เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บทความจากโรงเล่าtfboyschengkun
บทความจากโรงเล่า : วิเคราะห์ซีรี่ส์ปรมาจารย์ลัทธิมารกับวัฒนธรรม
  •  


    บทความจากโรงเล่า : ซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมารกับประเด็นทางวัฒนธรรม

              วัฒนธรรม คือ   โครงสร้างทางสัญลักษณ์ที่ทำให้ภูมิปัญญา  และอัตลักษณ์ของในแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละประเทศเด่นชัดขึ้นมา ซึ่งวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตที่เป็นทั้งนามธรรม เช่น พฤติกรรม ความเชื่อ ภาษา เป็นต้น และรูปธรรม เช่น ดนตรี อาหาร การแต่งกาย เป็นต้น อีกทั้งวัฒนธรรมยังถูกส่งต่อเผยแพร่ผ่านสิ่งต่างๆ มีลักษณะที่ไหลเวียนเกิดการการรับ-ส่งวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ และเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปยังพื้นที่อื่นได้อีกด้วย

              ซีรีส์จีนปรมาจารย์ลัทธิมาร เป็นซีรีย์ที่ฉายทางอินเตอร์เน็ตในแอปพลิเคชันดูหนัง 騰訊視頻 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อวิดีโอออนไลน์ของ Tencent ในเครือบริษัท Tencent Holdings Ltd ซึ่งในประเทศไทยออนแอร์พร้อมกับจีนผ่านแอปพลิเคชัน WeTV แพลตฟอร์มให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของบริษัท  Tencent ในประเทศไทย

              นับตั้งแต่ซีรีส์ออกฉายก็ได้รับความสนใจจนกลายเป็นที่นิยมในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยธีมเรื่องและเซตติ้งเป็นพีเรียดหรือจีนโบราณ ทำให้คนดูนอกจากจะสนใจเนื้อเรื่องแล้ว ตัวละครก็นำให้คนดูสนใจสิ่งอื่นในเรื่องตามไปด้วย ทั้งดนตรีจีนโบราณอย่างกู่ฉิน (พิณโบราณ) ขลุ่ยจีน อาหารที่ปรากฏภายในเรื่อง และอื่นๆ รวมไปถึงการแต่งตัวของตัวละครที่ปราณีตงดงามสมกับเป็นพีเรียดจีนที่ล้วนไม่ได้เป็นแค่เพียงสิ่งของประกอบฉากหรือเพื่อความสวยงามเพียงเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรื่องไปแล้ว 

              ถ้าหากพูดถึงกู่ฉิน หลายๆ คนก็ต้องนึกถึง หลานวั่งจีหรือหลานจ้าน   ในซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมาร และแน่นอนว่าหากพูดถึงขลุ่ยจีนในตอนนี้ จะมีใครไม่นึกถึงเว่ยอู๋เซี่ยนหรือเว่ยอิงกันบ้างล่ะ


     ปรมาจารย์ลัทธิมารกับดนตรีจีน : กู่ฉิน-ขลุ่ยจีน

              ดนตรีจีนโบราณที่ทุกคนมักจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และรู้จักก็คือกู่เจิง เครื่องดนตรีที่มีไว้เล่นเพื่อความบันเทิง ในขณะที่กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นตามวรรณกรรมจีน จึงไม่ค่อยมีใครรู้จักกู่ฉินมากนัก


              หลังจากซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมารออนแอร์ กู่ฉินที่เป็นเครื่องดนตรีและอาวุธประจำกาย     ตัวละครหลักอย่างหลานวั่งจี ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของตัวละครเอกที่แฟนซีรีส์ชื่นชอบ และถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก และหลังจากนั้นในโลกออนไลน์ก็มีคลิปวิดีโอการเล่นกู่ฉินเพลงประกอบละครเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกมามากมาย รวมถึงคลิปการสอนวิธีเล่น และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม  เหมือนกับเป็นการรื้อฟื้นคืนชีวิตให้กับเครื่องดนตรีจีนโบราณอย่างกู่ฉินให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี 2019 เช่นเดียวกันกับขลุ่นผิวจีนเครื่องดนตรีและอาวุธของตัวละครหลักอีกตัวอย่างเว่ยอู๋เซี่ยน มีการตามหาและซื้อขลุ่ยจีนในเว็บออนไลน์มากมาย     โดยทั้งกู่ฉินและขลุ่ยผิวจีนนั้นต่างก็เป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติยาวนานนับพันปีด้วยกันทั้งคู่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องดนตรีที่มักจะเล่นคู่กันในแวดวงสังคมชั้นสูงในสมัยก่อนด้วย จนเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เติบโตมาพร้อมกับชาวจีน และก่อเกิดเป็นอารยธรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีนก็ว่าได้


              ☯ กู่ฉินกับหลานวั่งจีในซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมาร

              สำหรับเครื่องดนตรีอย่างกู่ฉินนั้นมีอายุประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว  ส่วนมากเพลงฉินเป็นเพลงโบราณแท้ๆ มีโน๊ตหลงเหลือตกมาถึงปัจจุบันประมาณ 3,000 กว่าฉบับ ในขณะที่กู่เจิงมีเพลงโบราณแท้ๆ น้อยมาก นั่นอาจจะเป็นผลมาจากที่คนในปัจจุบันนิยมเล่นกู่เจิงมากกว่ากู่ฉินทำให้เกิดการประยุกต์ เพลงที่เล่นจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 

              จากการขุดพบวัตถุโบราณ เดิมกู่ฉินมี 5 สาย แต่ทุกวันนี้นิยมใช้ 7 สาย ในด้านการออกแบบกู่ฉินถูกออกแบบตามร่างกายสัดส่วนของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นจักรวาลขนาดย่อมตามคติจีน กู่ฉินมีขนาด 3 ฉื่อ (1 ฉื่อ =10 นิ้ว) 6 ชุ่น (1 ชุ่น = 1 นิ้ว) 5 เฟิน (1 เฟิน ≈ 0.33) มีความหมายแทน 365 วันใน 1 ปี ส่วนหัวของกู่ฉินกว้าง 6 ชุ่น มีความหมายแทนทิศทั้งหก และส่วนท้ายหรือส่วนหางกว้าง 4 ชุ่น มีความหมายแทนฤดูกาลทั้งสี่ อีกทั้งมีจุดบอกตำแหน่ง 13 จุดอยู่ใกล้กับสายฉิน หมายถึงเดือนทั้ง 12 รวมกับ 1 เดือนในปีอธิกสุกรทิน (อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-สุ-ระ-ทิน) คือเดือนกุมพาพันธ์ที่มี 29 วัน  กู่ฉินในซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมารที่หลานวั่งจีใช้เป็นกู่ฉินในสมัยราชวงศ์หมิง

              ในความเชื่อเดิมของคนโบราณเชื่อว่าคลื่นเสียงของกู่ฉินสามารถสั่นสะเทือนตัวคนและสิ่งแวดล้อมได้ และในตำราโบราณในหลายๆ เล่ม กล่าวถึงกู่ฉินหรือฉินว่ามีความสามารถมากมาย ตั้งแต่การรักษา เรียกลมฝน ไปจนถึงการทำลายล้าง ดังนั้นในหนังจีนโบราณ กำลังภายใน หรือหนังยุทธภพ เราจึงมักจะเห็นตัวละครใช้ฉินเป็นอาวุธ หลานวั่งจีในปรมาจารย์ลัทธิมารก็เช่นกัน ที่ใช้ฉินเป็นทั้งเครื่องดนตรีที่ใช้รักษา กล่อมเกลาจิตใจ รวมไปถึงใช้เป็นอาวุธที่ใช้ถามไถ่วิญญาณ และเป็นอาวุธทำลายล้างด้วย แม้ว่าตามตำราโบราณไม่มีพูดถึงการใช้กู่ฉินคุยกับวิญญาณ แต่ก็มีเพลงโบราณอายุหลายพันปีที่เต๋าโบราณเชื่อว่าสามารถเชิญเทพได้



              การสร้างกู่ฉินในเป้าหมายดั้งเดิมนั้นใช้เพื่อการปฏิบัติธรรมในแบบเต๋า ด้วยความเชื่อที่ว่าเสียงของกู่ฉินเป็นคลื่นความถี่เดียวกับจักรวาล ซึ่งก็มีความหมายตรงกับการออกแบบ ที่คนโบราณเชื่อว่า เสียงฉินสามารถน้อมนำจิตของผู้บำเพ็ญเพียรให้ลดทอนความอยาก เป็นการชี้นำให้ผู้คนลดทอนความอยากทั้งปวง   โดยเริ่มจากความซื่อตรงต่อตนเองและทุกสิ่งรอบตัวก่อน  จากนั้นก็ค่อยๆพัฒนาไปจนกระทั่งถึงภาวะ วั่งจี (忘機) หรือหมายถึงภาวะนิพพาน ในภาษา พุทธ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าชื่อของตัวละครหลานวั่งจีอาจจะสอดคล้องกับภาวะวั่งจีดังกล่าว

              ข้อมูลจากเพจ อวี้เซิง กู่เจิง ซึ่งเป็นบทความที่เขียนโดย ชัชชล  ไทยเขียว  ผู้ศึกษาด้านกู่ฉินและปรัชญาจีน ระบุว่า คำว่า 忘機 หรือวั่งจี มีความหมายที่ลึกซึ้งมากในวงการกู่ฉิน แปลตรงตัวว่า “ลืม” “ความคิด” อ.อู๋หมิงหวาง อาจารย์อาวุโสชาวจีนด้านเต๋า กล่าวว่าคือการ “ลืมจิตตน” หมายถึง “ไม่รับรู้ซึ่งการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและจิตของตนเอง” อันเป็นสภาวะทางจิตสูงสุดของทางเต๋า นอกจากนี้คำว่า วั่งจี ยังถูกนำมาแต่งเป็นเพลงกู่ฉิน ซึ่งปรากฏในตำราเสินฉีมี่ผู่《神奇秘谱》ที่ประพันธ์โดยองค์ชายจูเฉวียน 朱權 (องค์ชายที่ 17 ในพระเจ้าจูหยวนจาง 朱元璋 ในสมัยราชวงศ์ หมิง) 

              ในตำราบันทึกเอาไว้ว่า เพลงวั่งจี แต่งโดยหลิวจื้อฟางแห่งเทียนไถ ในสมัยซ่ง บางก็ว่าเพลงนี้อิงมาจากตำราเลี่ยจื่อ (列子) ซึ่งเป็นตำราเต๋าเล่มหนึ่ง ที่กล่าวถึงชาวประมงทะเลผู้หนึ่ง ลืมจิตตน นกทะเลไม่บินหนีไป จึงดีดกู่ฉินจำลองสภาวะนั้น นี่ก็คงเหมือนกับการลืมจิตตนกระมัง” (《忘機》是曲也,宋天台刘公志方之所制也。或谓按列子,海翁忘机鸥鸟不飞之意。以指下取之,大槩与坐忘意趣同耳) อธิบายให้เข้าใจในที่นี้คือการบอกว่าสัตว์สามารถีับรู้ถึงจิตใจคน เมื่อมันรู้สึกปลอดภัย ก็จะไม่บินหนีไป

              เพลงวั่งจีนี้หลังจากราชวงศ์หมิงก็ไม่มีคนเล่นแล้ว เนื่องจากเป็นเพลงที่เก่าแก่มาก ซึ่งในปัจจุบันหาวังเพลงนี้ได้จากชื่อ “鷗鷺忘機 โอวลู่วั่งจี” อันเป็นฉบับสมัยราชวงศ์ชิง

               นอกจากชื่อของตัวละครหลักอย่างหลานวั่งจี จะมีความเกี่ยวข้องกับความหมายและประวัติอย่างลึกซึ้งของกู่ฉินแล้ว หลานวั่งจียังมีฉายาว่า “หานกวางจวิน (含光君)” ซึ่งมาจาก 含光 หานกวาง แปลว่าซ่อนแสง 君 จวิน แปลว่าปัญญาชน  จากการค้นข้อมูลในตำราเต๋า (道德經) บทที่ 56 กล่าวว่า "ผสานไปกับแสง กลืนไปกับฝุ่น" (和其光,同其塵) ผสานกับแสง หมายถึง ไม่ถูกพบเห็นว่ามีตัวตนอยู่ กลืนไปกับฝุ่น หมายถึง รวมไปกับสังคมโดยไม่โดดเด่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเต๋า หรือก็คือ การดำเนินไปเองของธรรมชาติ ส่วนคำว่า "君 จวิน" ในตำราเต๋า ไม่เพียงแปลว่าปัญญาชน แต่ยังหมายถึงผู้มีศีลธรรมและบำเพ็ญปฏิบัติด้วย เต๋าบทที่ 27 ยังกล่าวว่า "ดำเนินงานเป็นเลิศจึงไร้ร่องรอย" (善行無轍迹) หมายถึงธรรมชาติดำเนินไปอย่างลงตัว จึงไร้รอยต่อและร่องรอยให้ติดตาม อันเป็นคุณสมบัติที่ผู้บำเพ็ญยึดปฏิบัติ ซึ่ง "หานกวางจวิน" ก็จะแปลได้ว่า "ผู้บำเพ็ญเร้นกายตามหลักแห่งธรรมชาติไปสู่ความสงบ" นั่นเอง (ชัชชล ไทยเขียว, 2562 ) หากมองต่อไปยังบุคลิกของตัวละครตัวนี้ที่นิ่งเฉย เย็นชา สงบนิ่ง และไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใด ก็จะสอดคล้องไปกับความหมายของชื่อและฉายา 


              ☯ขลุ่ยจีน กับเว่ยอู๋เซี่ยนในซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมาร

               เมื่อดูอายุของกู่ฉินที่มากถึง 4,000 ปีแล้ว ขลุ่ยจีนกลับมีอายุนานมากกว่าเพราะว่ามีประวัติยาวนานมากกว่า 7,000 ปี   โดยขลุ่ยจีนมีวิวัฒนาการมาจากขลุ่ยกระดูกสัตว์ ในทางประวัติศาสตร์เคยถูกขุดพบขลุ่ยโบราณที่ทำจากกระดูกนกกระเรียนมงกุฎแดง เมื่อเวลาผ่านไปขลุ่ยจีนก็ถูกวิวัฒนาการมาใช้วัสดุจากไม้ธรรมชาติแทนกระดูกสัตว์ ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ไผ่ เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศของจีนมีป่าไผ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งลักษณะโดดเด่นของขลุ่ยจีนก็คือมีเยื่อไผ่ที่ทำให้มีเสียงใส อีกทั้งขลุ่ยจีนยังเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าขลุ่ยไม้ไผ่


              ขลุ่ยจีนมี 2 แบบ มีแบบตั้งกับแบบขวาง และทั้งสองแบบนี้ก็มีลักษณะไม่ต่างกันนัก โดยตี๋จื่อคือขลุ่ยแบบขวาง และเซียวคือขลุ่ยแบบตั้ง 


              ขลุ่ยประจำตัวละครหลักเว่ยอู๋เซี่ยนเป็นขลุ่ยแบบขวาง    ในประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าฮั่นอู๋ ตี๋จื่อ มีชื่อว่า เหิงชุย มีความหมายว่าเป่าขวาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญชิ้นหนึ่งในวงดนตรีหลักในยุคนั้น ตี๋จื่อ มีเสียงหวีดหวิวใสกังวานเนื่องมาจากลมที่ผิวออกจากปาก นอกจากถูกเรียกว่า ตี๋จื่อ แล้วบางครั้งก็ถูกเรียกว่า จู๋ตี๋ (ขลุ่ยไม้ไผ่) ทำมาจากไม้ไผ่ที่เอาปล้องด้านในออกให้กลายเป็นท่อกลวง เจาะรูสำหรับเป่า 2 รู และรูปิดเยื่อไผ่ 1 รู มีรูกดบังคับระดับเสียง 6 รู รูที่อยู่ด้านบนสุดคือรูสำหรับเป่า  โดยลมที่เป่าเข้าไปจะผ่านเลาขลุ่ยที่ว่างเปล่า เมื่อมีนิ้วมือปิดเปิดบังคับทิศทางลมจึงเกิดเป็นการกำหนดเสียงสูงต่ำ เสียงขลุ่ยจึงมีความดังที่สูง และแหลมมากเป็นพิเศษ ยิ่งไผ่ที่นำมาทำขลุ่ยมีอายุมากก้จะยิ่งทำให้เสียงน่าฟังมากตามไปด้วย เนื่องความชื้นในตัวขลุ่ยน้อย โดยทั่วไปความยาวของตี๋จื่อจะต่างกันออกไป ตั้งแต่ 49-68 ซม. 

              โดยรายละเอียดที่แสดงส่วนประกอบของตัวขลุ่ยก็จะมีหัวลุ่ย ปลายขลุ่ย จุดกั้นเสียง รูเป่า รูปิดเยื่อขลุ่ย รูวางนิ้ว และรูลมออกจากลำขลุ่ย และรูที่ใช้สำหรับวางนิ้วก็จะมีทั้งหมด 6 รู

              ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างตัวละครเว่ยอู๋เซี่ยนกับตี๋จื่อจะเป็นเรื่องนิสัยและบุคลิกส่วนตัวของตัวละครอย่างที่บุคลิกของหลานวั่งจีสอดคล้องกับความหมายของฉิน   โดยสำหรับตี๋จื่อแล้ว แม้จะเป็นเครื่องดนตรีที่สวยงาม แต่ก็เรียบง่าย เหมือนเว่ยอู๋เซี่ยนที่มีลักษณะนิสัยเรียบง่าย แม้แต่ชื่อกระบี่ประจำกายก็ยังถูกตั้งชื่อว่า สุยเปี้ยน แปลว่า แล้วแต่ ในสายตาผู้อื่นเขาถูกมองว่าเป็นคนอวดเก่ง แปลกแยก แต่ทว่าแท้จริงแล้วตัวละครตัวนี้กลับแน่วแน่และหนักแน่น และยึดถือคุณธรรม   ไม่สนวิธีการ เปรียบนิสัยตัวละครได้กับการทำขลุ่ยแม้จะใช้วัสดีเรียบง่ายจากธรรมชาติ แต่วิธีการทำไม่ได้ง่าย ต้องอาศัยหลายขั้นตอนในการทำ

               ในทางวัฒนธรรมขลุ่ยมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมจีนที่เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนที่ใช้เล่นเพื่อความบันเทิงตั้งแต่ครอบครัวเล็กๆ    ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีขนาดใหญ่ในราชสำนัก เป็นเครื่องดนตรีที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนจีนเพราะอยู่ควบคู่กับคนจีนมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน

              จาการผสมผสานทั้งกู่ฉินและขลุ่ยมากับตัวละครนั้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมดนตรีจีนที่ถูกสอดแทรกเอาไว้มากทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้นดนตรียังเกี่ยวโยงไปถึงความเชื่อ ปรัชญาอื่นของจีน ซึ่งนับว่าเป็นวัฒนธรรมเช่นกัน อย่างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลานวั่งจีกับกู่ฉิน ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ผู้เขียน หรือบทละครใส่เข้ามาในซีรีส์ไม่เพียงใส่กู่ฉินเข้ามาเป็นแค่อาวุธหรือดนตรีประจำตัวของตัวละครเท่านั้น แต่กลับแฝงไปด้วยวัฒนธรรมความเชื่อลัทธิเต๋า, ศาสนาเต๋า ซึ่งเป็นปรัชญาและศาสนาที่กำเนิดขึ้นในประเทศจีน เป็นแนวคิดหลักในสำนักปรัชญาจีนส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าซีรีส์ได้แฝงปรัชญาที่สำคัญของจีนมาในระดับที่ลึกมากทีเดียว อีกทั้งเมื่อซีรีส์ได้รับความนิยมก็เสมือนวัฒนธรรมดนตรีประจำชาติที่แฝงมาเหล่านี้ก็ได้รับการชุบชีวิตให้กลับมามาโลดแล่นในยุคปัจจุบัน


    บทความจากโรงเล่าเขียนโดย : สึโยชิ ริว

    เผยแพร่เมื่อ : 26/12/62

    ข้อมูลจากการวิเคราะห์ปรมาจารย์ลัทธิมารกับประเด็นต่างๆ อ้างอิงจาก : 

    ชัชชล ไทยเขียว. (2562). ปรมาจารย์ลัทธิมาร หลานวั่งจี และ เต๋า สืบค้น 15 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : https://web.facebook.com/YsGuzheng/posts/2377318332314161?_rdc=1&_rdr

    techsauce. (2562). Tencent เปิดตัว WeTV บุกตลาดวีดีโอสตรีมมิ่งไทย เริ่มต้นเดือนละ 59 บาท. สืบค้น 15 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : https://techsauce.co/news/tencent-premieres-wetv-in-thailand

    sunnywalker. (2562). Tencent เผย "ปรมาจารย์ลัทธิมาร" ดัน WeTV โต 250%, ยอดดาวน์โหลดเฉลี่ยเดือนละล้าน. สืบค้น 15 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ :

    https://www.blognone.com/node/112591

    Mam Nunticha. (2562). ปรมาจารย์ลัทธิมาร : ปรากฏการณ์ซีรีส์จีนเข้ามาตีตลาดไทย. สืบค้น 16 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : https://tonkit360.com/51481/

    ผู้จัดการออนไลน์. (2562). Tencent ตั้งเป้า WeTV ขึ้น Top 3 วิดีโอสตรีมมิ่งฮิตสุดปีนี้. สืบค้น 16 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9620000056897

    sunnywalker. (2562). Tencent ปี 2020 เดินหน้าอีเว้นท์เกม เพลง สร้างซีรีส์ไทยลง WeTV ฐานคนดูกลุ่มต่อไปอยู่ที่เมืองจีน. สืบค้น 17 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : 

    https://www.blognone.com/node/112586

    PPTV Online. (2562). ธุรกิจบันเทิงจีน เดินหน้าเจาะตลาดไทย. สืบค้น 18 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/35752

    guqinth. (2555). กู่ฉิน เครื่องดนตรีบ่มเพาะความเป็นปราชญ์. สืบค้น 18 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : https://guqinth.wordpress.com/2012/09/05/กู่ฉิน-และ-กู่เจิง/

    Thai PBS, ชัชชล ไทยเขียว. (2562). มารู้จักกู่ฉินกันเถอะ. สืบค้น 18 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ :

    https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/3017878331770833/?v=3017878331770833

    เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2556). ขลุ่ยจีนแบบเป่าแนวขวางและแบบเป่าแนวตั้ง. สืบค้น 19 พ.ย. 62, จากเว็บไซต์ : 

    https://metchs.blogspot.com/2013/01/blog-post_8400.html

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in