าชอบตอนจบในภาพยนตร์มากกว่าในหนังสือของตัวเองเสียด้วยซ้ำ แฟนหนังสือจะได้พบกับตอนจบที่แตกต่างไปอย่างชัดเจน และรับรองว่ามันจะทำให้คุณต้องกลั้นหายใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว


    __________

    PART V ความสำเร็จและอนาคตของ Call Me By Your Name

    หลังจากออกฉายในวงกว้างที่สหรัฐอเมริกา สมาคมนักแสดงภาพยนตร์ โทรทัศน์และสื่อสารมวลชนของสหรัฐ (SAG-AFTRA) ได้จัด Q&A ให้นักแสดงนำและผู้กำกับมาให้สัมภาษณ์ คำถามหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิกิริยาของผู้ชมหลังจากดูภาพยนตร์ มีอันหนึ่งที่น่าสนใจและน่าประทับใจมาก ๆ

    "มีคนบอกว่า 'ผมดูหนังเรื่องนี้ กลับบ้าน แล้วเปิดตัวกับพ่อแม่' เราไม่ได้อยากจะไร้เดียงสาขนาดคิดว่าหนังจะเปลี่ยนแปลงโลกหรอก แต่หนังเรื่องนี้ได้เปลี่ยนโลกของคนนั้นไปแล้ว จุดประสงค์ที่เหนือกว่าของงานศิลปะรูปแบบนี้คือการท้าทายมุมมอง ท้าทายความคิดของผู้คนต่อโลก และเขาคนนั้นกล้าหาญขึ้นและพบความเข้มแข็งที่จะกลับบ้านไปโดยกล้าพูดว่า 'ฉันรู้ว่าตัวเองเป็นใครและฉันโอเคกับมัน' ผมคิดว่ามันทรงพลังมาก"

    ฟังบทสนทนาเต็ม:


    __________

    แผนสร้างภาคต่อ



    กัวดาญีโนเปิดเผยว่า มีแผนจะสร้างภาคต่อของ Call Me By Your Name เรียบร้อยแล้ว เขาอยากทำเพราะว่านักแสดงชุดนี้เป็นเพชรน้ำงามกันทั้งนั้น และคิดไว้ว่าน่าจะวางกำหนดฉายได้ราว 2020 ซึ่งทั้งนักแสดงอย่างทิมมี่และตัวละครเอลิโอต่างก็จะอายุครบ 25 พอดี เหตุการณ์ในภาคต่อจะอยู่ในช่วงยุค 90 หลังจากภาคแรกราว 8 ปี นั่นเอง ซึ่งในหนังสือนั้น เอลิโอกับโอลิเวอร์มาพบกันอีกครั้งหลังจากผ่านไปราว 15 และ 20 ปี เพราะฉะนั้น ยังเหลือช่องว่างมากมายให้เติมเต็มและสร้างสรรค์เนื้อเรื่อง

    "ผมไม่คิดว่าเอลิโอจะต้องโตขึ้นมาเป็นเกย์ เขายังไม่ค้นพบตัวเอง ผมเชื่อว่าเขาอาจจะเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างจริงจังกับมาร์เซียขึ้นมาอีกครั้งก็ได้" กัวดาญีโนกล่าว

    __________


    สุดท้ายนี้ ฝากเพลงประกอบภาพยนตร์ Call Me By Your Name ไว้ในอ้อมใจด้วย มีให้ดาวน์โหลดแล้ว ณ itunes 

    ก็จะมี Mystery of Love ของ Sufjan Stevens เป็นเพลงหลัก ทำนองเพลงอ่อนหวาน ฟังสบายรื่นหู ส่วนอีกเพลงที่แนะนำก็ของศิลปินท่านเดียวกัน ชื่อเพลง Futile Devices อันนี้ชอบเป็นการส่วนตัว <3 และอีกเพลงที่หลังจากชมภาพยนตร์มาแล้วรู้สึกว่าอินกับความหมายมาก ๆ ก็คือ Visions of Gideon (พูดแล้วน้ำตาจะไหลอีกเลยเนี่ย #อินอะไรเบอร์นั้น)

    l ซึ่งกัวดาญีโนบอกว่า "ไม่ได้สั่งอะไรเลยนอกจากขอให้เขาทำเพลงให้ เขาคือซุฟยอน สตีเวนส์นะ! (หัวเราะ)" เขาแค่อยากได้เพลงที่จะบรรยายภาพในหนังกับหนังสือได้อย่างถูกต้อง จากมุมมองของเอลิโอ และเพลงของซุฟยอน ทั้งเนื้อเสียงและเนื้อร้องของเขานั้นงดงามหาตัวจับยาก อีกทั้งยังสะเทือนอารมณ์สะท้อนเรื่องราวที่บทเพลงเล่าได้ดี l



    Call Me By Your Name
    เข้าฉายในไทย 14 ธันวาคม
    โรงภาพยนตร์ House RCA เท่านั้น.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nattaya Twentyfourseven (@fb6489141452323)
เป็นการรีวิวหนังที่อ่านแล้วเพลินมาก สนุกมาก ปกติเราจะไม่ค่อยอะไรๆ กับเพจที่รีวิวหนังเลยนะ แต่นี่บอกเลยว่าชอบมาก 5555