เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปฤษตันไอยยิแลน : The occidental stories from an oriental point of viewKSCincat
ว่าด้วย ธง Royal Standard และประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกลืม?

  • เนื่องจาก วันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา คือ The Official Birthday of H.M. the Queen Elizabeth II หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างเป็นทางการที่จัดขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งต่างจากวันคล้ายพระราชสมภพแท้จริง (Actual Birthday) ของ สมเด็จฯอลิซาเบธ สืบเนื่องจากธรรมเนียมที่เกิด ขึ้นสมัยพระเจ้าจอร์ชที่ 2 พระราชบุพการีในสมเด็จฯอลิซาเบธ พระราชสมภพในเดือนพฤศจิกายน ซึึ่งช่วงนั้นเป็นฤดูหนาวที่อากาศหดหู่ครับ จึงทรงโปรดให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นฤดูร้อนคือเดือนมิถุนายน อย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่แท้จริงของสมเด็จฯอลิซาเบธคือเดือนเมษายน ดังนั้นจึงมีการฉลองวันพระราชสมภพสองวาระใน 1 ปีครับ

    เอ้า!!! เล่ากันให้ทราบเป็นพื้น จะได้ไม่งงว่า ทำไมต้องมีวันเกิดที่เป็นทางการ แล้วที่ไม่เป็นทางการนั้นเป็นอย่างไร

    เนื่องจากนั่งดูภาพงาน The National Service of Thanksgiving ในวันพระราชสมภพนี่เอง ผมเลยเกิด Inspiration อยากเขียน อยากเล่าเรื่องเกี่ยวกษัตริย์อังกฤษ และ เขียนทบทวนความเข้าใจในการเรื่องการอธิบายประวัติศาสตร์ขึ้นมา ส่วนแรกจะเป็นรายละเอียด ส่วนหลังจะเป็นการวิเคราะห์ต่อยอดไปในเรื่องต่างๆอีกเล็กน้อยครับ





    เรื่องที่จะมาเล่าวันนี้่ ไม่ได้เกี่ยวกัับวันพระราชสมภพของสมเด็จฯ ท่านโดยตรงครับ แต่เป็นเรื่องเล่าประวัติธง The Royal Standard อาจแปลเป็นไทยว่า ธงมหาราช แปลไทยเป็นไทยอีกซักทีคือ ธงประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์อังกฤษ  อาจสงสัยว่าแล้วธงนี้มีความสำคัญยังไง?
    ที่มาภาพ https://britishmonarchistsocietyblog.wordpress.com/page/3/ (ธงบนยอดหอคอยครับ คือธง Royal Standard ที่ว่า)

    ที่ว่าเป็นธงประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์อังกฤษ คือเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ตัวบุคคล เมื่อสมเด็จอลิซาเบธเสด็จไปที่ใด ธงนี้ก็จะตามพระองค์ไปอยู่ที่นั้นครับ แต่ก่อนในราชการสงครามก็ถูกใช้แสดงสัญลักษณ์ทัพกษัตริย์เหมือนกัน ถ้าเราชมพระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสภาของอังกฤษครับ หรือถ้าท่านใดมีโอกาสไปเที่ยวสหราชอาณาจักร แล้วได้ไปพระราชวังบัคกิงแฮม จุดสังเกตง่ายๆว่า สมเด็จฯประทับอยู่หรือไม่ให้ดูที่ธงบนยอดหลังคาครับ ถ้าเป็นธง Royal Standard ให้หมายไว้เถิดว่า สมเด็จฯทรงอาจประทับเสวยพระสุธารสชาอยู่แน่นอน 55 ถ้าเป็นธง Union Jack หรือธงสหราชอาณาจักร ก็หมายความว่าไม่ทรงประทับอยู่ ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นไม่นานมานี้ครับ หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า ขณะนั้นสมเด็จฯประทับอยู่ที่ Balmoral Estate ในสกอต เกิดประเด็นขึ้นว่า ประชาชนมองว่าราชสำนักอังกฤษเย็นชากับไดอาน่าเอามากๆ เกิดวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ทีเดียว เมื่อผลสำรวจเผยว่าประชาชนจำนวนมากไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์อังกฤษอีกต่อไป 

    ในที่สุดทางสำนักพระราชวังอังกฤษจึงตัดสินใจเชิญธงชาติขึ้นแทน แล้วลดลงครึ่งเสาเพราะ ธง Royal Standard จะไม่มีวันลดลงครึ่งเสา ตราบเท่าที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังคงอยู่ การเชิญธง Union Jack จึงเป็นธรรมเนียมนับแต่นั้นเป็นต้นมาครับเพื่อแสดง The Absence of Monarch ว่าไม่ทรงประทับอยู่ 

    เหตุการณ์ครั้งนั้น แสดงถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เมื่อเผชิญกับวิกฤตศรัทธาในสมัยใหม่ที่คนมองสถาบันกษัตริย์เป็นคนธรรมดามากขึ้น เรื่องของ Myth ตำนานหรือความศักดิ์สิทธิ์ในอดีตไม่อาจดำรงอยู่ได้ต่อไปในสมัยใหม่ ล่าสุดสมเด็จฯเองก็ทรงปรับตัวเผยมุมส่วนพระองค์มากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น คลิปที่พระองค์ถ่ายร่วมกับ เจมส์ บอนด์ โหนพระองค์ลงมาจากเฮลิคอปเตอร์เมื่อคราว Olympic 2012 หรือ ภาพปฏิกิริยาโต้ตอบ บารัค โอบามา ที่ท้าปรินซ์แฮรีใน Invictus Games สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแสความคิดที่เปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งบ่อยครั้งก็ยังมีการพูดถึงนะครับ เมื่อสิ้นสมเด็จฯไปแล้วอนาคตของสถาบันกษัตริย์อังกฤษจะเป็นอย่างไร

    ที่มาภาพ https://www.dover.uk.com/forums/dover-forum/union-jack-or-union-flag-which-is-correct (อันนี้เป็นตัวอย่างเมื่อมีการลดลงครึ่งเสาครับ แต่นี่เป็นภาพเมื่อ อดีตนายกฯ Magaret Thatcher ถึงแก่อสัญกรรม ของไทยเรา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคตลง เราก็ลดธงไตรรงค์ลงครึ่งเสาครับ)

    อย่างไรก็ตาม ธง Royal Standard ยังยืดหยัดอยู่ยอดเสาเสมอครับตามหลัก The King is dead, Long live the King กล่าวความให้พิสดารเป็นภาษาฝรั่งเศสคือ Le Roi Est Mort, Vive Le Roi! พระมหากษัตริย์(องค์ก่อน)สวรรคตแล้ว ขอพระมหากษัตริย์(องค์ใหม่)ทรงพระเจริญ ตราบใดที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังคงอยู่ ธงนี้จะไม่ลงจากยอดเสา...


    ทั้งนี้เพื่อแสดงว่า 'ราชบัลลังก์อังกฤษต่อเนื่องไม่เคยว่างลงครับ' ธง Royal Standard จึงเป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันกษัตริย์(Institution) ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคล เช่นเดียวกัน ธงมหาราชของไทยที่เป็นครุฑพ่าห์พื้นเหลือง ที่แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย จะว่าไปเราเองก็รับธรรมเนียมธงประจำพระองค์มาในสมัยรัชกาลที่ 4 จากอังกฤษนี่เอง แต่ผู้ริเริ่ม เห็นจะเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯในสมัยรัชกาลที่3 ครั้งดำรงตำแหน่ง กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ใครสนใจก็ไปอ่านหนังสือความทรงจำ ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้วกันนะครับ เอ้า...ว่าไปโน่น กลับมาที่เรื่องของเรา...

    ทีนี้ผมจะอธิบายองค์ประกอบของตัวธงคร่าวๆ นะครับ ซึ่งจะเข้าใจองค์ประกอบธงนี้ได้ ผมก็ต้องปูพื้นให้ท่านเข้าใจเรื่องราวทางอังกฤษแบบพอสังเขปก่อน ท่านที่ทราบแล้วก็อ่านข้ามๆไปได้นะครับ


    กษัตริย์อังกฤษในปัจจุบันไม่ได้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษอย่างเดียวครับ ทรงเป็นพระประมุขแห่งเคริือจักรภพ ซึ่งประกอบไปด้วย

    1. สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ
    2. เครือจักรภพ อันได้แก่รัฐต่างๆที่เคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ เช่น แคนนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ ไม่ขอกล่าวละเอียดในที่นี้นะครับ

    ปล. จริงมันมีความต่างระหว่าง British Isles, Great Britain และ United Kingdom อีก ผมไม่เล่าในที่นี้แล้วกันนะครับ พูดไป ท่ายิ่งสับสนกัน

    ธง Royal Standard ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ประจำประเทศต่างภายใน 'สหราชอาณาจักร' เท่านั้น ซึ่งได้แก่ 

       1.สัญลักษณ์ของอังกฤษคือ สิงโตสีเหลืองพื้นแดง (ส่วนบนซ้าย และล่างขวา)
       2.สัญลักษณ์ของสกอตแลนด์คือ  สิงโตสีแดงพื้นเหลือง (บนขวา)
       3.สัญลักษณ์ของไอร์แลนด์เหนือ คือ Irish Harp (ล่างซ้าย) 

    (ควรตราไว้ว่าแต่ก่อนประเทศไอร์แลนด์ก็เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรครับแต่แยกตัวออกไป ซึ่งเคยมีการเรียกร้องให้เอาพิณทองคำออก แต่อังกฤษอ้างว่าเรายังมี Northern Ireland นะจ๊ะ ในแง่นี้เป็นเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติและนิกายทางศาสนาที่ลึกซึ่งครับ ถกเถียงกันไป ฉะนั้นนน อย่าเรียกเขาว่า เป็น Southern Ireland ไอร์แลนด์ใต้เป็นอันขาดนะครับ)

    ส่วน เวลส์ ไม่ถูกรวมกับธงพระประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แห่ง Britain ครับ เอ้า ทำไมล่ะ? 
    กล่าวแบบรวบรัด อาจกล่าวได้ว่าเวลส์เป็นแคว้นที่ถือว่าผนวกรวมเข้ากับอังกฤษแล้วครับ สัญลักษณ์ของสิงโตอังกฤษจึงสื่อถึงแคว้นเวลส์ได้ในตัวเลย อังกฤษที่ตำแหน่ง Prince of Wales คือ มกุฎราชกุมารอังกฤษครับจึงไม่ประกอบเข้าเป็นสัญลักษณ์ในธงของพระมหากษัตริย์ ซึ่งสัญลักษณ์ของเวลส์ ก็คือ Welsh Dragon มังกรสีแดง แต่ไปดูตราประจำพระองค์ของ ปรินซ์ชาร์ล เอ้าาา... ไม่พบมังกรอีกน่ะแหละ กลายเป็นขน Feather ไปได้ 5555 เรื่องตราต่างๆในยุโรปมันซับซ้อนครับ ฝรั่งเขาเรียนกันเป็นศาสตร์มีศาลทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องตามแบบแผนเป็นกิจจะลักษณะเลย วิชานี้เรียกว่า มุทราศาสตร์ (Heraldry) ศาสตร์แห่งตราสัญลักษณ์ ซึ่งมันนอกเหนือไปจากสิ่งที่ผมอยากเขียนประกอบกับตัวความรู้ที่จำกัดของตัวด้วย พูดไปยาวอีกเปล่าขอละไว้นะครับ เล่ากันเฉพาะ Royal Standard พอวันนี้

    ในสกอตแลนด์เมื่อสมเด็จฯเสด็จพระราชดำเนินมายัง The Palace of Holyrood House หรือ Balmoral Castle ทุกปีตามธรรมเนียมแต่ครั้งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ก็จะมีการเชิญธง Royal Standard ขึ้นสู่ยอดเสาเช่นกัน แต่ลักษณะจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย แบบนี้ครับ คือเน้น ธงประจำกษัตริย์สกอตเป็นองค์ประกอบสำคัญของตัวธง



    ที่มาภาพ (ภาพถ่ายของผมเองครับ นี่คือต้นฉบับสนธิสัญญาเบาริงก์ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงลอนดอน จะเห็นข้อความว่า พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเมืองปฤษตันไอยยิแลน)


    ทีนี้ Royal Standard เกิดขึ้นจาก การที่กษัตริย์อังกฤษในอดีตทรงครองดินแดนเหล่านี้ครับ จึงทรงเป็นกษัตริย์แห่ง Britain ทั้งหมดครับ ในที่นี้ผมจะขมวดเรื่องมาทางสกอตแลนด์ โดยสาเหตุที่กษัตริย์อังกฤษไปครองบัลลังก์สกอตได้ก็เพราะว่า เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคตลง ไม่ทรงมีพระราชบุตรเป็นรัชทายาท เนื่องจากไม่ทรงแต่งงาน จนได้รับฉายาว่า The Virgin Queen พระญาติที่เหลือก็คือ พระราชโอรสของญาติห่างๆของพระองค์คือ พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอต ซึ่งเป็นพระราชโอรสของ Mary Queen of Scots ซึ่งนับไปอีกก็คืิอเป็นหลานย่า ของ Magaret Tudors ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีพี่สาวของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จฯอลิซาเบธที่1 !!! ตลกร้ายตรงที่สมเด็จฯอลิซาเบธก็เป็นศัตรูตัวฉกาจของ Mary ครับ ภายหลังทรงประหารชีวิต Mary Queen of Scots ซะ

    ตาลายกันพอแล้วนะครับ ผมก็งงครับตอนศึกษาใหม่ๆ อ่านไปประวัติศาสตร์อังกฤษไปเรื่อยๆเดี๋ยวจะชิน นี่ไม่ใช่เรื่องโรมรันพันตูเรื่องแรก!!!

    เอ้า...ทีนี้ ท้ายที่สุดพระโอรสของ Mary ก็เสด็จลงมาจาก Edinburgh (อ่านว่าเอดินบะระ ไม่เบิร์ก ไม่บูก) มารับราชสมบัติจึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครอง Great Britain ทั้งหมดพระองค์แรก และเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สจ๊วตสายสกอตพระองค์แรกที่ครองบังลังก์อังกฤษ เป็น James I แห่งอังกฤษ เป็น James VI แห่งสกอต ตราสิงโตแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งราชบัลลังก์สกอตจึงถูกผนวกรวมเข้าเป็น ตราของกษัตริย์ British ด้วย กลายเป็นธงแห่งบัลลังก์บริเตน (British Throne) ไป



    ทีนี้ผมอยากจะขมวดเข้ามาที่ประวัติศาสตร์ของสกอต และวิเคราะห์เรื่องประวัติศาสตร์ชาติและสะท้อนมาที่การมองประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมการณ์ทางสังคมครับ ซึ่งผมได้พูดเรื่องความเป็นมาของธง Royal Standard แบบคร่าวๆกันแล้ว อย่างที่กล่าวไว้ครับว่า ธง Royal Standard ของอังกฤษประกอบด้วยธงมหาราชของสกอตเหมือนกัน ซึ่งเขาเรียกว่า The Royal Standard of Scotland หน้าตาแบบนี้ครับ อย่าสับสนครับเพราะเรียกคล้ายๆกัน
     


    แล้วธงนี้มีที่มาอย่างไร ย้อนไปในศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13 มีกษัตริย์สกอตพระองค์พระนามว่า William ครับ มีฉายาว่า William, the lion สัญลักษณ์ The red lion rampant ของพระองค์กลายมาเป็น ธง Royal Standard ของสกอตแลนด์ และรวมเข้าเป็น The Royal Standard ของ British Throne ในภายหลัง 

    ..เหตุที่สัญลักษณ์ของกษัตริย์พระองค์นี้ กลายเป็นมาเป็นธงประจำบัลลังก์สกอตได้ ก็เพราะความปรีชาสามารถในการรบของ William (ซึ่งรบกับรัฐไหน ไม่มีใครอื่นนอกจากอังกฤษครับ)  แต่ภายหลังพระองค์ก็พ่ายแพ้และจำต้องทำสนธิสัญญากับอังกฤษ แห่ง Falaise ในปี 1174 โดยพระอนุชาพระนาม David และขุนนางจำนวนหนึ่งต้องเป็นตัวประกันที่อังกฤษ และกองทหารอังกฤษเข้ามารักษาการณ์ที่ปราสาทสำคัญในสกอตเช่น Edinburgh Stirling และ Berwick เป็นต้นทำให้อังกฤษมีสถานะเป็นเจ้าอธิราชย์เหนือสกอต 

    ผมพูดเท่านี้ ดูทำให้สกอตถูกกดขี่เหมือนกันนะครับ แต่ต้องเท้าความคร่าวๆก่อนสนธิสัญญาดังกล่าวว่า มันเกิดจากการอ้างสิทธิเหนือดินแดน บริเวณ Northumberland ของสกอตและอังกฤษครับ เดิมบริเวณตรงนี้เป็นดินแดนที่กษัตริย์อังกฤษ King Steven มอบให้กษัตริย์สกอต แต่ภายหลังถูกแย่งคืนโดยใช้กำลังในสมัย Henry II แห่งอังกฤษ เมื่ออังกฤษเกิดปัญหาการเมืองภายใน เหล่าพระราชโอรสของ Henry II ต่อต้านพระราชบิดาของพระองค์ เสนอให้ William โจมตีอังกฤษ William ตอบรับคำเสนอดังกล่าวแทรกแซงการเมืองภายในอังกฤษโดยการไล่โจมตีหัวเมืองทางเหนือของอังกฤษ ระหว่างทางก็ไล่ปล้นฆ่า ข่มขืนชาวบ้านลงมาอย่างโหดเหี้ยม รายละเอียดของการเมือง สงคราม และต้นตอแห่งปัญหายังมีอีกมากครับ นี่เป็นสรุปพอสังเขปเท่านั้น

    ที่ผมยก เหตุการณ์สงครามครั้งนี้มาเพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ที่ Controversial คือ มีข้อถกเถียงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับเราจะมองจากฝั่งอังกฤษ หรือ จากฝั่งสกอต...

    ใช่ครับถ้าเราดูหนังเรื่อง Braveheart ของ Mel Gibson (ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนทางข้อเท็จจริงอยู่เหมือนกัน) เราจะเห็นภาพชาวสกอตที่ถูกกดขี่ ซึ่งก็มีส่วนจริงที่อังกฤษก็เหยียดหยามชาวสกอตหลายครั้ง Stone of Scone ซึ่งเป็นหินที่ใช้ในพิธีราชาภิเษกของสกอตถูกนำไปวางไว้ใต้ St.Edward's Chair หรือบัลลังก์อังกฤษเป็นเวลาเกือบ 700 ปี (ปัจจุบันหินได้กลับมาที่บ้านเกิด ภายใต้เงื่อนไขว่าจะกลับไปลอนดอนอีกครั้งเมื่อราชาภิเษกกษัตริย์องค์ต่อไป) ชาวสกอตถูกตัดสิทธิในการเรียน Oxford และ Cambridge ถึงศตวรรษที่ 19 Kilts หรือชุดประจำชาติของสกอตถูกแบนหลังการก่อกบฏ Jacobites ในทำนองกลับกัน หลายครั้งสกอตก็รุกรานอังกฤษเมื่อเข้มแข็งทุกครั้ง ไม่ได้ 'รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด' เช่น สงคราม Flodden สมัยเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษเป็นต้น รวมถึงการสังหารราษฎรอย่างโหดเหี้ยมของ William ก็เช่นเดียวกัน ทั้งฝรั่งเศสและสกอตเอง ก็จับมือกันปักปันผลประโยชน์จากการรุกรานอังกฤษ ดังสมญาว่า 'Auld Alliance' หรือพันธมิตรเก่าแก่นับแต่ศตวรรษที่ 12 พูดไปเหมือนปัญหาไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกันถกเถียงไม่รู้จบ แท้จริง ก็คือ การชิงผลประโยชน์กันระหว่างรัฐแต่ก็ทิ้งความเจ็บปวดให้ทั้งสองฝ่ายจนถึงทุกวันนี้นี่เอง 

    ทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์เหล่านี้ ไม่ได้มีความจำเป็นกับประจำวันของคนทั้งสองชาตินี้ครับ แต่เมื่อพูดถึงคนอังกฤษ จะทิ้งภาพลักษณ์เจ้าเล่ห์ หยิ่งยโส โอหัง ส่วนเมื่อพูดถึงสกอตก็กลายเป็นดินแดนของคนนิสัยดื้อรั้นไว้ ซึ่งเป็นการเหมารวมว่าคนชาตินี้ต้องเป็นแบบนี้ หรือเมื่อมีการพูดถึง Scottish Independence หรือการประกาศเอกราชของสกอต ประวัติศาสตร์ฉบับที่สกอตถูกรังแกก็จะถูกพูดถึง 

    ไม่นานมานี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปของ รัฐบาล Scotland ผมมีโอกาสนั่งฟัง การอภิปรายของพรรคต่างๆ ในช่วงตอบคำถาม มีชาวสกอตคนหนึ่งกล่าวว่า เขารู้สึกถูกทรยศจาก Westminster (สภาอังกฤษ) ที่หลอกชาวสกอตในลงประชามติอิสรภาพ ประชาชนเลือกจะอยู่กับอังกฤษเพราะ ห่วงสถานภาพในสหภาพยุโรป แต่เมื่ิอเลือกจะอยู่แล้วกลับกลายเป็นว่า อังกฤษกำลังจะมีประชามติออกจากสหภาพยุโรป ทุกครั้งที่มีการฟุตบอลระหว่างอังกฤษกับสกอต ชาวสกอตก็จะโห่ให้กับเพลง God save the Queen ซึ่งเป็นเพลงชาติของ UK


     


    ทำไม ภาพของความปลิ้นปล้อนของอังกฤษ จึงคงดำรงอยู่? แล้วภาพที่ชาวสกอตถูกกดขี่นั้นจริงเสมอไปหรือ? น่าแปลกที่สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันเลย แต่เมื่อถูกกล่าวถึงอย่างท้าทายหรือสวนทาง กลับสร้างอานุภาพในทางลบ สร้างความหมั่นไส้ไปจนถึงความเกลียดให้คนเราได้นะครับ... แต่โชคดีที่คนสกอตและอังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้ หลายๆคนมีแนวคิดใหม่มองว่า สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมองไปข้างหน้า พัฒนาร่วมกัน เพราะเขามองข้ามประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ใด อุดมการณ์หนึ่ง ไม่แปลกครับที่จะมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาตินิยมให้เราภูมิใจในชาติของเราเป็นเรื่องปกติ ผมยกตัวอย่างสกอต เพื่อให้เห็นว่าทางยุโรปเขาก็มีเหมือนกัน แต่หากว่าเราหลงเชื่อประวัติศาสตร์ชาตินิยมมองแต่ข้อดีของเราอย่างเดียว เราก็อาจหลงผิด กลายเป็นลำพอง ว่าเราดี คนอื่นแย่ และเราถูกรังแกเสมอ คล้ายๆกับแบบฉบับละครหลังข่าว ที่ภาพของนางเอก นางร้ายเป็นขาวดำ ซึ่งแท้จริงความดีชั่ว มันแบ่งง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ?

    กลับมามองบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้าน ที่การเรียนการสอนยังคงเป็นไทยรบพม่า หรือเราไม่เคยเสียเอกราชให้ใคร เรารักสงบไม่เคยรุกรานใครถูกเขมรตีท้ายครัวเสมอๆ มีลาวเป็นกบฏ ในทำนองกลับกันเพื่อนบ้านก็มองว่าเราเป็นผู้รุกราน เอาลาวเป็นเมืองขึ้น ทำให้ขอมต้องร่นไปทางตะวันออก ล่าสุดก็โขนเป็นของใครกันแน่ หลายครั้งหลายคราวที่เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรา กลับกลายเป็นเรื่องที่กลายเป็นดราม่าใหญ่โต เพราะชุดความเชื่อที่เรามีมันถูกท้าทายจากคนอื่น 

    ถ้าเราเอาหนังสือประวัติศาสตร์แบบตำราเรียนของเพื่อนบ้านมานั่งกางแล้วเทียบกัน ผมคิดว่ามีหวังเป็นลมตาย เพราะมันขัดแย้งกัน แน่นอนครับ เราไม่มีทางที่ทำให้มันเหมือนกันได้ แต่จะทำอย่างไร ให้เราอยู่ร่วมกันได้ ท่ามกลางความขัดแย้งตรงนี้ เป็นคำถามที่เราแสวงหาคำตอบกันต่อไป...

    ขอสรุปตรงนี้ครับ จะเห็นได้ว่า สิ่งต่างๆ มันมีปมซ่อนอยู่มากมาย ธง Royal Standard ที่สัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อังกฤษมีที่มาส่วนหนึ่งจากสงครามระหว่างอังกฤษและสกอตด้วยซ้ำ ซึ่งคนปัจจุบันก็ไม่ได้ติดใจกับธงอะไร แต่ทว่าเกิดปมลึกในใจระหว่างคนทั้งสองชาติก็ยังคงมีอยู่ประปรายไม่มากก็น้อยผ่านห้วงเวลาที่ยาวนานจากเรื่องราวที่มองจากมุมของตนเอง ลืมบาดแผลที่ทำกับคนอื่น แต่พยายามรื้อฟื้นความเจ็บแค้นของตัวเองอยู่เสมอๆ กล่าวง่ายว่า เรามัก ไม่เอาใจเขา มาใส่ใจเรา ถ้าเราเรียนรู้ก็จะพบว่า ฆ่ากันให้ตาย... สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงกระดาษหน้าหนึ่งเท่านั้น

    จากเรื่องธง มาถึงเรื่องเพื่อนบ้าน...ผมยังงงตัวเอง วกมาได้ยังไง

    คราวต่อไป จะนำประวัติิเพลงสรรเสริญพระบารมี God save the King/Queen และการผ่าตัดพระทวารหรือ(ก้น) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาสาธยายให้ฟังนะครับ...






      



    อ้างอิงจาก http://www.bbc.co.uk/newsround/36489213
                      http://www.elizabethi.org/contents/queenofscots/
                      Scottish History (Story of Nation) Dr. James Mackay
                      http://www.timeref.com/people/hpr383.htm



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in