เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปฤษตันไอยยิแลน : The occidental stories from an oriental point of viewKSCincat
ผับเก่า 'เหล้า'ความหลัง....เมื่อบริติชผับสร้างชาติ ตอนที่ 1
  • ลองจินตนาการว่าบ้านเรามีผับแห่งหนึ่งชื่อ 'เมาเยี่ยง ห หีบ ม ม้า สระอา สถาปนา สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๐๐' มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเช่น พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือสุนทรภู่ เคยมานั่งดื่มสุรา (กลอนสุภาพบาทหนึ่งที่ว่า 'ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน' ยังติดหูมาจนบัดนี้) ถึงแม้ว่าคุณพระท่านอาจจะไม่เมาขนาดเท่าชื่อร้านก็ตามเถอะ หรือ มีภาพนายทองเหม็น จากตำนานชาวบ้านบางระจัน เคยผ่านมาซื้อกระแช่สาโทอะไรเทือกๆนี้  คิดตามไป ผมเกิดอมยิ้ม คงชมว่า เอ้อ ผับนี้มี Story ดีพิลึกนะ...แอบเสียดายที่บ้านเราไม่ค่อยใส่ใจทำ Story กันเท่าไหร่นัก ซึ่งไม่ใช่ไม่มี มีอยู่มาก แต่เป็นเส้นผมบังภูเขา มองไม่เห็นกัน

    วกกลับมาดูดินแดนปฤษตันไอยยิแลน (ฺBritain Ireland) เรื่องเล่าคราวนี้ผมอยากจะนำเสนอเรื่องราวของบริติชผับ มันน่าสนใจยังไง...ก็แค่ผับ ก็เพราะมันคือบริติชผับนี่แหละครับถึงน่าสนใจ ถ้าเราตั้งคำถามว่า...ผับกับประเทศอังกฤษอะไรเกิดก่อนกัน ขอบอกเลยครับว่า ผับนี่แหละเกิดก่อนอังกฤษ ถ้าไม่มีผับก็อาจไม่มี วรรณกรรม กวี นิทานพื้นบ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงระบบกฎหมาย Common Law อังกฤษที่เกือบทุกประเทศในสหราชอาณาจักร เครือจักรภพหรืออดีตอาณานิคมจักรวรรดิอังกฤษใช้กันจนถึงทุกวันนี้เลยล่ะ!!! แม้แต่ไทยเราเองก็เรียกได้ว่าเป็นระบบกฎหมายผสม คือมีวิญญาณกฎหมายอังกฤษปะปนมากับเขามาเหมือนกัน  ผับ...คือศูนย์รวมชีวิตจิตใจชาวบริติชมาช้านาน

    ท่านอาจคิดว่า คนบริติชนี่คงจะขี้เมามาหลายชั่วอายุคน ใช่ครับ เอ้ยย ไม่ใช่... แต่จะว่าไปก็ไม่เชิงนะครับ ต้องบอกก่อนว่าในสมัยก่อนที่การสาธารณสุขยังไม่เจริญ การดื่มเบียร์ ดื่มไวน์ปลอดภัยกว่าการดื่มน้ำเพราะแอลกอฮอลล์ที่เกิดจากการหมักบ่มช่วยฆ่าเชื้อโรค ฝรั่งสมัยก่อนเขาจึงไม่ค่อยดื่มน้ำเปล่ากัน มาถึงตรงนี้เหล่าขี้เมาดื่มเหล้าต่างน้ำคงฝันเฟื่องกันน่าดู 

    ผับเกิดขึ้นได้อย่างไร? ย้อนไปในสมัยโรมันโบราณก่อนการเกิดขึ้นของรัฐใดใน Great Britain ชาวโรมันนี่เองเป็นผู้นำร้านไวน์เข้ามาในดินแดน Britain เพื่อให้บริการกองทหารโรมันที่มารักษาการณ์ในเกาะบริเตนแห่งนี้ เมื่อชาวโรมันสร้างถนนก็จะเกิดชุมชน เมืองมาตามลำดับโดยมีร้านไวน์พวกนี้เกาะตามกันมาด้วย ชาวโรมันใช้ภาษาลาตินในการสื่อสาร ซึ่งภาษาลาตินเรียกเจ้าร้านไวน์นี่ว่า taberna ภายหลังพัฒนามาเป็นคำว่า Tavern ในภาษาอังกฤษ เป็นคำศัพท์แบบ Old-fashioned หรือคำโบราณที่ใช้เรียกผับครับ 

    เครื่องหมายเพื่อแสดงว่า ที่นี้คือ Taberna ก็คือ เสาครับ เขาจะตั้งเสาไว้หน้าร้าน นานวันเข้า ก็มีเถาไม้มาโอบพันรอบเสาดังกล่าว กลายเป็นพุ่มไม้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bush ด้วยเหตุนี้เองผับปัจจุบันจำนวนมากใน UK จึงมีชื่อว่า 'The Bush' หรือคล้ายๆกันแต่มีคำว่า Bush เป็นหนึ่งในชื่อแรกๆที่คนบริติชเขาตั้งชื่อกันเลยครับ

    ที่มาภาพ http://www.hollybushhampstead.co.uk/ (ตัวอย่างเช่นผับนี้ครับ ชื่อ The Holly Bush ลอง Google The Bush Pub ดูครับจะเห็นขึ้นมาเป็นพรึ่บเลย)

    เป็นที่ยอมรับกันว่า ชนชาติโรมันทิ้งมรดกสำคัญๆ สองสิ่งไว้ให้กับโลก หนึ่งคือ ถนนหนทางทุกที่ที่กองทัพโรมันเดินทัพผ่าน กล่าวให้เหนือชั้นเป็นนามธรรมขึ้นไปอีกก็คือวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สองคือกฎหมายโรมัน ที่แทรกซึมอยู่ในเกือบทุกอณูของระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรปและเกือบทั่วโลก รวมทั้งไทยเราที่รับอิทธิพลกฎหมายจากยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา น่าทึ่งกับสติปัญญาของมนุษย์เมื่อสองพันกว่าปีก่อนนะครับ วันนี้ ผมขอริอาจเพิ่มมรดกชิ้นสำคัญอย่างที่สามก็คือ 'ผับ' แล้วกันนะ 555 ขอขอบพระคุณบรรพบุรุษชาวโรมันจากก้นบึ้งของหัวใจที่มอบสิ่งนี้ให้กับมวลมนุษยชาติ Cheers!!! เอ้า รออะไร ชนสิครับ!!!

    ในเวลาต่อมามีการเพิ่มเครื่องดื่มท้องถิ่นเข้ามาเรียกว่า 'เอล' หลายคนอาจไม่รู้จัก กล่าวแบบหยาบๆ จะเรียกว่าเบียร์ประเภทหนึ่งก็ได้ Barley Malt หรือข้าวบาเลย์เช่นเดียวกัน ต่างกันที่ยีสต์ที่ใช้จะทำปฏิกิริยารวดเร็วกว่า รสสัมผัสอย่างหยาบคือเบียร์ไม่มี Gas รสชาติลึกไปกว่านั้นคืออาจจะขมกว่าเบียร์ หรืออาจจะออก Fruity หรือ Buttery นิดนึง จะให้แปลเป็นไทยว่าออกเนยๆ ผลไม้ๆ ก็ความหมายกระด้างไป (ไม่ได้ดัดจริตแต่ประการใด อิอิ)  นั่นแหละครับ!!! ดื่มง่ายจนแล้วเมาไม่รู้เรื่องเลยล่ะ เมื่อ Ale เข้ามามีบทบาทใน Tavern บางคนก็เรียกว่า Alehouse ครับ เมื่อกรุงโรมเสื่อมอำนาจลง ชาวโรมันก็ค่อยๆถอยออกมาจากเกาะบริเตนออกไปราว 400-500 ปีก่อนคริสตกาล แต่ทว่า Taberna หรือ Tavern หรือ Alehouse ยังอยู่รอดมาได้ แม้ว่าเกาะบริเตนจะถูกชาวชนเผ่าอื่นๆครอบครอง อาทิ พวก Anglo-Saxon, Scandinavian หรือ Vikings ในยุคกลางก็ตาม ในยุคของเหล่ากษัตริย์ Anglo-Saxon มีการควบคุมจำนวน Tavern และปริมาณแอลกอฮอล์ที่คนดื่มครับ มีการกำหนดมาตรวัดปริมาณแอลกอฮอลล์ที่แต่ละคนดื่มเรียกว่า 'The Peg' สันนิษฐานว่าอาจเป็นที่มาหนึ่งของสำนวนอังกฤษที่ว่า 'To take someone down a peg' หมายถึงการพูดหรือทำอย่างใด อย่างหนึ่งเพื่อลดความทะนง หลงตัวเองของคนๆหนึ่งลง  

    ที่มาภาพ http://foundersbrewing.com/our-beer/nitro-pale-ale/ (นี่แหละครับเจ้าเอลที่ว่า แค่มองเห็นได้ว่าหน้าตาเหมือนเบียร์)

    นอกจากให้บริการเครื่ิองดื่มแก่ลูกค้า ในยุคกลางก็มีการให้บริการที่พักแก่บรรดานักเดินทางด้วย เรียก Inn เป็นภาษาอังกฤษเก่ามาจาก คำว่า 'in' ที่แปลว่าข้างในนั่นแหละครับ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 12 เพราะ Inn ในความหมายดั้งเดิมแล้ว จึงหมายความถึงสถานที่ดื่มที่ให้บริการที่พักด้วย แม้ปัจจุบันก็ตั้งชื่อปนกันหมดแล้ว ซึ่ง Inn นี่แหละครับเป็นสถานที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษเลย เพราะบรรดาพ่อค้านักเดินทาง นักแสวงบุญ (Pilgrims) มาค้างแรมกันระหว่างกันเดินทาง พวกพ่อค้าวาณิชย์ก็มาตกลงธุรกิจ ณ ที่แห่งนี้ วรรณกรรมคลาสสิคเรื่องหนึ่งที่เกิดจากการเดินทางของนักแสวงบุญและนักการทูตนามว่า Geoffrey Chaucer สะท้อนสภาพสังคมอังกฤษและยุโรปสมัยกลางช่วงศตวรรษที่ 14 ชื่อว่า 'Canterbury Tales' เป็นวรรณกรรมที่เป็นที่รู้จักของชาวบริติชจนถึงปัจจุบัน

     
    ที่มาภาพ https://www.rainbowresource.com/proddtl.php?id=000645&subject=Library+Builders/18&category=Junior+High+-+Adult+Grades+(7-AD)/1304 (บันทึก Cantebury Tales ที่ว่าครับ นี่เป็นฉบับเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น)

    ที่น่าทึ่งยิ่งขึ้นไปอีก เราอาจกล่าวได้ว่าระบบกฎหมายคอมมอนลอว์อังกฤษที่ใช้กันในปัจจุบัน ก็มี Inn เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงให้ระบบกฎหมายที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน เพราะผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ของศาลในองค์กษัตริย์ (Curia Regis) ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่มาใช้บริการสม่ำเสมอครับ Inn เหตุผลเกิดจากที่การที่พวก Normans (นอร์มัง) ที่มาจาก Normandy ซึ่งปัจจุบันเป็นของฝรั่งเศส เข้ามาปกครองอังกฤษ เป็นราชวงศ์นอร์มังเมื่อสามารถพิชิตดินแดนอังกฤษได้แล้ว ราวรัชสมัยพระเจ้า Henry II มีพระประสงค์ที่จะแก้ปัญหาขุนนางแข็งข้อ ให้อำนาจส่วนกลางในลอนดอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ทรงส่งผู้พิพากษาไปยังท้องถิ่นต่างๆ เป็นศาลเร่ร่อน เหล่าท่านผู้พิพากษาก็ใช้ Inn นี่แหละเป็นที่พักแรม ตัดสินคดีเสร็จก็กลับไปลอนดอน เกิดเป็นหลักการร่วมกัน เป็นบรรทัดฐานใช้ในการตัดสินคดี พัฒนาผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ขอลงรายละเอียด พูดมากไปกว่านี้เพลียสมองท่านคนเขียนและคนอ่าน จริงๆ มีเรื่องราอีกมาก กล่าวโดยย่นย่อว่าเหล่าท่านผู้พิพากษาในสมัยกลางอาจหนาวตายอยู่ข้างนอก ถ้าไม่มี Inn หรือผับในความหมายปัจจุบันนะครับ รู้กันอย่างนี้แล้ว... มาชนแก้วให้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์อีกซักทีฮะ Cheers!!!

    อีกเรื่องอยากจะเล่าเกี่ยวกับสมัยกลางที่ตกทอดมาจนปัจจุบันอีกเรื่องเกี่ยวกับชื่อผับครับ ชื่อผับที่นิยมตั้งกันมากชื่อหนึ่ง คือ 'The Bull' แปลตรงไปตรงมาแปลว่ากระทิง ก็มีส่วนเป็นไปได้ครับเพราะกีฬาสู้วัวเป็นของนิยมกันในอดีต แต่แท้ที่จริงแล้วคำว่า 'The Bull' มีความเชื่อมโยงคริสตศาสนจักรโรมันคาทอลิกอย่างลึกซึ้ง อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่า บรรดาผู้จาริกแสวงบุญเดินทางไปตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ Where Where is Where Where ไหนๆก็ไหนๆ บรรดาศาสนสถาน Shrine, Abbey ก็เปิดผับหรือ Inn ซะเองเลย ทีนี้การจะเปิดก็ต้องมีใบอนุญาตหรือพระสังฆานุมติพระสันตปาปาจากคริสตจักรวาติกันครับ ซึ่งเจ้าใบอนุญาตนี้เรียกว่า Bulla ในภาษาลาตินแปลว่าเอกสารประทับตรา ภายหลังก็เพี้ยนกลายเป็นคำว่า The Bull รู้อย่างนี้ดูแกรนด์มีเรื่องราวกว่าผับเจ้ากระทิงเยอะเลยนะ 555 


    ที่มาภาพ https://www.tripadvisor.co.uk/Restaurant_Review-g1041932-d2561853-Reviews-The_Bull_Inn_Restaurant-Atherstone_Warwickshire_England.html (ตัวอย่างผับ The Bull เอามาให้ชมครับ เขาใช้ชื่อว่า Inn ก็น่าจะให้บริการที่พักด้วย เอามาจาก Tripadvisor ลองไปเที่ยวดูก็ได้นะ)

    ที่มาภาพ http://www.geograph.org.uk/photo/2444104 (เอาผับ The Bull มาให้ดูอีกรอบ)

    เล่าพัฒนาการมาตั้ง Taberna มาสู่ Tavern Alehouse และ Inn ไม่เห็นได้ยินคำว่า Pub สักนิด ใจเย็นๆครับมันใกล้เข้ามาแล้ว มาถึงสมัยศตวรรษที่ 16 พระเจ้า Henry VII แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ทรงออกประกาศให้บรรดาเจ้าของ Tavern Alehouse Inn ทั้งหลายจดทะเบียนภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ในสมัยนี้เองบรรดาสถานที่ ถูกเรียกว่า Public House มาถึงราวศตวรรษที่ 19 Public House ก็พัฒนาเป็นคำ Slang เพี้ยนมาเป็นคำว่า Pub เติม s ก็กลายเป็นพหูพจน์ซะงั้น อย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน จะเห็นว่าเรื่อง'ภาษาวิบัติ'ไม่ได้เพิ่งเกิดกันแค่ยุค Digital อย่างพวกเราครับ ทุกยุคทุกสมัยคนกังวลว่าภาษาวิบัติตลอดนั่นแหละ แต่เพราะภาษาเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน วัฒนธรรมตลอดเวลา ควรมีกฎเกณฑ์ตายตัวหรือไม่แล้วแต่เราจะมองในแง่ไหน ผมไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ไม่ขอนอกเรื่องไปกว่านี้ แค่อยากเผยให้เห็นมุมมองครับว่า ไม่ใช่ภาษาไทยภาษาเดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงภาษาเดียว ลองไปคิดเล่นๆดูว่า ภาษาเราทุกวันนี้มันวิบัติมุมไหน ไม่วิบัติมุมไหน... เอ้า นอกเรื่องอยู่เรื่อยเลยผม!!!

    หลังจากชื่อ Public House ถูกเรียกขานนับแต่ ศตวรรษที่ 16 แล้ว ทีนี้เหลือชื่อผับอีกชื่อที่เป็นชื่อยอดนิยมเหมือนกันในเกาะบริเตน จำได้ไหมครับว่าในบทก่อนเรื่องธง Royal Standard ผมได้เล่าเรื่องพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ของสกอตที่เสด็จลงมารับราชสมบัติจากกรุงเอดินบะระ มายังนครลอนดอนสืบบังลังก์อังกฤษต่อ จากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ผู้มีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉาหรือป้าของพระเจ้าเจมส์ ครั้นทรงลงมาครองบัลลังก์อังกฤษขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ กลายมาเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ครองอาณาจักรรวมกันคือ อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์แล้ว ทรงมีพระราชโองการให้อาคารสาธารณะสำคัญ รวมถึง Public House ติดตราพระราชลัญจกร หรือตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ The Royal Standard of Scotland เป็นตรา The Red Lion Rampant' หรือสิงโตสีแดงซึ่งเป็นสิ่งแทนพระองค์เจมส์ และราชบังลังก์แห่งสกอตแลนด์ด้วย เหตุนี้เองจึงทำให้ผับจำนวนมากภายใน UK ในปัจจุบันมีชื่อว่า 'The Red Lion'  (ย้อนไปอ่าน บทแรก เรื่อง 'ว่าด้วยธง Royal Standard' และประวัติศาสตร์บาดแผลที่หายไป?' ของผมได้ครับ) 

    ที่มาภาพ http://www.english.upenn.edu/~bushnell/english-30/materials/new_state/ (พระบรมสาทิสลักษณ์หรือภาพวาดพระเจ้าเจมส์ที่ 1)
    ที่มาภาพ Wikipedia (ธง The Royal Standard of Scotland)

    ที่มาภาพ https://daleswaytrek.wordpress.com/2011/06/24/day-five-thursday-june-23rd-cowgill-to-sedbergh/ (เห็นไหม ย้อนกลับไปดูภาพบน คล้ายกันเลยแม้ป้ายนี้จะเป็นป้ายใหม่ แต่ก็ทิ้งมรดกสมัยพระเจ้าเจมส์ให้เราเห็นร่องรอยจนทุกวันนี้)

    ทีนี้ต่อมาหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ล่วงเข้าต้นศตวรรษที่ 19 ยุคที่สังคมมีความเจริญขึ้น เขาก็เริ่มมีการใช้รถม้ากัน แต่ไม่ใช่ทุกคนครับที่จะมีรถม้า เฉพาะคนมีฐานะเท่านั้นซึ่งเศรษฐีใหม่ก็พุ่งสูงขึ้นภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมซะมาก คู่ขนานไปกับจำนวนชนชั้นแรงงานที่ก็พุ่งสูงขึ้นเหมือนกัน ซึ่งแม้ว่ารถม้าจะเป็นความนิยมสั้นๆไม่กี่สิบปี ก่อนการมีรถไฟในราวปี 1840 ก็ตาม เจ้าของ Public House ใหม่ก็เปิดกิจการตามเส้นทางรถม้า ผับหรือ Inn พวกนี้ให้บริการกับลูกค้าต่างระดับต่างคลาสกันครับ คล้ายรถไฟกับเครื่องบินในปัจจุบัน แยกเป็นชั้นประหยัดและชั้นธุรกิจ ผับและ Inn ก็เปิดบาร์และที่พักให้บริการลูกค้าแยกบาร์และโซนห้องพักตามฐานะกันไป เศรษฐีก็โซนนึง กรรมาชีพก็โซนนึง ชื่อผับยอดนิยมที่หลงเหลือจำนวนมากในปัจจุบันก็คือ Stagecoach แปลว่ารถม้านั่นเอง หลงเหลือร่องรอยสภาพสังคมช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมให้เราได้เห็นกัน


    พูดเรื่องชื่อผับมาก็มาก ฝากเกร็ดทิ้งท้ายกันอีกเล็กน้อย ย้อนไปดูภาพดีๆ จะเห็นว่าเกือบทุกผับมีป้ายหมด ในใจท่านอาจคิดว่า เอ้อ แน่ล่ะไม่มีป้ายจะรู้ชื่อยังไง... ผมหมายถึงป้ายที่ยื่นออกมาครับ เทรนด์การแขวนป้ายเกิดจากประกาศของพระเจ้า Richard II ในปี 1393 โปรดเกล้าฯให้บรรเจ้าของกิจการร้านแอลกอฮอลล์ ทำเครื่องหมายเป็นป้ายแขวนไว้ เพื่อให้ควบคุมได้ง่าย ใครไม่ติดก็ปิดกิจการไปซะ ทุกวันนี้ป้ายในปัจจุบันคงทำขึ้นใหม่แหละครับ ของเดิมถ้ายังอยู่คงเป็นแหลกละเอียดไปแล้วล่ะ 555



    เอาล่ะครับ พูดกันมายืดยาว แต่ยังไม่หมดเรื่องที่จะพูด ขอขยายต่อไปตอนหน้า ซึ่งผมจะลงรายละเอียดพูดถึงประวัติ ตำนานผับที่เราไปลงพื้นที่เอง บางร้านก็เคยไปดื่มกินมาแล้ว บางร้านก็ไปสืบประวัติเฉยๆ (ไม่ได้เป็นปาร์ตี้คิงขนาดนั้น) เดินไปหลายๆผับ เกิดค้นขึ้นมาพบว่า เฮ้ย!!!! ประวัติผูกโยงกันเป็นเครือข่ายเหมือนใยแมงมุมตัดกันไม่ขาดจริงๆ เขียนจริงคงได้เป็นเล่ม ซึ่งนอกจากจะเล่าประวัติผับแล้วจะขอวิเคราะห์เปรียบเทียบเรื่องหัวใจชุมชน และการอนุรักษ์อาคารเก่า การท่องเที่ยว ฯลฯ ของบ้านเราด้วย อย่างที่บอกเมื่อเริ่มต้นแหละ ลองนึกเล่นๆว่ามีสถานที่สักที่ในบ้านเราผูกเรื่องโยงไปถึงอดีตแบบนี้...ให้เราจับต้องได้  กลิ่นอายมันคงหอมหวลพิกลนะครับ บ้านเราชอบรื้อ ชอบโละของเก่ากัน พอมาสร้างใหม่เลียนแบบของเก่ามันก็ดูปลอมๆ วินเทจเฟคๆ มีแต่รูปลักษณ์แต่กลับไร้จิตวิญญาณ จะโหยหาก็สายไปแล้ว ก็เอาเถอะ...

    สำหรับตอนนี้ลาไปเท่านี้ก่อน สวัสดีคร้าบบ... 


     
     






    ปล คราวก่อนสัญญาไว้ว่า จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวเพลงสรรเสริญพระบารมีกษัตริย์อังกฤษไว้ แต่เผอิญผมเกิดข้องใจอะไรขึ้นมานิดหน่อยขอเวลาหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วจะมาเล่านะครับ ไม่งั้นเส่ียชื่อหมด อีกอย่างเขียนเรื่องพรรค์นี้ใช้แรงบันดาลใจสูงเหมือนศิลปินจะวาดภาพสีเฟรสโกเลยล่ะ เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน :)

               สัมภาษณ์นักภาษาศาสตร์ (Linguist) Agnes Young, tutor, University of Edinburgh
               คำบรรยายวิชา น.462 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ผศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน
               

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in