เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปฤษตันไอยยิแลน : The occidental stories from an oriental point of viewKSCincat
การเดินทางอันยาวไกลของทาร์ตไข่และน้ำชา
  • เช้าวันอังคารที่ฟ้ามืดครึ้ม ฝนโปรยลงมาประปราย ผมตื่นขึ้นมา เริ่มเช้าวันใหม่ด้วยทาร์ตไข่จากซุปเปอร์มาเกตใกล้บ้าน และชาวานิลลาหนึ่งกา...

    Cover Photo by http://tastykitchen.com/blog/2012/05/hong-kong-egg-tarts/




    Photo Credit : K. Suvarnabejra


    รสชาติของทาร์ตไม่ได้ดีมาก แต่ทำให้ผมหวนนึกไปถึงขนมต่านทาร์ต หรือ ทาร์ตไข่ฮ่องกง ในร้านติ่มซำ หรือ จะร้าน Kanom ที่เมืองไทย กลิ่นแป้งพายกรุ่นจากเตา กัดเข้าไปเจอคัสตาร์ดหวานกำลังดี หอมกลิ่นไข่ไก่ละมุนจนกระทั่งกลืนเข้าไป....

    ในซุปเปอร์มาเกต จะเรียกทาร์ตนี้ว่า Portuguese Egg Tart  และเป็นที่เชื่อกันว่า ทาร์ตไข่นี้เดินทางไปสู่ฮ่องกงผ่านมาเก๊า อาณานิคมโปรตุเกส กลายเป็นทาร์ตไข่ฮ่องกง ซึ่งผมคิดว่าหลายๆคนคงพอทราบกันดี ซึ่งก็มีเค้าความจริงไม่น้อย  แต่เอาเข้าจริง ทาร์ตไข่กลายมาเป็นที่แพร่หลายในฮ่องกงราวทศวรรษ 1950s ในยุคที่อุตสาหกรรมในฮ่องกง เฟื่องฟู ผู้คนจากแผ่นดินใหญ่และโดยรอบเข้ามาอาศัย 

    ร้านน้ำชาเล็กๆที่เรียกว่า Cha Chaan Teng (Cha ก็คือ ฉา หรือ ชา นั่นแหละครับ) จึงเกิดขึ้นมา เสิร์ฟน้ำชา และอาหาร Fast Food และขนมแบบเร็วๆ เจ้าทาร์ตไข่ก็ถูกเสิร์ฟในร้านเหล่านี้ด้วย และด้วยฮ่องกงอยู่ในอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ อิทธิพลของการดื่มชาและของว่าง ที่เรารู้จักกันว่า Afternoon Tea ก็แพร่ซึมเข้ามาในวัฒนธรรมอาหารยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟูนี้ด้วย ร้านน้ำชาเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงแห่งอุตสาหกรรม ขับโหมกำลังแรงงาน ให้ทำงานต่อไปได้ในแต่ละวัน 

    พูดไปยืดยาว วันนี้ผมไม่ได้มาเล่าประวัติทาร์ตฮ่องกงแต่อย่างใดหรอกครับ แต่พอทานทาร์ตไข่และน้ำชา นึกขึ้นถึงเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน แล้วอยากเล่าอยากเขียนขึ้นมา เพราะรู้สึกอัศจรรย์ใจ กับการเดินทางอันยาวไกลในแง่ระยะทางและกาลเวลา ของขนมและเครื่องดื่มดังกล่าว

    ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์อาหารโดยเฉพาะ คงไม่อาจชี้แจง ที่มาของวัตถุดิบ กลิ่น รส และบริบทการเปลี่ยนแปลงของทาร์ตได้ถึงแก่นขนาดนั้น แต่จะเล่า "ความน่าจะเกี่ยว" ของชาและทาร์ต ที่ผมเผอิญทานด้วยกันจนเกิดแรงบันดาลใจให้ฟัง

     Photo Credit: K. Suvarnabejra จากร้าน The Colony

    มนุษย์เริ่มดื่มชาเมื่อใด ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่เรื่องเล่าของตำนานกำเนิดชาเกิดที่จีน อารมณ์ใบชาบังเอิญตกไปในหม้อน้ำร้อนของกษัตริย์พลัดถิ่น เทือกๆนั้น ไปหาอ่านเอาเองแล้วกันนะครับ

    ทีนี้ชาเดินทางมาที่ตะวันตกได้อย่างไร สันนิษฐานกันว่ามาจากชาวโปรตุเกสที่เรืองอำนาจทางทะเล มาก่อนใคร ไปพบชาทางตะวันออก แล้วชาววิลันดา หรือ นักเดินเรือของบริษัทดัทช์อีสอินเดียกัมปานี Dutch East India Company (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ก็นำชาเข้ามาบริโภคตามกันในยุโรป ซึ่งก็น่าแปลกเหมือนกันที่มาร์โค โปโล ที่เดินทางถึงจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ไม่ได้เล่าถึงชาไว้เลย  

    แล้ว... ทำไมพูดถึงชาฝรั่งแล้วต้องเป็นชาอังกฤษ?

    โดยทั่วไปมักเชื่อกันว่า ชาเริ่มดื่มในอังกฤษ จากการราชาภิเษกสมรส ของ Catherine of Braganza พระธิดาพระเจ้าจอห์นที่ 4 แห่งโปรตุเกส กับพระเจ้าชาร์ลที่ 2 แห่งอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอยยิแลนด์ ในปี 1662 (ผมขอสะกดใหม่เก่าปนกันบ้าง ไม่ถือแบบแผนแล้วกันนะ 555) การอภิเษกครั้งนี้ มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์โลกและชามาก เพราะ Dowry หรือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายหญิงมอบให้ฝ่ายชาย (ในกฎหมายตะวันตก สืบสาวไปถึงกฎหมายโรมัน ฝ่ายหญิงต้องมอบทรัพย์สินแก่ฝ่ายชาย ซึ่งผมไม่ขอเรียกว่าสินสอดเพราะมีความหมายคนละนัยยะกัน) คือ สินค้า อัญมณี สิทธิทางค้าในโลกใหม่ และ ดินแดนบางส่วน เช่น Bombay ซึ่ง Bombay นี้เอง เป็นการเริ่มต้นบทบาทของอังกฤษในอินเดีย โดยเมื่อแรกเริ่ม พระชาร์ลทรงให้บริษัท East India Company เช่า...

    เอาล่ะ ไปไกลเหลือเกิน... Queen Catherine ซึ่งควีนก็ทรงโปรดดื่มชาทำให้ชาเป็นที่แพร่หลายในอังกฤษ เป็นเหตุให้อังกฤษขยายอิทธิพลจักรวรรดิของตน ด้วยเหตุผลหนึ่งต้องการสินค้าอย่างชาจากตะวันออกเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดอาณานิคมอินเดีย สงครามฝิ่น และ เริ่มปลูกชาในอาณานิคมหรือดินแดนในอาณัติของตนในที่สุด แต่!!! ความเชื่อดัังกล่าวถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ เพราะจริงๆแล้วชา เข้ามาในอังกฤษก่อนหน้า Catherine แต่ก็ไม่นานนัก คือราวปี 1615 มีการพูดถึงชามาก่อน และในตลาดสินค้าอังกฤษ ก็มีชาอยู่ในรายการสินค้าดังกล่าว ซึ่งก็มีราคาสูงในตัวอยู่แล้ว

    น่าจะถูกกว่าถ้าเราจะพูดว่า Queen Catherine ทำให้ชาเป็นที่นิยมในอังกฤษ แล้วเดิมที พระองค์และชาวตะวันตกเองก็ดื่มอย่างไม่ใส่นม (ปัจจุบันไม่ใช่ชาดำทุกประเภทจะใส่นมเช่นกัน!!!) และ ทรงใช้ถ้วยชาแบบไม่มีหู แบบจีน ก่อนที่จะพัฒนาดีไซน์เป็นแบบมีหู ให้กรีดกราย ยกปลายก้อยแต่พองามอย่างทุกวันนี้

    เอาล่ะ... ถึงจุดที่ชาจะมาเกี่ยวกับทาร์ตไข่แล้วครับ ตอนที่เริ่มต้น ผมพูดถึง ทาร์ตไข่โปรตุเกส ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่า ทาร์ตมันมาจากโปรตุเกสจริงหรือ?

    กลับมาที่ Catherine ว่าพระองค์ร่วมชีวิตกับพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ที่เป็นดอน ฮวน เลี้ยง Mistresses หรือภรรยานอกสมรสนับไม่ถ้วน โดยปราศจากพระราชโอรส ธิดาร่วมกัน ทำให้ราชบัลลังก์ตกแก่ Prince James, Duke of York พระอนุชาของชาร์ลซึ่งจะถูกขับไล่โดยรัฐสภา เรียกเหตุการณ์นั้นโดยทั่วไปว่า การปฏิวัติรุ่งโรจน์ (The Glorious Revolution) และสับเปลี่ยนสายสันตติวงศ์บัลลังก์อังกฤษในเวลาต่อมา

    ทีนี้ ภายหลังการสวรรคตของชาร์ลที่ 2 ควีนได้เสด็จกลับมาที่โปรตุเกส มาตุภูมิของพระองค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการของพระเจ้า Pedro II จวบจนสวรรคต เป็นที่ทราบกันว่านอกจากชาพระองค์ยังโปรดทาร์ตไข่ 

    เราคงทราบกันนะครับว่า ขนมโปรตุเกสหลายประเภท มีวัตถุดิบสำคัญคือไข่ เป็นตัวชูรสสัมผัส กลิ่น และรสชาติ...

    แต่ตัวแป้งพายนั้น สร้างข้อฉงนสงสัยที่สำคัญมาก พายคัสตาร์ดดังกล่าวปรากฏเป็นสำรับในเครื่องเสวยพระเจ้า Henry VIII ในพระราชวังแฮมตันคอร์ท มาก่อน แล้วชาวอังกฤษก็ทำคัสตาร์ดกันมานานแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว ทาร์ตไข่ น่าจะมีต้นกำเนิดจากอังกฤษ แล้วมาแพร่หลายที่โปรตุเกส แล้วพัฒนาต่อให้เนียนหอม แบบที่ชาวโปรตุเกสเขาทำ...   ทาร์ตไข่อาจจะมาจากการนิวัติมาตุภูมิของ Queen Catherine ที่ทรงนำของหวานในราชสำนักมาเผยแพร่ ทว่าภายหลังอังกฤษเองไม่สามารถรักษาเมนูนี้ไว้ได้ ก็แน่นอนครับอาหาร มันแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามรสนิยม และเศรษฐกิจ การเมือง วิถีชีวิตในแต่ละยุคสมัย เช่น แกง ยำ บางอย่าง ของไทยเราก็หายไปตามวิถีชีวิตคน หรือผัดกระเพรา ก็มีวิธีการปรุงแปลกแตกต่างออกไปแม้ในศตวรรษเดียวกัน

    ผมคงไม่อาจด่วนสรุปเอาได้ ว่าทาร์ตไข่มากจากไหน แต่เป็นว่า นี่คือความเชื่อมโยงที่ผมนึกถึง Queen Catherine ขึ้นมา และการเดินทางอันยอกย้อนวกวน จากตะวันออกสู่ตะวันตก และตะวันตกสู่ตะวันออก กลับเข้าสู่ปากคนตะวันออกอย่างผมพอดี...

    คราวหน้าก่อนทานทาร์ตไข่กรุ่นๆจากเตา หรือชาหอมๆสักถ้วยหนึ่ง อย่าลิืมนึกถึงการเดินทางอันยาวนานแสนนานของมัน ของใกล้ตัวบางอย่าง ไม่อาจไม่นึกว่ามันมาเคียงคู่พร้อมๆกับอำนาจ การเมือง เศรษฐกิจ ความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์

    แล้วหวนนึกมาถึงตัวเราเอง ในขณะที่เรายังมีความคิดว่าเราเป็นคนไทยมีความเป็นไทย บางคนอาจเดียดฉันท์ชาติอื่นด้วยอดีตที่เราอาจไม่เข้าใจมันจริงและเหมารวม ว่าคนชาตินั้นอย่างนั้น อย่างนี้ 

    เราอาจจะเป็นเหมือนทาร์ตไข่ ไม่ใช่อังกฤษ ไม่ใช่โปรตุเกส ไม่ใช่ฮ่องกง แต่มันก็คือทาร์ตไข่ที่เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปตามที่ที่มันอยู่...

    สวัสดีครับ
    K. Suvarnabejra





    อ้างอิง
    www.queensroyalsurreys.org.uk/queen_of_reg/catherine.html
    https://theculturetrip.com/asia/china/articles/the-egg-tart-hong-kong-s-popular-dessert/
    วิทยากร พระราชวังโฮลีรูด (The Palace of Holyrood House)
    สารคดี Antiques Uncovered โดย Lucy Worsley
    เจ้าของร้านใบชา Rosevear  Mr Adam
    The East India Company book of Tea โดย Antony Wild
    A History of English Food โดย Clarissa Dickson Wright 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in